|

มิตรผล Not just sugar, but a model
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
น้ำตาลมิตรผลเริ่มต้นมาจากกิจการเล็กๆ ในครอบครัว ผ่านมา 50 ปี ถึงวันนี้ก็ยังเป็นธุรกิจครอบครัวที่มีตระกูลว่องกุศลกิจเป็นเจ้าของเหมือนเดิม แต่ที่ต่างออกไปไม่ใช่แค่ขนาดที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น เพราะน้ำตาลมิตรผลในวันนี้เป็นองค์กรที่ทันสมัย มีรูปแบบการบริหารจัดการแบบสมัยใหม่ แถมยังเปิดรับแนวความคิดใหม่ๆ ต่างไปจากโรงงานน้ำตาลแต่ก่อนอย่างสิ้นเชิง
"โรงงานน้ำตาลเมื่อก่อนไม่ได้โอ่โถงเหมือนสมัยนี้ เป็นระบบเถ้าแก่ทั้งนั้น จะสร้างโรงงานก็มาขีดกันบนพื้นว่าจะเอายังไง ไม่มีแบบล่วงหน้า ยกเว้นของที่ต้องใช้จากต่างประเทศก็จะมีแบบมาให้" อิสระ ว่องกุศลกิจ ย้อนอดีตอุตสาหกรรมน้ำตาลให้ฟัง
การที่อิสระได้มาร่วมงานในปี 2516 หลังจากที่จบการศึกษากลับมาจากสหรัฐอเมริกา น่าจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของน้ำตาลมิตรผลอยู่บ้าง เพราะในเวลานั้นเขายังเป็นคนหนุ่มไฟแรง แถมยังร่ำเรียนมาทางด้านการบริหารโดยตรง จะเรียกว่า ร้อนวิชาก็คงไม่ผิด
แต่สิ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาองค์กรอย่างจริงจังน่าจะเป็นการตั้งโรงงานน้ำตาลรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม หรือ มิตรภูเขียว อ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยร่วมทุนกับ Tate & Lyle Industries ประเทศอังกฤษ กลุ่มน้ำตาลตะวันออกและน้ำตาลหนองใหญ่
"ตอนนั้นเราก็พัฒนาขึ้น เพราะการ joint venture กับฝรั่ง ก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น ได้เห็นสิ่งที่เขาทำ เวลาที่เขาถามอะไรมา แล้วเราตอบไม่ได้ก็ต้องไปหามาจนได้ ตอนหลังผมไปคุมโรงงานที่กำแพงเพชรเพราะทนไม่ได้ที่ประสิทธิภาพมันไม่ได้ ก็พยายามจะพัฒนาไปเรียนรู้เรื่องโปรเซส ไปจ้างฝรั่งมาให้ความรู้ ตรงนั้นแหละที่ผมได้เรียนรู้เรื่องโรงงานน้ำตาล"
นอกจากการบริหารงานที่ทันสมัยแล้ว การพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น้ำตาลมิตรผลให้ความสนใจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้วันนี้มิตรผลไม่ได้มีแค่น้ำตาลทรายขาวเท่านั้น แต่ยังมีสินค้าใหม่ๆ อีกหลายประเภท อาทิ น้ำตาลแร่ธรรมชาติ น้ำตาลสีสมุนไพรชาใบหม่อน น้ำตาลกรวดผสมคาราเมล และยังมีบรรจุภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นถุง 1 กิโลกรัม แบบซอง แบบแท่งให้ลูกค้าได้เลือกซื้อตามต้องการ
ขณะเดียวกันน้ำตาลมิตรผลยังให้ความสำคัญกับชาวไร่อ้อย โดยเป็นโรงงานน้ำตาลรายแรกในประเทศที่ก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา เพื่อศึกษากระบวนการผลิตอ้อยอย่างครบวงจร
"เราตั้งศูนย์วิจัยขึ้นมาเพื่อไปดูต่างประเทศ ไปดูเทคโนโลยี ไปเจอนักวิชาการ ตอนนั้นผมเสนอบอร์ดซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นพี่ชายผมเขาก็อนุมัติ ผมเล่าให้เห็นว่าที่มอริเชียสผลิตน้ำตาล แค่ปีละ 6 แสนกว่าตัน เขายังมี R&D แล้วเราก็รอรัฐบาลไม่ไหว ตอนนั้นเราทำก็ปีละ 8 แสนกว่าตัน เราต้องทำเองแล้ว" อิสระเล่าถึงที่มาของศูนย์วิจัยที่ตั้งขึ้น
บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จึงได้ตั้งขึ้นในปี 2540 ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้น 60 ล้านบาท และยังต้องใช้งบประมาณต่อเนื่องอีกปีละ 40-50 ล้านบาท ทำหน้าที่ศึกษาและวิจัยในเรื่องของอ้อยอย่างครบวงจร ตั้งแต่พันธุ์อ้อย ตรวจคุณภาพดิน ศึกษาเรื่องโรคและแมลง วิธีการปลูกอ้อยที่เหมาะสม ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวที่ถูกต้อง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นและช่วยลดต้นทุนของชาวไร่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งชาวไร่และมิตรผลเอง
"เราทำจนสำเร็จ วันนี้มันเห็นผลแล้ว เราหาวิธีป้องกันโรคและแมลงที่จะเกิดกับอ้อยได้ เราเริ่มมีพันธุ์ของเราเอง ซึ่งกว่าจะออกมาต้องผสมกันเยอะ แล้วต้องให้ชาวไร่มาช่วยเลือก เพราะความหวานต้องสูงแล้วผลผลิตต่อไร่ต้องสูงด้วย นี่แค่หนึ่งในสิบ ยังมีอย่างอื่นด้วย เรื่องกระบวนการผลิต เรื่องฟาร์ม เรื่องแหล่งน้ำ" อิสระกล่าวอย่างภาคภูมิใจ
ใครจะไปคิดว่า โรงงานน้ำตาลขนาดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของเอเชียอย่างมิตรผลยังต้องมานั่งคิดเรื่องเล็กๆ กระทั่งมีดตัดอ้อยสำหรับให้คนงานตัดอ้อยเอาไว้ใช้ก็ยังต้องมาช่วยพัฒนาให้ดีขึ้น
"เราทำการวิจัยมีดร่วมกับศูนย์โลหะวัสดุแห่งชาติ เพื่อหาเนื้อเหล็กที่คมได้นาน ปัจจุบันพัฒนาออกมาเป็นภูเวียง 2 เราพัฒนาด้ามมีดให้มี grip เหมือนไม้กอล์ฟ คนงานจะได้ใช้แรงน้อยลงและตัดอ้อยได้มากขึ้น" ดร.พิพัฒน์ วีระถาวร ผู้อำนวยการด้านวิจัยและพัฒนา เล่าถึงผลงาน
หรือแม้แต่การตัดอ้อยก็ยังต้องไปสอนวิธีที่ถูกต้องให้กับคนงาน รวมไปถึงการกระตุ้นให้ชาวไร่เลิกเผาใบอ้อยแล้วเปลี่ยนมาไถกลบลงดินแทน นอกจากจะช่วยให้อ้อยขายได้ราคาดีขึ้นแล้วยังช่วยปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้นอีกด้วย
ที่ว่ามานี่แค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาลทำกันอยู่ โดยเป้าหมายแรกที่ตั้งเอาไว้คือการช่วยชาวไร่ให้มีกำไรไร่ละ 2,000 บาท จากทุกวันนี้ที่มีกำไรอยู่ไร่ละ 1,000 กว่าบาท คาดว่าจะใช้เวลาอีกไม่เกิน 5 ปี ส่วนเป้าหมายถัดไปก็คือการเพิ่มผลผลิตให้ได้ไร่ละ 13 ตัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อมิตรผลอย่างมาก เพราะในเวลานี้พื้นที่เพาะปลูกอ้อยใช้กันเต็มที่แล้ว ถ้าจะเพิ่มผลผลิตน้ำตาลก็ต้องหาวิธีเพิ่มผลผลิตอ้อยจากพื้นที่ที่มีอยู่ให้ได้
โมเดลของน้ำตาลมิตรผลในวันนี้ชัดเจนแล้วว่าเป็นโมเดลที่อยู่รอดได้ทั้งโรงงานและชาวไร่ ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้จะถูกนำไปใช้กับมิตรผลในประเทศจีน รวมทั้งลาวที่กำลังจะเข้าไปอย่างเต็มตัวเร็วๆ นี้ด้วย
"ผู้จัดการ" ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าพืชเศรษฐกิจตัวอื่นมีการเอาโมเดลของมิตรผลไปใช้กันบ้าง ไม่ต้องมากหรอก เอาแค่ตัวหลักๆ อย่างข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน แล้วทำกันให้ครบวงจรอย่างนี้ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง ถึงวันนั้นอาชีพเกษตรกรจะน่าอิจฉาสักขนาดไหน เราอาจได้เห็นผู้จัดการธนาคารออกไปตระเวนอ้อนวอนชาวนาให้ช่วยฝากเงินเพื่อทำยอดให้ถึงเป้า แทนที่จะเป็นชาวนาต้องไปอ้อนวอนขอผัดผ่อนเงินกู้อย่างทุกวันนี้ก็ได้
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|