ความพยายามจัดรายการโทรทัศน์เลียนแบบรายการ "60 MINUTES" ในประเทศไทยนั้นมีมานานแล้ว
แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จอย่างจริง ๆ จัง ๆ จนกระทั่ง "กันตนา"
ตัดสินใจผลิตรายการ "60 MINUTES" ภาคภาษาไทยโดยตัวเอง
รายการ 60 MINUTES ในสหรัฐผลิตโดยเครือซีบีเอส เป็นรายการประเภทสารคดีเชิงข่าวที่โด่งดังที่สุดรายการหนึ่งของสหรัฐ
ออกอากาศติดต่อกันมานานถึง 27 ปี เป็นรายการที่ได้รับความนิยมมาก มีผู้ชมสูงสุดติดอันดับ
1 ใน 10 เป็นเวลา 18 ปีติดต่อกัน และเป็นรายการช่วงไพร์ไทม์ที่ยืนหยัดมาได้นานที่สุดรายการหนึ่ง
60 MINUTES เป็นรายการสารคดีเชิงข่าวในแนวสืบสวนสอบสวนเจาะลึก แนวข่าวจะมีทั้งข่าวการเมือง
เศรษฐกิจ สังคม อาชญากรรม ชีวิต บันเทิง ฯลฯ
รูปแบบของรายการจะแบ่งออกเป็นสารคดีข่าว 3 เรื่อง โดยมีเรื่องนำซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเมืองหรืออาชญากรรมระดับโลก
โดยเฉพาะการเจาะเบื้องหลังพฤติกรรมของซีไอเอและรัฐบาลสหรัฐ
60 MINUTES ของซีบีเอส จึงไม่เป็นที่ชื่นชอบนักสำหรับองค์กรของรัฐอย่างซีไอเอ,
วุฒิสมาชิก, นักการเมือง, รัฐมนตรี ซึ่งล้วนเคยออกข่าวด่ารายการหรือโจมตีรายการว่า
มุ่งสร้างข่าวทำลายนักการเมือง (เหมือนที่นักการเมืองไทยด่าสื่อมวลชนในเมืองไทย)
รวมไปถึงนักค้ายาเสพติด, องค์กรอาชญากรรม, บริษัทค้าบุหรี่รายใหญ่มองว่า
รายการ 60 MINUTES เป็นศัตรูตัวฉกาจ
ในประเด็นที่ดูสบาย ๆ เช่น เรื่อง "ดารา" รายการ 60 MINUTES
ก็ทำได้น่าสนใจและแตกต่างจากข่าวบันเทิงของรายการทั่วไป
เสน่ห์ของ 60 MINUTES อยู่ที่การคัด "ประเด็น" ที่ลึกซึ้งและแตกต่างจากมุมมองของสายตาผู้ชม
หลายประเด็นเป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ แต่ด้วยพยานหลักฐาน การปรากฏตัวของผู้อยู่ในเหตุการณ์ทำให้ข่าวนั้นน่าเชื่อถือ
รวมไปถึง "ความสด" ของข่าวที่ดูทันสมัยตลอดเวลา
สำหรับรูปแบบ 60 MINUTES จะเน้นความสั้น กระชับ ตัดต่อรวดเร็ว ไม่ยืดเยื้อ
กล้องจับภาพผู้ร่วมรายการที่ใบหน้าให้เห็นถึงแววตาและความรู้สึก
ที่สำคัญ 60 MINUTES มีความเป็น "ดราม่า" มีการเดินเรื่อง มีพระเอก
มีผู้ร้าย มีความลึกลับ และมีข้อโต้แย้งตลอดเวลาในเรื่อง
ส่วนใหญ่ประเทศที่ได้ชมรายการนี้จะเป็นลักษณะซื้อลิขสิทธิ์แล้ว บรรยายภาษาท้องถิ่น
เช่นเดียวกับที่ไอบีซี เคเบิลทีวีนำแพร่ภาพทุกสัปดาห์
ซีบีเอสได้ให้ลิขสิทธิ์ในการผลิตรายการแก่ 2 ประเทศคือออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ทั้งสองประเทศสามารถผลิตรายการเป็นของตนเองภายใต้ชื่อรายการ 60 MINUTES
ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่สาม และประเทศแรกในเอเชียที่ผลิต 60 MINUTES
เป็นของตนเอง
ศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ EXCUTIVE PRODUCER บริษัทกันตนาอินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น
จำกัด ในเครือ "กันตนากรุ๊ป" ผู้ผลิตรายการ 60 MINUTES (THAILAND)
กล่าวว่า แนวทางและรูปแบบของรายการจะคล้ายคลึงกับรายการในสหรัฐฯ โดยเนื้อหาจะแบ่งเป็นช่วงแนะนำรายการ
โดยนำเสนอไฮไลท์เนื้อหาที่จะนำเสนอในรายการพร้อมทั้งแนะนำผู้รายงานข่าว
เรื่องที่ 1 เรื่องหลัก เรื่องราวทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ทั้งในและต่างประเทศ
เรื่องที่ 2 เรื่องทางสังคม อาทิ เรื่อง สุขภาพ, บุคคล, วัฒนธรรม, การศึกษา,
จราจร ฯลฯ
เรื่องที่ 3 บันเทิง เสนอเรื่องราวในวงการบันเทิง
ปิดท้าย การพูดคุยสนุก ๆ สั้นๆ ในเหตุการณ์บ้านเมือง ข่าวฮิต หรือ ความคิดเห็นผู้ชมต่อประเด็นข่าวขณะนั้น
เรียกได้ว่า กันตนายกรูปแบบรายการต้นแบบมาทั้งหมดเลย ไม่ผิดเพี้ยน ส่วนผู้รายงานข่าวนั้น
กันตนาระดมผู้สื่อข่าวที่มีชื่อเสียงครั้งใหญ่ ทั้งสุภาพ คลี่ขจาย, พิสิทธิ์
กีรติการกุล, เทพชัย หย่อง, บุญยอด สุขถิ่นไทย, ปราโมทย์ ตรีวัฒนานนท์, ชลวิทย์
สุขอุดม
การตัดสินใจของบริษัทกันตนากรุ๊ปจำกัดครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการพลิกบทบาทของตนเองไปสู่ธุรกิจ
"ข่าว" ขณะที่สายตาของคนทั่วไปจะมองว่า "กันตนา" คือผู้ผลิตรายการบันเทิง
ขณะที่ศศิกรเชื่อมั่นว่า ด้วยชื่อเสียงของกันตนาผู้ผลิตรายการบันเทิง จะเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจแก่แหล่งข่าวสำคัญ
ๆ ของประเทศที่จะเปิดโอกาสให้สัมภาษณ์และทำข่าว
แต่นั่นก็คือปัญหาใหญ่เช่นกัน
กันตนาไม่ใช่ผู้ชำนาญในด้านข่าว ซึ่งกันตนาเองก็ต้องยอมรับในข้อนี้ พวกเขาจึงต้องไปพึ่งพาผู้รายงานข่าวจากเครือเนชั่น
ขณะที่ผู้รายงานข่าวรายอื่น ๆ ที่มีจำนวนมากเชี่ยวชาญแต่ประเด็นทางสังคม
อนุรักษ์ธรรมชาติ บันเทิง
ประเทศไทยมีผู้รายงานข่าวที่เป็นได้ทั้ง "นักข่าว" และ "พรีเซ็นเตอร์"
ทางโทรทัศน์ได้ยากเย็นจริง ๆ
จากตัวอย่างรายการที่แพร่ภาพให้ชมนั้น 60 MINUTES (THAILAND) ก็เลยมีเรื่องทางสังคม
อนุรักษ์ธรรมชาติ บันเทิง เป็นส่วนใหญ่
ขณะที่ประเด็นทางการเมืองที่น่าจะเป็น "จุดขาย" ของรายการนั้น
หลายคนชมแล้วบอกว่า เหมือนรายการ "เนชั่นนิวส์ทอล์ค" เพราะทั้งผู้รายงานข่าวก็มาจากเนชั่น,
การดำเนินเรื่องก็เน้นสัมภาษณ์ความเห็น ไม่ได้จับประเด็นความขัดแย้งหรือเบื้องหลังลึกลับอะไร
แต่ศศิกรเชื่อมั่นว่า ในประเด็นทางการเมือง 60 MINUTES (THAILAND) จะต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น
ซึ่งเมื่อเข้มข้นขึ้น ความขัดแย้งและไม่พอใจของผู้ถูกกล่าวถึงย่อมเป็นเรื่องธรรมดาโดยธรรมชาติของ
"ข่าว"
"เราพร้อมที่จะยืนหยัดในความถูกต้องแต่เราก็ต้องบอกว่า เราไม่ได้แข็งกร้าวมาก
เราเพียงแต่พยายามเสนอข่าวสองด้าน" ศศิกรกล่าวในเชิงออกตัว
คนในวงการกล่าวว่า ถ้าในประเด็นข่าวสังคมหรือบันเทิงแล้ว ไม่มีใครไม่เชื่อฝีมือกันตนา
แต่ในแง่ข่าวการเมืองหรือข่าวสืบสวนสอบสวนหลายคนไม่มั่นใจ และกันตนาเองก็ต้องไปพึ่ง
"เนชั่น" ซึ่งแม้แต่สุภาพ คลี่ขจายเองก็ยอมรับว่า "งานเยอะจริงๆ"
บางคนนึกไปถึง "ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล" ซึ่งผลงานที่แพร่ภาพหลายรายการถือได้ว่าเป็นสารคดีเชิงข่าวที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับพอสมควร
"ถ้าหากนำรายการ "รายงานแปซิฟิก" "ตามล่าหาความจริง"
และ "เผชิญหน้าสิ่งแวดล้อม" มารวมกันถือได้ว่า นี่เป็นรายการ 60
MINUTES แบบไทย ๆ ได้เหมือนกัน" คนในวงการโทรทัศน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม การนำชื่อรายการ 60 MINUTES มาเป็นจุดขายโดยตรงกันตนานั้น
มีความหมาย 2 ด้าน ด้านหนึ่งกลายเป็นการสร้างความคาดหวังถึงคุณภาพและถูกนำไปเปรียบเทียบกับรายการของต่างประเทศตลอดเวลา
และนั่นคือภาวะกดดันผู้ผลิตอย่างกันตนา
แต่ในแง่ธุรกิจแล้ว กันตนาก็ประสบความสำเร็จไปกว่าครึ่ง เพราะชื่อรายการสามารถ
"ขายได้" ง่ายและรวดเร็วกว่าไปสร้างชื่อรายการใหม่ โดยเฉพาะกับบริษัทโฆษณาและกลุ่มผู้ชมระดับสูงที่ชื่นชอบรายการนี้อยู่แล้ว
ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ประการหนึ่งที่กันตนาตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์การผลิตรายการนี้มา
หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 60 MINUTES (THAILAND) ตอนแรกจะแพร่ภาพทางช่อง
9 อ.ส.ม.ท. วันพฤหัสบดีที่ 2 พฤศจิกายนนี้ เวลา 21.15-22.15 น.
ขณะที่รายการ 60 MINUTES ของซีบีเอสจากสหรัฐฯ แพร่ภาพในไทยเหมือนกันทางไอบีซี
1 วันอาทิตย์เวลา 3 ทุ่มตรง
ทดลองชมรายการของไทยกันดู ยังไง ๆ ก็ต้องเอาใจช่วยกันตนากันหน่อย เพราะงานนี้
"กันตนา" กำลังเล่น "ของร้อน" เพราะถ้า "ประเด็น"
ไม่ "ร้อน" รายการนี้ก็เป็นได้แค่เลียน "รูปแบบ" เท่านั้นเอง
!