|
Lost on Everest
โดย
อนิรุต พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา Mark Inglis ได้กลายเป็นคนพิการสองขาเทียมที่พิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอย่าง Mount Everest ได้สำเร็จเป็นคนแรก ความสำเร็จครั้งนี้ก็เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก แต่เบื้องหลังของความสำเร็จครั้งนี้ต่างหาก ที่กลับกลายเป็นข่าวที่ดังยิ่งกว่า และกลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักปีนเขาทั่วโลกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
เรื่องราวของ Mark Inglis เริ่มขึ้นเมื่อเขาต้องสูญเสียขาทั้งสองข้างไปในปี 1982 ในขณะที่ทำงานให้กับหน่วยกู้ภัยช่วยเหลือนักปีนเขาที่ Mount Cook ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในนิวซีแลนด์ และเป็นยอดเขาที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในซีกโลกใต้
แต่การสูญเสียขาทั้งสองข้างก็ไม่ได้ทำให้ Mark Inglis ท้อถอยแต่ประการใด จนในที่สุดเขาก็ได้กลับมาเล่นกีฬาและทำกิจกรรมที่เขารักอีกครั้งด้วยขาเทียมทั้งสองข้าง และเรื่องราวแห่งความสำเร็จของชายผู้นี้ก็เริ่มขึ้นอย่างจริงจังเมื่อ Mark Inglis คว้าเหรียญเงินมาครองได้จากมหกรรมกีฬา Paralympics Games 2000 ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย จากกีฬาประเภทจักรยาน
หลังจากนั้น Mark Inglis ได้ตัดสินใจกลับมาปีนเขาที่เขารักอีกครั้ง และในปี 2002 Mark Inglis ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยการพิชิตยอดเขา Mount Cook ของนิวซีแลนด์ได้สำเร็จด้วยขาเทียมทั้งสองข้าง และต่อมาในปี 2004 ชายผู้นี้ก็ทำการพิชิตยอดเขา Cho Oyu (8,200 เมตร) ซึ่งเป็นยอดเขาสูงอันดับ 6 ของโลกได้สำเร็จเช่นกัน ความสำเร็จในครั้งนี้ ก็ทำให้ Mark Inglis ได้กลายเป็นคนพิการสองขาเทียม ที่ทำสถิติปีนเขาได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์
จากความสำเร็จครั้งนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ก้าวต่อไปของชายผู้นี้ก็คือการพิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกอย่าง Mount Everest (8,848 เมตร) ว่ากันไปแล้ว ตำนานการปีนเขา Mount Everest คือส่วนหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวนิวซีแลนด์ เพราะ Sir Edmund Hillary คือชาวกีวี เป็นหนึ่งในมนุษย์สองคนแรก (ร่วมกับ Sherpa Tenzing Norgay) ที่สามารถพิชิต Mount Everest ได้สำเร็จ ในปี 1953
และแล้วนาย Mark Inglis ก็ไม่ได้ทำให้คนทั้งชาติผิดหวังเมื่อเขาสามารถพิชิตยอดเขา Everest ได้สำเร็จในวันที่ 15 พฤษภาคม พร้อมกับทีมนักปีนเขาและไกด์นำทางท้องถิ่นอีกร่วม 30 ชีวิต ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วนิวซีแลนด์ ทีวีช่องต่างๆ ทำการสัมภาษณ์สดส่งตรงมาจากประเทศเนปาล นายกรัฐมนตรีของนิวซีแลนด์ รวมทั้งบุคคลที่มีชื่อเสียงอื่นๆ ก็ได้ออกมาแสดงความยินดีกับความสำเร็จในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
และแล้วเหมือนโชคชะตากลั่นแกล้ง หนึ่งในกลุ่มของคณะปีนเขาชุดนี้รวมถึงตัวของ Mark Inglis เอง ได้ออกมาเปิดเผยถึงความยากลำบากในการเดินทาง โดยส่วนหนึ่งของการให้สัมภาษณ์ Mark Inglis เล่าว่าได้พบศพนักปีนเขาหลายศพในระหว่างการเดินทาง แต่ที่สำคัญที่สุด คณะของเขายังได้พบร่างของ David Sharp นักปีนเขาชาวอังกฤษ ซึ่งติดอยู่ในถ้ำที่ระดับความสูง 8,500 เมตร หรือเพียง 300 เมตรจากยอดเขา ซึ่งรู้จักกันดีว่าเป็น "Death Zone" ของ Everest
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คณะของ Mark Inglis ตรวจดูร่างของ David Sharp รวมถึงทำการปรึกษาทีมงานของเขาที่ Base Camp ด้วยวิทยุสื่อสารแล้ว จึงได้ตัดสินใจว่าไม่สามารถช่วยเหลือ David Sharp ที่ขาดออกซิเจนมาแล้วหลายชั่วโมง และแทบจะไม่มีสัญญาณของการมีชีวิตหลงเหลืออยู่เลยได้ คณะของ Mark Inglis จึงทำการเดินทางต่อจน สามารถพิชิตยอดเขา Everest ได้ในวันเดียวกัน
จากคำให้สัมภาษณ์นี้ เรื่องนี้ก็ได้ถูกหยิบยกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางทั้งในนิวซีแลนด์และในต่างประเทศว่า คณะของ Mark Inglis อาจจะขาดจิตสำนึกในการช่วยเหลือนักปีนเขาที่ประสบปัญหา แต่เลือกที่จะเดินทางต่อโดยเห็นว่าการพิชิตยอดเขาเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าชีวิตคน และเหตุการณ์ก็ยิ่งแย่ลง เมื่อ Sir Edmund Hillary วีรบุรุษของชาวนิวซีแลนด์และตำนานของ Everest ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกัน โดยกล่าวว่า ถ้าเป็นคณะของเขา เขาคงจะไม่สามารถทอดทิ้งนักปีนเขาที่ประสบปัญหา ถึงแม้จะต้องล้มเลิกภารกิจการเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถพิชิตยอดเขา Everest ได้ก็ตาม
แต่นักปีนเขาหลายคนออกมาแสดงความเห็นอกเห็นใจกับ Mark Inglis โดยกล่าวว่าในระดับความสูงที่ 8,500 เมตร และอุณหภูมิที่ -38 องศา คนทั่วไปไม่สามารถแม้กระทั่งเดินได้เกิน 10 ก้าว โดยไม่มีถังออกซิเจน ดังนั้นการช่วยเหลือผู้อื่นในสถานการณ์เช่นนี้จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ นอกจากนั้นการช่วยเหลือผู้อื่นในลักษณะเช่นนี้ก็อาจทำให้ผู้ช่วยเสียชีวิตได้เช่นกัน นอกจากนั้น Mark Inglis และคณะของเขายังยืนยันอีกว่า แม้ทีมงานของเขาจะต้องล้มเลิกภารกิจพิชิตยอดเขา Everest เพื่อช่วยนำร่างของ David Sharp ลงมา ด้วยสภาพร่างกายของ David Sharp พวกเขาก็คงจะไม่สามารถรักษาชีวิตของเขาไว้ได้อยู่ดี
หลังจากนี้เรื่อง ก็ดูเหมือนเริ่มจะซาลง แต่เหตุการณ์กลับเลวร้ายลงอีกใน 1 สัปดาห์ถัดมา เมื่อปรากฏว่ามีนักปีนเขาชาวออสเตรเลียที่ชื่อ Lincoln Hall ถูกคณะของเขาทิ้งไว้ใน Death Zone ของ Everest หลังจากที่ประสบปัญหา Altitude Sickness จนทีมงานของเขาเชื่อว่าไม่สามารถช่วยเหลือลงมาได้ แต่ปรากฏว่า Lincoln Hall กลับได้รับความช่วยเหลือจากทีมนักปีนเขาอีกชุดหนึ่งที่มาพบในเช้าวันรุ่งขึ้น ขณะยังมีชีวิตอยู่ และท้ายสุด Lincoln Hall ก็ได้รับการช่วยเหลือลงมาอย่างปลอดภัย
เหตุการณ์นี้จึงเหมือนเป็นการตอกย้ำการตัดสินใจที่อาจจะผิดพลาดของคณะของ Mark Inglis ที่ไม่ได้ช่วยเหลือ David Sharp และเป็นการจุดประเด็นของประชาคมนักปีนเขาทั่วโลกที่กำลังตั้งคำถามว่า "จิตสำนึก" กำลังถูกลืม และ "Lost" ให้กับความยั่วยวนของความสำเร็จในการพิชิต Everest ไปเสียแล้วหรืออย่างไร
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าบุคคลที่สูญเสีย มากที่สุดคนหนึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็คือ ตัวของ Mark Inglis เอง เพราะคงไม่มีใครรู้คำตอบที่แท้จริงว่าในสถานการณ์เช่นนั้น คณะของเขาอาจทำถูกต้องแล้วก็ได้แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ควรจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนพิการและคนทั่วไปทั้งหลาย กลับต้องมา "Lost" ไปกับความโชคร้ายที่คาดไม่ถึง นอกจากนั้นภาพพจน์และแบรนด์ของความเป็น Mark Inglis ที่สั่งสมมานาน ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยหารายได้เลี้ยงครอบครัวของเขามาโดยตลอด ก็ต้องมาหม่นหมองไปกับเหตุการณ์นี้ด้วยเช่นกัน
ในวันนี้สำหรับชายชื่อ Mark Inglis ผู้พิชิต Everest ด้วยสองขาเทียม หากจะเรียกความศรัทธากลับคืนมา หนทางข้างหน้าดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยอุปสรรคและขวากหนามที่สูงชันกว่า Everest เสียอีก
ขอขอบคุณภาพประกอบบทความจาก
การท่องเที่ยวเนปาล : www.tourism.gov.np
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|