โรงเรียนช่างซ่อม

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ได้ชื่อว่าโรงเรียน แต่เด็กนักเรียนกลับไม่มียูนิฟอร์ม ผู้หญิงไม่ต้องใส่คอซอง ส่วนผู้ชายก็ไม่ต้องตัดผมเกรียนจนแทบจะเห็นหนังศีรษะ เพราะว่าที่นี่เป็นโรงเรียนสอนซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไอที ที่ชื่อ "โรงเรียนแสงทองโทรทัศน์"

เพราะของใช้ย่อมมีวันเสีย และเมื่อเสียคนก็มักไม่อยากจะทิ้งให้เป็นขยะ โดยที่ยังไม่ได้พยายามซ่อมมันให้ใช้งานได้อีกครั้ง หากเทียบราคาค่าซ่อมแล้วพบว่าคุ้มค่ากว่าการซื้อของใหม่ และยังใช้งานได้ดีเช่นเดิม

ทำให้โรงเรียนแสงทองโทรทัศน์ โรงเรียนนอกระบบที่เปิดสอนให้คนที่ต้องการจะเป็นเจ้าของกิจการร้านซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไอทียังคงอยู่มาได้นานจนจะย่างเข้าปีที่ 30 ของการก่อตั้งโรงเรียนในปีถัดไป

หลังจากผู้เป็นพ่อ อดีตครูที่ผันตัวเองมาเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้า ได้ลดบทบาทการเป็นเจ้าของ มานั่งมองรุ่นลูกที่ขึ้นมาแทนที่ และเลือกที่จะอยู่เบื้องหลังของโรงเรียนแทน โรงเรียนแห่งนี้จึงเปลี่ยนถ่ายมาอยู่ในมือของรุ่นที่สองของครอบครัว เพื่อดำเนินกิจการของโรงเรียนต่อไป

โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้มีรั้วรอบขอบชิดอย่างที่หลายคนจินตนาการเอาไว้ ไม่มีครูยืนอยู่หน้าโรงเรียนเพื่อคอยรับไหว้นักเรียนก่อนก้าวข้ามรั้วเข้ามาในอาณาบริเวณของโรงเรียน

สิ่งที่เห็นเป็นเพียงตึกแถวขนาดไม่กี่คูหา ที่รักษาเอกลักษณ์ของตนมา ตั้งแต่ต้นเมื่อ 29 ปีก่อนจนถึงทุกวันนี้ด้วยการติดกระจกใส แลเห็นภายในห้องเรียนที่อยู่ถัดจากตัวกระจกเป็นตัวคนเรียนหนังสือนั่งอยู่เป็นแถวๆ และมองเห็นครูผู้สอนกำลังเขียนบทเรียนบนกระดานไวท์บอร์ด

สำหรับคนทั่วไป โรงเรียนแสงทองโทรทัศน์อาจจะไม่คุ้นหู หรือดูน่าพิสมัยจนใคร่อยากจะไปลงเรียนมากนัก แต่สำหรับคนที่มีอาชีพเป็นช่างซ่อม ย่อมรู้จักชื่อโรงเรียนแห่งนี้เป็นอย่างดี

แสงทองเปิดคอร์สสอนให้คนเป็นช่างซ่อมตั้งแต่โทรทัศน์ขาวดำ โทรทัศน์สี เครื่องเล่นซีดี เครื่องเล่นดีวีดี ก่อนขยับขยายเปิดให้บริการสอนซ่อม เครื่องเย็น จำพวกตู้เย็นและเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์ไอที และคอมพิวเตอร์ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาหลังการก่อตั้ง และสอนซ่อมโทรศัพท์มือถือ ที่เริ่มเข้ามาฮิตติดลมบนเป็นคอร์สสุดนิยมนับตั้งแต่เปิดสอน 2 ปีที่แล้ว

คอร์สสอนซ่อมเครื่องเย็นใช้เวลาเพียงสองสัปดาห์ก็ออกมาเป็นช่างซ่อมได้ ขณะที่คอร์สซ่อมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซ่อมได้ตั้งแต่อาการโทรทัศน์ติดๆ ดับๆ ธรรมดา ไปจนถึงการซ่อมแบบเปลี่ยนชุดอุปกรณ์เป็นตัวๆ อาจจะใช้เวลายาวนานแบบเต็มวันร่วมปีเลยทีเดียว

ไม่นับรวมการเปิดคอร์สอบรมจัดเวิร์กช็อปให้กับช่างซ่อมศูนย์บริการของสินค้าไอทีอีกหลายแห่ง ตามความต้องการเป็นเฉพาะบทเรียน อาทิ ซ่อมจอคอมพิวเตอร์ และกล้องดิจิตอลที่มีบริษัทใหญ่โตแวะเวียนมาใช้บริการแสงทองอยู่เนืองๆ

นักเรียนของแสงทองคือคนที่อยากจะเป็นช่างซ่อม คนที่ว่างงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุที่เข้ามาเรียนฟรีได้ตลอดการศึกษา ล่าสุดโรงเรียนเพิ่งทำสถิติสูงสุดรับนักเรียนอายุ 108 ปี ที่ลงทุนบินมาจากภูเก็ตเข้าเรียนร่วมชั้นกับคนอื่นๆ ในคอร์สสอนการซ่อมอิเล็กทรอนิกส์

ธนาชัย อึ้งสมรรถโกษา ลูกชายคนโตของครอบครัว ปัจจุบันรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการโรงเรียน และกลุ่มธุรกิจในเครือด้วยวัยเพียง 30 ต้นๆ เพิ่งจะเข้ามารับช่วงต่อจากผู้เป็นพ่อได้ไม่ถึง 6 ปีเต็ม หลังจบการศึกษาระดับปริญญาโทด้านการจัดการเทคโนโลยีมาจากสหรัฐอเมริกา

ด้วยความที่เป็นคนหนุ่มพกดีกรีปริญญาตรีฟิสิกส์ประยุกต์มาด้วย ทำให้ธนาชัยซึ่งเข้ามารับช่วงต่อจากผู้เป็นพ่อ มองเห็นลู่ทางใหม่ในการดำเนินธุรกิจแทนที่จะเปิดแค่โรงเรียนสอนซ่อมเพียงอย่างเดียวต่อไป ซึ่งท้ายที่สุดก็ยังไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มเติมจากความสามารถที่มีอยู่เดิมได้อย่างที่ควรจะเป็น

ธนาชัยมองว่าโทรศัพท์มือถือไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่มีคนเข้าเรียนเพื่อซ่อมให้เป็นในโรงเรียนของเขาแบบเต็มแทบทุกรอบที่เปิดสอนทั้งสิ้น 5 สาขาแล้ว แต่ยังเป็นอุปกรณ์หรือของใช้ที่คนไทยนิยมกันเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าแทบจะกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิตแต่ละวันอย่างนั้น

การต่อยอดธุรกิจของเขาจึงเริ่มจากการสอนซ่อมโทรศัพท์มือถือในเวลาต่อมา โดยเขาตัดสินใจเปิดตัวธุรกิจที่ตั้งชื่อว่า "Power Clinic" เมื่อไม่นานมานี้ หลักๆ เพื่อใช้เป็นตัวกลางในการขายแฟรนไชส์ศูนย์ซ่อม ซื้อ และขายโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อแบรนด์เดียวกัน

แฟรนไชส์ของเขาเหมารวมทั้งอุปกรณ์ในการตั้งบูธขนาดย่อม หรือร้านค้าขนาด 1 คูหา คอร์สสอนซ่อมแบบการบริหารจัดการร้าน และบริการจัดส่งและให้เครดิตร้านค้าด้วย ราคาที่สมน้ำสมเนื้อกับสิ่งที่จะได้กลับคืนไป

แสงทองในวัยใกล้ 30 ปี เพิ่งจะเริ่มต้นนวัตกรรมใหม่ในการคิดค้นต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ด้วยการหันมาขายแฟรนไชส์ โดยอาศัยความเชี่ยวชาญของตนที่มีอยู่แล้ว ผนวกไอเดียแนวคิดในการทำธุรกิจแบบใหม่

ในวัย 30 ต้นๆ ของแสงทองลูกชายวัยโตกว่าอายุของโรงเรียนเพียงเล็กน้อย หวังจะเปิดซ่อมเครื่องเล่นเพลงเอ็มพีสาม เครื่องเล่นที่กำลังเกลื่อนเมืองในตอนนี้ที่เน้นการซ่อมซอฟต์แวร์มากกว่าตัวฮาร์ดแวร์และหวังจะเปิดสอนซ่อมกล้องดิจิตอลด้วยในเร็ววันนี้ควบคู่กันไป

ใช่เพียงธุรกิจใหญ่เท่านั้นที่ต้องการนวัตกรรมด้านรูปแบบการให้บริการและนวัตกรรมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อความอยู่รอดในวงการแข่งขันที่เข้มข้นยิ่งกว่ากาแฟดำเสียอีก แต่ธุรกิจเล็กๆ ที่มีอยู่มากมายที่เรียกกันว่า เอสเอ็มอี คงต้องการแนวทางแบบเดียวกัน ดูตัวอย่างจากโรงเรียนแสงทองอิเล็กทรอนิกส์แห่งนี้นี่เอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.