|
ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
วิกฤติเศรษฐกิจจากการลอยตัวค่าเงินบาทในปี 2540 ส่งผลกระทบต่อว่องกุศลกิจไม่น้อยเช่นกัน
"เรากระทบมากจากหนี้ 8,000 ล้านขึ้นไปเป็น 14,000 ล้าน ดอกเบี้ย 25% คิดดูว่าจะอยู่ได้ไหม เราก็คิดว่าไปไม่รอดแล้ว ดูยังไงก็ไปไม่รอด" อิสระ ว่องกุศลกิจ กล่าวถึงสถานการณ์ของน้ำตาลมิตรผลในช่วงนั้น
ไม่เฉพาะน้ำตาลอย่างเดียว ดิ เอราวัณ กรุ๊ป และบ้านปู ก็อาการหนักไม่ต่างกัน การร่วมแรงร่วมใจกันฝ่าวิกฤติครั้งนี้น่าจะเป็นการผนึกกำลังครั้งใหญ่ที่สุดของคนในตระกูลว่องกุศลกิจเลยทีเดียว
นอกจากการเจรจาประนอมหนี้ซึ่งเป็นวิธีการปฏิบัติทั่วไปแล้ว ว่องกุศลกิจยอม "สละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต" ด้วยการขายทรัพย์สินบางส่วน
บ้านปูต้องยอมขายเดอะ โค เจเนอเรชั่น (COCO) บริษัทผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมและบริษัท ไตรเอนเนอจี้ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่มีสัญญาจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ซึ่งในเวลานั้นทั้ง 2 บริษัทมีอนาคตสดใสไม่น้อย แต่เพื่อเอาตัวให้รอดก็ต้องยอมตัดใจ
"เราขาย COCO กับไตรเอนเนอจี้ไป ก็ได้มาหลายพันล้านบาท ขายไปชนิดที่ท่านประธานน้ำตาไหลเลย" ชนินท์เล่าถึงสถานการณ์ในวันนั้น
เช่นเดียวกับดิ เอราวัณ กรุ๊ป ที่ต้องขายอาคาร แกรนด์ อัมรินทร์ พลาซ่า อาคารสำนักงานบนถนนเพชรบุรีออกไป (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ธนภูมิ) และยังต้องเปิดทางให้พันธมิตรใหม่ที่เป็นกลุ่มทุนต่างชาติได้แก่ WREP Thailand Holdings ซึ่งเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่มทุนสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ เข้ามาถือหุ้น 37% (ปัจจุบันผู้ถือหุ้นเดิมซื้อหุ้นส่วนนี้กลับคืนหมดแล้ว)
สำหรับน้ำตาลมิตรผลใช้การเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อขอยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป โดยมีรายได้จากโรงงานน้ำตาลในจีนที่ไม่เจอวิกฤติไปด้วยเข้ามาช่วยเหลือ พร้อมกันนั้นได้ปรับทิศทางธุรกิจเสียใหม่ จากเดิมที่ผลิตน้ำตาลทั่วไปขายได้กำไรน้อย เนื่องจากเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ไม่แตกต่างจากน้ำตาลเจ้าอื่น ก็เร่งพัฒนาสินค้าใหม่ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น มีการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น
ซึ่งไม่เพียงช่วยให้มิตรผลฝ่าวิกฤติมาได้เท่านั้น ยังเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการรุกไปข้างหน้าที่มาส่งผลในวันนี้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจการเงินของตระกูล ได้แก่ บง.ยูไนเต็ด ที่มีธนาคารกสิกรไทยเป็น ผู้ร่วมทุนก็ถูกทางการสั่งปิดไป ขณะที่ บล.ยูไนเต็ดก็เพิ่งมีการขายหุ้น 25.43% ให้กับเอพีเอฟ โฮลดิ้งส์ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนจากญี่ปุ่นไปเมื่อต้นปีนี้เอง โดยได้เงินจากการขายครั้งนี้ รวม 345 ล้านบาทและตระกูลว่องกุศลกิจยังเหลือสัดส่วนการถือหุ้นในนามบุคคลและบริษัทที่เกี่ยวข้องอยู่จำนวน 6.55%
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|