|
จากน้ำตาลสู่พลังงาน
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
หากเปรียบเทียบว่าช่วงวิกฤติเป็นช่วงที่มืดหม่น ดูเหมือนว่าตอนนี้จะเป็นช่วงที่ฟ้าเปิดและสดใสเป็นพิเศษสำหรับมิตรผล เพราะนอกจากผลผลิตน้ำตาลจะราคาดีเป็นประวัติการณ์แล้ว ยังมีโอกาสใหม่ๆ ที่น่าสนใจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าน้ำตาลเพิ่มเข้ามาอีกด้วย นั่นคือเอทานอลและโรงไฟฟ้า
เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาใช้ร่วมหรือทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ สามารถผลิตได้จากพืชหลายชนิด ทั้งอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง หรือแม้แต่ข้าวฟ่างหวาน ที่ผ่านมามีการศึกษาเพื่อนำเอทานอลมาใช้ประโยชน์เกินกว่า 10 ปีแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่ได้นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์
ยกเว้นเพียงบราซิล ประเทศผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลอันดับ 1 ของโลก ที่รัฐบาลส่งเสริมให้ใช้เอทานอลในรถยนต์อย่างต่อเนื่องมาร่วม 30 ปี จนกระทั่งปัจจุบันมีการพัฒนารถยนต์ที่สามารถเติมเชื้อเพลิงได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันหรือเอทานอล หรือแม้แต่จะผสมกันในสัดส่วนเท่าใดก็ได้ เครื่องยนต์จะทำการปรับสภาพได้เองโดยอัตโนมัติ ก้าวหน้าถึงขนาดนั้น!!!
ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นแทบจะทุกสัปดาห์เช่นนี้ คนบราซิลจึงไม่สะทกสะท้านเอาเสียเลย เพราะราคาเอทานอลที่นั่นต่ำกว่าน้ำมันครึ่งต่อครึ่ง ไม่เหมือนคนไทย ที่ต้องกัดฟันกรอดๆ ทุกครั้งที่ขับรถเข้าไปเติมน้ำมัน แต่ก็พอจะมีความหวังขึ้นมาบ้างเพราะตอนนี้เริ่มมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เอาเอทานอลมาใช้ผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น
โดยกระทรวงพลังงานกำหนดมาตรการระยะสั้นด้วยการยกเลิกเบนซินออกเทน 95 เพื่อมาใช้แก๊สโซฮอล์ 95 ทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 ที่กำลังจะมาถึงและขั้นตอน ต่อไปจะยกเลิกเบนซินออกเทน 91 เพื่อเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล์ 91 ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 มกราคม 2555
มาตรการเหล่านี้ทำให้อนาคตของเอทานอลที่นำมาใช้ผลิตแก๊สโซฮอล์สดใสยิ่งขึ้น
นอกจากการผลิตเอทานอลแล้ว กากอ้อยที่เหลือจากการผลิตน้ำตาล ซึ่งเดิมต้องหาทางกำจัดเพราะมีอยู่มากจนกองสูงเป็นภูเขา เดี๋ยวนี้กลับกลายเป็นของมีค่า เนื่องจากสามารถนำมาผลิตเป็นไม้ปาติเคิลบอร์ด เอาไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ได้ หรือจะเอาไปทำเป็นกระดาษก็ได้มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมาอีก
แต่ที่น่าสนใจก็คือตอนนี้กากอ้อยเป็นเชื้อเพลิงสำคัญของโรงงานไฟฟ้า ซึ่งไฟฟ้าที่ได้นอกจากจะใช้ในโรงงานน้ำตาลแล้ว ยังเหลือพอที่จะขายให้กับการไฟฟ้าได้อีกด้วย
"อันนี้คือทิศทางที่มิตรผลมองแล้วว่าเราจะไปอย่างไร เดิมอ้อยเข้ามาแล้วเราก็ทำน้ำตาล เราเรียกโรงงานว่าโรงงานน้ำตาล แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว นิยามใหม่ของมันคือโรงหีบอ้อย เอาน้ำอ้อยมาทำน้ำตาล เป็นน้ำตาลที่มีมูลค่าเพิ่ม กากอ้อยเอาไปทำปาติเคิลบอร์ด ทำกระดาษ ส่วนหนึ่งก็เอามาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า แล้วน้ำอ้อยยังเอาไปทำโมลาส ทำเอทานอลได้อีก ของเหลือขั้นตอนสุดท้ายก็เอาไปทำปุ๋ยไปใช้ที่ไร่อ้อย มันก็ครบวงจร" อิสระ ว่องกุศลกิจ กล่าวถึงทิศทางของมิตรผลในขณะนี้
มิตรผลก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าชีวมวลแล้ว 2 แห่ง ได้แก่ ภูเขียว ไบโอเอ็นเนอร์ยี ที่จังหวัดชัยภูมิและด่านช้าง ไบโอเอ็นเนอร์ยี ที่จังหวัดสุพรรณบุรี โรงงานทั้ง 2 แห่งใช้กากอ้อยจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำและกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้าที่ได้มีเหลือใช้จนสามารถส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
มิตรผลยังมีกลุ่มบริษัทพาเนล พลัส เป็นบริษัทในเครือที่ทำการผลิตไม้ปาติเคิลบอร์ดจากกากอ้อยและไม้ยางพารา ปัจจุบันมีกำลังผลิตถึง 100,000 ลูกบาศก์เมตร สร้างรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท
สิ้นปีนี้เพโทรกรีน โรงงานผลิตเอทานอลแห่งแรกของมิตรผลที่จังหวัดชัยภูมิก็จะเริ่มเดินเครื่อง โดยมีกำลังผลิตเอทานอลขั้นต้นวันละ 200,000 ลิตร และจะก่อสร้างโรงงานแห่งที่สองต่อทันทีที่ด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งจะทำให้มิตรผลกลายเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของไทยในทันที
สิ่งที่อิสระยังคิดไม่ตกในตอนนี้ก็คือ สัดส่วนการผลิตระหว่างน้ำตาลกับเอทานอลจะเป็นเท่าไรดี เพราะน้ำตาลก็ยังมีแนวโน้มที่ดี ราคาอยู่ในช่วงขาขึ้นเป็นผลจากปริมาณการผลิตในเอเชียยังไม่เพียงพอต่อการบริโภค จากสถิติย้อนหลังพบว่า ตัวเลขการบริโภคน้ำตาลในเอเชียมีสูงกว่าปริมาณการผลิตมาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ทำให้ต้องนำเข้าน้ำตาลจากภูมิภาคอื่นมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าปีใดจะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง แต่เอทานอลก็น่าสนใจแถมยังมีอนาคตสดใสแน่นอน
"เรากำลัง debate กันมากระหว่างน้ำตาลกับเอทานอล เพราะน้ำอ้อยทำได้ทั้ง 2 อย่าง เราโชคดีที่เอเชียน้ำตาลยังขาด ก็ต้องขนมาจากที่อื่น ซึ่งต้องขนมาไกล เราอยู่ในพื้นที่เราได้เปรียบ เราก็ต้องสร้างตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ แต่สหรัฐฯ กับยุโรปตอนนี้กำลังพยายามโปรโมตเอทานอล มันก็ช่วยคอนเฟิร์มให้เรามั่นใจว่าลงทุนแล้วน่าจะถูกต้อง ไม่มีความเสี่ยงมาก"
แต่ถ้าแนวโน้มธุรกิจพลังงานยังดีอยู่เช่นนี้ ไม่แน่ว่าอนาคตของมิตรผลอาจจะค่อยๆถอยออกจากธุรกิจน้ำตาลก็เป็นได้
"โมเดลของเราต่อไปอาจจะมีแค่เอทานอลกับโรงไฟฟ้า มีลูกหีบไม่ต้องใหญ่ ลูกหีบขนาดเล็กลงก็ใช้พลังงานน้อยลง การลงทุนโรงงานน้ำตาลแพงกว่าโรงงานเอทานอล และการทำน้ำตาลใช้พลังงานเยอะมาก ถ้าเราใช้น้อยก็ขายได้มาก ขายเอทานอลกับไฟฟ้า 2 อย่าง เทรนด์มันอาจจะกำลังมาอย่างนี้" อิสระเล่าถึงสิ่งที่เขากำลังพิจารณาแต่ยังไม่แน่ใจนัก
ถ้าเป็นอย่างที่ว่าจริง ต่อไปน้ำตาลมิตรผลอาจจะต้องเปลี่ยนชื่อเหลือแค่มิตรผลอย่างเดียว ส่วนชาวไร่อ้อยก็อาจจะต้องเปลี่ยนนิยามตัวเองกันเสียใหม่ ถ้ามีใครมาถามว่าทำอาชีพอะไร แทนที่จะบอกว่าเป็นเกษตรกร ก็ให้ยืดอกตอบไปเลยว่าทำงานในอุตสาหกรรมพลังงาน... โก้ไม่หยอก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|