New Source of Revenue

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่มีความพยายามครั้งใดของครอบครัวว่องกุศลกิจในการผลักดันธุรกิจของกลุ่มบ้านปูให้เติบโตออกไปได้อย่างรวดเร็วในต่างประเทศ จนกลายมาเป็นผู้เล่นเอกชนรายใหญ่ในธุรกิจถ่านหินระดับภูมิภาคได้อย่างในปัจจุบัน จะมีพละกำลังได้มากมายมหาศาลเท่าความพยายามอันแก่กล้า ซึ่งเกิดขึ้นมาในท่ามกลางเวลาที่ธุรกิจครอบครัวของพวกเขากำลังซวนเซจวนเจียนจะล้มลงในกระแสแห่งวิบากกรรมของค่าเงินครั้งใหญ่เมื่อกลางปี 2540

เพราะในเวลาเดียวกันนั้น ขณะที่มือข้างหนึ่งของพวกเขากำลังง่วนจนเป็นระวิงอยู่กับการเร่งหั่นเฉือนธุรกิจในหลายรายการที่ไม่จำเป็น เพื่อนำออกขายเอาเงินมาจ่ายหนี้เจ้าหนี้ และรักษาธุรกิจหลักทุกตัวของครอบครัวว่องกุศลกิจไว้ให้อยู่ มืออีกข้างของพวกเขายังต้องออกแรงแข็งขันเร่งผลักเร่งดันให้กลุ่มบ้านปูฝ่าวิกฤติออกไปขยายตัวเติบใหญ่ในต่างประเทศให้ได้

มาถึงตอนนี้ผ่านมาได้ร่วมๆ 10 ปี ทั้งนิยามและมิติในการลงทุนของกลุ่มบ้านปู ดูจะมีทั้งความกว้างความลึกจนถึงระดับที่ชนินท์พอจะพูดได้แล้วว่า บ้านปูไม่ใช่กลุ่มธุรกิจที่มีบทบาทเป็นเพียงผู้นำเข้าสินค้ามาขายในเมืองไทย หรือเป็นแค่ผู้ส่งออกธรรมดาที่มีฐานการผลิตอยู่แต่ในไทย

เพราะเวลานี้กลุ่มบ้านปูซึ่งมีธุรกิจถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นธุรกิจหลัก โดยวางน้ำหนักธุรกิจไว้ที่ถ่านหิน 60-70% นั้น ได้กลายเป็น "The Asian Face of Energy" ซึ่งให้นิยามตัวเองไว้อย่างชัดเจนว่า พวกเขาคือ "บริษัทพลังงานชั้นนำของเอเชีย" ที่เร่งผลักดันตัวเองให้ออกไปเติบโตจากการขยายฐานการผลิตใหม่ๆ ในประเทศที่ 2 และส่งออกสินค้าออกไปขายต่อยังประเทศที่ 3 อย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และยุโรป โดยไม่ขายกลับเข้ามาในไทย

"ตอนนี้เราลงทุนในลักษณะนั้นแล้ว พยายามที่จะสร้างตัวขึ้นมาในเอเชียให้เป็น regional player ถ้าถึงระดับหนึ่ง เพราะตอนนี้คนส่วนใหญ่รู้จักเรา" คือภาพใหม่ของกลุ่มบ้านปูที่ชนินท์บอก

อันดับทางธุรกิจของกลุ่มบ้านปูในต่างประเทศตอนนี้ หากไม่นับรวมกลุ่มผู้เล่นรุ่นใหญ่ในระดับอินเตอร์ เช่นออสเตรเลีย หรือกลุ่มผู้เล่นที่เป็นกิจการของรัฐแล้ว กลุ่มบ้านปูจะเป็นธุรกิจถ่านหินเอกชนรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชีย-แปซิฟิก แต่เป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่อันดับ 4 ใน อินโดนีเซีย แถมด้วยอันดับที่ 8 ในกลุ่มผู้ผลิตซึ่งมีปริมาณการขนส่งถ่านหินทางเรือสูงสุดแห่งเอเชีย

สำหรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจของบ้านปูปัจจุบัน ยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน คือประกอบไปด้วยบริษัทลูก 25 แห่ง และบริษัทร่วมอีก 2 แห่ง ส่วนฐานการผลิตของกลุ่มนั้นมีอยู่ใน 3 ประเทศคือ ไทย อินโดนีเซีย และจีน (ดูรายละเอียดจาก "โครงสร้างธุรกิจกลุ่มบ้านปู")

ฐานใหญ่การผลิตถ่านหิน อันเป็นแหล่งรวมรายได้ร่วมๆ 60-65% ของกลุ่มบ้านปู จะรวมกลุ่มกันอยู่ที่อินโดนีเซีย ประเทศที่มีถ่านหินลิกไนต์คุณภาพดีที่สุดอีกแห่งบนโลก และยังเป็นประเทศแรกๆ ที่กลุ่มบ้านปูเริ่มเข้าไปปักธงสำรวจและพัฒนาแหล่งถ่านหินไว้ตั้งแต่เมื่อปี 2534 (ดูรายละเอียดจาก "แหล่งถ่านหินและปริมาณสำรองถ่านหินของกลุ่มบ้านปู")

ก่อนจะมาได้จังหวะขยับจำนวนเพิ่มขึ้นจากชนะประมูลซื้อสัมปทานแหล่งถ่านหินขนาดใหญ่ และมีคุณภาพที่ดีสุดของ Indocoal อีก 4 แห่งเมื่อปี 2544 ด้วยเงิน 55 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

แต่เดิมนั้นแหล่งถ่านหินทั้ง 4 นี้เป็นสินทรัพย์ของซาลิมกรุ๊ป กลุ่มธุรกิจรายใหญ่สุดของอินโดนีเซีย ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียต้องยอมขนออกมาขายตามคำสั่งของไอเอ็มเอ็ม หลังค่าเงินรูเปียห์รูดลงจนรั้งเอาไว้ไม่อยู่ ตามหลังเมืองไทยที่ประกาศลอยค่าเงินบาทกลางปี 2540

โดยในปีนี้ก็มีแนวโน้มที่ดีว่ากลุ่มบ้านปูกำลังจะได้เก็บเกี่ยวดอกผลจากเม็ดเงินลงทุนที่เคยหว่านลงบนเหมืองทั้ง 4 แห่งนี้ เพราะกำลังการผลิตจะมีเพิ่มขึ้นเป็น 15 ล้านตันต่อปี จากช่วงแรกๆ ทำผลงานรวมกันได้แค่ 4 ล้านตันต่อปี

ที่ดูว่ากำลังจะเป็นความหวังใหม่ มองเห็นเมื่อใดก็ปลื้มใจเมื่อนั้น ต้องยกให้ทรูบาอินโด หนึ่งในเหมืองของกลุ่ม Indocoal ซึ่งกำลังเริ่มผลิดอกออกผลคิดได้เป็น 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตจากเหมืองถ่านหินทั้งหมดที่กลุ่มบ้านปูมีอยู่ในอินโดนีเซีย และดูราวกับว่าปีนี้จะเป็นปีของกลุ่มบ้านปู เพราะที่เหมืองแห่งนี้จะกลายมาเป็นสินทรัพย์อันสำคัญในการสร้างกระแสเงินสดก้อนใหม่ใส่เข้ามาในบัญชีของกลุ่มบ้านปูได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้ว

ด้านเมืองจีน ซึ่งกลุ่มบ้านปูได้เข้าไปวางฐานธุรกิจทั้งถ่านหินและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมก็มีข่าวดีด้วยเช่นกัน เพราะเมื่อปีก่อนเหมืองต้าหนิงซึ่งเป็นเหมืองผลิตถ่านหินแอนทราไซต์ ในมณฑลซีอาน ได้เริ่มผลิตแล้วด้วยเช่นกัน โดยคาดกันว่าเหมืองแห่งนี้จะให้ผลผลิต 4 ล้านตันสำหรับปีนี้

ทั้งนี้เหมืองต้าหนิงเป็นเหมืองกลุ่มบ้านปูเข้าไปร่วมทุนกับกลุ่ม AACI ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

นอกจากนี้เหมืองเฮ่อปี้ซึ่งเป็นเหมืองถ่านหินใต้ดินชนิดลองวอนที่มีปริมาณถ่านหินสำรอง 34 ล้านตัน ในมณฑลเหอหนานยังเป็นอีกเหมืองที่กลุ่มบ้านปูเข้าไปถือหุ้นไว้ 40% โดยเหมืองแห่งนี้ในปัจจุบันมีกำลังการผลิตปีละ 1 ล้านตัน แต่เมื่อถึงปี 2551 จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ล้านตันต่อปี

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมขนาดเล็กในจีน ก็เพิ่งจะต้นปีมานี้ที่กลุ่มบ้านปูได้ลงนามสัญญาซื้อขายโรงไฟฟ้าฯ จาก AEC โดยสินทรัพย์ใหม่ที่กลุ่มบ้านปูเพิ่งจะได้เป็นเจ้าของประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก 4 แห่ง ใน 3 มณฑลทางเขตภาคตะวันออกของจีน ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 279 เมกะวัตต์ และผลิตไอน้ำได้ 1,000 ตันต่อชั่วโมง

โรงไฟฟ้าทั้ง 4 ยังได้รับสิทธิประโยชน์จากรัฐบาลจีนในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำตามสัญญา ซื้อขายระยะยาว รวมทั้งยังได้สิทธิในการขายไฟฟ้าให้แก่รัฐบาลท้องถิ่นตามสัดส่วนการผลิตไอน้ำ และเมื่อกลางปีก่อนรัฐบาลจีนยังออกกฎระเบียบใหม่ อนุญาตให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ปรับราคาซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำตามราคาขึ้นลงของถ่านหินได้สูงถึง 70%

เมื่อโครงสร้างรายได้ใหม่ของกลุ่มบ้านปูที่กำลังถูกพัฒนาไปในทิศทางที่ชัดเจนขึ้นเช่นนี้ กลุ่มบ้านปูจึงคาดหมายกันว่า ในอีก 2 ปีข้างหน้าธุรกิจไฟฟ้าจะเป็นอีกหนึ่งรายการที่เข้ามาช่วยสร้างกระแสเงินสดก่อนหักค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้แก่กลุ่มบ้านปูได้ราว 1 ใน 3 ของสินทรัพย์และโครงการที่กลุ่มบ้านปูมีอยู่ทั้งหมดในปัจจุบัน

แต่กลุ่มบ้านปูจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ เพราะพวกเขามีแผนว่า จะต้องออกเดินทางแสวงหาโอกาสในการขยับขยายธุรกิจการทำโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ ในจีน เช่นเดียวกับธุรกิจถ่านหินที่จะต้องเริ่มเข้าไปกรุยทางสำรวจหาเหมืองเพิ่มเติมจากในประเทศอีกหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินเดีย ซึ่งเศรษฐกิจกำลังกำลังเติบโต เพื่อให้สอดคล้องตามแผนกลยุทธ์การทำธุรกิจที่สิ้นสุดในปี 2551 และการกระจายความเสี่ยงตามกลยุทธ์ในการพัฒนากลุ่มบ้านปูไปสู่การเป็นบริษัทผลิตถ่านหินและไฟฟ้าชั้นนำในภูมิภาค


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.