"ส่งออก"นักรบแนวหน้ากู้เศรษฐกิจ ความหวังที่เปี่ยมด้วยปัจจัยเสี่ยงกดดัน


ผู้จัดการรายสัปดาห์(30 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาคส่งออก เปรียบไม่ต่างอะไรจากตัวละครที่รับบทพระเอก เพราะในยามที่เศรษฐกิจประสบปัญหาหลายปัจจัยลุมเร้าจนโหรหลายสำนักต่างออกมาปรับลดอัตราการขยายตัวเป็นทิวแถวเมื่อเห็นว่ามีการคาดเดาตัวแปรสำคัญผิดพลาด กระนั้นก็ยังดีที่มีภาคส่งออกเป็นแรงหนุนขับดันเศรษฐกิจอยู่ แม้ว่าการส่งออกจะโดนปัจจัยเสี่ยงจาก ค่าเงิน ดอกเบี้ย และน้ำมันแพง เล่นงานจนอ่วม แต่ก็เป็นความหวังเดียวที่จะกอบกู้เศรษฐกิจไม่ให้สาหัสสากันมากไปกว่านี้

เมื่อปี 2549 ตั้งเป้าว่าภาคการส่งออกจะขยายตัวถึง 17% ในขณะที่สถานการณ์คู่ค้าสำคัญของไทยอย่างสหรัฐ อยู่ในอาการเซื่องซึมจากพิษไข้การขาดดุล 2 ขา ทั้งการขาดดุลทางการค้า ละดุลบัญชีเดินสะพัด ยังผลให้คาดกันว่าเศรษฐกิจสหรัฐในอนาคตถ้าไม่ทรงก็ทรุด และคู่ค้าคนสำคัญเริ่มได้รับผลกระทบ ทำให้เป้าหมายการส่งออกของไทยต้องได้รับแรงขับดันอย่างแรง

ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย EXIM BANK ก็ช่วยเหลืออย่างเต็มแรง ด้วยการเปิดตลาดสู่ทวีป และประเทศใหม่มากขึ้น ไม่ว่าจะแอฟริกา ตะวันออกกลางเป็นต้น ซึ่งนอกจากทำให้กระจายความเสี่ยงจากคู่ค้าแล้ว ยังเป็นการเพิ่มช่องทางส่งออกที่หลากหลายให้ผู้ประกอบการมากขึ้น

กระนั้นก็ตามแม้ภาคส่งออกจะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ตาม แต่ในแรงหนุนนั้นกลับมีแรงต้านแฝงไว้ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยากแก่การคาดเดา ไม่ว่าจะน้ำมัน ดอกเบี้ยหรือค่าเงินก็ตาม

วีรพงษ์ รามางกูร ประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK) กล่าวว่า ต้นปี 2549 ที่คาดการณ์ไว้เช่นไรนั้นในปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผิดหมด ราคาน้ำมันที่มองว่าไตรมาส 1ปี 2549 จะอยู่ในราคราทรงตัว และค่อย ๆ ผ่อนลงไปในไตรมาส ต่อๆไป ก็ไม่เป็นเช่นว่าเมื่อสถานการณ์ในตะวันออกกลางร้อนแรงขึ้น ทำหีราคาน้ำมันดีดีตัวขึ้นสูงอีกครั้ง จนคาดว่าราคาน้ำมันจะทะยานขึ้นไปถึง 80เหรียญต่อบาเรล

"ไม่เพียงการคาดเดาเรื่องน้ำมันผิด อัตราดอกเบี้ยจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็กลายเป็นเรื่องที่ยากแก่การคาดเดา เมื่อผู้ว่าการคนใหม่ที่เคยส่งสัญญาณว่าเฟดอาจไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แต่แล้วก็ไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อเมื่อเฟดยังคงขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อ อันเป็นผลมาจากต้องการลดปัญหาเรื่องการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐ"

สหรัฐฯเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทยมาเนิ่นนาน หากเมื่อประสบปัญหาเช่นนี้อาจส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยได้เช่นกัน อีกทั้งแนวนโยบายการเงินของสหรัฐที่เปลี่ยนไปความที่เป็นชาติมหาอำนาจ ก็ส่งผลให้ตลาดการเงินโลกเกิดความผันผวนด้วย และมองว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นของตลาดเงินนี้จะรุนแรงมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้และปีหน้า

"ตลาดเงินผันผวน การเคลื่อนย้ายเงินทุนก็ผันผวน ก็ส่งผลให้ อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวนยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจัยที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เองเป็นแรงกดดันต่อภาคการส่งออกต้องทำงานหนักขึ้น หากจะวิ่งไปให้ได้ตามเป้าที่คาดไว้ว่าจะขยายตัว 17%"

แม้ปัจจัยลบจะยังคงรุมล้อมอยู่รอบกายภาคการส่งออก แต่ก็ยังพอมีปัจจัยบวกที่เกื้อหนุนอยู่บ้าง โดยเฉพาะเรื่องปัจจัยภายในประเทศ การปรับนโยบายดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ตรึงไว้ที่ 5% ทำให้เป็นผลบวกต่อภาคการส่งออก เพราะอย่างน้อยผู้ประกอบการก็คาดเดาทิศทางได้ของดอกเบี้ย และค่าเงินได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากที่ผ่านมา การอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท. ได้ขยับดอกเบี้ยขึ้นตามธนาคารกลางสหรัฐเสมอ แต่ในคราวนี้ไม่ได้ตาม และยังส่งสัญญาณอีกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ภาวะสูงสุดแล้ว โดยไม่น่าจะขึ้นสูงไปมากกว่านี้

ธปท. มองเห็นสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง การลยบายการเงินของธปท.ที่จะไม่ปรับอีตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีกจึงมีความชัดเจน

โดยรวมแล้วมองว่าภาคการส่งออกในครึ่งปีหลังจะชะลอตัวจากครึ่งปีแรกที่การส่งออกขยายตัวประมาณ 16% เหตุเพราะการขยายตัวในครึ่งปีแรกดีนั้น เนื่องจากมีคำสั่งซื้อเดิมในปลายปี 2548 ในขณะที่การส่งออกครึ่งหลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงเป็นผลมาจากความไม่มั่นใจในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน กระนั้นก็ตามการส่งออกทั้งปี2549ยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ภายใต้ภาวะของความไม่มั่นใจทางเศรษฐกิจ และแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง

ก่อนหน้านี้การลงทุนกลายเป็นความหวังของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อทุกอย่างพลิกผัน การเมืองที่เคยนิ่งเริ่มแปรปรวนทำให้การลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนต้องชะลอไป ดับความฝันการขยายตัวของเศรษฐกิจที่วางไว้สวยหรู ดังนั้นเมื่อการลงทุนไม่ใช่นักรบแถวหน้าดันเศรษฐกิจต่อไป ไม่ผลัดจึงถูกส่งมาที่ภาคการส่งออกและทำให้ภาคการส่งออกกลายเป็นทหารนักรบในแนวหน้ากอบกู้เศรษฐกิจต่อไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.