|
น้ำตาลมิตรผล บังเอิญจนได้เรื่อง
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ปีนี้น้ำตาลมิตรผลฉลองครบรอบอายุ 50 ปี เป็นจังหวะที่ผ่านพ้นช่วงขาลงมาสู่ยุครุ่งโรจน์พอดี แถมเมื่อมองไปข้างหน้าฟ้าก็ยังเปิดเสียด้วย
แทบไม่น่าเชื่อว่าจุดเริ่มต้นของน้ำตาลมิตรผล กลุ่มธุรกิจน้ำตาลที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย จะมีจุดเริ่มมาจากความบังเอิญ
เป็นความบังเอิญที่ชาวไร่อ้อยครอบครัวหนึ่งจากบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี นำน้ำเชื่อมที่ผลิตจากน้ำอ้อยไปขายให้กับโรงงานน้ำตาลแบบติดเงินไว้ก่อน แล้วโรงงานไม่มีเงินจ่าย ก็เลยยกเครื่องไม้เครื่องมือให้เพื่อหักกลบลบหนี้กันไป เลยเป็นที่มาที่คนในตระกูลว่องกุศลกิจนำมาเล่าให้คนนอกตระกูลฟังในภายหลัง
แต่อย่าเข้าใจผิดว่าความสำเร็จของน้ำตาลมิตรผลที่เห็นกันตอนนี้เป็นผลจากความบังเอิญเหมือนกัน เพราะกว่าจะสร้างธุรกิจมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องหวานๆ เหมือนน้ำตาลที่ทำอยู่เลย หากย้อนกลับไปสัก 20 ปี ก่อนที่สถานการณ์น้ำตาลยังย่ำแย่แล้วลองไป ถามผู้ใหญ่ของว่องกุศลกิจดูว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้จะเลือกให้โรงงานชำระหนี้ด้วยวิธีอื่น หรือจะยังรับช่วงอุปกรณ์มาทำน้ำตาลอยู่อีกไหม
ไม่แน่ว่าคำตอบที่ได้อาจเปลี่ยนไป
เพราะตลอด 50 ปีที่ผ่านมาของน้ำตาลมิตรผลเป็น 50 ปี ที่ต้องเผชิญกับความผันผวนของอุตสาหกรรมนี้อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบที่ไม่สามารถกำหนดแน่นอนได้ เพราะต้องขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศเป็นหลัก ปีไหนที่น้ำดีปีนั้นก็มีอ้อยมาก แต่ปีไหนเกิดแล้งขึ้นมาก็แทบจะต้องแย่งกันซื้ออ้อย ขนาดที่ว่าทำสัญญาซื้อกับชาวไร่เอาไว้ก่อนแล้วแถมยังมีเงินล่วงหน้าให้อีกก้อน ยังไม่วายถูกโรงงานอื่นมาเสนอราคาแข่งก็ยังมี
ไหนจะเรื่องกำหนดราคารับซื้ออ้อยที่ต้องเจรจากันหลายฝ่าย มีทั้งชาวไร่ โรงงาน ผู้ส่งออกและภาครัฐ ซึ่งแต่ละคนก็มีผลประโยชน์ของตัวเองที่ต้องรักษาเอาไว้ ทำให้กว่าจะตกลงกันได้แต่ละปีวุ่นวายกันไปหมด
วุ่นวายถึงขนาดที่ต้องมองหาการลงทุนในธุรกิจอื่นเผื่อเอาไว้ แถมวิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ ที่ในเวลานั้นดูแลธุรกิจน้ำตาลมิตรผลอยู่ยังเกิดเบื่อจนต้องเปลี่ยนไปดูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลแทน ทั้งๆ ที่ธุรกิจน้ำตาลถือว่าเป็นกงสีของครอบครัว
"สมัยนั้นมีปัญหากันเรื่องระบบแบ่งปันผลประโยชน์มันเหนื่อย ต้องมีการประชุมหลายฝ่าย ทั้งรัฐทั้งชาวไร่ บางปีก็ราคาไม่ดี ตลาดต่างประเทศไม่ดี ธุรกิจก็ไม่ค่อยดี ตอนนั้นอิสระก็ยังหนุ่มเขาก็สนใจ รุ่นพี่ๆ ก็บอกว่า ถ้าแน่ใจพอใจจะเปลี่ยนกัน เขาก็ไม่ว่า" วิฑูรย์ ซึ่งในปัจจุบันยังเป็นกรรมการของน้ำตาลมิตรผล เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงการตัดสินใจในปี 2531
จุดเริ่มต้นของตระกูลว่องกุศลกิจมาจากรุ่นพ่อและแม่ที่อพยพจากซัวเถา ประเทศจีน มาตั้งรกรากอยู่ที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โดยที่มีความรู้ในด้านการทำไร่อ้อยและน้ำตาลติดตัวมาด้วย จึงมาตั้งต้นชีวิตด้วยการทำไร่อ้อยในพื้นที่ขนาด 10 ไร่
แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำได้เปลี่ยนไปทำโรงงานแป้งมันสำปะหลังและสาคู แต่ธุรกิจนี้มีคู่แข่งขันมากทำให้ได้ผลไม่ดีนัก ในปี 2490 จึงกลับมาทำไร่อ้อยอีกครั้งหนึ่ง โดยอ้อยที่ได้จะนำมาหีบเป็นน้ำอ้อย ต้มและเคี่ยวจนกลายเป็นน้ำเชื่อมแล้วนำไปขายให้กับโรงงาน เพื่อผลิตเป็นน้ำตาลทรายต่อไป
"ตอนนั้นเรามีชุดหีบอ้อยอยู่ 2-3 ชุด หีบเอาน้ำอ้อยออกมา แล้วเอาชานอ้อยไปตากแห้งแล้วก็กองไว้เป็นเชื้อเพลิง ส่วนน้ำเอาไปเคี่ยวเป็นกระทะใหญ่ๆ มันจะงวดไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นน้ำเชื่อม ก็ตักใส่ถัง 200 ลิตร ขนใส่รถบรรทุกเอาไปขายที่โรงงานน้ำตาล จนจุดหนึ่งที่ขายเขาแล้วไม่มีเงินให้ เขาก็บอกให้เราเอาหม้อต้มไปก็แล้วกัน เราก็เลยรวบรวมกันทำโรงงานขึ้นมา" อิสระ ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ น้ำตาลมิตรผล เล่าถึงธุรกิจของครอบครัวในเวลานั้น
ปี 2499 ห้างหุ้นส่วนจำกัดโรงงานน้ำตาลมิตรผล ก็ตั้งขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทจากการร่วมหุ้นของกุศล ว่องกุศลกิจ (พี่ชายคนโต ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว) ฮัก ผานิตพิเชษฐ์วงศ์ และวิเทศ ว่องวัฒนสิน มีโรงงานตั้งอยู่ที่บ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี นั่นเอง
"สาเหตุที่ใช้ชื่อว่ามิตรผลนั้น เนื่องจากได้ขอร้องกำนันคนหนึ่งช่วยตั้งชื่อให้ เมื่อได้รับชื่อมาใช้กิจการก็เจริญรุ่งเรืองดี ต่อมาเมื่อมีการขยายกิจการไปจังหวัดใดก็ตาม จึงใช้คำนำหน้าว่า "มิตร" และใช้ชื่อจังหวัดนั้นต่อท้าย"
(สุนทร ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการ น้ำตาลมิตรผล กล่าวไว้ในหนังสือ "สหวิทยาการของอ้อยและน้ำตาล" จัดทำโดยกลุ่มบริษัทน้ำตาลมิตรผล ในโอกาสครบรอบ 43 ปี)
นี่เองจึงเป็นที่มาของชื่อโรงงานน้ำตาลที่มีคำว่า "มิตร" นำหน้า ไม่ว่าจะเป็น มิตรสยาม มิตรภูเวียง และมิตรกาฬสินธุ์ในเวลาต่อมา
เมื่อเปิดดำเนินงานแล้ว กิจการน้ำตาลมิตรผลก็มีการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตและเพิ่มจำนวนโรงงานมากขึ้นมาโดยตลอด (รายละเอียดดูจากลำดับ เหตุการณ์สำคัญน้ำตาลมิตรผล) จนกระทั่งในปี 2536 จึงเริ่มขยายการลงทุนไปยังประเทศจีน โดยที่มีการพิจารณาอยู่หลายประเทศ ทั้งกัมพูชาและอินโดนีเซีย
"ต่างประเทศเราก็มองมานาน เขมรก็ไปหลายครั้ง ไปตั้งแต่สมัยที่ไทยพาณิชย์เข้าไป ไปสำรวจต้องขี่ช้างเข้าไป เอาดินออกมา แต่ดูแล้วความปลอดภัยยังไม่ได้ มีกับระเบิดด้วย ก็ยังไม่ใช่เวลาที่เราควรไป ที่อินโดนีเซียก็ 10 กว่าปีที่แล้ว ก่อนปี 1997 ผมไปสำรวจหมดเลย ไปดูหลายเกาะ คิดว่าเราน่าจะทดลองลงทุน กว่าจะ convince ให้กรรมการเห็นชอบด้วย ก็ไปที่เกาะสุมาตรา มีที่ดินเยอะ เอาพันธุ์อ้อยไปปลูกร่วมกับทางภาครัฐของเขา พอกำลังจะลงทุนก็ปี 1997 พอดี เลิกคิดได้เลย" อิสระเล่าถึงประสบการณ์ก่อนที่จะออกลงทุนต่างประเทศ
ในช่วงวิกฤติปี 2540 ก็ได้ผลกำไรจากประเทศจีน นี่เองที่ส่งกลับมาช่วยบรรเทาสถานการณ์ของมิตรผลเอาไว้ได้ (รายละเอียดอ่าน "มี่เผิง ลูกที่อาจจะโตแซงแม่")
วันที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทน้ำตาลมิตรผลมีหนี้อยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท แต่เมื่อเงินบาทอ่อนตัวลงจาก 25 บาทต่อดอลลาร์ไปแตะที่ 50 กว่าๆ ภาระหนี้ก็พุ่งขึ้นเป็น 14,000 ล้านบาท มิตรผลไม่เพียงต้องจัดการกับภาระหนี้ที่มีอยู่เท่านั้น ยังต้องเร่งจัดการภายใน องค์กรอีกด้วย
"ผมไปเอาคำขวัญของ Jack Welch มา You have to change the way you think ก็มาเปลี่ยนเป็น We have to change the way we think เราต้องเปลี่ยนความคิด แต่มันก็ไม่ง่าย ต้องใช้เวลา เราก็จ้างที่ปรึกษาหลายกลุ่มมาทำหลายเรื่อง เรื่องเงินเดือน เรื่องต้นทุน" อิสระเล่าถึงสถานการณ์ในขณะนั้น
(Jack Welch เป็นอดีต CEO ของ GE เป็นผู้บริหารที่ได้รับการยกย่องจากแวดวงธุรกิจอย่างสูง เนื่องจากสามารถขยายธุรกิจ GE จนยิ่งใหญ่ แต่ก็มีชื่อเสียงในด้านความ "โหด" กับพนักงานด้วย เนื่องจากในยุคของ Welch มีการ lay off พนักงานและปิดบริษัทในเครือจำนวนมาก จนได้ฉายาว่า Jack The Ripper)
น้ำตาลมิตรผลลดเงินเดือนพนักงาน 10% ทั้งฝ่ายบริหารและปฏิบัติการโบนัสไม่ต้องพูดถึง แล้วยังมีโปรแกรม early retire เพื่อลดจำนวนพนักงานจนสามารถคุมต้นทุนได้ ขณะเดียวกันก็มีการปรับกระบวนการผลิตและให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าใหม่มากขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าในน้ำตาลที่ออกวางจำหน่าย
"จากเดิมที่เราขายน้ำตาลทรายดิบอย่างเดียว ก็พัฒนามาขายเป็นกระสอบ มาทำน้ำตาลทรายขาวส่งออก พัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ ฝ่ายการตลาดต้องไปดูว่าเดี๋ยวนี้ในโลกที่ไหนต้องการน้ำตาลพิเศษอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นตอนนี้มันเป็น mass customization แล้ว ลูกค้าบางรายต้องการน้ำตาลชนิดนี้แล้วให้เราส่งให้เขาทั้งวัน ทั้งเดือน ทั้งปี ซึ่งบางทีคนอื่นทำไม่ได้" อิสระกล่าว
การจัดการองค์กรเพื่อฝ่าวิกฤติในวันนั้นกลับกลายเป็นการวางรากฐานสำคัญที่ทำให้มิตรผลแข็งแกร่งจนสามารถลุกขึ้นและก้าวมาถึงวันนี้ได้
หลังจากที่จัดการเรื่องราวต่างๆ เรียบร้อย น้ำตาลมิตรผลเริ่มมองหาโอกาสในต่างประเทศอีกครั้ง คราวนี้อยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านนี่เอง
"เราคิดว่าลาวมีศักยภาพมาก ตอนนี้เขาก็เปิดประเทศให้ไปลงทุน เขามีทรัพยากรดินกับน้ำเยอะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการสำหรับอ้อย เราก็ขอเข้าไปดูแล้วก็ให้เขามาดูที่เราทำ ก่อนที่จะลงนามกันเราเข้าไปปลูกอ้อยเอาไว้แล้วหลายร้อยไร่ เราไปส่งเสริมให้ชาวไร่ปลูกด้วย หน่วย ราชการเขาก็ชอบใจ การอนุมัติก็เลยง่าย" อิสระกล่าวถึงที่มาก่อนการลงทุนในลาว
โรงงานน้ำตาลของมิตรผลในประเทศจีนมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเน้นตลาดในประเทศจีน ต่างจากการลงทุนในประเทศลาว ที่มุ่งเน้นการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว โดยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมามิตรผลได้ลงนามในสัญญาสัมปทานที่ดินเพื่อปลูกอ้อยและก่อสร้าง โรงงานน้ำตาลในแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว ในขนาดเนื้อที่ 62,500 ไร่
จุดเด่นของลาวนอกจากเรื่องพื้นที่แล้ว ยังรวมไปถึงความสะดวกในการคมนาคมขนส่ง เพราะพื้นที่สัมปทานที่มิตรผลได้มาอยู่ห่างจากโรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพียง 130 กิโลเมตร ซึ่งสะดวกต่อการใช้เป็นที่ฝึกอบรมพนักงานชาวลาว นอกจากนี้ภาษาและวัฒนธรรมของไทยและลาวก็ยังใกล้เคียงกัน จึงไม่น่าจะมีปัญหาในการสื่อสารและทำงานร่วมกัน
ความน่าสนใจของลาวในมุมมองของมิตรผลยังต่อเนื่องไปถึงโอกาสในการส่งออก เนื่องจากลาวได้รับสิทธิพิเศษไม่ต้องเสียภาษีในการส่งไปขายในกลุ่มประเทศยุโรป
โรงงานน้ำตาลที่ลาวจะเริ่มหีบอ้อยในฤดูแรกได้ราวต้นปี 2551 โดยคาดว่า ในปีแรกจะหีบอ้อยได้ประมาณ 2-3 แสนตัน อ้อยที่ได้จะนำไปผลิตเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบคุณภาพสูงพร้อมบริโภค
น้ำตาลมิตรผลกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจนที่จะก้าวขึ้นเป็น Regional Player ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 1 ของไทย และยังเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับ 1 ของเอเชีย มียอดขายรวมทั้งในประเทศและส่งออกปีละกว่า 12,000 ล้านบาท นอกจากนี้มิตรผลยังเป็นผู้ผลิตน้ำตาลอันดับ 2 ของจีนอีกด้วย โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างแบรนด์มิตรผลให้เป็นแบรนด์น้ำตาลอันดับ 1 ของเอเชียภายใน 5 ปีนี้
สำหรับธุรกิจที่เริ่มต้นกันเล็กๆ ภายในครอบครัวหนึ่ง ใช้เวลา 50 ปีเติบโต และฝ่าวิกฤติมาได้ขนาดนี้ คงไม่ใช่เรื่องบังเอิญอีกแล้ว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|