บ้านปู ดอกผลที่ใหญ่เกินคาด

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

23 ปีก่อน คนในตระกูล "ว่องกุศลกิจ" คงคิดไม่ถึงว่า "เหมืองบ้านปู" ธุรกิจถ่านหินที่ใช้เงินลงทุนตอนนั้นแค่ไม่กี่ล้านบาท จะเติบโตจนกลายมาเป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมพลังงานได้เหมือนอย่างในทุกวันนี้

การเกิดของบริษัทเหมืองบ้านปู เมื่อปี 2526 หรือกลุ่มบ้านปูในปัจจุบัน ไม่ได้เป็นแค่ภาพสะท้อนอันแจ่มแจ้งในความตั้งใจของพี่น้องในรุ่นที่ 2 ของตระกูล "ว่องกุศลกิจ" ที่พยายามอย่างไม่หยุดหย่อนในการมองหาพันธมิตรเพื่อกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจน้ำตาล ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของครอบครัว

แต่การเกิดบริษัทผู้ผลิตถ่านหินลิกไนต์แห่งนี้ จากการร่วมทุนกับตระกูล "เอื้ออภิญญกุล" ยังเป็นภาพสะท้อนในอีกด้านหนึ่งของการเลือกตัวผู้ร่วมลงทุน ที่ดูจะแตกต่างจากเคยเป็นมา

เพราะขอบเขตตัวเลือกครั้งนี้ของพี่ชายทั้ง 4 ซึ่งเป็นกำลังหลักในการดูแลกิจการและหาเงินทองเข้าบ้านว่องกุศลกิจนี้ ไม่ได้จำกัดอยู่แต่กลุ่มพ่อค้าจากตระกูลต่างๆ ในแวดวงโรงงานน้ำตาล ซึ่งเคยมีสายสัมพันธ์อันดีมาอย่างยาวนานกับคนรุ่นเก่า แต่ยังขยายคลุมมาถึงสายสัมพันธ์ส่วนตัว 6 ปีในวัยเรียนของคนรุ่นใหม่อย่างชนินท์ ว่องกุศลกิจ น้องชายคนสุดท้อง และเมธี เอื้ออภิญญกุล ซึ่งมีบิดาเป็นเจ้าของโรงบ่มใบยาสูบ ที่จังหวัดแพร่

ชนินท์และเมธีเริ่มรู้จักกันเมื่อครั้งที่ชนินท์เข้าศึกษาต่อ MBA (Finance) ใน St.Louis University, Missouri, USA ในช่วงเดียวกับที่เมธีกำลังเรียน B.SC (Management) ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

ครอบครัวเอื้ออภิญญกุล นอกจากทำธุรกิจโรงบ่มใบยาสูบแล้ว พวกเขายังมีบริษัทแพร่ลิกไนต์ จำกัด ซึ่งทำถ่านหินในเหมืองแม่ตีบ อำเภอง้าว จังหวัดลำปาง มาตั้งแต่เมื่อปี 2517 เพราะต้องการนำถ่านหินมาใช้แทนการตัดไม้เพื่อมาเป็นเชื้อเพลิงในการบ่มใบยา

ว่าไปแล้ว สถานการณ์ของทั้ง 2 ครอบครัวในขณะนั้นก็คล้ายคลึงกัน เพราะในขณะที่ธุรกิจอ้อยและน้ำตาลกำลังอยู่ในช่วงผันผวนอย่างหนัก ธุรกิจใบยาสูบของภาคเหนือก็กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นยุคตกต่ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

"คุณเมธีเขาไปดูถ่านหินที่ไหนมาก่อนแล้วก็ไม่รู้ ถึงค่อยมาชวนชนินท์ไปดู ชนินท์ก็กลับมาเล่าให้พวกเราฟัง ตอนนั้นทางคุณเมธีเขากำลังขาดสภาพคล่อง ทางเราก็อยากจะ diversify พอดี จึงเห็นว่าน่าจะลองดู เพราะเราลงไม่เยอะแค่ล้านสองล้านเอง แต่หากจะต้องเสียหายจริงๆ แล้ว มันก็คงไม่เท่าไร" วิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงที่มาในการตัดสินใจร่วมทุนของ 2 ตระกูล

แต่กลุ่มบ้านปูวันนี้เหมือนจะใหญ่โตเกินคาด และเรื่องนี้ก็อาจดูได้จากผลดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2549 ซึ่งระบุถึงมูลค่าสินทรัพย์ของกิจการ ณ วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา มีทั้งสิ้น 45,683 ล้านบาท หนี้สิน 24,708 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของผู้ถือหุ้น 20,708.78 ล้านบาท ส่วนรายได้นั้นมี 7,99796 ล้านบาท และผลกำไร 742.12 ล้านบาท

สำหรับชนินท์นั้นเขาอาจมีส่วนร่วมไม่มากนักในช่วงที่พี่ๆ กำลังช่วยกันพัฒนาโรงงานน้ำตาล เพราะหลังจากที่เรียนจากต่างประเทศกลับมา เขาก็เริ่มเข้าทำงานให้กับบริษัทเงินทุนยูไนเต็ด ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งของครอบครัวว่องกุศลกิจที่มีอยู่ในเวลานั้น เพราะพี่ๆ ไม่ต้องการให้ทุกคนเข้ามาอยู่รวมกันในโรงงานน้ำตาลแต่เพียงแห่งเดียว และอยากให้ช่วยกันมองหาธุรกิจตัวอื่นมาทำร่วมกัน

"ตอนนั้นผมยังอยู่ไฟแนนซ์ คุณเมธีมาหาผมหลายครั้ง แล้วเขาก็ชวนผมไปดู ผมไปดู 3 ครั้ง ผมจำได้ สุดท้ายก็ลงร่วมกันแล้วก็พาครอบครัวใหญ่ให้มารู้จักกัน ก็เริ่มจากตรงนั้นมา" ชนินท์ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บ้านปู เล่าเพิ่ม

หลังจากโครงการธุรกิจถ่านหินที่นำมาเสนอ ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมครอบครัว ชนินท์ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินจากโรงงานน้ำตาล ไปลงในธุรกิจใหม่ร่วมกับกลุ่มเอื้ออภิญญกุล แล้ว ชนินท์ก็ลาออกจากบริษัทเงินทุนยูไนเต็ด เพื่อเริ่มบุกเบิกเรียนรู้การทำเหมืองและดูแลธุรกิจใหม่ในฐานะตัวแทนครอบครัว

"ผมจบเศรษฐศาสตร์และการเงิน ไม่รู้เรื่องถ่านหินเลย เนื่องจากเขาอยากทำเรื่องใหม่หมด และเราก็ไม่รู้ทุกเรื่อง เราก็ต้องเรียนรู้ทุกเรื่องเหมือนกัน ก็คือไปหาผู้รู้ อย่างสมัยแรกที่ทำถ่านหิน เราขอคำแนะนำเขา เขาก็แนะนำให้ไปหาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย 2-3 คน ซึ่งก็เป็นอาจารย์ทางธรณีวิทยา ทาง mining ตั้งแต่ day one เราก็เชิญเขามาเป็นที่ปรึกษา ทำงานด้วยกัน จนถึงวันนี้ท่านทั้ง 3 ก็ยังคงอยู่กับบ้านปู" น้องชายคนเล็กของว่องกุศลกิจบอก

ธรรมชาติการทำธุรกิจที่ต้องสำรวจหาแหล่งถ่านหิน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยมืออาชีพต่างชาติเข้ามาช่วย แม้ว่ากลุ่มบ้านปูจะอยู่ในยุคต้นๆ ก็ยังต้องเปิดตัวเองร่วมทุนอาศัยเรียนรู้จากต่างชาติ ซึ่งต้องการเข้ามาสำรวจหาแหล่งถ่านหินในเมืองไทย อย่างเช่น BPH บริษัทที่ทำธุรกิจด้านทรัพยากรขนาดใหญ่จากออสเตรเลีย ก็จัดเป็นพันธมิตรอันดับต้นๆ ที่เข้ามาร่วมสำรวจแหล่งทรัพยากรถ่านหินกับบ้านปู

แม้ท้ายที่สุดอาจต้องแยกทาง เพราะไม่สามารถหาแหล่งถ่านหินสำรองที่มีปริมาณมากพอได้ในขณะนั้น แต่ก็ถือว่าบ้านปูได้เรียนรู้ know-how จากต่างชาติรายนี้มากพอสมควร และบ้านปูยังจะได้เรียนรู้อีกหลายเรื่องราวจากพันธมิตรร่วมทุนอีกหลายประเทศ ทั้งจากสวีเดน ฟินแลนด์ในยุคแรกๆ และสหรัฐอเมริกา ในยุคต่อมา

"ตอนเราเข้าไปทำโรงไฟฟ้า มันทำให้เราต้องอาศัยคนอื่นเยอะ คือเราเข้าไปทำเรื่องที่เราไม่ค่อยรู้เท่าไร เรารู้แต่เรื่องพลังงาน แต่เรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้า เรื่องการ structure ตัวสัญญาและบริษัท เราไม่ค่อยรู้ก็ต้องอาศัยต่างชาติ โดยส่วนใหญ่ก็เป็นฝรั่ง" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบ้านปู กล่าว

"ตอนที่เราร่วมมาเยอะๆ พอมาถึงระดับหนึ่งมันก็ทำให้ทีมงานของบ้านปูได้เรียนรู้วิธีทำงานที่เป็นสากล นี่คือระบบในการที่จะเดินไป 20 กว่าปีมานี้เราเรียนรู้จากคนอื่นเยอะมากๆ ทุกวันนี้เราก็ยังต้องเรียนรู้"

จุดเริ่มต้นในการเติบโตของกลุ่มบ้านปูจริงๆ นั้น เริ่มมาจากการที่พวกเขาได้รับสัมปทานเปิดหน้าเหมืองถ่านหินให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

แต่การขยายตัวอย่างไม่หยุดนั้นมาโดดเด่นเห็นชัดเอาเมื่อปี 2534-2535 ตอนที่กลุ่มบ้านปูเริ่มขยายทุนเพิ่มเกือบจะทุกปี หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2532 เพื่อเตรียมตัวรุกสู่การทำธุรกิจโรงไฟฟ้า ในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระรายใหญ่และรายย่อยของ กฟผ. โดยเริ่มต้นจากเข้าร่วมทุนจัดตั้งบริษัทเดอะ โค เจนเนเรชั่น (COCO) ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทโกลว์ พลังงาน

ก่อนขยายไปร่วมทุนต่อในบริษัทไตรเอนเนอร์จี้ และ BLCP ในเวลาต่อมา โดยร่วมทุนกับพันธมิตรหลากหลายสัญชาติ ไม่ว่าจะเป็นสวีเดน ฟินแลนด์ จีน และอเมริกา ขณะเดียวกัน กลุ่มบ้านปูก็เริ่มขยายตัวเองออกสู่ต่างประเทศ โดยเริ่มออกไปปักธงสำรวจแหล่งถ่านหินในอินโดนีเซีย เมื่อปี 2534 ก่อนจะขยับขยายไปต่อที่โรงไฟฟ้าในเวียดนามสู่เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าในจีน (อ่านรายละเอียดจาก : พัฒนาการของกลุ่มบ้านปู)

"เวลาที่พวกเขาทำถ่านหิน พวกเขารู้สึกเป็นอย่างดีว่ากำลังทำพลังงานอยู่ด้วย เรารู้ว่าพลังงานมันต้องลงทุนเยอะ เพราะฉะนั้นตอนที่เราเข้าตลาดฯ แม้เราจะเล็กๆ เราก็พยายามจะขยายทุนเกือบทุกปี และก็ขยายงานไป มันมีโอกาสค่อนข้างมาก เพราะเราค่อนข้างจะเล็กมาก เมื่อเทียบกับตัวอุตสาหกรรมเองกับโอกาส โดยเฉพาะตอนที่เราเริ่มเข้ามาทำโรงไฟฟ้า มันเลยทำให้เราโตขึ้นมาค่อนข้างจะเร็ว เมื่อเทียบกับขนาดเดิมตอนที่เราเริ่มธุรกิจ"

แม้ในปี 2534 กลุ่มบ้านปูจะเริ่มโดดเด่นในแง่การขยายตัว แต่ในอีกด้านเมื่อมาถึงจุดหนึ่ง ครอบครัวว่องกุศลกิจก็เริ่มหันกลับมาพิจารณาให้ความสำคัญมากขึ้นกับการทำธุรกิจหลัก ที่เป็นความถนัดโดยแท้ของกลุ่มบ้านปู คือถ่านหินและโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน

เป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับธุรกิจอื่นของครอบครัว คือการ focus

กลุ่มบ้านปูได้เริ่มประกาศเป็นนโยบายลดสัดส่วนการถือหุ้นในธุรกิจอื่นๆ ที่ซ้ำซ้อนกับธุรกิจหลัก รวมถึงกิจการที่มีขนาดเล็ก และกิจการที่กลุ่มบ้านปูเป็นเพียงผู้ถือหุ้นแต่ไม่ได้บริหาร เพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ขยายงานในธุรกิจหลักที่กำลังขยายตัว

เช่นเดียวกับทางกลุ่มว่องกุศลกิจที่เริ่มลดบทบาทในบางกิจการที่พวกตนเคยเป็นเจ้าของ

กรณีที่พอจะหยิบยกเป็นตัวอย่างถึงเรื่องนี้จะอยู่ที่การขายหุ้น 61% ที่กลุ่มบ้านปูถืออยู่ในบริษัทลานนาลิกไนต์ (ปัจจุบันคือบริษัทลานนา รีซอร์สเซส) ที่เคยร่วมทุนอยู่กับกลุ่มปูนซีเมนต์นครหลวง ซึ่งมีลักษณะการทำธุรกิจและตลาดที่ซ้ำซ้อนกับธุรกิจถ่านหินของบ้านปู

รวมถึงการเปิดทางให้ธนาคารกสิกรไทยเข้ามาถือหุ้นใหญ่ในบริษัทเงินทุนยูไนเต็ด ซึ่งแม้จะเคยเป็นธุรกิจเดิมของครอบครัว แต่ก็เริ่มมีค่ายใหม่ๆ เข้ามาเปิดตัวให้บริการกันมากขึ้น อีกทั้งกลุ่มว่องกุศลกิจก็ไม่ค่อยจะมีความถนัด เพราะเป็นงานด้านบริการ จึงต้องเปิดทางให้คนที่ถนัดกว่าอย่างธนาคารพาณิชย์เข้ามาดูแลแทน

"สมัยก่อนกสิกรไทยเขามีบริษัทที่เป็นไฟแนนซ์อยู่ 3-4 บริษัท ก็เป็นการรู้จักกันในกลุ่ม เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ช่วงนั้นแบงก์เขาเหมือนกับอยากจะขยายไปในกลุ่มพวกนั้นด้วย ซึ่งตอนนี้วันนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเยอะมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อน สมัยนั้นถือว่า successful มากนะ เราตั้งใจอย่างนั้นจริงๆ หลังจากเราเอา บง.ยูไนเต็ดเข้าตลาดฯ แล้ว ก็คือเราต้องการจะ dilute ลง" ชนินท์เล่าให้ฟัง

แม้ในช่วงวิกฤติปี 2540 กลุ่มว่องกุศลกิจอาจต้องตัดขายกิจการเพิ่มเติมอีกหลายตัว แต่กระนั้นก็ตาม พวกเขาก็ไม่ได้โชคร้ายเสียทีเดียว เพราะเมื่อถึงปี 2541 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกสัมปทานการทำหมือง Mampun Pandan ให้แก่กลุ่มบ้านปูมาใช้เป็นลู่ทางขยายตัวสู่เหมืองต่อๆ ไปในประเทศนี้

แม้การลงทุนในธุรกิจเหมืองอาจต้องรอเวลาในการเก็บเกี่ยวดอกผลที่ค่อนข้างจะนาน เมื่อเทียบกับอ้อยและน้ำตาล แต่หากจะว่าไปถ่านหินที่ครั้งหนึ่งครอบครัวว่องกุศลกิจก็ยังคิดไม่ออกว่าทำออกมาแล้วจะขายให้ใคร กลับกลายเป็นธุรกิจที่มีแกว่งตัวน้อยกว่าน้ำตาล ด้วยเหตุ ที่ราคาของถ่านหินไม่ได้อิงกับใคร นอกจากดีมานด์-ซัปพลายของคนในตลาดล้วนๆ แถมยังมีแนวโน้มด้วยว่า ถ่านหินจะกลายมาเป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกราคาถูก ที่นอกเหนือจากก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานไบโอดีเซล ซึ่งจะเข้ามามีบทบาททดแทนน้ำมันที่ราคากำลังแกว่งเดี๋ยวดีเดี๋ยวร้ายอยู่ในเวลานี้นั่นเอง

"น้ำตาลจะผันผวนมากกว่า เพราะมันปลูกกลับเร็ว คือวัฏจักรในการทำ supply ขึ้นมา ของถ่านหินนี่มันต้องลงทุนนาน 3 ปี ของอ้อยมันอาจจะภายในครึ่งปี แต่ทุกวันนี้ราคาอ้อยก็เปลี่ยนไป เพราะตอนนี้น้ำตาลค่อนข้างไป link กับน้ำมันมากขึ้น ด้วยเหตุของเอทานอล อย่างที่ บราซิลเขาทำแก๊สโซฮอล์ น้ำตาลราคามันก็เลยเริ่มแกว่ง แกว่งคือตัวเองกับน้ำมัน" ชนินท์ให้ภาพ

แต่ไหนแต่ไรมาแล้วในยามที่ประเทศก้าวสู่วิกฤติด้านพลังงาน บ้านปูก็มักจะเป็นกลุ่มที่คนคาดหมายกันว่าน่าจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์จากวิกฤตินี้ไม่มากก็น้อย ทั้งในเรื่องราคาหุ้นของบ้านปู หรือปริมาณความต้องการใช้ถ่านหินที่มากขึ้นของคนในตลาด และหากมองต่อไปถึงกลุ่มมิตรผลที่มีทั้งชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลอยู่ในมือด้วยแล้ว อาจทำให้มีการคาดหวังได้การผนึกกำลังระหว่างกลุ่มบ้านปูและมิตรผล เพื่อร่วมกันเก็บเกี่ยวดอกผลจากความต้องการใช้พลังงานทดแทนในรูปไบโอดีเซลจากตลาด มีโอกาสที่จะมาบรรจบกันได้พอดี

ชนินท์ให้ความเห็นว่า กลุ่มบ้านปูจะ diversify มายังพลังงานกลุ่มนี้ด้วยหรือไม่ ก็ยังตอบไม่ได้ เพราะบางอย่างพวกเขาก็ยังไม่เชี่ยวชาญ ส่วนบางธุรกิจหากจะเริ่มก็ยังถือว่าเล็กเกินไป

"การที่เราจะ diverse ออกไปทำ มันต้องมีเหตุผลค่อนข้างดีว่าเรากำลังอะไรอยู่ เพราะสิ่งที่เราทำอยู่มันยังมี growth มีสิ่งที่ดีๆ อยู่" คือความชัดเจนของประธานเจ้าหน้าที่บริหารบ้านปู


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.