ธุรกิจบริการข้อมูลอัตโนมัติด้วยเสียง แฟชั่นยอดฮิตของทุนสื่อสารยุคนี้
สามารถกรุ๊ป, ทีเอ, สหศีนีมา, อิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ แห่ลงทุนเป็นทิวแถว อาศัยเพียงเงินทุนเช่าคู่สายโทรศัพท์และระบบคอมพิวเตอร์
โดยหวังผลตอบแทนเป็นเงินนับร้อยล้านบาทต่อปี วัยรุ่นกำลังเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เติบโตอย่างเร่าร้อน
แต่การขยายกลุ่มเป้าหมาย และเข้าสู่ธุรกิจข้อมูลอย่างแท้จริงอาจไม่ใช่เรื่องง่าย
ๆ เพราะไป ๆ มา ๆ ธุรกิจนี้อาจจะเป็นได้แค่ "ของเล่น" สำหรับวัยรุ่นเท่านั้น
"0055 อารมณ์ไหนก็จูนกันได้ตลอดเพราะสายนี้โฟนไลน์ สื่อสารสาระและบันเทิงจากโทรศัพท์"
เสียงหนุ่มวัยมันส่งเสียงมาในทันทีที่กดหมายเลข เพื่อเข้าไปรับฟังข้อมูล
หรือฝากข้อความ ในหัวข้อบริการประเภทต่าง ๆ ซึ่งจะมีตั้งแต่ ดูดวง, เกย์ไลน์,
ชีวิตธุรกิจ, เอ็นเตอร์เทนเม้นท์
นี่คือธุรกิจที่กำลังเกิดขึ้นใหม่ "ออดิโอเท็กซ์" หรือ "บริการข้อมูลอัตโนมัติทางเสียง"
เงินไม่ถึง 100 บาทต่อการสมัครเป็นสมาชิก เพื่อแลกกับความสนุกสนาน ยามว่างจากการได้พูดคุยกับเพื่อนแปลกหน้าหรือฝากความในใจผ่านคู่สายโทรศัพท์
ซึ่งอาจสานต่อไปถึงการนัดหมายพบปะกันในเวลาต่อมา ทำให้บริการประเภทนี้เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาวัยรุ่นบางกลุ่มอย่างเหนียวแน่น
บรรดานักลงทุนบางรายเล็งเห็นถึงช่องทางหารายได้จากธุรกิจประเภทนี้ เพราะการลงทุนในธุรกิจนี้ไม่ยากเย็นอะไรไม่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงมากมาย
เพียงแค่เช่าคู่สายโทรศัพท์ ซื้อระบบคอมพิวเตอร์และซื้อซอฟต์แวร์จากต่างประเทศมาไว้เพื่อเก็บบันทึกข้อมูล
ก็สามารถหาเงินเข้ากระเป๋าได้แล้ว
มีเดียพลัสในยุคของอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการในช่วงแรกเริ่ม
ที่อาศัยฐานสมาชิกที่มาจากแฟนเพลงวิทยุในสังกัด เปิดเป็นบริการ สไมล์คลับ
ให้สมาชิกเหล่านี้โทรศัพท์มาสอบถามข้อมูล จองบัตร หรือ พูดคุยกับเพื่อนสมาชิกด้วยกัน
บริการนี้แพร่หลายอยู่กับวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งได้ไม่นานนัก อิทธิวัฒน์ขายหุ้นมีเดียพลัสให้กับกลุ่มวัฎจักร
เช่นเดียวกัน ธเนศร์ ไตรวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ แต่หันมาเอาดีทางธุรกิจออดิโอเท็กซ์
เปิดเป็นบริษัทเล็ก ๆ มีชื่อว่า อินเทลิเจนท์ ซิสเต็มส์ เน็ทเวิร์ค (ไอเอสเอ็น)
ธเนศร์เล่าว่า กลุ่มเป้าหมายของเขาคือวัยรุ่นช่วงต้น ๆ มีอายุตั้งแต่ 12-22
ปี ดังนั้นข้อมูลจึงเหมาะสมสำหรับกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะ เช่น คำถามกวนอารมณ์
ดูดวง
"คำถาม 'อะไรเอ่ย' มีต้นกำเนิดมาจากบริการของไอเอสเอ็นนี้เอง เป็นหนึ่งในเมนูยอดนิยม
ที่ไอเอสเอ็น เปิดให้บริการแก่สมาชิก ที่มีคำถามแปลก ๆ ใหม่ โทรศัพท์เข้ามาฝากข้อความเอาไว้และเมื่อสมาชิกคนอื่น
ๆ มาเปิดฟังเจอข้อความเหล่านี้ ทำให้คำถามอะไรเอ่ยนี้แพร่หลายออกไป"
ธเนศร์เล่า
แต่ธเนศร์มองว่าการเน้นแต่กลุ่มวัยรุ่นอย่างเดียว ธุรกิจคงเดินไปได้ไม่ไกล
เขาจึงเปิดทางให้สหศีนิมา ซึ่งกำลังต้องการขยายธุรกิจทางด้านนี้อยู่แล้ว
เข้ามาซื้อหุ้นร่วมกับอิทธิวัฒน์ เพียรเลิศ รวม 60% ส่วนอีก 30% ธเนศร์ยังคงถือไว้
และเปลี่ยนชื่อมาเป็นบริษัทสยามโฟน์ไลน์
แม้ว่าลูกค้าหลักยังคงหนีไม่พ้นกลุ่มวัยรุ่น แต่สยามโฟนไลน์พยายามที่จะเปลี่ยนภาพพจน์ของตัวเองใหม่
บริการของสยามโฟน์ในวันนี้ แทนที่จะมีข้อมูลสำหรับกลุ่มวัยรุ่นแต่เพียงอย่างเดียวเช่น
ดูดวง เกย์ไลน์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ โฟนคลับ หรือคีตาคลับเท่านั้น แต่มีข้อมูลที่เป็นเนื้อหาสาระ
เช่น "ชีวิตธุรกิจ" โดยประสาน มฤคพิทักษ์ เพิ่มเข้ามา
จากการทดลองฟังของ "ผู้จัดการ" พบว่า เมนู "ปาร์ตี้ไลน์"
ซึ่งวัยรุ่นนิยมมากนั้น มีหลักการให้บริการง่าย ๆ คือ ผู้ให้บริการจะเป็นจุดศูนย์กลาง
สมาชิกอาจฝากข้อความว่า เวลาเที่ยงคืนต้องการคุยกับใครก็ได้แก้เหงา ขอให้โทรเข้ามาผู้ให้บริการก็จะจัดการจับคู่ให้ในช่วงเวลาดังกล่าว
หรือ "ข้อมูล" ที่นิยมมากคือ คุยกับดารานักร้องยอดนิยม ซึ่งดารานักร้องจะฝากข้อความไว้
หรือตอบข้อความใส่เทปตามที่สมาชิกโทรเข้ามา
ว่ากันว่า เมื่อครั้งที่ "T-SKIRT" มารับโทรศัพท์นั้น สมาชิกวัยรุ่นหนุ่ม
ๆ โทรกันสายแทบไหม้ !
นอกจากนี้ การที่พฤติกรรมวัยรุ่นชอบใช้โทรศัพท์มาก และโทรครั้งละนาน ๆ
ค่าแอร์ไทม์ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ยิ่งการสนทนายิ่งยาว ผู้ให้บริการออดิโอเท็กซ์ก็ยิ่งชอบมากขึ้นเท่านั้น
ปีที่ผ่านมาธเนศร์เล่าว่า สยามโฟนไลน์มีรายได้ประมาณ 20 ล้านบาท หลังจากที่ล้มลุกคลุกคลานมาเกือบ
2 ปี
การเติบโตของธุรกิจออดิโอเท็กซ์ทำให้กลุ่มธุรกิจรายใหญ่เริ่มให้ความสนใจ
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่หลายรายได้ก้าวเข้ามาทำธุรกิจนี้กันอย่างคับคั่ง
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนสื่อสาร เช่น กลุ่มสามารถ หรืออิทธิวัฒน์ เพียงเลิศ
ที่หันมาเอาดีกับธุรกิจนี้อีกครั้ง ยังไม่รวมทีเอ และกลุ่มยูคอมที่เตรียมพาเหรดเข้าสู่ธุรกิจนี้เป็นทิวแถว
เป้าหมายของพวกเขา มองไปไกลกว่ากลุ่มวัยรุ่น พวกเขามองว่า ธุรกิจออดิโอเท็กซ์เป็น
"สื่อ" ประเภทหนึ่งในการส่งข้อมูลสู่กลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย
โดยเฉพาะในช่วงที่บริการโทรคมนาคมขาดแคลน
คนในวงการวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นว่าปัจจุบันสื่อที่จะใช้ในการส่งข้อมูล
หรือข่าวสาร ที่สามารถถึงตัวผู้รับข้อมูล รวมเร็ว และตลอดเวลา ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่าย
ๆ แม้แต่บริการสื่อสารข้อมูลแบบออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์ ต้องประสบความล้มเหลวมาแล้ว
เพราะส่วนหนึ่งมาจากความไม่สะดวกในการใช้งาน และยังไม่รวมถึงข้อมูลที่ไม่ตอบสนองความต้องการ
แต่ออดิโอเท็กซ์ กลับถูกมองจากนักลงทุนว่า เป็น "สื่อ" ประเภทหนึ่งที่จะถึงตัวผู้ใช้
ด้วยวิธีง่าย ๆ เพียงหมุนโทรศัพท์ไปตามเลขหมายที่กำหนดไว้ ก็สามารถเรียกฟังข้อความ
หรือข่าวสารได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์สาธารณะ หรือโทรศัพท์มือถือ
ทำให้บริการนี้เริ่มถูกจับจอง
กลุ่มสามารถเปิดตัวสู่ธุรกิจออดิโอเท็กซ์ ลงทุนร่วมกับบริษัท นิวมีเดีย
อินเวสเม้นท์ ผู้ให้บริการออดิโอเท็กซ์ จากประเทศฮ่องกง ในนามของบริษัทสามารถนิวมีเดีย
การทำธุรกิงออดิโอเท็กซ์ของสามารถนิวมีเดีย จะเน้นในลักษณะของความเป็นเจ้าของ
"สื่อ" ดังนั้นข้อมูลที่จะให้บริการสามารถนิวมีเดีย จะไม่ได้ผลิตขึ้นเอง
แต่จะใช้วิธีหาผู้ผลิตข้อมูล (อินฟอร์เมชั่นโพรไวเดอร์) เป็นผู้ป้อนข้อมูลให้
และแบ่งรายได้จากค่าแอร์ไทม์ที่เก็บจากลูกค้ากันตามสัดส่วนที่ตกลงกันไว้
สามารถนิวมีเดีย จะทำหน้าที่ลงทุนและบริหารระบบออดิโอเท็กซ์ โดยมีนิวมีเดีย
ฮ่องกงเป็นผู้สนับสนุนในเรื่องของการติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์และข้อมูลจากต่างประเทศ
เนื่องจากลูกค้าเป้าหมายของกลุ่มสามารถ ไม่ใช่กลุ่มเด็กวัยรุ่น แต่จะมุ่งไป
ที่กลุ่มนักธุรกิจและคนทั่วไป ดังนั้นรูปแบบของข้อมูล จึงเน้นหนักไปในเรื่องของข้อมูล
ข่าวสารผสมผสานกับข้อมูลบันเทิง
ในระยะแรกสามารถนิวมีเดียได้จับมือกับผู้ผลิตข้อมูล 4-5 ราย ประกอบไปด้วย
เดอะเนชั่น, บริษัทแปซิฟิกคอร์ปอเรชั่น, แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ และหมอหยอง
ข้อมูลที่ให้บริการในระยะแรก จะประกอบไปด้วย ข่าวในประเทศ รายงานจราจรจาก
จ.ส. 100 แกรมมี่แฟนคลับ, ทำนายโชคชะตาราศี ซึ่งฐานลูกค้าเก่ากลุ่มหนึ่งจะมาจากแกรมมี่แฟนคลับ
ในอนาคตผู้บริหารหวังว่า จะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์หรือแม้กระทั่งบริการจองตั๋วเครื่องบิน
ด้วยเหตุที่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลักของสามารถนิวมีเดีย คือนักธุรกิจ และบุคคลทั่วไป
สามารถนิวมีเดีย จึงได้วางแผนเชื่อมโยงระบบออดิโอเท็กซ์ เข้ากับระบบพีซีเอ็น
1800 ที่กลุ่มสามารถได้เป็นผู้ร่วมลงทุนและบริการ (เซอร์วิส โพรไวเดอร์)
ดังนั้นลูกค้าที่ใช้พีซีเอ็น 1800 เมื่อมาใช้บริการออดิโอเท็กซ์ จะได้รับบิลเรียกเก็บเงินตอนสิ้นเดือนใบเดียวกับโทรศัพท์มือถือ
และหลังจากนั้นจะติดต่อขอเชื่อมกับโทรศัพท์มือถือค่ายอื่น ๆ ต่อไป
ส่วนลูกค้าทั่วไป จะต้องสมัครเป็นสมาชิกของบัวหลวงโฟน ของธนาคารกรุงเทพฯ
ก่อน จึงจะใช้บริการออดิโอเท็กซ์ของสามารถได้
ขั้นตอนของการใช้บริการ ผู้ใช้จะต้องกดหมายเลขตามที่สามารถระบุไว้ ซึ่งในขั้นต้นจะใช้เลขหมาย
4 หลัก อยู่ระหว่างการขอเลขหมายจากองค์การโทรศัพท์ โดยลูกค้าจะสามารถเรียกรับข้อมูล
ทั้งในรูปของเสียงหรือแฟกซ์ โดยอัตราค่าบริการจะขึ้นอยู่กับประเภทของข้อมูล
ในขั้นต้นกลุ่มสามารถคาดว่าจะเก็บในอัตรา 5 บาท ต่อนาที
เม็ดเงิน 80 ล้านบาท คือ รายได้ต่อปี ที่กลุ่มสามารถคาดคะเนว่าจะได้จากการลงทุนในธุรกิจนี้
ซึ่งจะมาจากการเก็บค่าให้บริการเป็นรายนาที (แอร์ไทม์)
"ผมเชื่อว่าบริการของออดิโอเท็กซ์จะเป็นแนวโน้มใหม่ เพราะเมื่อเทียบกับสื่ออื่น
ๆ เช่น วิทยุ หรือ โทรทัศน์ ที่ต้องรอดูข้อมูล ในเวลาที่ออกอากาศเท่านั้นแล้ว
บริการนี้สะดวกกว่ากันเยอะ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถโทรถามข้อมูลได้ตลอดเวลา"
ธวัชชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มสามารถสะท้อนถึงธุรกิจออดิโอเท็กซ์
กระนั้นก็ตาม กำหนดเปิดบริการสามารถนิวมีเดีย ที่วงไว้ในเดือนตุลาคมแต่จนบัดนี้ยังไม่มีวี่แววว่า
จะเป็นไปได้ตามที่วางไว้หรือไม่
หลังจากขายหุ้นมีเดียพลัส ให้กลุ่มวัฎจักร ไม่ได้หมายความว่า อิทธิวัฒน์
เพียรเลิศจะยุติธุรกิจ "มีเดีย" แต่กลับเป็นการเริ่มต้นครั้งใหม่
ในมุมมองที่แตกต่างไปจากเดิม
แม้เวลานี้ อิทธิวัฒน์จะถือหุ้นในสยามโฟนไลน์ ซึ่งทำธุรกิจออดิโอเท็กซ์อยู่แล้ว
แต่ยังไม่ใช่เป้าหมายที่แท้จริงของเขาจึงต้องหันมาลงทุนในธุรกิจนี้เป็นแห่งที่สองในนามของบรอดคาสติ้ง
เน็ทเวิร์ค (บีเอ็นที)
อิทธิวัฒน์กล่าวว่า เขาใช้เวลาเกือบ 2 ปี ศึกษาและคิดค้นบริการออดิโอเท็กซ์ในรูปแบบใหม่
ๆ ที่จะไม่ใช่เรื่องของเอ็นเตอร์เทนเม้นท์เพียงอย่างเดียวเช่นที่เคยทำอยู่ในมีเดียพลัส
แต่ออดิโอเท็กซ์ที่เขาทำในเวลานี้ จะเป็น "สื่อ" หรือ มีเดีย รูปแบบหนึ่งที่ใช้ในการส่งข้อมูล
จากประสบการณ์ในมีเดียพลัสและสยามโฟนไลน์ ทำให้อิทธิวัฒน์ รู้ว่าการทำธุรกิจนี้ในเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย
ๆ โดยลำพัง โดยเฉพาะทำให้เป็นมีเดียเต็มรูปแบบ อิทธิวัฒน์จึงต้องหาผู้ร่วมทุน
ไบรท์ว๊อยซ์ ประกอบธุรกิจออดิโอเท็กซ์รายใหญ่สหรัฐอเมริกา คือกลุ่มนักลงทุนจากต่างประเทศที่อิทธิวัฒน์ชักชวนเข้ามา
เพื่ออาศัยซอฟต์แวร์และเครือข่ายข้อมูลข่าวในต่างประเทศ พ่วงด้วยประสบการณ์มาช่วยในการบุกเบิกธุรกิจ
รูปแบบบริการซิตี้ไลน์ในเวลานี้ จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ภายใต้เบอร์โทรศัพท์
4 หลัก 2 หมายเลข คือ ซิตี้ไลน์ 1509 และปาร์ตี้ไลน์ 1557
ซิตี้ไลน์ 1509 จะมีทั้งภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งในภาคภาษาไทยจะเป็นข้อมูลบันเทิง
และข่าวสาร แบ่งออกเป็น 3 หมวด หมวดแรก ละครหลังข่าวของช่อง 3, 5, 7, 9 หมวดที่สอง
สารคดีและศิลปวัฒนธรรม หมวดที่สาม เพื่อชีวิตและสุขภาพ
ส่วนภาคภาษาอังกฤษ จะเป็นข่าวสารข้อมูล ที่ส่งตรงมาจากดาวเทียม อาทิ ข่าวธุรกิจ,
ข่าวกีฬา, อันดับเพลงยอดนิยม เป็นต้น
ปาร์ตี้ไลน์ 1557 จะเป็นบริการสมาชิกได้พูดคุยกันผ่านคู่สายโทรศัพท์และบริการเพนเฮาส์
จะเป็นบริการให้สมาชิกพูดคุยกับนางแบบของเพนเฮาส์หรือข้อมูลจากหนังสือเพนเฮาส์
อิทธิวัฒน์กล่าวว่า แม้ว่ากลุ่มคนทั่วไปจะเป็นลูกค้าเป้าหมายหลังแต่ในระยะแรก
ยังคงต้องพึ่งพิงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นก่อนเพราะเป็นฐานลูกค้าดั้งเดิม ที่นิยมใช้บริการประเภทปาร์ตี้ไลน์
บริการซิตี้ไลน์ 1509 จะเป็นบริการฟรี แต่สำหรับบริการซิตี้ไลน์ 1557 จะเก็บค่าบริการนาทีละ
3 บาท โดยลูกค้าจะสามารถซื้อบัตรสมาชิก ที่มีจำหน่ายในราคา 100 บาท ซึ่งในนั้นจะบรรจุรหัสลับเอาไว้
และเมื่อโทรมาใช้บริการ ยอดเงินในบัตรจะลงลงไปตามจำนวนและนาทีที่โทร
อิทธิวัฒน์ชี้แจงว่าบริการซิตี้ไลน์ 1509 แม้จะเปิดให้บริการฟรีแต่จะเปิดช่องว่างให้บรรดาผู้ผลิตสินค้า
ที่ต้องการให้บริการออดิโอเท็กซ์กับลูกค้า แต่ไม่ต้องการลงทุนสร้างระบบขึ้นมาเองเข้ามาร่วมใช้เครือข่ายร่วม
โดยบริษัทจะเก็บค่าใช้บริการตามจำนวนที่มีสมาชิกโทรเข้ามา ซึ่งวิธีนี้จะเป็นรายได้ให้กับบริษัทอีกทางหนึ่ง
"ยกตัวอย่าง บริษัทโตโยต้า เมื่อมาใช้ระบบร่วมกับเรา เขาจะสามารถส่งข้อมูลข่าวสารให้กับบรรดาสมาชิกโตโยต้าคลับ
ที่มีอยู่หลายแสนคน โดยสมาชิกเพียงแค่ยกหูโทรศัพท์ จะได้รับข้อมูลต่าง ๆ
ได้ทันที และเราจะเก็บเงินค่าใช้ระบบจากโตโยต้า ตามจำนวนครั้งที่สมาชิกโทรเข้ามา
ซึ่งยิ่งโทรมากค่าบริการจะถูกลง ส่วนสมาชิกที่โทรเข้ามา เขาไม่ต้องเสียเงิน"
อิทธิวัฒน์ชี้แจง
อิทธิวัฒน์มองไปถึงขั้นที่ว่า โบรกเกอร์ค้าหุ้นก็สามารถใช้บริการของซิตี้ไลน์เพื่อให้บริการข้อมูลราคาซื้อขายหุ้นผ่านระบบนี้ได้ด้วย
ที่มาของรายได้ ที่วางไว้จะมาจากสองทาง คือ ค่าโทรที่เก็บจากสมาชิกทั่วไปและค่าใช้ระบบที่เก็บจากเจ้าของสินค้า
เช่นเดียวกับข้อมูลที่ให้บริการ จะมาจากการผลิตขึ้นเอง เช่น ข่าวสารและบันเทิงและในประเทศ
และจากไบรท์ว๊อยซ์ต่างประเทศ บางส่วนจะมาจากเจ้าของสินค้า
อิทธิวัฒน์หวังไว้ว่า เงินทุน 10 ล้านบาทที่ทุ่มไปกับบริการซิตี้ไลน์ จะทำรายได้กลับมาด้วยตัวเลข
ไม่ต่ำกว่า 50-80 ล้านบาทต่อปี
ด้วยเงินลงทุนไม่มากนัก และเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน รวมทั้งบทเรียนจากผู้ประกอบการรายแรก
ๆ ที่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้พอสมควรทำให้ผู้สนใจลงทุนรายใหม่ เริ่มมองเป้าหมายที่ไกลออกไป
พวกเขามองถึงการขยายกลุ่มเป้าหมาย ด้วยความเชื่อมั่นว่า "ข้อมูล"
เป็นพลังขับเคลื่อนที่ใคร ๆ ต้องการ อีกทั้งตัวเลขผลตอบแทนที่วาดหวังไว้เย้ายวนมาก
แต่กระนั้นก็ตามพวกเขาก็ต้องเผชิญกับคำถามที่เป็นอุปสรรคสำคัญหลายประการ
หนึ่ง-ข้อมูลที่มีนั้นมีคุณค่าเพียงใด ?
บริการออดิโอเท็กซ์ของผู้ให้บริการแต่ละรายหากมาพิจารณาในเรื่องของข้อมูลจะใกล้เคียงกันมาก
ทั้งในเรื่องของ ข้อมูลบันเทิง หมอดู หรือปาร์ตี้ไลน์ ที่ทุกรายจะมีเหมือนกันหมด
นอกจากนั้นข้อมูลส่วนใหญ่ยังเป็นลักษณะข้อมูลที่มีอยู่ทั่วไป สามารถหาได้ในสื่อประเภทอื่น
มิใช่ข้อมูลสำคัญเฉพาะ (EXCLUSIVE)
สอง-ข้อมูลที่มีอยู่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงตลอดเวลา มิเช่นนั้นจะเป็นข้อมูลที่ล้าสมัยและไม่น่าสนใจ
ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องลงทุนครั้งใหญ่เพื่อสร้างหน่วยงานขึ้นมารองรับ
ซึ่งในประเด็นนี้ ผู้ให้บริการข้อมูลแบบออนไลน์ผ่านคอมพิวเตอร์ เคยได้รับบทเรียนมาแล้ว
จนหลายรายต้องเจ็บตัวไปตาม ๆ กัน
อิทธิวัฒน์ยอมรับว่า การลงทุนให้อยู่ในรูปของ "สื่อ" ที่ให้บริการข้อมูล
ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดไว้ เพราะการลงทุนไม่ได้แค่การเช่าคู่สายโทรศัพท์ และซื้อระบบคอมพิวเตอร์มาเท่านั้น
แต่สิ่งจำเป็นที่สุดในธุรกิจนี้ คือการพัฒนาซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะขั้นตอนการผลิตข้อมูล
(PRODUCTION) ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และเงินลงทุนสูงมาก รวมทั้งในเรื่องของการ
"อัพเดท" ข้อมูล ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องลงทุนสูงมาก และจะเป็นตัวแปรที่ทำให้ธุรกิจนี้อยู่รอดหรือไม่ด้วย
"ผมบอกได้เลยว่า ธุรกิจนี้ไม่ใช่ใครจะมาทำก็ได้ เราโชคดีที่มีห้องอัดเสียง
มีธุรกิจวิทยุสนับสนุนอยู่แล้ว ไม่อย่างนั้นก็คงแย่ ดังนั้นผมถึงเสนอทางเลือกให้ผู้ที่อยากเข้ามาในธุรกิจนี้
มาใช้เครือข่ายของเรา ไม่ต้องไปลงทุนเอง"
เช่นเดียวกับธเนศร์ ซึ่งผ่านประสบการณ์ในธุรกิจนี้มาแล้วถึง 3 ปี ให้ความเห็นในลักษณะเดียวกันว่า
ปัญหาสำคัญ คือ เรื่องของซอฟต์แวร์ระบบของบริการออดิโอเท็กซ์ ต้องใช้เงินลงทุนมาก
แม้จะอาศัยความร่วมมือกับบริษัทในต่างประเทศนำซอฟต์แวร์สำเร็จรูปมาจากต่างประเทศแต่ยังไม่สามารถใช้งานได้เลย
ยังต้องนำมาพัฒนาให้สอดคล้องกับความต้องการของคนไทย ซึ่งค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะสูงมากยังไม่รวมค่าบำรุงรักษาระบบ
และยังต้องผลิตรายการให้สอดคล้องกับคนฟังอยู่ตลอดเวลา
สาม-ข้อมูล "เสียง" สอดคล้องกับผู้ต้องการข้อมูลหรือไม่ ?
แม้ออดิโอเท็กซ์จะมีจุดเด่นที่ผู้ต้องการข้อมูลสามารถเรียกข้อมูลได้ทันที
แต่ข้อมูล "เสียง" ก็จะมีข้อจำกัด เพราะผู้รับไม่สามารถฟังข้อมูลนานๆ
ได้ เมื่อเทียบกับข้อมูลกระดาษหรือผ่านจอคอมพิวเตอร์
ดังนั้นข้อมูลที่ให้บริการจึงเหมาะสำหรับข้อมูลที่ค่อนข้างฉาบฉวย สั้น
กระชับ หรือต้องการทราบข่าวสั้น ๆ ผลการแข่งขันกีฬา การจัดคอนเสิร์ต ดูดวงรายวันเท่านั้น
มิใช่ข้อมูลที่เจาะลึกมากนัก
สี่-กลุ่มลูกค้าจะขยายไปได้มากกว่า "กลุ่มวัยรุ่น" ได้หรือไม่
?
เป็นคำถามที่น่ากังวลมาก เพราะจากรากฐานการเติบโตของออดิโอเท็กซ์นั้นมาจากวัยรุ่น
แม้ปัจจุบันลูกค้าหลักเกือบ 100% ยังคงเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่นิยมใช้บริการนี้สังเกตให้ดีจะเห็นว่า
บริการปาร์ตี้ไลน์จะเป็นลูกค้าที่มีอายุในช่วง 12-18 ปีทั้งนั้น
หากกลุ่มลูกค้าไม่สามารถขยายไปได้มากกว่านี้ เป้าหมายของธุรกิจออดิโอเท็กซ์ก็อาจจะลำบาก
แต่หากมองในทางตรงกันข้าม กลุ่มวัยรุ่นก็เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก และมีพฤติกรรมไปในทิศทางเดียวกัน
หากออดิโอเท็กซ์สามารถครอบคลุมกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นก็อาจจะทำกำไรมหาศาลอยู่แล้ว
"เฉพาะแค่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่มีอายุระหว่าง 18-20 ปีก็มีถึง 3
ล้านคนแล้วยังไม่รวมวัยรุ่นที่อายุน้อยกว่านั้น ถ้าผู้ให้บริการสามารถหาสมาชิกได้ถึง
1 ล้านคนแถมพวกวัยรุ่นก็ชอบใช้โทรศัพท์กันนาน ๆ แค่นี้ก็ทำรายได้ไม่รู้เท่าไรแล้ว"
คนในธุรกิจนี้คำนวณให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ยกเว้นอย่างเดียว วัยรุ่นอย่าเบื่อง่ายก็แล้วกัน !
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ผู้ให้บริการออดิโอเท็กซ์ในปัจจุบันจะต้องจับมือกับบริษัทบันเทิง
ค่ายวิทยุ เป็นหลัก รวมทั้งทำการตลาดผ่านโรงภาพยนต์, ร้านกิฟท์ชอป, ร้านขายเทป
เป็นต้น ซึ่งบัตรสมาชิกขายดีมาก ๆ
ขณะที่ ม.ร.ว. รุจยาภา อาภากร ผู้บริหารที่ดูแลธุรกิจบอรดคาสติ้งเน็ตเวิร์คของอิทธิวัฒน์กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่า กลุ่มผู้ใหญ่ก็ให้ความสนใจออดิโอเท็กซ์มากเฉพาะที่ให้บริการอยู่มีผู้ใหญ่เป็นสมาชิกกว่า
20%
"อยู่ที่เมนูที่จะให้บริการ เรามีเมนูสำหรับผู้ใหญ่เยอะแยะ ทั้งดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลก,
ผลกีฬา, สรุปเนื้อหาเรื่องย่อละครสั้นล่วงหน้า ผู้ใหญ่สนใจมาก"
แต่ ม.ร.ว. รุจยาภาก็ยอมรับว่าลักษณะของข้อมูลจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับข่าวสั้นมากกว่า
แต่เป็นข่าวสั้นที่สมาชิกมีสิทธิ์เลือกที่จะฟังเรื่องอะไร เมื่อไรก็ได้
"คนฟังข้อมูลทางโทรศัพท์นาน ๆ ไม่ได้" เขายอมรับ
โอกาสของออดิโอเท็กซ์ที่จะเข้าสู่ธุรกิจขายข้อมูลเพื่อหวังขยายกลุ่มลูกค้าให้กว้างขึ้นอาจจะลำบาก
เพียงลำพังกลุ่มวัยรุ่นจะเป็นตลาดที่ใหญ่เพียงพอและยั่งยืนหรือไม่ และธุรกิจนี้จะทำกำไรไปได้อีกนานแค่ไหน
อีกไม่นานคงได้รู้กัน
แต่สำหรับวันนี้ ออดิโอเท็กซ์ก็เป็น "ของเล่น" สำหรับวัยรุ่นที่พุ่งขึ้นอย่างเร่าร้อนทีเดียว
!