“มี่เผิง” ลูกที่อาจจะโตแซงแม่

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

มิตรผลเข้าไปลงทุนธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีน ตั้งแต่ปี 2536 ถึงวันนี้เป็นเวลา 13 ปีพอดี แต่คนทั่วไปกลับไม่ค่อยรับรู้เรื่องนี้มากนัก เพราะถ้าพูดถึงกลุ่มทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในจีน คนส่วนมากมักจะคิดถึงเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซี.พี. เสียเป็นส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่บริษัท Guangxi Nanning East Asia Sugar หรือที่รู้จักกันในนาม "มี่เผิง" (Mipeng - เพื่อนของความหวาน) ที่มิตรผลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ร่วมกับรัฐบาลจีนประสบความสำเร็จอย่างมาก

มากขนาดที่ว่าเป็นบริษัทต่างชาติที่เสียภาษีให้กับมณฑลกวางสีสูงเป็นอันดับ 1 และยังติดกลุ่ม 10 อันดับแรกของบริษัทต่างชาติที่เสียภาษีสูงสุดของจีนอีกด้วย

ถึงแม้มิตรผลจะมองหาโอกาสที่จะลงทุนในต่างประเทศมาตั้งแต่ช่วงปี 2533 แต่ก็ไม่มีความคิดที่จะเข้าไปลงทุนในประเทศจีนมาก่อน จนกระทั่งมีญาติแซ่เดียวกันคนหนึ่งที่ทำธุรกิจอยู่ที่ฮ่องกง และต้องเดินทางเข้าออกประเทศจีนอยู่บ่อยครั้งมาให้ข้อมูลว่า จีนกำลังมีนโยบายเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐวิสาหกิจที่กำลังขาดทุนจะเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนต่างชาติมาถือหุ้นใหญ่ได้ ซึ่งโรงงานน้ำตาลก็เข้าข่ายอยู่ในนั้น

"เราก็มาคิดกันในกลุ่มพี่น้อง ก็เห็นว่ามีความเสี่ยงไม่มาก ข้อเสนอของเขาก็น่าสนใจ ไปดูพื้นที่มาก็ใช้ได้ คุณอิสระกับคุณกมล แล้วก็คุณสุนทรที่เป็น expert ด้านไร่ไปดูที่แล้วก็ใช้ได้ อ้อยก็คุณภาพดี ลงทุนก็ไม่ค่อยมากนักก็ใช้เวลาตัดสินใจไม่นาน ไม่กี่เดือน" วิฑูรย์ ว่องกุศลกิจเล่าถึงการตัดสินใจของตระกูลในเวลานั้น

มณฑลกวางสีที่มิตรผลเข้าไปลงทุนนี้ถือเป็นพื้นที่ปลูกอ้อยและผลิตน้ำตาลแหล่งสำคัญของจีน จนถึงกับมีชื่อเรียกว่าเป็น Sugar Province of China เลยทีเดียว

ปี 2536 ที่มิตรผลเข้าไปลงทุนในจีนประเดิมด้วยการซื้อโรงงานมาปรับปรุงใหม่จำนวน 4 แห่งด้วยกัน คือ ฝูหนาน ทั่วหลู ฉงจั่ว และหนิงหมิง ต่อมาในปี 2541 จึงซื้อโรงงานไห่ถัง เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง ทั้ง 5 โรงงานนี้ มิตรผลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ตั้งแต่ 60% ไปจนถึง 90% ทุนจดทะเบียนของทั้ง 5 โรงงานนี้ รวมเป็นเงิน 738 ล้านหยวน ขณะที่ทรัพย์สินทั้งหมดมีถึง 1,721 ล้านหยวน ถ้าอยากรู้ว่าคิดเป็นเงินไทยได้เท่าไร ตัวเลขกลมๆ ก็เอา 5 คูณเข้าไป

ปัจจุบันมี่เผิงเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของจีน มีส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 10% โดยในปีการผลิตที่เพิ่งจะจบไปมี่เผิงผลิตน้ำตาลได้ 893,000 ตัน แซงหน้าตัวเลข 891,000 ตันของมิตรผลในประเทศไทยไปได้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ที่เปิดดำเนินการมา ถึงแม้ว่ากำลังการผลิตที่โรงงานจะมีน้อยกว่าของไทยก็ตาม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความแล้งทำให้ปริมาณอ้อยส่งเข้าโรงงานมิตรผลลดต่ำลง ประกอบกับตัวเลขผลผลิตอ้อยต่อไร่ที่จีนดีกว่ามาก ปัจจุบันผลผลิตอ้อยในประเทศจีนโดยเฉลี่ยทำได้ 11 ตันต่อไร่ เทียบกับของไทยที่ทำได้เฉลี่ยเพียง 7 ตันเท่านั้น

แต่ผู้บริหารที่นี่ยังเชื่อว่าตัวเลขผลผลิตจะสามารถดันให้เพิ่มสูงขึ้นได้อีก โดยมีการตั้งเป้ากันว่าน่าจะทำได้ถึง 14 ตันต่อไร่ ซึ่งก็จะทำให้ผลผลิตอ้อยที่จะส่งมายังโรงงานเพิ่มขึ้นอีกมาก

การเข้ามาประเทศจีนของมิตรผลในระยะแรกได้มุ่งให้ความสำคัญไปที่การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรในโรงงาน เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้โรงงานแต่ละแห่งประสบปัญหาขาดทุน โดยได้นำเอาประสบการณ์และความรู้จากประเทศไทยไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

หลังจากนั้นจึงเริ่มให้ความสนใจต่อการพัฒนาวัตถุดิบ โดยนำเอาโมเดลจากมิตรผลไปใช้ที่นั่นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพันธุ์อ้อย การพัฒนาระบบชลประทาน ส่งเสริมการใช้เครื่องจักรนำเทคนิคใหม่ๆ ไปให้ความรู้ชาวไร่ ไปจนถึงระบบสัญญาที่มั่นคง สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวไร่ให้ความเชื่อถือและมาเป็นคู่สัญญากับมี่เผิงมากขึ้น

ผู้จัดการโรงงานของมี่เผิงซึ่งเป็นชาวจีนเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า ก่อนหน้าที่มิตรผลจะเข้ามาถือหุ้นในโรงงานน้ำตาลที่นี่ บางโรงงานมีปัญหาจนต้องติดค้างค่าอ้อยชาวไร่นานถึง 2 ปีก็ยังมี

"สิ่งที่พิสูจน์ก็คือประเทศจีนเคยทำน้ำตาลได้ปีละ 10 ล้านตัน ปีนี้ได้ 9 ล้านตัน เพราะฉะนั้นผลผลิตของบางบริษัทจะลดลง แต่ของเราเพิ่มขึ้นตลอด เพราะชาวไร่ของเขามั่นใจกับเราและทางราชการเขาก็จะมีตัวเลขอยู่หมดว่าเราเสียภาษีไปเท่าไร เราทำอะไรให้เขาบ้าง" อิสระกล่าว

นอกจากการช่วยเหลือชาวไร่และเสียภาษีในแต่ละปีแล้ว มี่เผิงยังมีการจ้างงานจำนวนมากในมณฑลกวางสีอีกด้วย เพราะปัจจุบันคนงานในโรงงานทั้ง 5 โรง จำนวนเกือบๆ 4,000 คน ตั้งแต่ระดับผู้จัดการโรงงานลงไปถึงลูกจ้างล้วนแล้วแต่เป็นคนจีนทั้งสิ้น จะมีคนไทยทำงานอยู่ที่สำนักงานใหญ่ก็เพียงไม่กี่คนเท่านั้น ซึ่งนี่ก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีและไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าคนไทยเข้ามาเอาเปรียบหรือมากอบโกยผลประโยชน์แต่ฝ่ายเดียว

โรงงานกระดาษที่กำลังจะเปิดดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มิตรผลหวังว่าจะสร้างผลตอบแทนให้ได้ไม่น้อย เนื่องจากปัจจุบันประเทศจีนมีกำลังผลิตกระดาษพิมพ์เขียนไม่เพียงพอต่อการบริโภค การลงทุนสร้างโรงงานกระดาษที่นี่จึงเป็นทั้งธุรกิจใหม่และยังเป็นการทำธุรกิจให้ครบวงจร เพราะวัตถุดิบสำคัญก็มาจากชานอ้อยจากโรงงานน้ำตาลนั่นเอง

โรงงานแห่งนี้มีกำลังผลิตกระดาษพิมพ์เขียนปีละ 60,000 ตัน ใช้เงินลงทุนไปทั้งสิ้น 59 ล้านดอลลาร์ โดยไพโรจน์ อรุณไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ มี่เผิง ประเมินว่าโรงงานแห่งนี้จะมีกำไรจากการดำเนินงาน หรือ EBITDA ตกปีละ 8.7 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 350 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.