|

from Family to be Professional
โดย
ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
ตระกูล "ว่องกุศลกิจ" อาจมีจุดเริ่มต้นมาจากชาวไร่อ้อยในจังหวัดราชบุรี และถึงแม้จะอยู่ในธุรกิจการเกษตรที่ถูกมองว่าไม่ทันสมัย แต่ก็สามารถนำเอาความรู้และการจัดการสมัยใหม่มาปรับใช้กับทุกธุรกิจในเครือ จนทุกวันนี้น้ำตาลมิตรผล ดิ เอราวัณ กรุ๊ป และบ้านปู แทบไม่หลงเหลือภาพของธุรกิจครอบครัวอีกแล้ว
วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในช่วงปี 2540 ไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจไทยล่มสลายลงแต่เพียงอย่างเดียว ธุรกิจครอบครัวของกลุ่มตระกูลต่างๆ ที่เคยเป็นผู้นำในแวดวงธุรกิจไทยยังพากันล่มสลายตามไปด้วย บางธุรกิจล้มหายตายจากไป บ้างต้องเปลี่ยนมือประดุจสมบัติผลัดกันชม คงเหลือที่สามารถรักษาเอาไว้ได้เพียงไม่กี่ตระกูลเท่านั้น
"ว่องกุศลกิจ" เป็นตระกูลหนึ่งในประเภทหลังและไม่เพียงรักษาธุรกิจหลักเอาไว้ได้แต่ยังสามารถคงความเป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งวางบทบาทเพื่อเตรียมรุกไปสู่เป้าหมายของการเป็น Regional Player ในวันข้างหน้า ได้อย่างชัดเจนอีกด้วย
จุดเริ่มต้นของตระกูลธุรกิจไทยเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สภาพเศรษฐกิจ และสังคมในเวลานั้นเปิดโอกาสให้กับผู้ที่มองเห็นช่องทาง และจังหวะสำหรับการก่อร่างสร้างตัว ลักษณะของกลุ่มตระกูลเหล่านี้แทบจะถอดออกมาจากพิมพ์เดียวกัน นั่นคือ เริ่มต้นจากผู้นำตระกูลที่มักจะเป็นชาวจีนอพยพ อาศัยการทำงานหนักและอดออมเพื่อสะสมเป็นทุนสำหรับขยายกิจการ ตระกูลธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเป็นที่รู้จักกันทั่วประเทศมีอยู่หลายสิบตระกูล กระจายออกไปหลากหลายธุรกิจ มีทั้งในอุตสาหกรรมการเงินธนาคาร ภาคการผลิตและการค้า
ว่องกุศลกิจก็อยู่ในข่ายนี้ด้วยเช่นกัน นายไฉ่และนางฟ้า แซ่ว่อง คู่สามีภรรยาชาวจีนอพยพมาจากซัวเถาประเทศจีน เพื่อมาตั้งรกรากในประเทศไทยในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นเล็กน้อย โดยมีความรู้ในการทำไร่อ้อยและน้ำตาลจากจีนติดตัวมาด้วย
ทั้งคู่เลือกมาตั้งรกรากทำไร่อ้อยอยู่ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอ้อยและน้ำตาลที่สำคัญแห่งหนึ่งของไทย ผลผลิตอ้อยที่ได้จะนำมาหีบเป็นน้ำอ้อย ทำการต้มเคี่ยวเป็นน้ำเชื่อมและส่งไปจำหน่ายที่โรงงานเพื่อผลิตเป็นน้ำตาลต่อไป ไร่อ้อยที่มีอยู่ประมาณ 10 ไร่ในวันนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของว่องกุศลกิจก่อนที่จะจับพลัดจับผลูเข้ามาเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลเสียเองในภายหลังในรุ่นที่ 2 (อ่านรายละเอียดจาก "น้ำตาลมิตรผล บังเอิญจนได้เรื่อง") ซึ่งเป็นรุ่นที่ลูก 8 คนเริ่มสร้างและขยายธุรกิจจนเติบใหญ่มาถึงปัจจุบันรวมเวลา 50 ปีพอดี
ด้วยความที่เริ่มต้นก่อร่างสร้างตัวมาจากธุรกิจน้ำตาลนี่เอง ทำให้ภาพของตระกูลว่องกุศลกิจผูกพันอยู่กับธุรกิจน้ำตาลอย่างแนบแน่น ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีการขยายออกไปสู่ธุรกิจโรงแรม (บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป) และพลังงาน (บริษัท บ้านปู) แล้วก็ตาม
ที่มาที่ไปของการขยายธุรกิจของว่องกุศลกิจก็ไม่มีอะไรซับซ้อน ความไม่แน่นอนของธุรกิจน้ำตาลนั่นเองที่เป็นต้นเหตุ เพราะน้ำตาลเป็นธุรกิจเกษตรที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับทั้งชาวไร่ หน่วยงานราชการและภาคการเมือง ทำให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างยากลำบากและวุ่นวาย นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องผลผลิตอ้อย วัตถุดิบสำคัญที่ยังต้องอาศัยฟ้าฝนเป็นหลัก ทำให้สถานการณ์ของธุรกิจน้ำตาลมีความไม่แน่นอนเรื่อยมา ปีไหนที่ราคาดีก็มีกำไรมหาศาล แต่ปีไหนที่ราคาตกแล้วล่ะก็ ว่ากันว่าน้ำตาลถึงกับขมทีเดียว
"ครอบครัวผมอยู่ในธุรกิจน้ำตาลตอนนั้นก็ 30 กว่าปีแล้ว เขาก็คิดว่ามันไม่ไหวแล้ว ช่วงนั้นน้ำตาลและอ้อยมันผูกติดกับการเมืองเยอะมาก เขาก็เลยเบื่อ ไม่อยากจะยุ่ง" ชนินท์ ว่องกุศลกิจ น้องคนสุดท้องของตระกูลและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เล่าย้อนอดีต
ทางออกของว่องกุศลกิจจึงมาลงตัวที่การขยับขยายออกสู่ธุรกิจใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง (diversify) ซึ่งไม่เพียงแค่หาธุรกิจใหม่เท่านั้น ยังหาผู้ร่วมทุนในธุรกิจใหม่ที่จะเข้าไปทำเพื่อลดความเสี่ยงอีกชั้นหนึ่งด้วย
จุดเริ่มของการขยายธุรกิจของว่องกุศลกิจมาได้จังหวะ เมื่ออิสระ ว่องกุศลกิจ น้องคนที่ 7 ซึ่งในเวลานั้นดูแลธุรกิจโรงงานน้ำตาลมิตรสยาม ที่จังหวัดกำแพงเพชร (โรงงานแห่งนี้ย้ายไปอยู่จังหวัดกาฬสินธุ์และเปลี่ยนชื่อเป็นมิตรกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปี 2540) ระหว่างที่ต้องบริหารโรงงานแห่งนี้เขายังแบ่งเวลาไปดูแลกิจการโรงแรมเชียงอินทร์ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่เขาเป็นผู้ถือหุ้นและรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการอยู่ด้วย ถึงแม้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เป็นเม็ดเงินจะไม่มากมายนัก แต่ประสบการณ์จากโรงแรมเชียงอินทร์นี่เองที่เป็นตัวจุดประกายให้อิสระสนใจในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
จนกระทั่งในปี 2525 ได้โอกาสเช่าที่ดินของตระกูลศรีวิกรม์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เป็นเวลา 30 ปีก็เลยเอามาเสนอในตระกูล ซึ่งก็ได้ผล ออกมาเป็นอาคารอัมรินทร์ พลาซ่า ที่เปิดดำเนินการในปี 2528 โดยมีกลุ่มวัธนเวคินเป็นผู้ร่วมทุนและมอบหมายให้อิสระเป็นผู้ดูแลในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
สิ่งหนึ่งที่ตระกูลว่องกุศลกิจยังรักษาไว้จนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้พี่น้องแต่ละคนจะอายุมากขึ้นและมีภารกิจมากมายเพียงใดก็ตาม นั่นคือ การตัดสินใจที่เกี่ยวกับธุรกิจหรือกงสีของตระกูลจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมและต้องได้รับการเห็นชอบจากพี่น้องทุกคน ซึ่งการตัดสินใจเช่นนี้นอกจากกรณี ของอัมรินทร์ พลาซ่าแล้ว ยังนำมาใช้เมื่อคราวตกลงใจก่อตั้งเหมืองบ้านปู รวมถึงการเข้าไปลงทุนในจีนของธุรกิจน้ำตาลด้วยเช่นกัน
"ตอนนั้นมีโอกาสเข้ามา คุณอิสระเป็นคนไปคุยมาแล้วมาบอกว่า มีโครงการอย่างนี้เอามาเสนอในกลุ่มพี่น้องในตระกูลเห็นชอบก็ตกลงให้ไปทำ ให้คุณอิสระเป็นคนไปดำเนินการ" วิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ ซึ่งเป็นผู้ดูแลธุรกิจดิ เอราวัณ กรุ๊ปในปัจจุบัน (เปลี่ยนชื่อจากอัมรินทร์ พลาซ่าในปี 2548) เล่าถึงกระบวนการตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของตระกูลในเวลานั้น (รายละเอียดอ่าน "ดิ เอราวัณ เต็มไปด้วยบทเรียน")
การดึงตระกูลวัธนเวคินเข้ามาร่วมถือหุ้นในดิ เอราวัณ กรุ๊ป ก็เป็นอีกลักษณะหนึ่งของว่องกุศลกิจ ที่พร้อมจะเข้าลงทุนในธุรกิจที่ไม่คุ้นเคยไม่มีประสบการณ์มาก่อน แต่ก็หาพันธมิตรมาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งได้ประโยชน์สองทางด้วยกัน ทั้งช่วยลดความเสี่ยงจากการลงทุนและยังสามารถเรียนรู้โนว์ฮาวใหม่ๆ ได้ในกรณีที่พันธมิตรมีความชำนาญในธุรกิจนั้นๆ อยู่แล้ว
"กับตระกูลวัธนเวคินก็สนิทกันเพราะอยู่ในสมาคมน้ำตาลเดียวกัน แต่เขาทำอยู่ภาคตะวันออก เราอยู่ภาคตะวันตก ก็เป็นเรื่องของการกระจายความเสี่ยง แทนที่จะทำคนเดียวก็มีคนมาลงทุนร่วม มีคนมาช่วยคิด" วิฑูรย์กล่าว
กรณีของบ้านปูในปี 2526 ก็เช่นเดียวกัน จุดเริ่มของบ้านปูเกิดจากความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างชนินท์ ว่องกุศลกิจ กับเมธี เอื้ออภิญญกุล ที่รู้จักกันตั้งแต่เมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่ St.Louis University สหรัฐอเมริกา เมื่อเมธีมาชักชวนให้มาร่วมงานกัน ชนินท์ก็เอาเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมตระกูล
"ทีแรกก็ลงเงินไม่มาก สมัยนั้นทำถ่านยังไม่รู้จะขายใครด้วยซ้ำ ก็ดูแล้วว่าไม่ได้ลงทุนอะไรมากก็เลยให้ไปลองดู" วิฑูรย์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
และเมื่อตกลงที่จะทำธุรกิจด้วยกันแล้ว ชนินท์ยังทำหน้าที่พาคนในตระกูลไปรู้จักกับทางฝั่งเอื้ออภิญญกุลเพื่อสร้างความคุ้นเคยกันในระดับตระกูลอีกด้วย (รายละเอียดอ่าน "บ้านปู ดอกผลที่ใหญ่เกินคาด")
ถึงแม้จะเริ่มต้นจากธุรกิจน้ำตาลที่อยู่ในภาคการเกษตร แต่ตระกูลว่องกุศลกิจก็มีความเข้าใจและยอมรับในรูปแบบการจัดการสมัยใหม่ กลุ่มน้ำตาลมิตรผลเป็นกลุ่มธุรกิจน้ำตาลรายแรกๆ ของประเทศที่มีการจัดโครงสร้างองค์กรและใช้รูปแบบการบริหารสมัยใหม่ ใช้ระบบบัญชีที่เป็นมาตรฐาน มีการควบคุมต้นทุน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ได้มาจากการร่วมทุนกับกลุ่ม Tate & Lyle Industries ประเทศอังกฤษ ในโรงงานน้ำตาลรวมเกษตรกรอุตสาหกรรม หรือที่รู้จักกันในชื่อโรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ
หรือแม้แต่การใช้กลไกตลาดทุนเพื่อระดมเงินทุนสำหรับการขยายกิจการนอกเหนือไปจากการกู้เงินแต่เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะดิ เอราวัณ กรุ๊ป และบ้านปู ที่ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนค่อนข้างมาก และเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็มีการใช้มืออาชีพเข้ามาช่วยบริหารงานมากขึ้น และยังเปิดทางให้นักลงทุนเข้าถือหุ้นด้วย ทำให้ภาพของทั้ง 2 บริษัทนี้ในปัจจุบันแทบไม่หลงเหลือความเป็นธุรกิจครอบครัวอยู่เลย
การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังทำให้ทั้ง 2 บริษัทที่มีจุดเริ่มต้นจากเงินลงทุนก้อนเล็กๆ ซึ่งในระยะเริ่มต้นเป็นเพียงการกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจน้ำตาลที่เป็นธุรกิจหลักของครอบครัว ปัจจุบันทั้งดิ เอราวัณ กรุ๊ป และบ้านปู กลายเป็น 2 ธุรกิจสำคัญของตระกูลว่องกุศลกิจที่มีอนาคตสดใสด้วยกันทั้งคู่ แถมสัดส่วนหุ้นของว่องกุศลกิจเมื่อคิดจากราคาหุ้นในปัจจุบันแล้วมีมูลค่าหลายพันล้านบาททีเดียว (ดูกราฟิก "สัดส่วนการถือหุ้นของตระกูลว่องกุศลกิจ" ประกอบ)
ทิศทางธุรกิจ 3 กลุ่มหลักของว่องกุศลกิจ ทั้งน้ำตาล โรงแรม และพลังงาน ได้กำหนดเป้าหมายชัดเจนที่จะก้าวไปสู่การเป็น Regional Player ในส่วนของน้ำตาลมิตรผลขณะนี้มีมูลค่าการส่งออกถึงปีละกว่า 7,500 ล้านบาท ถือเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลอันดับหนึ่งของเอเชียและยังเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับสองของจีน
ขณะที่บ้านปูมีการขยายธุรกิจออกไปสู่อินโดนีเซียและจีน และยังศึกษาเพื่อเตรียมดูลู่ทางลงทุนในอินเดียอีกด้วย เช่นเดียวกับดิ เอราวัณ กรุ๊ป ที่เพิ่งประกาศแผนก่อสร้างโรงแรมในประเทศเพิ่มอีก 10 แห่งเพื่อสร้างความเข้มแข็งก่อนออกสู่ต่างประเทศ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|