"มีเดีย ออฟ มีเดียส์ เมื่อ "การตลาด" ช่วยแต่งตัวเข้าตลาดหุ้น"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

"มีเดีย ออฟ มีเดียส์" ของสามีภรรยา "โฆสิต สุวินิจจิต" และ "ยุวดี บุญครอง" กำลังเป็นอีกฉากหนึ่งของธุรกิจบันเทิง ที่สามารถนำพาบริษัทให้เติบใหญ่อย่างรวดเร็ว จากบริษัทโบรกเกอร์ขายเวลาโฆษณาทีวี กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตและนำเข้ารายการโทรทัศน์รายใหญ่และอาจนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในเวลาไม่นานนี้

"เราไม่ได้รีบแต่งตัวเพื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์แต่อย่างใดนะครับ และก็คงพูดเช่นนั้นไม่ได้" โฆสิต สุวินิจจิต ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทในเครือ บริษัท มีเดีย ออฟ มีเดียส์ จำกัด(มหาชน) หรือเรียกสั้น ๆ ว่ามีเดียกรุ๊ป กล่าวทักทายเป็นประโยคแรกกับ "ผู้จัดการ"

"โฆสิต สุวินิจจิต" ประธานกรรมการบริหารและยุวดี บุญครอง กรรมการผู้จัดการ มีเดียกรุ๊ป หรือในชื่อที่รู้จักกันดี "มีเดีย ออฟ มีเดียส์" เขาและเธอใช้วิชาอะไรหรือ ถึงสามารถนำพามีเดียกรุ๊ปเข้าตลาดได้ทั้ง ๆ ที่เป็นเพียงผู้จัดและผลิตรายการทีวีซึ่งทุกคนพูดว่าเป็นธุรกิจที่ไม่แน่นอน แถมยังสามารถดึง 5 นักบริหารมืออาชีพมาเป็นที่ปรึกษาได้ ยังไม่นับที่จะเข้ามาเสริมอีกในสิ้นปี

กลยุทธ์ที่ทั้งสองใช้คือ "การตลาด" แบบเต็มขั้น

เพียงกลยุทธ์ 4 P ซึ่งเป็นพื้นฐานการตลาดทั่วไปเท่านั้น ที่โฆสิตและยุวดีนำมาใช้ กลยุทธ์เพียงแค่นี้ทำไมถึงสามารถครองตลาดรวมได้

โดยเขาและเธอเล่าถึง 4P หรือ การตลาดผสมนี้ก็คือ Product Price Place Promotion สินค้าคุณภาพอย่างไร ราคาเหมาะสมกับคุณภาพหรือไม่ช่องทางจัดจำหน่ายดีแค่ไหน แล้วประสบการณ์ตลาดมีพร้อมที่จะวิ่งเข้าหากลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้องดีแล้วหรือเปล่า และที่สำคัญฝ่ายการตลาดก็ต้องพร้อมที่จะแนะนำข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมเหล่านี้ให้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไม่ผิดพลาด

นี่คือ "กลยุทธ์ทางการตลาดนำสินค้า" ที่โฆสิต นำมาใช้กับสินค้าหรือรายการทีวีต่าง ๆ ของเขาทั้งหมด และย้ำด้วยว่า นี่เป็นหัวใจของเขาเลยทีเดียว

เขาอธิบายต่ออีกว่า "พฤติกรรมคนดูทีวีใช้รีโมทคอนโทรลขณะนี้ อย่าไปคิดว่าเขาเลือกช่อง อย่าไปคิดว่าเขาเลือกฮาร์ดแวร์ เขาเลือกโปรแกรมรายการครับ ฉะนั้นซอฟต์แวร์ก็คืออนาคตที่จะต้องใส่ใจยิ่งเมื่อทีวีจะมีถึง 100 ช่องในอนาคต ผู้ชมก็คงไม่มีเวลาดูทั้งหมดได้ คงต้องดูตามโปรแกรมที่มีเรื่องคุณภาพ"

"มีเดียกรุ๊ปมาทีหลัง เราสามารถเอาชนะที่หนึ่งได้หลายรายการ ดิฉันคิดว่าทีวีเป็นธุรกิจที่สนุก แล้วผลประโยชน์จริง ๆ ก็จะกลับไปสู่ผู้บริโภค เป็นการแข่งขันที่เป็นธรรมมาก ๆ เพราะเราจะบังคับคนดูไม่ได้เลย สิ่งพิมพ์บางทียังมีการบังคับแผงได้" ยุวดี อธิบายเสริม

จากคำกล่าวของยุวดีและโฆษิตเป็นคำตอบได้ว่า เรื่องรายการของมีเดียกรุ๊ป แม้ไม่ดีมากนัก แต่ก็สามารถสร้างแรงดึงดูดต่อโฆษณาได้

แต่ก็มีอีกรูปแบบหนึ่งที่มีเดียกรุ๊ปได้กระทำ นั่นคือ นโยบายการขายแบบแพ็คเกจ คือเมื่อลูกค้าซื้อโฆษณาในรายการหนึ่งของมีเดียกรุ๊ป โฆษณาของลูกค้าชิ้นนั้นก็อาจจะสามารถไปวางอีกรายการหนึ่งที่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ ในราคาที่พิเศษ เป็นเช่นนี้ทุกรายการ

เขาเล่าต่อว่า เป็นเรื่องระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้นเอง โดยยกตัวอย่างกรณีมีคนขายไข่อยู่โดยขายเป็นปกติทุกวัน บังเอิญวันนั้นฝนตก ไข่เหลือ จะทำอย่างไร จะเก็บไว้ไข่ก็มีโอกาสเน่าได้ ก็ต้องขายออกไป จะด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ ไม่ว่าจะ ลด แลก แจก แถม เป็นธรรมชาติ แล้วทุกคนเขาก็คิดกันอย่างนี้และทำกันมานานแล้ว เพียงแต่ว่าใครจะใช้วิธีไหน รถยนต์บางที่ก็ไม่มีดาวน์ ไม่คิดดอกเบี้ยบ้าง มันเป็นกลไกธรรมชาติของอุปสงค์-อุปทาน ดีมาน-ซัพพลาย และสภาวะตลาดขณะนั้น เราต้องไม่ฝืนสภาวะตลาด

"เมื่อไหร่ ฝ่ายที่เป็นคู่แข่งไม่บ่นแสดงว่าผมทำผิดแล้ว เพราะส่วนแบ่งตลาดผมโดนเขาแบ่งไป เมื่อไหร่เขาบ่นแสดงว่าเราทำถูกแล้ว คือเราได้มาร์เก็ตแชร์เขา ฉะนั้นเรื่องกลไกการตลาด หากจะสังเกตให้ดีพวกที่บ่น ๆ นี้ พวกเขาไม่ได้เอาการตลาดมานำการขาย (Marketing Lead Sale) ถ้าเขาทำ เขาจะมองเห็นถึงจุดนี้ แล้วผมคิดว่าที่มีเดียฯ ได้ลูกค้ามากมายตลอดเพราะเน้นเรื่องนี้ และเมื่อนำมาประยุกต์ได้สำเร็จเมื่อใดก็จะเห็นลู่ทางอะไรอีกเยอะและสามารถคำนวณได้เลยว่าทั้งปี เขาจะทำอย่างไรให้มันได้กำไรถ้าเขาเอาตัวเลขต่าง ๆ มาวิเคราะห์ นี่มันเป็นสัจธรรม เป็นเรื่องการตลาดจริง ๆ อย่ามาบอกว่าผมกวนน้ำขุ่น น้ำไม่ได้ขุ่นเลย" โฆษิต ชี้แจงด้วยอาการจริงจัง พร้อมเล่าถึงอดีตว่า

มีเดียกรุ๊ปเป็นกลุ่มบริษัทที่เริ่มมาจากเล็ก ๆ วันที่เขาเข้ามาในวงการใหม่ ก็ไม่มีรายการสักรายการเดียว ทุกคนบอกเขาว่า เขายังเล็ก ปลายแถว ไม่คุยด้วย รายการของเขาอยู่อันดับ 10 ในอดีตโฆษณาไม่ค่อยเข้า เขาจึงพัฒนาตัวเองให้ขึ้นมาเป็นที่ 1 หรือ 2 หรือ 3 ให้ได้ โดยใช้นโยบายการตลาดนำการขาย ซึ่งกลไกนี้เขาเชื่อว่าทำให้ประเทศเจริญ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเสรี ต้องแข่งขันกัน จะเรียกว่าเป็นเคล็ดลับก็ไม่ใช่มันเป็นแนวทางที่ทำถูกมากกว่า

อีกภาพหนึ่งที่ถูกรังสรรค์เพื่อให้ดูเป็นฐานที่แน่นของมีเดียกรุ๊ป นั่นคือ การเข้าไปดำเนินและร่วมหุ้นในบริษัทย่อย ตั้งแต่บริษัทเอ็ม สแควร์เอนเตอร์เทนเมนท์ 69.95% จากทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท, บริษัท อัครมีเดีย 75% จากทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท, บริษัท เอ็มแอนด์ดีเอนเตอร์เทนเม้น 80% จากทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท, บริษัท เอ็มโอเอ็ม คอร์ปอร์เรชั่น 80% จากทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท, บริษัท มีเดียเอ็ดดูเคชั่น 80% จากทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท, บริษัท คอนซูเมอร์อมิวเมนท์เซลส์ 40% จากทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และบริษัททีวีทันเดอร์อีก 30% จากทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ทำให้ความหนักแน่นของกลุ่มมีมากขึ้น

ที่สำคัญคือ "มืออาชีพ" มีเดียกรุ๊ประดมมืออาชีพการตลาดครั้งใหญ่มาเป็นทั้งที่ปรึกษาและผู้บริหารบริษัท

มืออาชีพเหล่านั้น ได้แก่ ศจ. (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา, ภัทราวดี มีชูธน ที่ปรึกษาด้านผลิตรายการ, มานิต รัตนสุวรรณ ที่ปรึกษาด้านการตลาด/การจัดจำหน่าย, ประดิษฐ์ รัตนวิจารณ์ ที่ปรึกษาด้านการโฆษณา/ประชาสัมพันธ์ และดร.ไชยา ยิ้มวิไล ที่ปรึกษาด้านการบริหารงาน/บุคคล

ไม่ว่ามีเดียกรุ๊ปจะมีเป้าหมายในอนาคตว่าจะเป็นผู้ผลิตซอฟท์แวร์รายใหญ่ของไทยหรือของภูมิภาค แต่ ณ วันนี้ ขอมีเดียกรุ๊ปเข้าตลาดหุ้นก่อนก็แล้วกัน



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.