|
อยากรวย เลิกหวย ปลูกอ้อย...ดีกว่า
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าหากมีผู้สมัครลงเลือกตั้งเป็น ส.ส.ผู้ทรงเกียรติคนไหนเข้าไปหาเสียงที่บ้านหนองดินดำ อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ แล้วเอานโยบายหาเสียงประเภทประชานิยมไปหว่านล้อมชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นปลดหนี้เกษตรกร เรียนฟรีจะกี่ปีก็แล้วแต่ หรือสัญญาว่าจะแจกโคล้านตัวเพื่อหวังแลกกับคะแนนเสียง
ชาวบ้านที่นี่คงหัวเราะกันจนฟันร่วง แล้วก็จะจำหน้าผู้สมัครคนนั้นเอาไว้ให้แม่นๆ เพื่อที่จะได้ไม่เผลอไปกาเลือกเข้ามาเป็น ส.ส. เพราะคนที่นี่ถึงเป็นหนี้ แต่ก็มีปัญญาจ่าย โคล้านตัวก็คงไม่อยากได้ เพราะที่นี่เขาเลี้ยงโคตัวละล้าน (บาท) ดูแลถึงขนาดที่ต้องกางมุ้งให้นอนก็แล้วกัน
บ้านหนองดินดำเป็นหนึ่งใน 50 กว่าหมู่บ้านในโครงการหมู่บ้านเพิ่มผลผลิตของน้ำตาลมิตรผล ที่มิตรผลเข้ามาดูแลและให้ความรู้ในเรื่องการผลิตอ้อยอย่างเข้มข้นและครบวงจร ตั้งแต่พันธุ์อ้อยไปจนถึงการเก็บเกี่ยวและขนส่งอ้อยไปยังโรงงาน
คำถามก็คือปลูกอ้อยนี่ดีจริงหรือ?
เอาเป็นว่าชาวบ้านที่นี่มีอยู่เกือบ 700 ครัวเรือน เมื่อก่อนก็ทำนา ปลูกปอ ปลูกมันสำปะหลัง แต่เดี๋ยวนี้มีสัก 50 ครัวเรือนเท่านั้นที่ไม่ได้ปลูกอ้อย แล้วพื้นที่เพาะปลูกที่มีอยู่ก็กลายเป็นไร่อ้อยไปเกือบหมดแล้ว จะเหลือที่เป็นนาข้าวอยู่ก็ไม่กี่แปลงที่ยังเหลืออยู่ก็เพราะที่ตรงนั้นมันเป็นที่ลุ่มปลูกอ้อยไม่ได้
ชาวบ้านที่นี่ยอมรับว่า ตั้งแต่เปลี่ยนมาปลูกอ้อยชีวิตก็ดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น หลายคนส่งลูกเรียนจนจบระดับปริญญาตรี มีเงินฝากอยู่ในธนาคาร บางคนถึงจะเป็นหนี้อยู่บ้างแต่ก็เป็นหนี้กับมิตรผล เพราะเอาเงินเอาปุ๋ยมาดูแลอ้อย มาปรับปรุงไร่ แถมเป็นหนี้ที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ย ขายอ้อยได้ค่อยจ่ายเงินคืน ไม่เหมือนกับหนี้นอกระบบหรือหนี้ธนาคารที่ดอกเบี้ยเดินทุกวัน
ถึงอย่างนี้ก็ยังมีเรื่องให้หนักใจ เพราะลูกหลานกลับสนใจไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่มากกว่าจะสานต่อชีวิตชาวไร่อ้อย ชาวไร่ที่นี่ที่ "ผู้จัดการ" เห็นส่วนใหญ่ก็เลยเป็นคนในวัยเกิน 40 ขึ้นไปที่ยังรออยู่ว่าเมื่อไหร่ลูกจะกลับมา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|