เสน่ห์ความเก่าบนราชดำเนิน

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

บนถนนสายประวัติศาสตร์ชื่อ "ราชดำเนิน" เข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ใกล้หอศิลป์ฯ ของธนาคารกรุงเทพ ห้องแถวคู่สีเหลืองพาสเทล (pastel) คล้ายสีพระตำหนัก ขับประตูไม้สีเข้มบานเก่าจากพม่าให้เด่น ด้านในเต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้สักทองอายุหลายสิบปีและของโบราณหลายชิ้น มองผิวเผินนึกว่าร้านขายของเก่าหรือแกลเลอรี่ของโบราณ

หลังประตูบานเขื่อง หญิงวัย 61 ปี ที่ยังดูสาวและแข็งแรงกว่าอายุกำลังขะมักเขม้น ให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวแก่หนุ่มสาวชาวต่างชาติ แล้วก็รีบออกไปเรียกแท็กซี่ ครั้นกำชับเส้นทางกับคนขับเสร็จสรรพจึงส่งแขกขึ้นรถด้วยรอยยิ้ม โบกมือพร้อมกับกล่าว "Enjoy Bangkok!"

นันทิยา ตุลยานนท์ เจ้าของโรงแรม Old Bangkok Inn แห่งนี้ เธอมักจะมาดูแลสารทุกข์สุกดิบของแขกด้วยตัวเองในทุกเช้า และกลับไปพักผ่อนอยู่บ้านในช่วงบ่ายตามประสาคนวัยหลังเกษียณ

"ยิ่งอายุมากยิ่งต้องหาอะไรทำ ไม่เช่นนั้นร่างกายจะเสื่อม สมองจะคิดอะไรไม่ถูก จิตใจก็จะย่ำแย่ และยิ่งถ้าไม่ได้ออกจากบ้าน เราก็ยิ่งปล่อยตัว ร่างกายก็ยิ่งโทรมไปใหญ่" นันทิยาเตรียมตัวเกษียณจากงานธนาคารตั้งแต่ 2 ปีก่อน และเริ่มมองหากิจการเล็กๆ ที่ให้ทั้งความสุขและมีรายได้พอเลี้ยงตัว

ความชอบให้บริการ บวกกับประสบการณ์แสนอบอุ่นและเป็นกันเองที่เคยได้รับจากท่านเคานท์เจ้าของโรงแรมบูติกหรูใน Normandy เมืองท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศฝรั่งเศส จุดประกายให้เธอคิดถึงกิจการโรงแรมเล็กๆ

ที่ดินราว 1 ไร่ ติดถนนพระสุเมรุบนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งรายล้อมด้วยสิ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ เช่น โลหะปราสาทวัดราชนัดดา ภูเขาทอง ชุมชนเก่าบางลำพู อนุสาวรีย์ ประชาธิปไตย ฯลฯ เป็นที่ดินซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานตอบแทนคุณความดีของพระองค์เจ้ายุคันธร และตกทอดมาสู่หม่อมเจ้าอุทัย ยุคันธร ซึ่งสืบเชื้อสายต่อมาเป็นต้นตระกูลตุลยานนท์ของสามี ตกทอดมาแล้ว 6 รุ่นเป็นเวลากว่า 100 ปี

ทำเลที่ตั้งตรงนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจของชื่อ Old Bangkok Inn

ก่อนนี้ที่ดินตรงนี้ถูกเช่าเปิดบาร์และร้านก๋วยเตี๋ยว แต่เพราะเชื่อว่า คุณค่าของทำเลตรงนี้น่าจะมากกว่านั้น เธอจึงพัฒนาเป็นโรงแรมระดับหรู ทั้งที่ละแวกนี้ชุกชุมด้วยเกสต์เฮาส์ราคาต่ำจำนวนมากอยู่ก่อนแล้ว

นันทิยาเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้สักเก่าแก่และของสะสมโบราณมาเพิ่มรสนิยมที่หรูหราให้กับโรงแรม และเสริมมนต์ขลังในความเก่าแก่ของที่ตั้งได้อย่างดี

"เราเดินทางไปเสาะหาเฟอร์นิเจอร์เก่าจากกองของโละจากเชียงใหม่ อยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี แม่สอด หลายชิ้นก็ข้ามฟากมาจากพม่า อันไหนพอใช้ได้ก็เอากลับมาขัดใหม่ เลยได้ของราคาไม่แพงแถมเป็นของเก่าแท้ พอโรงแรมเสร็จก็นำของเหล่านี้มาจับคู่จัดวาง"

บันไดไม้สักรุ่นคุณย่าที่หลงเหลือหลังรื้อโครงสร้างตึกเก่าทิ้ง ถูกวางสวยสง่าอยู่หลังเคาน์เตอร์ไม้สักสีเข้มกลางล็อบบี้ เข้ากันได้ดีเฟอร์นิเจอร์ไม้เก่าชิ้นอื่นในโรงแรม

"เฟอร์นิเจอร์เก่าของโบราณแต่ละชิ้นก็สวยงามในตัวของมันอยู่แล้ว แต่พอนำมารวมกันก็ยิ่งดูสวยเข้าไปอีก ดูเหมือนเล่นต่อจิ๊กซอว์" นันทิยาบรรยายตามสไตล์นักสะสม

ภายในห้องพัก ประตูหน้าต่างไม้สักทองของเก่าก็เข้าได้ดีกับโต๊ะไม้สักข้างเตียง บานกั้นไม้สักที่นำใส่กระจกใหม่กับชุดโต๊ะไม้วางอ่างล้างหน้าในห้องน้ำก็เสริมเสน่ห์ซึ่งกัน ส่วนพื้นไม้เนื้อแข็งปูทั่วทั้งห้อง ไม่เว้นห้องอาบน้ำเพิ่มความอบอุ่นหรูหราให้กับห้อง และกลมกลืนเหลือเกินกับโคมไฟเก่าจากพม่า หีบไม้ใส่ผ้าโบราณ และของสะสมรุ่นคุณย่าอื่นๆ ที่ตกแต่งอยู่ในห้อง

นอกจากมนต์ขลังของเฟอร์นิเจอร์เก่า อีกเสน่ห์ของห้องพักที่นี่ ยังอยู่ที่ "กิมมิค" อันเกิดจากชื่อห้องที่เป็นธีมพันธุ์ไม้ ได้แก่ห้องตะไคร้ ห้องมะลิ ห้องกล้วยไม้ และห้องข้าว ซึ่งแต่ละธีมจะมีเพียง 2 ห้อง

แรกก้าวไปในห้องตะไคร้ กลิ่นหอมบางของตะไคร้ก็ลอยมาเตะจมูก ย่างต่อไปกลางห้อง คอมพิวเตอร์จอแอลซีดี พร้อมระบบ Wi-Fi และเครื่องเล่นดีวีดีถูกจัดวางอย่างลงตัว จึงดูไม่แปลกปลอมท่ามกลางตู้ตั่งเตียงที่เป็นไม้สักทองและของโบราณในห้องแต่อย่างใด เพิ่มความหรูด้วยผ้าปูเตียง และปลอกหมอนเย็บด้วยผ้าไหมสีน้ำตาลเข้มตัดกับผ้ามุ้งสีขาวที่พันเก็บไว้อย่างดีทิ้งชายระย้าเล็กน้อย ดูสบายจนน่าทิ้งตัวลงนอน

ภายในห้องตะไคร้มีสวนหย่อมส่วนตัว ที่จะออกไปนั่งใต้ร่มไม้ฟังเสียงน้ำตกเล็กๆ หรือจะเอนตัวมองต้นม่านบาหลีสีชมพูอมม่วงทิ้งตัวลงมาจากหลังคา ท่ามกลางความเขียวขจีของหย่อมไม้น้อยใหญ่สไตล์ Tropical garden ผ่านประตูกระจก ก็ช่วยสร้างความรู้สึกเย็นชุ่มฉ่ำหัวใจได้เหมือนกัน

ห้องมะลิบนชั้นสองโทนสีขาวบริสุทธิ์ดูคล้ายกลีบดอกมะลิ ส่วนกลิ่นมะลิที่คละคลุ้งทั่วห้องก็มาจากพุ่มดอกมะลิและพวงมาลัยที่นันทิยาจัดวางรอต้อนรับลูกค้าไว้แล้ว มุมคอมพิวเตอร์วางแยกส่วนอยู่ชั้นล่าง บันไดไม้ด้านหลังทอดตัวสู่ชั้นลอย (loft level) ที่มีเตียงนอนสีเข้มรอยู่พร้อมมุมนั่งเล่นโทนสีขาวใกล้กัน ที่ผนังเพนต์ลายช่อดอกมะลิและประดับด้วยโคมไฟลายแปลกตา

ห้องกล้วยไม้เป็นห้องสูท 2 ชั้นคล้ายห้องมะลิ ต่างกันที่รายละเอียดเล็กน้อยตามสีของกล้วยไม้ ขณะที่ห้องข้าวก็คล้ายห้องตะไคร้ เพียงแต่เป็นเตียงเดี่ยว 2 เตียงและไม่มีสวนในห้อง

กลิ่นถูกใช้เป็น "กิมมิค" น่ารักๆ แต่โดดเด่นในห้องพักที่นี่ เพราะนอกจากกลิ่นหอมจางๆ ของดอกไม้ที่วางในห้อง นันทิยาประดิดประดอยวางโถแชมพูและสบู่เหลวที่มีกลิ่นตามชื่อห้อง เช่น ห้องมะลิ แชมพูและสบู่เหลวก็เป็นกลิ่นมะลิ ห้องกล้วยไม้ก็เป็นกลิ่นดอกกล้วยไม้ ห้องข้าว และห้องตะไคร้ ก็เป็นกลิ่นข้าวสุกและตะไคร้หอม ตามลำดับ

สิ่งที่โรงแรมแห่งนี้ถูกบอกต่อบ่อยที่สุดในห้องแชตของหมู่นักท่องเที่ยว "hipster" ที่มองหาโรงแรมทางเลือก แทบทุกรายล้วนเข้ามาพูดถึงความประทับใจ ในความอบอุ่นของเจ้าของบ้านเช่นนันทิยาและจิรายุ ลูกชายของเธอ หรือแขกฝรั่งเรียกขานในชื่อ "โจอี้" ที่มักปลีกตัวจากงานการเมืองมาพาแขกไปหาร้านอาหารอร่อยๆ หรือนำทัวร์รอบเกาะรัตนโกสินทร์ด้วยตัวเอง

ไม่เพียงคำแนะนำเรื่องเส้นทางและแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ควรพลาด รวมถึงข้อมูลกรุงเทพฯ ในมุมที่หาอ่านไม่ได้จากไกด์บุ๊กของนักเที่ยวชาวต่างชาติทุกครั้ง นันทิยายังจะคอยดูแลถามไถ่สารทุกข์สุกดิบแขกทุกคนราวคนในครอบครัวจนมีคนบรรยายไว้ว่า "มาอย่างแขก อยู่เหมือนญาติ กลับเหมือนเพื่อน"

ทุกคืนแขกจะได้รับของขวัญ (nightly present) ของไทยๆ ไม่ซ้ำวางทิ้งไว้บนเตียง พร้อมโน้ตที่บอกว่า "มีอะไรให้ช่วยโปรดอย่าเกรงใจ" แสดงความยินดี ดูแลและต้อนรับอย่างจริงใจ และทุกมื้อเช้าเธอก็จะจัดเตรียมผลไม้สดใหม่ตามฤดูกาลหลากชนิด เคียงคู่ขนมครกและโจ๊กร้อนๆ ให้เลือกทานจนเต็มอิ่ม

ความเห็นในเว็บแนะนำที่พักหลายแห่งกลายเป็นสื่อโฆษณาที่ได้ผลดี ซึ่งนันทิยาไม่เคยควักสตางค์จ่าย หลังอ่านคอมเมนต์ นักท่องเที่ยวหลายคน คู่ฮันนีมูนหลายคู่ถึงกับยกเลิกโรงแรม 5 ดาวอย่าง Four Seasons และ Oriental เพื่อทดลองมาพักที่นี่

ระดับราคาราว 3,500-5,000 บาทต่อคืน ทำให้นันทิยาเคยถูกปรามาสว่า "คงไปไม่รอด" กลับเป็นเกณฑ์ชั้นดีที่ช่วยคัดลูกค้าคนที่ชอบพักที่นี่มักจะเป็นคนที่รื่นรมย์กับสุนทรีย์ในรายละเอียดของชีวิต รักความสงบและบรรยากาศท้องถิ่น แขกของเราส่วนมากเป็นนักเขียน ศิลปิน ครีเอทีฟ ดีไซเนอร์ ฯลฯ และเกือบ 100% เป็นชาวยุโรปและอเมริกัน"

จากเว็บ สิ่งเดียวที่ Old Bangkok Inn ถูกตำหนิบ่อย เห็นจะเป็นเรื่องห้องพักเต็มในช่วงฤดูท่องเที่ยว และมีแขกหลายคนต้องพลาดธีมห้องที่ชอบเป็นพิเศษ เพราะอัตราการจองที่สูงกว่า 70% แม้ไม่ใช่หน้าท่องเที่ยว

ครบรอบ 1 ปี นันทิยาฉลองด้วยการเพิ่มห้องสูทอีก 2 ห้อง ในธีมดอกบัวและกุหลาบ ซึ่งถูกจองแล้วทั้งที่เพิ่งลงมือสร้าง โดยเหตุที่ขยายเพราะพื้นที่เดิมเป็นผับบาร์ส่งเสียงดัง พอเจ้าของเก่าจะย้ายไปที่อื่น เธอจึงไม่ลังเลรีบเช่าพื้นที่เอง เพื่อความสงบสุขที่แขกของเธอจะได้รับ

ถึงจะก้าวขึ้นลงบันไดได้อย่างช้าๆ แต่ทุกวันนันทิยาก็ยังคงเดินสำรวจทั่วโรงแรม ทดสอบกลิ่นในขวดแชมพูและสบู่เหลวของทุกห้องว่ายังคงส่งกลิ่นหอม ตรวจเช็กความเรียบร้อยเสร็จสรรพ จึงกลับมาประจำอยู่หลังเคาน์เตอร์ไม้ รอต้อนรับทักทาย ให้ความช่วยเหลือแก่แขกของเธออย่างตั้งใจ... จนแดดบ่ายคล้อยไล่เข้ามาเป็นการเตือนว่าถึงเวลาพักผ่อนแล้ว ก่อนจะกลับมาสู้ใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.