Lifetime Opportunity ของจุฑานาวี

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

การร่วมทุนกับ Nordana บริษัทเดินเรือรายใหญ่ของเดนมาร์กถือเป็นโอกาสสำคัญที่จุฑานาวีจะขยายงานชนิดก้าวกระโดดได้ภายในเวลาอันสั้น

เหมือนจะเป็นความบังเอิญที่บริษัท จุฑานาวี กำหนดวันเซ็นสัญญาตั้งบริษัท ร่วมทุนกับ Nordana Project & Chartering บริษัทเดินเรือสัญชาติเดนมาร์กเอาไว้ ในช่วงใกล้ครบอายุ 30 ปีของบริษัทพอดี และที่พิเศษก็คือ การร่วมทุนครั้งนี้จะเรียกว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดนับตั้งแต่บริษัทเดินเรือสัญชาติไทยแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเลยก็ว่าได้

"โอกาสในครั้งนี้ถือว่าเป็น lifetime opportunity ของบริษัท เพราะก่อนหน้านี้เราเองก็ไม่เคยคิดว่าจะได้ร่วมทุนกับ Nordana" ชเนศร์ เพ็ญชาติ กรรมการผู้จัดการ จุฑานาวี กล่าว

ที่ชเนศร์กล่าวเช่นนี้ก็เพราะเขาตระหนักดีว่าขนาดของจุฑานาวีนั้นเทียบไม่ได้เลยกับ Nordana ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2500 เป็นบริษัทเดินเรือในเครือข่ายของ Dannebrog ซึ่งเป็นบริษัทเดินเรือแห่งแรกของเดนมาร์ก และเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2426 ปัจจุบัน Nordana มีกองเรือจำนวนกว่า 70 ลำ ขณะที่จุฑานาวีในขณะนี้ มีเรืออยู่ 7 ลำ

จุฑานาวีก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2519 ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท การดำเนินธุรกิจในระยะแรกประสบปัญหาขาดทุน จนในปี 2525 พลเรือตรีชาโณ เพ็ญชาติ ได้ซื้อหุ้นต่อจากกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมและเข้าบริหารงานนับจากนั้นเป็นต้นมา ปัจจุบันพลเรือตรีชาโณยังรั้งตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ขณะที่บทบาทการบริหารงานในปัจจุบันเป็นของชเนศร์ บุตรชายซึ่งมาร่วมงานที่จุฑานาวีตั้งแต่ปี 2527 หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจจาก Babson College สหรัฐอเมริกา

บริษัทเดินเรือทั้ง 2 แห่งติดต่อสัมพันธ์กันครั้งแรกเมื่อ 18 ปีที่แล้ว เริ่มต้นจากจุฑานาวีติดต่อซื้อเรือ Christianborg จาก Nordana ในราคา 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการซื้อขายครั้งนี้สร้างความประทับใจให้กับชเนศร์อย่างมาก

"เชื่อไหมว่า เราจ่ายค่าเรือไปและรับมอบเรือเรียบร้อย จนกระทั่งเรือวิ่งมาถึงกรุงเทพฯ แล้วอยู่ดีๆ มีอะไหล่ส่งตามมาให้ ปรากฏว่าเจ้าของเรือเขาสั่งอะไหล่ชุดนี้เอาไว้ก่อนที่จะขาย พอได้มาเขาก็ส่งมาให้เรา โดยที่เราไม่ได้รู้ล่วงหน้ามาก่อน เงินค่าอะไหล่ก็ไม่ต้องจ่าย เราก็ประทับใจในความมีน้ำใจของเขา"

ความสัมพันธ์ระหว่างทั้ง 2 กิจการเริ่มใกล้ชิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อ Nordana มาเช่าเรือจากจุฑานาวี เริ่มจาก 1 ลำ และเพิ่มขึ้นทุกปี จนกระทั่งปัจจุบัน Nordana เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของจุฑานาวี ด้วยการเช่าเรือ 3 ลำจากจำนวนทั้งหมด 7 ลำ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของรายได้ รวมในปีที่ผ่านมาของจุฑานาวี

นอกจากนี้ Nordana ยังเข้าซื้อหุ้นของจุฑานาวีในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อศึกษาข้อมูลและงบการเงิน ตัวเลขที่ Nordana ให้ความสนใจมากที่สุดก็คือ ต้นทุนดำเนินงาน เมื่อพอใจกับข้อมูลที่ได้มาแล้ว Nordana จึงยื่นข้อเสนอจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในช่วงต้นปีนี้

บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะถือหุ้นโดยจุฑานาวีและ Nordana ในสัดส่วน 51% และ 49% ตามลำดับ โดยมีเป้าหมายที่จะซื้อเรืออเนกประสงค์ขนาดระวางประมาณ 10,000 เดทเวทตัน จำนวน 10 ลำภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อใช้ใน การขนส่งสินค้าทั่วไป เช่น เหล็กและเครื่องจักร

"เราตกลงกันตั้งแต่วันแรกว่า ใครทำอะไรได้ competitive กว่าก็ทำอันนั้น เราบริหารเรือได้ถูกกว่าเราก็ทำส่วนเขาหาเงินกู้ได้ถูกกว่า เขาก็จะเป็นคนหาเอง" ชเนศร์กล่าว

ด้วยเหตุนี้จุฑานาวีจะทำหน้าที่เป็นผู้บริหารเรือ ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาคนประจำเรือ ดูแลซ่อมบำรุงและการจัดการประกันภัย ขณะที่ Nordana จะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้และรับเป็นผู้เช่าเรือดังกล่าวทั้งหมดเป็นเวลา 8-10 ปี การได้แหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมีความสำคัญต่อบริษัทร่วมทุนแห่งนี้ไม่น้อย เนื่องจากเงินที่ใช้ในการซื้อเรือแต่ละลำจะมาจากเงินทุนเพียง 30% ส่วนอีก 70% จะมาจากเงินกู้

จุฑานาวีและ Nordana ต่างก็มีจุดเด่นที่ช่วยเสริมการดำเนินงานให้กับอีกฝ่ายหนึ่งได้เป็นอย่างดี โดยจุฑานาวีมีจุดเด่นด้านต้นทุนต่ำ จากการใช้บุคลากรชาวไทย ขณะที่ Nordana มีเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก รวมทั้งมีชื่อเสียงจากการ ดำเนินงานมาเป็นเวลายาวนาน ทำให้สามารถหาลูกค้าได้ง่าย การตั้งบริษัทร่วมทุนครั้งนี้จึงเป็น win-win ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เพราะ Nordana ได้ขยายกองเรือที่มีต้นทุนต่ำ ณะที่จุฑานาวีก็ขยายกองเรือเพิ่มขึ้น โดยที่มีความเสี่ยงต่ำและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเป็นผู้บริหารเรืออีกด้วย โดยอัตราค่าจ้างในการบริหารเรือจะอยู่ที่ประมาณ 250 เหรียญสหรัฐต่อวันต่อลำ

"ผมคำนวณคร่าวๆ ว่าถ้าบริษัทร่วมทุนเราสามารถทำกำไรได้เหมือนที่จุฑานาวีทำอยู่ คือกำไรปีละไม่ต่ำกว่า 25% และจุฑานาวียังจะได้ค่าจ้างจากการบริหารเรืออีก เพราะฉะนั้นการลงทุนครั้งนี้เราน่าจะได้ผลตอบแทนปีละ 30% ขึ้นไป ซึ่งก็น่าพอใจ"

ชเนศร์ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่าการร่วมทุนครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้จุฑานาวีสามารถขยายกองเรือได้มากขึ้นและเร็วขึ้น เพราะจุฑานาวีใช้เวลาถึง 30 ปี มีเรือเพียง 7 ลำ แต่ตามแผนงานของบริษัทร่วมทุนที่กำหนดเอาไว้จะมีเรือได้ถึง 10 ลำ ภายในเวลาเพียง 3 ปีเท่านั้น ขณะเดียวกันยังช่วยย้ำความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับ Nordana ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยต่อการทำธุรกิจระหว่างทั้ง 2 รายด้วย

"เรือ 3 ลำของเราที่เขาเช่าอยู่ ถ้าหมดสัญญาแล้วแทนที่เขาจะไปเช่าคนอื่น เขาก็คงให้โอกาสเราก่อน แต่เราก็ต้อง competitive ด้วย"

นอกจากการตั้งบริษัทร่วมทุนกับ Nordana แล้ว ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จุฑานาวียังได้ล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่จนหมดด้วยการลดทุนจดทะเบียนจำนวน 86 ล้านบาท โดยลดมูลค่าหุ้นจากเดิมหุ้นละ 4 บาท เหลือ 3 บาท ทำให้ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 258 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นจำนวน 86 ล้านหุ้น

การลดทุนจดทะเบียนดังกล่าวทำให้ปีนี้เป็นปีแรกในรอบ 9 ปีของจุฑานาวี ที่ไม่มียอดขาดทุนสะสมเหลืออยู่ หากผลการดำเนินงานมีกำไรก็จะสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงมีภาระหนี้อยู่อีกกว่าหนึ่งพันล้านบาท

สำหรับแนวโน้มธุรกิจเดินเรือในขณะนี้ ชเนศร์มองว่า ถึงแม้ค่าระวางจะลดลงจากจุดสูงสุดในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา แต่ก็อยู่ในระดับที่บริษัทสามารถทำกำไรได้และเมื่อดูจากดัชนี BDI (Baltic Dry Index) ซึ่งเป็นดัชนีค่าระวางเรือสินค้าแห้ง พบว่าตั้งแต่ต้นปีดัชนีทรงตัวและกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในช่วงไตรมาส 2

นอกจากนี้ ชเนศร์เชื่อว่าในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ซัปพลายเรือจะหายไปจากตลาดจำนวนมาก เนื่องจาก 43% ของเรืออเนกประสงค์ทั่วโลกในปัจจุบันมีอายุการใช้งานเกิน 25 ปี ซึ่งครบกำหนดที่ต้องซ่อมใหญ่หรือขายเป็นเศษเหล็ก ขณะที่จำนวนเรือต่อใหม่จะเข้ามาทดแทนได้ไม่มากนัก จะส่งผลให้เรือที่เหลืออยู่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นและค่าระวางจะปรับสูงขึ้นด้วย

"ทุกวันนี้เรืออายุเกิน 25 ปียังเอามาวิ่งอยู่ เพราะ 2-3 ปีนี้ตลาดเรือดีมาก แต่เมื่อไหร่ที่ถึงกำหนดเข้าอู่ เจ้าของก็ต้องขายทิ้ง เพราะค่าซ่อม ค่าประกันแพงมาก"

การดำเนินงานของจุฑานาวีในระยะนี้ยังคงเน้นรายได้จากการให้เช่าเรือ (Time Charter) เป็นหลัก โดยเรือที่มีอยู่ 7 ลำ บริษัทนำมาให้เช่าถึง 6 ลำ เนื่อง จากการให้บริการในลักษณะดังกล่าวไม่ต้องรับภาระค่าน้ำมัน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเรือ ส่วนอีก 1 ลำ นำมาวิ่งให้บริการในเส้นทางญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเชื่อว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นจากสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ขณะที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ก็ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

กลยุทธ์ดังกล่าวนี้เองที่ช่วยให้ผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1 ปีนี้ของจุฑานาวีเพิ่มสูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 33% โดยไตรมาสแรกปีนี้มีกำไรสุทธิ 63 ล้านบาท คิดเป็นกำไรหุ้นละ 0.75 บาท ขณะที่งวดปีที่แล้วมีกำไรสุทธิ 32 ล้านบาท หรือหุ้นละ 0.38 บาท แต่หากคิดเฉพาะกำไรจากการดำเนินงานเพียงอย่างเดียว กำไรไตรมาสแรกของปีนี้จะลดเหลือ 44 ล้านบาท เทียบกับ 33 ล้านบาทของปีที่แล้ว ส่วนกำไรของปีนี้ชเนศร์คาดว่าน่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 160 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.