|
Letter from Andaman...ประสบการณ์ดีๆ ที่เกิดขึ้นหลัง สึนามิ
โดย
มานิตา เข็มทอง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กลับมาเมืองไทยซัมเมอร์นี้วางแผนไว้แล้วว่าจะขับรถลงไปเที่ยวใต้ให้ไกลถึงภูเก็ต เพราะได้ยินมานานว่า ท้องทะเลฝั่งอันดามันของบ้านเรานั้นสวยมาก ว่าไปแล้วจะเรียกว่าเที่ยวซะทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะต้องมาช่วยสามีทำงานด้วย โดยรับหน้าที่เป็นสารถีและตากล้อง มีจุดมุ่งหมายหลักที่พื้นที่ประสบภัยสึนามิบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาหลัก อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ใช้เวลาทั้งสิ้น 12 คืน 13 วัน
วันแรก เริ่มต้นเดินทางจากกรุงเทพฯ มุ่งตรงสู่ อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร เพื่อหยุดพักเป็นเวลา 1 คืน ที่เลือกหยุดที่บริเวณปากน้ำทุ่งตะโก เพราะจะได้เหยียดแข้งเหยียดขาบ้างหลังจากใช้เวลากว่า 5 ชั่วโมงบนถนนและยิ่งกว่านั้นทราบมาว่าที่นั่นมีรีสอร์ตเปิดใหม่และยังอยู่ในช่วง Soft Opening และ Low Season ราคาจึงยังพอสู้ไหว
รีสอร์ตนี้มีชื่อว่า "Tusita" หรือ "ดุสิตา" ตามชื่อของชั้นสวรรค์ ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำทุ่งตะโก ซึ่งหาไม่ยากมีป้ายบอกไปตลอดทาง มีห้องทั้งหมด 4 แบบคือ ห้อง The Tusita Residence 1 หลัง ห้อง Wimantip 1 ห้อง ห้อง Wiman 5 ห้อง และห้อง Nimman 10 ห้อง การเรียกชื่อแต่ละห้องช่วยให้นึกถึงสวรรค์วิมาน หรือพาราไดซ์ ตามบรรยากาศของสถานที่และการตกแต่งภายในที่สะท้อนการใช้ชีวิตแนวภารตะที่หรูหรา ร้อนแรง แต่ไม่ถึงกับจัดจ้านมากเกินไป เพื่อต้องการให้ผู้ที่มาพักมีความรู้สึกว่าเหมือนเป็นราชาที่อยู่ในสรวงสวรรค์ ห่างไกลจากความชุลมุนวุ่นวายของโลกภายนอก และแต่ละห้องจะมีระเบียงเอาต์ดอร์ให้นั่งนอนเล่นยามอาทิตย์สนธยา เพื่อสำเหนียกเสียงธรรมชาติที่ห่างหายมานาน นอกจากนี้สระว่ายน้ำของที่นี่ใช้ระบบน้ำเกลือ ซึ่งถือเป็นระบบธรรมชาติที่ไม่เจือสารเคมีที่ทำลายสิ่งแวดล้อม
สำหรับ The Tusita Residence นั้นเหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ประมาณ 6 คน เพราะเป็นเรือนไม้ 1 หลังที่มี 2 ห้องนอน ห้องน้ำในตัว 1 ห้อง และห้องน้ำแบบ open-air ที่มีอ่างอาบน้ำและห้องอบไอน้ำ อีก 1 ห้อง มีห้องใต้หลังคาที่สามารถปรับเป็นที่นอนและที่นั่งเล่นได้ มีห้องโถงสำหรับนั่งพักผ่อน ดูทีวี หรืออ่านหนังสือ และบริเวณครัวเล็กๆ รวมทั้งระเบียงส่วนตัว ห้อง Wimantip มี 1 ห้องนอนที่ประกอบด้วยมุมพักผ่อน ห้องน้ำ open-air ที่มีอ่างอาบน้ำ Jacuzzi และห้องอบไอน้ำสมุนไพร ส่วนด้านหน้า ก่อนเข้าห้องก็มีศาลาส่วนตัวที่สามารถใช้เป็นสถานที่ปาร์ตี้ส่วนตัวได้อย่างราชา
แม้ว่ารีสอร์ตนี้จะไม่ติดทะเล แต่ก็ไม่ไกล สามารถเดิน ขี่จักรยาน หรือขับรถไปริมหาด ในเวลาไม่กี่นาที และในอนาคตอันใกล้ ดุสิตาจะเปิดให้บริการในส่วนของ Pool Villa อีกจำนวน 8 หลัง และ Beach Club ที่อยู่ติดริมทะเลมีหาดทรายส่วนตัวอีกจำนวน 9 ห้อง (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www. tusitaresort.com)
หลังจากพักตั้งหลัก 1 คืน เพื่อลุยต่อในวันรุ่งขึ้นไปยังชายทะเลปากวีป ตำบล คึกคัก อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ซึ่งอยู่ในอาณาเขตบริเวณวนอุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อันเป็นที่ตั้งของเดอะ สโรจิน "The Sarojin" ของ Andrew & Kate Kemp สองสามีภรรยาชาวอังกฤษ ผู้หลงรักเมืองไทยและปักหลักอยู่ที่ภูเก็ตเป็นการถาวร
เดอะ สโรจิน เป็นหนึ่งในเหยื่อทะเลพิโรธ คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อปลายปี 2547 แรกเริ่มเดอะ สโรจิน วางแผนเปิดให้บริการในวันที่ 10 มกราคม 2548 แต่ต้องเลื่อนออกไปนานถึง 9 เดือน แม้คลื่นยักษ์จะไม่ได้คร่าชีวิตผู้คนในรีสอร์ตแห่งนี้เหมือนแห่งอื่นๆ ในบริเวณเขาหลัก เนื่องจากยังไม่ได้เปิดดำเนินการ และเป็นวันอาทิตย์ที่ไม่มีพนักงานมาทำงาน แต่พลังคลื่นได้สร้างความเสียหายให้แก่อาคารบริเวณชั้นล่างทั้งหมด ทำให้ต้องปรับปรุงใหม่ เสียทั้งเวลาและทรัพย์สิน แต่ทั้ง 2 สามีภรรยาก็ไม่ย่อท้อ พวกเขายังนึกถึงพนักงานอีกหลายสิบชีวิตที่เข้ามาร่วมงาน คนเหล่านั้นยังต้องการงานเพื่อเลี้ยงชีพต่อไป ในวันเปิดตัวเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมปีที่แล้ว จากจำนวนพนักงานกว่าสิบชีวิต เพิ่มเป็นร้อยชีวิต เนื่องจากเดอะ สโรจิน ถือเป็นที่พักแห่งแรกๆ ที่เปิดให้ดำเนินการหลังภัยในครั้งนั้น จึงมีพนักงานจากที่พักอื่นที่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้มาขอสมัครเข้าทำงาน ซึ่งพวกเขาก็ได้รับการต้อนรับเสมือนหนึ่งในครอบครัวเดียวกัน นอกจากนี้ชื่อหน้าห้องพักทุกห้อง ยังใช้ชื่อของพนักงานทุกคนที่อยู่ฟันฝ่าอุปสรรคร่วมกันมา ถือเป็นอนุสรณ์แห่งความไม่ท้อแท้ ไม่สิ้นหวัง และร่วมแรงร่วมใจกัน
เดอะ สโรจิน เป็นการผสมผสานงานศิลปะแบบเอเชียกับความเป็นอยู่อย่างตะวันตกที่หรูหราสะดวกสบาย แวดล้อมด้วยพืชท้องถิ่นนานาพันธุ์ให้ความรู้สึกร่มรื่น และใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น โดยมีห้องพักทั้งหมด 56 ห้อง แบ่งเป็นห้อง Garden Residence 28 ห้อง ห้อง Pool Residence 14 ห้อง และห้อง The Sarojin Suite 14 ห้อง ซึ่งจะอยู่บริเวณชั้นบนของอาคาร แต่ละห้องจะมีศาลาส่วนตัวให้ใช้เป็นที่พักผ่อน นวดตัว เล่นโยคะ หรือเป็นที่รับประทานอาหาร
ใช้เวลาพักอยู่ที่นี่เป็นเวลา 6 คืนจากโปรโมชั่นแพ็กเกจที่ซื้อกี่คืนก็จะได้แถมจำนวนคืนที่เท่ากันฟรี เหมือนอยู่ 6 คืนแต่จ่าย 3 คืน ห้องที่พักคือห้อง Garden Residence บริเวณชั้นล่าง โดยส่วนตัวแล้วต้องบอกว่าชอบการออกแบบและตกแต่งห้องมาก เป็นสไตล์ที่เรียบหรูแฝงไปด้วยเสน่ห์ของความเป็นเอเชีย
สำหรับร้านอาหาร ติดใจรสชาติ การนำเสนอ และการให้บริการที่ครัวไทย The Edge ที่อยู่ริมทะเลมากเป็นพิเศษ พ่อครัวเป็นคนไทยรุ่นใหม่ที่มีประสบการณ์ระดับนานาชาติ และมีความสร้างสรรค์เป็นตัวของตัวเอง อาหารแต่ละจานมีการผลิตและตกแต่งอย่างพิถีพิถัน แสดงถึงความตั้งใจ และใส่ใจในการปรุง ยิ่งกว่านั้น พนักงานแต่ละคนให้การบริการระดับห้าดาว และแต่ละคนมีเรื่องราวจากประสบการณ์สึนามิมาถ่ายทอดไม่ซ้ำกัน ทำให้ดินเนอร์ที่นี่ในแต่ละค่ำคืนมีความหมายมากกว่าที่ไหนๆ (ข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.sarojin.com)
จากเวลาที่พักอยู่ที่เดอะ สโรจินต้องขับรถขึ้นลงเขาทุกวัน เป็นเวลา 6 วันเต็ม ไล่เลาะตามรอยสึนามิไปเรื่อยๆ เริ่มตั้งแต่วัดย่านยาว บ้านน้ำเค็ม บางสัก บางม่วง แหลมปะการัง หาดคึกคัก หาดบางเนียง หาดเขาหลัก เรื่อยไปจนถึงภูเก็ต เป็นการเดินทางที่ค่อนข้างเครียดและหดหู่ จากภาพและเรื่องราวที่รับรู้ในความเป็นไปของพื้นที่บริเวณนี้ก่อนและหลังสึนามิ ขับผ่านร้านอาหารบนหน้าผาบริเวณเขาหลักที่เคยแวะทานเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ตอนนี้เหลือแต่กรอบกระจกที่ว่างเปล่า "Life Must Go On" ได้แต่หวังว่า คงมีใครหลายๆ คน ทั้งภาครัฐและเอกชนกลับมาช่วยกันฟื้นฟูและพัฒนาเขาหลักในเชิงอนุรักษ์ในเร็ววันนี้ ก่อนที่เม็ดเงินที่ได้รับมาจากการบริจาคจะสูญสลายหายไป เอ! หรือว่าสายไปเสียแล้ว!
ได้เวลาอำลาเขาหลัก ขับรถมุ่งตรงมาที่ทุ่งตะโกอีกครั้ง เพื่อจะผ่อนคลาย หรือ "unwind" ก่อนกลับเข้ามาผจญภัยในกรุงเทพฯ ต่อไป ตอนแรกว่าจะไม่หยุดที่หัวหิน แต่ไหนๆ ก็ต้องผ่านเข้ามากรุงเทพฯ อยู่แล้ว ก็ขอเลี้ยวเข้าหัวหินสักหน่อย เที่ยวนี้แวะพักที่ "วรบุระ รีสอร์ท แอนด์ สปา" (Wora Bura Resort & Spa) รีสอร์ตริมชายทะเลเขาตะเกียบแห่งใหม่ในหัวหินที่เปิดให้บริการมาได้เกือบปีแล้ว
ก้าวแรกสู่โถงรับรอง แว่วเสียงเพลงลาวดวงเดือน ฝีมือการบรรเลงขิมสดของนักเรียนที่มีให้ฟังตลอดทุกวัน ระหว่างรอเช็กอิน สายตาสำรวจไปรอบๆ บรรยากาศเหมือนตกอยู่ในยุคแม่พลอย ตัวละครเอกจากเรื่อง "สี่แผ่นดิน" บทประพันธ์เอกของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช รู้สึกเคลิ้มไปกับภาพที่เห็นคือ รอยยิ้มของพนักงานต้อนรับสาวสวยห่มสไบสีหวาน เข้าชุดกับโจงกระเบนแบบยุคสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อให้สมกับธีมหลักของรีสอร์ตแห่งนี้ที่ว่า "คันฉ่องบริการแบบไทย ยุคสมัย ร.ศ.126"
"วรบุระ รีสอร์ท แอนด์ สปา" สร้างบนที่ดินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ความเป็นมานั้นมีอยู่ว่า ฤกษ์ชัย วรนิทัศน์ หัวหอกของบริษัทรับเหมาก่อสร้าง "วรนิทัศน์" ที่เก่าแก่มานานกว่า 20 ปี ได้รับข้อมูลการเปิดประมูลเพื่อพัฒนาที่ดินชายทะเลหัวหินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเกือบ 5 ปีก่อน จากธุรกิจก่อสร้างที่มั่นคงอยู่ตัวแล้ว ฤกษ์ชัยจึงหันมาลงทุนทางด้านธุรกิจโรงแรมดูบ้าง เขาตัดสินใจเข้ายื่นประมูลเพื่อพัฒนาที่ดินผืนนี้ โดยมีคู่แข่งที่น่ากลัวคือแสนสิริ
การบ้านของฤกษ์ชัยในตอนนั้นคือจะเสนออะไรที่เข้าตากรรมการ ให้ชนะใจกรรมการ เมื่อเขาค้นคว้าหาข้อมูล เขาคิดว่าอะไรที่เกี่ยวข้องกับรัชกาลที่ 5 น่าจะเป็นจุดเด่นที่ทำให้กรรมการสนใจได้ เนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยก็บอกแล้วว่าคือท่าน ยิ่งกว่านั้นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังอยู่บนที่ดินพระราชทาน จึงได้เสนอธีมของรีสอร์ตแห่งนี้ให้เป็นแบบสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่เป็นการผสมผสานระหว่างพระที่นั่งวิมานเมฆ พระที่นั่งมฤคทายวัน และพระราชวังบ้านปืน ซึ่งเขาคิดว่าน่าจะเป็นส่วนที่ทำให้ชนะคู่แข่งในการประมูลเพื่อพัฒนาที่ดินผืนนี้
สำหรับการตกแต่งภายในจะมีสถาปัตยกรรมและจิตรกรรมศิลปะไทยหลายยุคสมัย และห้องพักจำนวน 77 ห้อง แบ่งเป็นห้อง Superior 48 ห้อง ห้อง Deluxe 24 ห้อง ห้อง Suite 2 ห้อง ห้อง Garden Villa 2 ห้อง และ Beach Front Villa อีก 1 ห้อง โดยแต่ละห้องจัดให้เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของจังหวัดในประเทศไทย 76 จังหวัด โดยใช้ชื่อตามจังหวัดต่างๆ และอีก 1 ห้องใช้ชื่อว่า "หัวหิน" นอกจากนี้ภายในแต่ละห้องจะมีผลิตภัณฑ์โอทอปแต่ละจังหวัดมาตกแต่งไว้ในห้องพักอีกด้วย
พักอยู่ที่นี่ 3 คืน อยากหยุดเวลาไว้ไม่อยากกลับสู่กรุงเทพฯ เมืองแห่งความวุ่นวาย ได้แต่ฝันว่า สักวันหนึ่งจะกลับมาเริ่มต้นการเดินทางแบบนี้อีกครั้ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|