ภาพเขียนพิธีราชาภิเษกของนโปเลอง

โดย สุภาพิมพ์ ธนะพรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ช่วงปลายเดือนมิถุนายนในแต่ละปีเพื่อนสาวเทศมีธรรมเนียมเชิญมิตรสหายกลุ่มใหญ่ไปพักผ่อนสุดสัปดาห์ที่บ้านพักต่างจังหวัดที่องแซง (Onzain) เมืองเล็กๆ ที่อยู่ห่างจากเมืองบลัวส์ (Blois) ไปเพียง 12 กิโลเมตร ในปีแรกนั้นถือโอกาสเที่ยวปราสาท ลุ่มแม่น้ำลัวร์ที่อยู่ในบริเวณที่ไม่ไกลนัก เพื่อนบอกว่าไม่จำเป็นต้องเข้าชมภายในปราสาททุกแห่ง ด้วยว่าไม่มีอะไรให้ดู แค่ชมปราสาทชองบอรด์ (Chambord) ก็พอ เพราะโอ่อ่าพิเศษสุด ชองบอรด์สวยพิศุทธิ์ สง่างามท่ามกลางแมกไม้รายรอบ ภายในปราสาทว่างเปล่าจริงๆ

อันว่าปราสาททั้งหลายที่เป็นสมบัติของรัฐนั้นเป็นเช่นนี้เกือบทุกแห่ง ด้วยว่าในโบราณกาล ยามกษัตริย์ฝรั่งเศสแปรพระราชฐาน จะนำเครื่องเรือนส่วนพระองค์ไปด้วย มีเก้าอี้ โต๊ะอาหาร หีบใส่เครื่องถ้วยชามและของใช้จำเป็น เมื่อเสร็จภารกิจในห้องหนึ่งและไปยังอีกห้องหนึ่ง ข้าราชบริพารต้องนำเครื่องเรือนทั้งหลายตามไปด้วย ถือเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยประการหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงชอบปราสาทฟงแตนโบล (Fontainebleau) เพราะเต็มไปด้วยเครื่องเรือนและสิ่งละอันพันละน้อยที่ทำให้ฟงแตนโบลต่างจากปราสาทอื่นๆ ชอบมากจนต้องไปเยือนทุกครั้งที่มีญาติมิตรมาเยือน ไม่มีสักคนที่จะไม่หลงรักฟงแตนโบล

กษัตริย์ผู้ครองฝรั่งเศสที่มาใช้ฟงแตนโบลเป็นที่พำนักมากที่สุดคือ นโปเลอง (Napoleon) มีร่องรอยให้เห็นมากเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นห้องที่ใช้เป็นท้องพระโรง รู้ได้จากพระที่นั่งที่ตั้งสูง มีกระบังด้านบนยื่นออกมา ผ้าที่ห้อยย้อยลงมาคลุมนั้นมีตัวผึ้งสีทองอยู่ประปราย ด้วยว่าผึ้งเป็นสัญลักษณ์ของนโปเลอง ห้องประชุมเสนาบดี ห้องประชุมเล็ก ห้องนอน ห้องนอนของมารี-อองตัวแนต (Marie-Antoinette) มเหสีของหลุยส์ ที่ 16 ซึ่งยังไม่ทันได้ใช้ก็เกิดการปฏิวัติขึ้นเสียก่อน ผู้ได้ใช้กลับกลายเป็นโจเซฟีน (Josephine) และที่สำคัญที่สุดคือห้องที่นโปเลองลงนามสละราชสมบัติครั้งแรกก่อนถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา โต๊ะเล็กที่ใช้เป็นที่ลงนามตั้งพร้อมกับเก้าอี้ ลานกว้างหน้าปราสาทนั้นมีชื่อว่า Cour des adieux ด้วยว่าเป็นลานที่นโปเลองกล่าวอำลาทหารทั้งมวล

นักท่องเที่ยวที่เข้าชมพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) มีเป้าหมายหลักที่ภาพเขียนโมนา ลิซา (Mona Lisa) หรือที่เรียกในภาษาฝรั่งเศส ว่า (La Joconde) คุณโมเธอนั่งยิ้มลึกลับภายในกรอบกระจกที่สร้างเป็นเกราะกำบัง มิให้ใครเข้าถึงตัว แต่เกือบทุกคนเช่นกันจะหยุดหน้าภาพเขียนชื่อ Sacre de Napoleon ซึ่งฌาคส์-หลุยส์ ดาวิด (Jacques-Louis David) จิตรกรประจำราชสำนักนโปเลองเป็นผู้วาดขึ้น ยิ่งในปี 2004 เป็นวาระครบรอบ 200 ปีของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ผู้คนจึงไปรุมชมและรุมถ่ายภาพ

Sacre de Napoleon นั้นเป็นภาพเกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกของนโปเลอง เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1804 ภายในวิหารโนเทรอะ-ดาม เดอ ปารีส์ (Notre-Dame de Paris) เป็นภาพวิจิตรประกอบด้วยตัวละครประมาณ 200 คนเห็นจะได้ อีกทั้งนโปเลองก็สุดหล่อ โจเซฟีนก็สุดสวยละมุนละไม องค์ประกอบของ ภาพและการให้สีโดดเด่น แม้เมื่อนโปเลอง เห็นภาพนี้ยังอดทึ่งไม่ได้

นโปเลองชื่นชมกษัตริย์ชาร์ลมาญ (Charlemagne) มาก จึงอยากให้ประกอบพิธีราชาภิเษก ครั้นจะไปทำพิธีที่เมืองแรงส์ (Reims) และสวมมงกุฎของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ตามโบราณราชประเพณีของกษัตริย์ฝรั่งเศสก็ใช่ที่ ด้วยว่าตนเป็นเพียงนายทหารที่ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น Premier Consul ภายหลังสภาซีเนต (Senat) ประกาศแต่งตั้งให้เป็นจักรพรรดิของชาวฝรั่งเศส (Empereur des Fran‚ais) เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1804 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการตระเตรียมงานราชาภิเษก นโปเลองมอบหมายให้ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิดเป็นผู้จำลองภาพ พิธีดังกล่าวบนผืนผ้าใบ

ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิดเตรียมการเขียนภาพในปี 1805 ด้วยการค้นประวัติศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวกับพิธีการทางศาสนาที่มีภาพประกอบตั้งแต่ปลายยุคกลาง เพื่อจำลองบรรยากาศนั้นๆ ลงในภาพที่เขาต้องเขียน อันที่จริง ระหว่างพิธีที่ใช้เวลาถึงห้าชั่วโมง ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิดได้เก็บรายละเอียดทั้งหมด ร่างภาพใบหน้าคร่าวๆ และอิริยาบถของบุคคลต่างๆ ที่ร่วมในพิธีนี้ เช่น ใบหน้าด้านข้างของโจเซฟีน เขาขอยืมมงกุฎและเสื้อคลุม ที่นโปเลองสวมในพิธี เครื่องแต่งกายของบรรดาแขกรับเชิญ ตรวจสอบเหรียญตราต่างๆ ของทูตานุทูต และขนาดตัวของทุกคน ที่ร่วมในพิธีราชาภิเษก หลังจากนั้นฌาคส์-หลุยส์ ดาวิดเปิดสตูดิโอเพื่อเขียนภาพนี้โดยเฉพาะในห้องสวดมนต์ของวิทยาลัยคลูนี (College de Cluny) ทั้งนี้แขกรับเชิญสำคัญๆ มาเป็นแบบให้เขาเขียนในสตูดิโอ เขาให้ลูกสาวฝาแฝดเป็นแบบแทนน้องสาวของนโปเลอง ซึ่งในวันพิธีนั้นหน้าบูดบึ้งด้วยว่าต้องช่วยยกชายกระโปรงของโจเซฟีน แต่ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิดเขียนให้ทั้งสองมีใบหน้าแย้มยิ้ม ทั้งยังเขียนให้โจเซฟีนดูอ่อนกว่าอายุและสวยละมุนละไมราวกับนางฟ้า เครื่องเพชร ที่สาวๆ สวมในวันนั้นเป็นผลงานของนีโตท์ (Nitot) ช่างเพชรประจำราชสำนักของนโปเลองและเป็นผู้ก่อตั้งห้างเพชรโชเมต์ (Chuamet)

โจเซฟีนได้เห็นภาพนี้ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 1807 ก่อนนโปเลองเสียอีก ต่อมาในวันที่ 4 มกราคม 1808 นโปเลองขอให้ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิดวาดภาพสันตะปาปายกมือขึ้นเป็นการให้พร นอกจากนั้นยังขอให้วาดภาพเลติเซีย (Letizia) มารดาของตนในภาพด้วย ทั้งๆ ที่เลติเซียไม่ยอมมาร่วมพิธีเพราะไม่เห็นด้วยกับการแต่งตั้งโจเซฟีนเป็นจักรพรรดินี อีกทั้งทูตวาติกันซึ่งล้มป่วยในวันนั้นด้วย

แรกทีเดียวเขาจะเขียนภาพนโปเลองสวมมงกุฎให้ตนเองด้วยมือข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งจับคทาแนบตัว หากได้ภาพออกมาไม่สง่างามเท่าที่ควร จึงเปลี่ยนใจเขียนภาพนโปเลองกำลังสวมมงกุฎให้โจเซฟีนแทน

ภาพ Sacre de Napoleon ของฌาคส์-หลุยส์ ดาวิดนั้นนำออกให้สาธารณชนชมในเดือนมกราคม 1808 เป็นเวลาสองเดือนที่พระราชวังลูฟวร์ และถูกเก็บไปหลังจากที่นโปเลองแต่งงานกับมารี-หลุยส์ (Marie-Louise) เจ้าหญิงแห่งออสเตรีย ในรัชสมัยของกษัตริย์หลุยส์-ฟิลิป (Louis Philippe) ภาพ Sacre de Napoleon ย้ายไปประดิษฐานยังพระราชวังแวร์ซายส์ (Versailles) และเดินทางกลับมาที่ลูฟวร์ในปี 1889 และอยู่เคียงคู่กับลูฟวร์มาจนทุกวันนี้

ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิดเป็นจิตรกรนีโอ-คลาสสิก เขาได้รับแรงบันดาลใจจากภาพเขียนยุคกรีกและโรมัน ภาพ Sacre de Napoleon ถือเป็นการสื่อถึงความนัยทางการเมืองของนโปเลอง ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิดชื่นชอบนโปเลองตั้งแต่ฝ่ายหลังเป็นเพียงแค่ทหารหนุ่ม และได้เขียนภาพนโปเลองหลายรูปด้วยกัน ภาพเขียนขนาดใหญ่อีกภาพหนึ่งของเขาชื่อ La Distribution des aigles ซึ่งเขาเขียนในปี 1810

เมื่อหมดยุคนโปเลอง ฌาคส์-หลุยส์ ดาวิดลี้ภัยไปอยู่กรุงบรัสเซลส์ และหันไปเขียนภาพเกี่ยวกับเทพกรีกและโรมัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.