อยู่บ้านดีกว่า

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ความหมายและความสำคัญของบ้านเปลี่ยนแปลงไป ตามยุคสมัย

คนเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ไม่มีประสบการณ์ในการอยู่บ้านนั้น ความหมายมีว่า บ้านในกรุงเทพฯ คือส่วนที่แยกออกอย่างชัดเจนจากวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของคน ก็คือการทำงาน สังคมเมืองเป็นโมเดลของความแยกตัวออกจากกันระหว่างการทำงานกับการอยู่บ้าน ซึ่งทำให้กลายเป็นความแปลกแยกในการดำเนินชีวิต สังคมเมืองที่ว่านี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน เกิดขึ้นจากระบบราชการและธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ เติบโตและมั่นคงขึ้นในยุคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่สมดุล อันเกิดจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดและฉาบฉวย

ในสังคมชนบทหรือสังคมการเกษตร บ้านเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน ความกลมกลืนระหว่างบ้านกับที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรือกสวนไร่นา ทำให้กิจกรรมหรือวิถีในบ้านดำเนินอย่างปกติ บ้านถูกใช้ประโยชน์อย่างมากมาย ทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจ บ้านเป็นทั้งแหล่งผลิตและบริโภคที่กลมกลืนกัน ความสวยงาม ศิลปะ เป็นเรื่องที่สัมผัสได้ มิใช่รสนิยม หรือความชมชอบตามกระแส การสร้างบ้านเป็นศาสตร์ของการจัดการให้เหมาะสมกับธรรมชาติ สภาพดินฟ้าอากาศที่ถูกถ่ายทอดเป็นภูมิปัญญาของชุมชนกับวิถีชีวิตและมีศิลปะที่มีเอกลักษณ์ เช่น สวนในบ้านซึ่งเป็นองค์ประกอบของบ้านกลมกลืนกับธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ห้วย บ่อปลา หรือพืชน้ำ สวนครัว สวนผลไม้ และไม้ดอกไม้ประดับ เพราะเหตุที่การแบ่งแยกช่องว่างที่มากขึ้นๆ ระหว่างบ้านกับที่ทำงานนี่เอง กลายเป็นบุคลิกสังคมสมัยใหม่ เมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาสังคม

ระยะทางหรือเวลาที่ต้องเดินทางไปมาระหว่างบ้านกับที่ทำงานนี่เองคือที่มาของการใช้ชีวิตอย่างไม่สมดุล นั่นคือการเกิดขึ้นของสังคมรถ รถยนต์พาหนะที่ผู้คนใช้อำนวยความสะดวกให้คนเดินทางจากบ้านไปที่ทำงานได้อย่างรวดเร็ว สะดวกสบายมากขึ้น ในที่สุดก็พบว่า คนอยู่ในรถมากกว่าทั้งที่ทำงานและบ้าน ที่ทำงานนั้นกำหนดระยะเวลาแน่นอน ดังนั้น เวลาที่ลดลงอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษของสังคมไทยที่ผ่านมา โดยเฉพาะสังคมกรุงเทพฯ คือ เวลาที่อยู่บ้าน การจราจรติดขัดเป็นเหตุที่ใช้เวลาอยู่ในรถมากขึ้นเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่สาเหตุสำคัญมากกว่าคือ ผู้คนถูกชักจูงให้ออกนอกบ้านมากขึ้นโดยปกติเวลากิจกรรมนอกบ้านของเราเป็นกิจกรรมของนักบริโภคนิยม สอดคล้องกับยุคสมัยการค้าการตลาดยุคใหม่

กรุงเทพฯ มีสถานบริการเปิด 24 ชั่วโมงมากที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง มีห้างสรรพสินค้าปิดบริการดึกมาก มีร้านสินค้าอาหารมากมาย แนวโน้มมีบริการใหม่มากขึ้นๆ มีสิ่งเร้าให้ฟุ่มเฟือยมากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งมีรถยนต์ใช้ สังคมเมืองของเราเป็นสังคมที่ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น เป็นพลังสังคมบริโภคอย่างไม่มีการจัดการหรือวางแผน ปัญหามิใช่มีเฉพาะผู้บริโภคเท่านั้น ธุรกิจบริการในเวลากลางคืน ล้วนต้องลงทุนมากกว่าปกติ ดูเผินๆ ธุรกิจเหล่านั้นจะมีรายได้เพิ่มขึ้น ทว่าอยู่ภายใต้ต้นทุนต่อหน่วยที่สูงขึ้น หากห้างสรรพสินค้าทั้งกรุงเทพฯ หยุดวันเสาร์-อาทิตย์พร้อมกันหมด ยอดขายสินค้าต่อเดือนก็คงลดลงบ้าง แต่ที่ลดลงมากกว่าก็คือค่าใช้จ่ายของห้าง ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างคนงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ และเป็นที่แน่นอนว่า ภาระทั้งหมด ธุรกิจจะต้องโยนไปสู่บริโภคในราคาสินค้าที่ต้องซื้อแพงขึ้น ภาระนี้ไม่จำกัดเฉพาะภาคเอกชนเท่านั้น รัฐต้องจัดสรรทรัพยากรของสังคมมากกว่าที่ควรกระจายอย่างทั่วถึงทั้งสังคมให้กับคนกลุ่มหนึ่ง ในเมืองหลวงที่ใช้ชีวิตนอกบ้าน อาทิ งานด้านพลังงาน การรักษาความปลอดภัย เป็นต้น

วิถีชีวิตในสังคมใหม่เผชิญวิกฤติการณ์ความผันผวนทางสังคมในหลายมิติมากขึ้น ไม่ว่าเหตุการณ์ระดับโลกทั้งการเมือง เศรษฐกิจที่บีบบังคับให้ผู้คนต้องปรับตัวในการดำเนินชีวิตมากขึ้น แนวทางใหม่กำลังจะเกิดและผสมผสานมากขึ้น บ้านจะกลับมากลมกลืนกับการทำงานมากขึ้น เป็นแนวโน้มระดับโลกทีเดียว ระบบราชการและธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งครอบงำความเป็นไปของสังคมนั้น กำลังถูกแรงบีบคั้นให้ลดขนาดลง และบริหารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสารสมัยใหม่มากขึ้น จากนี้ไม่นานข้าราชการและลูกจ้างในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนหนึ่ง ซึ่งจะเพิ่มขึ้นๆ ในอนาคตจะย้ายสถานที่ทำงานจากเดิมไปอยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งก็คือการศึกษาอดีตมาใช้ในปัจจุบันนั้นเอง ซึ่งถือเป็นยุคอุตสาหกรรมและบริการสมัยใหม่ ขณะเดียวกันธุรกิจขนาดเล็กๆ ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นมากมาย มีการจัดการที่ดีขึ้น กลุ่มคนที่มีประสบการณ์ มีความสามารถจะย้ายออกจากธุรกิจขนาดใหญ่และกลาง มาประกอบอาชีพเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเกิดขึ้น บ้านจึงเป็นฐานสำคัญของธุรกิจขนาดย่อย บ้านจะกลับมีชีวิตชีวามากขึ้น บ้านจะถูกใช้ประโยชน์มากขึ้น และการมีบ้านจะมีความหมายมากขึ้น และบ้านจะเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินชีวิตมากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.