ส่งออกสินค้าเกษตรไปเกาหลีรุ่ง"กุ้ง-ไก่"ปรุงสุก-ข้าวไทยได้อานิสงฆ์


ผู้จัดการรายสัปดาห์(31 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เกษตรแนะเกาหลีใต้ดาวรุ่งส่งออกสินค้าเกษตรไทย หลังจาก กุ้ง และไก่ติดตลาดแล้ว เตรียมผลักดันข้าวหอมมะลิไทยเข้าเกาหลีใต้ คาดได้รับการตอบรับสูง ด้านกระทรวงพาณิชย์ชี้ส่งออกสินค้าเกษตรไทยเดือน มิ.ย. โต 21%

แม้สถานการณ์ส่งออกของไทยในปัจจุบันสินค้าอุตสาหกรรมจะโดนมรสุมค่าเงินบาท อัตราเงินเฟ้อและคู่แข่งอย่างประเทศจีนและเวียดนามตีล้อมเป็นปัจจัยลบ แต่สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรของไทยเองในช่วงนี้มีแนวโน้มสดใส สวนทางกับเหล่าสินค้าอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก

เกาหลีใต้ดาวรุ่งดวงใหม่

พินิจ กอศรีพร รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่าแม้จะมีสถานการณ์ไข้หวัดนกอยู่ในบางพื้น เช่นในสหภาพยุโรป แต่ขณะนี้ก็ไม่ได้ทำให้การคาดการณ์ปริมาณการส่งออกไก่ของไทยลดตัวลง เพราะตลาดส่งออกไก่ปรุงสุกที่ใหญ่ที่สุดของไทยคือ ประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขยายตลาดสินค้าเกษตรไปไปยังภูมิภาคต่างๆมากขึ้น โดยประเทศที่กำลังเป็นดาวรุ่งนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทยเพิ่มขึ้นก็คือประเทศเกาหลีใต้

โดยเฉพาะสินค้ากุ้งและไก่ปรุงสุก ทางเกาหลีใต้มีความต้องการจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ทำให้ผู้ประกอบการมีลู่ทางในการทำตลาดมากขึ้น จากเดิมที่มองแต่ ประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรปเพียงอย่างเดียว ขณะที่ ประเทศเกาหลีใต้นั้นมีผู้นำเข้ากุ้งน้อยราย จึงทำให้ การเพิ่มปริมาณการส่งออกกุ้งจากไทยยังเติบโตไม่ทันความต้องการของชาวเกาหลีใต้ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการร่วมกับทางกระทรวงพาณิชย์ในการติดต่อหาผู้นำเข้ากุ้งจากประเทศเกาหลีใต้ให้กับเหล่าผู้ประกอบการต่อไป ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการส่งออกกุ้งไปได้มากขึ้น

นอกจากนั้น ข้าวหอมมะลิไทย จะเป็นอีกหนึ่งสินค้าเกษตรที่ได้รับการสนับสนุนให้ส่งออกไปเกาหลีใต้ให้มากขึ้น โดยทางกระทรวงพาณิชย์ได้เจรจาเพิ่มปริมาณโควต้าข้าวของประเทศไทยเพิ่มจากเกาหลีใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงคาดว่าปีนี้ข้าวไทยจะส่งออกไปยังเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นด้วยตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้ทันที่จะครองส่วนแบ่งการตลาดสำคัญในเกาหลีใต้ได้

ส่งออกสินค้าเกษตรปี 49 ทะลุเป้า

รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เน้นว่า ขณะนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเกินเป้าหมายที่ตั้งเป้าไว้ที่ 900,000 ล้านบาท จึงทำให้คาดว่าปี 2549 นี้มูลค่าการส่งออกจะสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาทแน่นอน เนื่องจากราคาของสินค้าเกษตรมีราคาสูงขึ้น ได้แก่ ข้าวหอมมะลิระดับพรีเมี่ยม และยางพารา แม้ราคาค่าเงินบาทจะแข็งตัวมากขึ้นกว่าเดิม แต่เมื่อถั่วเฉลี่ยกับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็พบว่ามูลค่าการส่งออกมีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งถือการส่งออกของสินค้าเกษตรอยู่ในทิศทางที่สดใส

ทั้งนี้ทางกระทรวงเกษตรฯได้มีการสานสัมพันธ์ทางการค้ากับเกาหลีใต้ ในเรื่องการตรวจสอบสิ่งปลอมปนในสินค้าสำหรับสินค้าประมงให้เป็นไปด้วยความราบรื่นไว้เรียบร้อยแล้ว จึงคาดว่าในอนาคตสินค้าประมงของไทยเช่น ปลาทูน่าแช่แข็ง และปลาทูน่าในน้ำเกลือจะส่งออกไปเกาหลีใต้ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น

ส่งออกสินค้าเกษตรมิ.ย.โต 21%

ล่าสุดทางกระทรวงพาณิชย์ โดย การุณ กิตติสถาพร ระบุว่ามูลค่าการส่งออก เดือนมิถุนายน 2549 มีมูลค่า 10,956.6 ล้านเหรียฐสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 โดยการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง สินค้าเกษตรกรรรม/อุตสาหกรรมการเกษตรขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.2 สินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7และสินค้าอื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.4 โดยสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตรสำคัญที่ส่งออกเพิ่มขึ้นได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และสินค้าอาการ (กุ้งแช่แข็ง อาหารกระป๋องแปรรูป ผลไม้สดแช่แข็ง ประป๋อง และแปรรูป และไก่แช่แข็งและแปรรูป) ทั้งนี้เมื่อมองภาพรวมการส่งออกในครึ่งปี 2549 พบว่า มีมูลค่า60,558 ล้านเหรียฐสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 คิดเป็น ร้อยละ 46.5ของเป้าหมายการส่งออก โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นใหม่หมวดสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ 15.8 สินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 13.4 และสินค้าอื่นๆร้อยละ 30.7

แนวโน้มการส่งออกในปี 2549 จะยังคงขยายตัวทั้งปีอยู่ที่ อัตราร้อยละ 5 และปริมาณการค้าโลกจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 9 โดยประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยเช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและจีนยังคงขยายตัวแม้ว่าราคาน้ำมันจะสูงกว่า 65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

มูลค่าส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรกรรมทั้งหมดเป็นรายเดือน ปี2549

ม.ค. ส่งออก 76277.81 นำเข้า 31540.31
ก.พ ส่งออก 81655.72 นำเข้า 31235.37
มี.ค. ส่งออก 90935.77 นำเข้า 36089.62
เม.ย. ส่งออก 74384.87 นำเข้า 33055.23
พ.ค. ส่งออก 87001.27 นำเข้า 38112.85


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.