|
คู่แข่ง Google Earth
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
โครงการแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศสี มาตราส่วน 1 : 4,000 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รับผิดชอบโดยกรมพัฒนาที่ดิน อาจไม่เป็นที่น่าสนใจนักสำหรับประชาชนทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่ทำงานในแวดวงภูมิศาสตร์ หรือหน่วยงานที่ต้องใช้แผนที่ประกอบการทำงาน ต้องยอมรับว่าโครงการนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากแผนที่ชุดนี้สามารถจะนำไปใช้งานได้อย่างกว้างขวาง ครอบคลุมหลายหน่วยงานด้วยกัน อาทิ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมที่ดิน กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค หรือแม้แต่จังหวัดและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นก็ตาม
โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศครอบคลุมพื้นที่ทั่วทั้งประเทศไทย ขนาดมาตราส่วน 1 : 4,000 ซึ่งเป็นแผนที่ที่มีความละเอียดสูงสุดที่ประเทศไทยเคยจัดทำขึ้น โดยใช้งบประมาณรวม 1,163.5 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 โครงการ คือ การบินถ่ายภาพทางอากาศ 331.5 ล้านบาท และการนำภาพถ่ายมาทำเป็นแผนที่ 832 ล้านบาท
"ความละเอียดขนาดนี้และทำทั่วทั้งประเทศอย่างนี้ ยังไม่เคยมีที่ไหนทำ เพราะอเมริกาก็เคยทำเฉพาะพื้นที่ในเขตเมืองเท่านั้น" ชัยวัฒน์ สิทธิบุศย์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดินกล่าว
สาเหตุที่ต้องทำให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศเช่นนี้เนื่องจากการใช้งานที่ดินของไทยมีทั้งในพื้นที่เขตเมือง ชนบท รวมไปถึงพื้นที่ป่าเขาและลำน้ำต่างๆ การจัดทำแผนที่เช่นนี้จึงช่วยประหยัดงบประมาณจากการทำแผนที่ซ้ำซ้อนของแต่ละหน่วยราชการและยังแก้ปัญหาความไม่ตรงกันของข้อมูลในแผนที่ที่แต่ละหน่วยงานจัดทำขึ้น อีกด้วย เนื่องจากโครงการนี้การตรวจสอบข้อมูลโดย 4 หน่วยงานสำคัญด้วยกัน ได้แก่ กรมแผนที่ทหาร ทำการตรวจสอบงานหมุดหลักฐานภาคพื้นดิน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตรวจสอบงานขยายจุดบังคับภาพถ่ายทางอากาศ บริษัท Consultant of Technology ตรวจสอบงานจัดทำแบบจำลองระดับสูงเชิงเลข และกรมโยธาธิการและผังเมืองทำการตรวจสอบงานแผนที่ภาพถ่ายออร์โธสีเชิงเลข
ปัจจุบันแผนที่ชุดนี้มีการจัดทำและส่งมอบไปแล้วกว่า 60% แต่ก็มีหน่วยงานราชการหลายแห่งติดต่อขอสำเนาไปใช้งานบ้างแล้ว เช่น สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กรมโยธาธิการและผังเมือง และการเคหะแห่งชาติ
"จังหวัดสุพรรณบุรีก็มาขอเอาไปใช้ เขาจะเอาไปช่วยในการจัดเก็บภาษีที่ดิน"
การแถลงข่าวครั้งนี้มีการโชว์แผนที่บริเวณท้องสนามหลวงที่ทำเสร็จแล้วให้กับสื่อมวลชนได้ชม ซึ่งมีความละเอียดถึงขนาดที่เห็นหลังคารถที่กำลังวิ่งอยู่ในขณะนั้นเลยทีเดียว ความคมชัดแทบไม่ต่างไปจากสิ่งที่ได้เห็นจาก Google Earth และความละเอียดขนาดนี้นี่เอง ทำให้แผนที่ชุดนี้ได้รับอนุญาตให้นำไปใช้งานได้เฉพาะหน่วยงานราชการเท่านั้น เนื่องจากเหตุผลทางด้านความมั่นคงเพราะเป็นแผนที่ ที่มีพิกัดให้เสร็จสรรพ หากหลุดไปถึงมือผู้ไม่ประสงค์ดีก็อาจนำไปใช้งานในทางที่ผิดได้
เพราะฉะนั้น ระหว่างนี้เอกชนก็ใช้ Google Earth ไปพลางๆ ก่อนก็แล้วกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|