"พลิกฟื้นสมรภูมิประตูน้ำ ที่นี่มิใช่เพียงขายผ้าขายทอง"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อพูดถึงย่านการค้าสำคัญในกรุงเทพฯ นอกจากเยาวราช บางลำพู บางรัก หรือพาหุรัดที่รู้จักเป็นอย่างดีแล้ว ความเป็นตลาดผ้าที่สำคัญอย่างประตูน้ำ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ย่านนี้จัดอยู่ในทำเนียบย่านการค้ามีอันดับแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ แต่ด้วยวิวัฒนาการของถิ่นนี้ที่ย่ำอยู่กับที่มาเป็นเวลานาน หรืออาจจะเนื่องด้วยความเป็นย่านอาถรรพ์ดั่งคำเล่าลือของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เล่าสืบเนื่องกันมา

จึงทำให้ ณ วันนี้ เราเกือบลืมไปว่า ประตูน้ำก็เป็นย่านการค้าแห่งหนึ่ง ที่ฟู่ฟ่ามาแต่อดีต

ความเสื่อมของประตูน้ำนั้น เป็นเพราะย่านนี้ ซึ่งนับตั้งแต่ทางรถไฟมักกะสัน เข้ามาจนถึงสะพานลอย ประกอบด้วยร้านค้ารายเล็กรายน้อยที่อยู่ข้างถนนมากมาย ในขณะที่แต่ละซอกซอยของทั้ง 2 ฟากฝั่งก็มีบ้านอยู่อาศัยของเจ้าของถิ่นเดิมตั้งอยู่อย่างมากมาย ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักพัฒนาที่ดิน ที่หวังจะมาชุบแผ่นดินนี้ให้เป็นสีทองก็มักจะต้องหน้าหงายกลับไปทุกครั้ง โดยเฉพาะฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินทรา เนื่องจากการรวมที่ดินด้วยการซื้อจากเจ้าของที่กว่า 200 รายขึ้นไปให้เป็นผืนใหญ่ขึ้นมานั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายดั่งปอกกล้วยเข้าปากเลย

อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญเช่นกันคือ ค่าที่ดินย่านนี้แพงไม่น้อยหน้ากว่าแถบเพชรบุรีที่มีห้างสรรพสินค้าไปผุดกันขึ้นมากกว่า โดยราคาสูงสุดที่ซื้อขายกันขึ้นไปถึง 200,000-300,000 บาทต่อตารางวาก็มีโดยเฉพาะห้องที่อยู่ริมถนนและข้อติดขัดของแถบนี้อีกประการหนึ่ง ซึ่งคล้ายคลึงกับเพชรบุรี นั่นคือความเป็นวันเวย์ของถนนราชปรารภ ส่งผลให้นักพัฒนาต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดีเช่นกัน หากจะต้องมาพัฒนาที่แถบนี้

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การไขว่คว้าหาทำเลเหมาะ ๆ ที่จะทำเป็นพลาซ่า หรือคอนโดมิเนียม เพื่อดึงดูดผู้ค้ารายย่อยและผู้อยู่อาศัยลดน้อยลง สายตาเกือบทุกคู่จึงหันกลับมามองที่ประตูน้ำแห่งนี้โดยหลายฝ่ายยังมองว่า ที่แห่งนี้ยังมีเสน่ห์และศักยภาพที่จะดึงดูดผู้คนให้มาเดินได้อีกมากมาย

"เราทราบดีว่าประตูน้ำแต่เดิมเป็นทำเลทองอันเก่าแก่มีสินค้าสำคัญหลักของย่านนี้คือผ้าและทองคำที่เชิดหน้าชูตา ปริมาณเงินที่สะพัดในประตูน้ำในวันหนึ่ง ๆ มีจำนวนมหาศาล และเรามีความเชื่อมั่นว่าด้วยนโยบายทางการตลาดแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคแถบนี้ จะทำให้เราสามารถปลุกชีวิตประตูน้ำขึ้นมาได้อีกครั้ง "วิกร ศรีวิกรม์ ผู้จัดการทั่วไป โครงการ โกลเด้น เกท พลาซ่า จำกัด ผู้ดำเนินการโครงการประตูทองพลาซ่าวาดความหวังให้เราฟัง

ประตูทองพลาซ่า เป็นโครงการพลาซ่า คอนโดมิเนียมบนเนื้อที่กว่า 4.5 ไร่ ฝั่งตรงข้ามโรงแรมอินทรา จุดที่นักพัฒนาหลากหลายต่างพยายามเข้ามาพัฒนา ในอดีตดังว่านั่นเอง ในส่วนนโยบายทางการตลาดที่วิกรพูดถึงนั้นก็คือการจัดแบ่งในส่วนพลาซ่าออกเป็นจุดขายย่อย (Kiosk) ขนาดประมาณ 7-8 ตร. ม. ใหญ่ที่สุดประมาณ 20 ตร. ม. ซึ่งประตูทองพลาซ่าคาดหวังว่าที่แห่งนี้ จะเป็นศูนย์ Kiosk ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย เพื่อให้ผู้เช่ารายย่อยได้มีโอกาสเข้ามาจับจองได้มากที่สุด โดยรูปแบบของ Kiosk จะดูเป็นสัดส่วนมากกว่าร้านค้าย่อยในประตูน้ำที่ผ่านมา แต่ก็จะไม่ดูหรูเกินไปจนผู้คนที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมของประตูน้ำจะไม่กล้าเข้ามาเดิน โดยประตูทองพลาซ่ายึด Concept หลักของจุดนี้ว่า "Good Old"

นอกจากนั้นการแบ่งแต่ละชั้นของโครงการออกเป็นสัดส่วนตามสินค้าที่นำมาขาย และตั้งชื่อแต่ละชั้นให้สะดุดหูผู้ฟัง ก็เป็นนโยบายฉีกแนวของประตูทองพลาซ่า ดังนั้นชื่อประตูแฟชั่น ประตูของเด่น, ประตูบันเทิง, ประตูทองคำ, ประตูแสนสวย, ประตูแสนโปรด, ประตูสู่โลก, ประตูบ้านในฝัน, ประตูอิ่มอร่อย จึงเป็นชื่อที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้เห็นข้อแตกต่างในแต่ละชั้น ซึ่งมีผลให้มีผู้สนใจจับจองในส่วน Kiosk นี้ไปแล้วกว่า 40% แม้ว่าโครงการจะยังไม่เริ่มก่อสร้างก็ตาม

"เรามองว่าศักยภาพของประตูน้ำยังพัฒนาไปอีกมากและเราอยากจะเห็นประตูน้ำเป็นแหล่งการค้าที่ไม่มีวันหลับเราจึงเพิ่ม Concept หลักสำคัญในพลาซ่าของเราคือ จะเปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง อาศัยในคอนโดมิเนียมขนาด 9 ชั้นของเราด้วย" โดยประตูน้ำพลาซ่ามีกำหนดจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

นอกจากประตูทองพลาซ่าแล้ว อีกค่ายหนึ่งที่หมายมั่นปั้นมือเข้ามารังสรรค์โครงการใหม่ในย่านประตูน้ำอีกแห่งหนึ่งนั้นก็คือ บริษัทรัตนการเคหะ ค่ายพัฒนาที่ดินที่เคยฝากฝีมือไว้กับโครงการบ้านจัดสรรหลายแห่ง ซึ่งหวังว่าจะสร้างชื่อใหม่หลังจากผ่านมรสุมปั่นหุ้นมาได้กับโครงการประตูน้ำคอมเพล็กซ์

ด้วยเงินลงทุนที่ทุ่มเทให้กับโครงการแห่งนี้ประมาณ 1,500 ล้านบาท กับการฟื้นกลับมาอีกครั้งของรัตนการเคหะ เป็นหลักประกันได้อย่างดีถึงความมั่นใจของกลุ่มนี้กับศักยภาพของประตูน้ำที่ยังมีโอกาสพลิกฟื้นกลับคืนมาได้ แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ทางรัตนการเคหะได้เจรจาขายในส่วนของโรงแรม 400 ห้องให้กับบริษัทพัฒนาที่ดินใหญ่ของสิงคโปร์ โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 500-600 ล้านบาทไปแล้วก็ตาม แต่ถือเป็นความตั้งใจของทางรัตนการเคหะเอง ที่ทราบดีว่าทางกลุ่มยังขาดบุคลากรที่จะบริหารงานโรงแรมขนาดใหญ่ได้ การขายในส่วนนี้ให้มืออาชีพเข้ามาบริหารเองน่าจะเป็นหนทางที่ถูกต้องกว่า

ปัจจุบันประตูน้ำคอมเพล็กซ์ ในส่วนของพลาซ่า และคอนโดมิเนียม ซึ่งประเมินยอดขายไว้ประมาณ 4,000 ล้านบาทนั้น เฉพาะพลาซ่าสามารถทำยอดขายไปได้แล้ว 70% ส่วนคอนโดมิเนียมทำไปได้แล้ว 30% ซึ่งเมื่อถึงครึ่งปีหลังของปี 2539 คาดว่าจะได้ยอดขายประมาณ 2,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่บริษัทมีรายได้เงินดาวน์ของลูกค้าประมาณ 20-30 ล้านบาท/เดือน

นอกจากโครงการทั้ง 2 ดังกล่าวแล้วยังมี แกรนด์ไดมอนด์ประตูน้ำ คอนโดมิเนียมระดับกลางที่เปิดขึ้นล่าสุดก็หวังเป็นอย่างมาก จะเข้ามาร่วมแชร์สัดส่วนทางการตลาดของย่านนี้มาเป็นของตนบ้าง ซึ่งอย่างน้อยก็คงจะมาเพิ่มรสชาติในการแข่งขันเพื่อสร้างความคึกคักให้กับย่านนี้ได้พอสมควร

ดังนั้น ยุคเสื่อมของประตูน้ำจะพลิกฟื้นกลับมาสู่ความเป็นย่านการค้าสำคัญของกรุงเทพฯได้นั้น มิใช่เพียงว่าความใหญ่โตของโครงการ หรือการเปิดแห่โครงการแห่ตามแฟชั่นเท่านั้น

บทพิสูจน์ความสำเร็จของหลายต่อหลายโครงการในทำเลอื่น ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานจุดขายที่แตกต่าง และการมีส่วนผสมทางการตลาดที่ถูกต้องนั้น คงพอจะบอกอะไรเราได้บ้าง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.