|
KBank และ KFactoring ร่วมกันรุกตลาดสินเชื่อ SMEs
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
KBank และ KFactoring ประกาศแผนความร่วมมือทางธุรกิจกันอย่างเป็นทางการครั้งแรก เพื่อช่วยสนับสนุนแผนขยายตลาดสินเชื่อกลุ่ม SMEs ของธนาคาร โดยการเปิดตัว K-Export Credit & Guarantee ซึ่งเป็นสินเชื่อส่งออกแบบครบวงจรปลอดจากหลักประกัน
เป็นเวลา 5 เดือนมาแล้วที่ K-Bank เคยประกาศตัวเองไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องเข้ามาจับตลาดลูกค้าในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs โดยการเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้นตามความจำเป็นของลูกค้าในกลุ่มนี้
และ K-Export Credit & Guarantee นี้อาจถือได้ว่า เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ใหม่อันเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างธนาคารกสิกรไทย และบริษัทแฟคตอริ่งกสิกรไทย เพื่อเข้ามาช่วยเสริมความต้องการใช้บริการสินเชื่อของผู้ส่งออกในกลุ่ม SMEs ที่กำลังตกอยู่ท่ามกลางปัญหาหลักๆ ใน 2 ประการคือ ปัญหาด้านความเสี่ยงทางธุรกิจที่มีเพิ่มขึ้นตามแรงการชะลอตัวลงของตลาดโลก
รวมถึงปัญหาด้านพลังในการต่อรองของพวกตนกับคู่ค้าต่างประเทศ ซึ่งยิ่งนับวันมีแต่จะหดแคบลง ตามการแข็งค่าของเงินบาท ตลอดจนการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยสูงของธนาคารแห่งประเทศไทย และความพยายามในการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศคู่ค้า เพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศของตนอีกด้วย
โดยเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ชาติชาย สุนทรเกียรติ และปกรณ์ พรรธนะแพทย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย และปุณฑริกา ใบเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แฟคตอริ่งกสิกรไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวการให้บริการในแพ็กเกจสินเชื่อ SMEs เพื่อการส่งออกนี้
สำหรับเงื่อนไขการให้บริการนั้นจะเป็นการให้บริการที่เต็มรูปแบบ โดยธนาคารฯ จะสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นในรูปตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนหลังส่งออก (Post-Shipment financing) และระหว่างรอเรียกเก็บเงินจากต่างประเทศ ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินส่งออกตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป โดยผู้ขอสินเชื่อไม่ใช้หลักทรัพย์มาค้ำประกันการกู้ยืมนี้
ด้านอัตราดอกเบี้ย ธนาคารฯ กำหนดไว้ที่ MOR-2.0% ถึง MOR+1.75% และผู้กู้สามารถขอกู้ได้สูงถึง 90% ของมูลค่าใบแจ้งหนี้ หรือสูงสุด 200 ล้านบาท โดยผู้ยื่นขอสินเชื่อ K-Export Credit & Guarantee และในช่วง 3 เดือนแรก ผู้กู้จะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ
ปกรณ์บอกเหตุผลในการออกผลิตภัณฑ์นี้ว่า เศรษฐกิจไทยได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการส่งออก โดยเมื่อไตรมาสแรกของปี 2549 มูลค่าการส่งออกของไทยขยายตัวได้ถึง 6% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งเคยขยายตัวได้เพียง แค่ 3% โดยภาครัฐได้ตั้งเป้าการขยายตัวทั้งปีไว้ที่ 15-17%
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการรายย่อยและรายกลาง ต่างก็จำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียน เพื่อสนับสนุนขีดความสามารถการแข่งขันทางธุรกิจที่กำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในตลาดส่งออกหลักๆ ของไทย อย่างเช่นสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อียู และอาเซียน จนทำให้ผู้นำเข้ามีอำนาจในการต่อรองยิ่งขึ้น ทั้งในแง่การกำหนดเทอมการค้า เวลาการส่งมอบสินค้าของผู้ส่งออกจากประเทศไทย รวมถึงช่วงเวลาการชำระค่าสินค้า จากผู้นำเข้าในต่างประเทศ
ที่สำคัญอีกประการคือ ปัญหาวิธีการชำระเงินระหว่างประเทศในรูปของ open account ที่มีสัดส่วนความนิยมสูงถึง 70% ของระบบการชำระเงินโดยรวม เนื่องจากเป็นระบบการชำระเงินที่มีต้นทุนค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับการชำระเงินในรูปแบบอื่นๆ
แต่ขณะเดียวกันยังถือว่าเป็นระบบการชำระเงินที่ผู้ส่งออกอาจต้องยอมแบกรับความเสี่ยงจากโอกาสที่จะไม่ได้รับชำระหนี้จากผู้นำเข้าในต่างประเทศตามกำหนดเวลาที่เคยตกลงกันไว้ จนทำให้เกิดข้อจำกัดด้านความเพียงพอของเงินทุน ที่สามารถจะนำมาเพื่อเข้าบุกเบิกตลาดส่งออกแห่งใหม่ๆ อีกด้วย
ดังนั้นในการให้บริการสินเชื่อ K-Export Credit & Guarantee จึงต้องมีบริษัท แฟคตอริ่งกสิกรไทย เข้ามาช่วยทำหน้าที่เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ และให้บริการเรียกเก็บหนี้จากผู้ซื้อในต่างประเทศด้วย เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกมั่นใจได้ว่า พวกตนจะได้รับเงินค่าสินค้าครบจนเต็มจำนวน ทั้งนี้ บริษัทฯ จะคิดค่าธรรมเนียมบริการค้ำประกันและเรียกเก็บหนี้ ในอัตรา 0.8-1.0% ของมูลค่าใบแจ้งหนี้ที่เรียกเก็บ หรือ Invoice
นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังได้ตั้งเป้าการให้สินเชื่อ K-Export Credit & Guarantee ไว้ที่ 6,000 ล้านบาท จากจำนวนผู้ขอกู้ทั้งที่เป็นลูกค้าเก่าและใหม่ของธนาคารฯ ราว 100 ราย
สำหรับผลดำเนินงานด้านการให้สินเชื่อ SMEs ของธนาคารกสิกรไทย เมื่อสิ้นสุดเดือนพฤษภาคม 2549 มีทั้งสิ้น 233,831 ล้านบาท โดยธนาคารฯ ได้คาดหมายว่า ยอดการให้สินเชื่อรวมในกลุ่ม SMEs น่าจะอยู่ที่ 270,000 ล้านบาท เมื่อถึงสิ้นปี โดยเพิ่มขึ้นราว 40,000 ล้านบาท
ส่วนอัตราการเติบโตของการให้บริการด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมถึงการให้บริการด้านการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศนั้น ได้กำหนดไว้ที่ 35% ของยอดธุรกรรมระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นเมื่อปีก่อน
ทั้งนี้ โดยโครงสร้างในกลุ่มลูกค้า SMEs แบ่งตามวงเงินหมุนเวียนนั้น ประมาณ 60% จะเป็นกลุ่มที่มีวงเงินหมุนเวียนตั้งแต่ 400 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนอีก 40% เป็นกลุ่มที่มีวงเงินเงินทุนหมุนเวียนที่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท โดยมียอดธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ 80,803 ล้านบาท
KBank ได้เริ่มแบ่งกลุ่มลูกค้า SMEs ตามวงเงินส่งออกมา ตั้งแต่เมื่อปลายปีก่อน โดยผลจากการแบ่งกลุ่มครั้งนั้น ช่วยให้ธนาคารฯ เห็นภาพการปรับตัวลดลงในสินเชื่อของกลุ่ม SMEs เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนมาก หันไประดมทุนเองจากตลาดที่มีต้นทุนต่ำกว่าการกู้ยืมธนาคาร ส่งผลให้ยอดการระดมทุนนี้มีรวมกันสูงถึง 80,000 ล้านบาท จนเบียดให้ยอดการกู้ยืมเมื่อปีก่อนของลูกค้า SMEs หดลงเหลือเพียง 40,000 ล้านบาท
แต่กระนั้นก็ตาม ธนาคารฯ เชื่อว่า เป้าสินเชื่อ SMEs ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงครึ่งหนึ่งของสินเชื่อรวมทั้งหมดที่มีของธนาคารฯ น่าจะขยายตัวเติบโตได้เป็น 16% ทั้งยังตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 30% จาก 24%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|