“สมคิด” เย้ย กม. เร่งปิดเกม TPI


ผู้จัดการรายวัน(27 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

เบื้องหลังแผนการเขี่ย “ประชัย” พ้นทางทีพีไอ ไม่สนทำผิดข้อกฎหมาย ล่าสุด “สมคิด” ออกคำสั่งให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ยึดอำนาจบริหารเบ็ดเสร็จโดยเร็ว ทั้งเข้ามาล้วงลูกและกดดันให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้ารับจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการทีพีไอชุดใหม่ ขณะที่สำนักงานก.ล.ต.เพิกเฉย อาจถูกฟ้องฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหายอาญา มาตรา 157 ด้าน “ปิติ” เลี่ยงบาลี อ้างกฎหมายบังคับเฉพาะเอ็มดี และไม่มีแผนเปลี่ยนแปลงใหม่

หลังจากที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดโปงถึงแรงกดดันให้รับจดทะเบียนแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง ทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ และอัยการ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ ทั้งที่เป็นการดำเนินการที่ขัดต่อข้อกำหนดของกฎหมายนั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าต้องกระทำผิดกฎหมายด้วยการรับจดทะเบียนแต่งตั้งข้าราชการระดับสูงเป็นกรรมการทีพีไอ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้รับความกดดันอย่างหนักจากนักการเมืองระดับสูง แม้จะทราบว่าการดำเนินการดังกล่าวจะขัดต่อพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน พ.ร.บ.ตำรวจ พ.ร.บ.ข้าราชการอัยการ และพ.ร.บ.ทหาร โดยเฉพาะนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้กำชับให้ขั้นตอนการดำเนินการเสร็จโดยเร็ว

โดยการจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการทีพีไอใหม่นั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 15 คน ประกอบด้วย พลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา นายพละ สุขเวช นายอารีย์ วงศ์อารยะ นายวีรพงษ์ รามางกูร นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ นายปิติ ยิ้มประเสริฐ นายวิสิฐ ตันติสุนทร นายเสงี่ยม สันทัด นางไพฑูรย์ พงษ์เกษร พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส พลเอกพรชัย กรานเลิศ นายพชร ยุติธรรมดำรง และนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา

“เบื้องลึกการแต่งตั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นกรรมการทีพีไอ เกิดขึ้นจากผู้นำรัฐบาลคนปัจจุบันมีคำสั่งให้รมว.พาณิชย์เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะได้มีการนโยบายชัดเจนว่า ต้องการเขี่ยคนในตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ให้พ้นทาง และยึดอำนาจการบริหารทีพีไอแบบเบ็ดเสร็จ แต่ข้อเท็จจริงได้พิสูจน์ชัดว่ารมว. พาณิชย์ รู้เห็นเป็นใจ แม้ว่าจะเป็นการละเมิดข้อกฎหมาย ซึ่งหากไม่มีแรงกดดันจากนักการเมือง เจ้าหน้าที่คงไม่กล้ารับจดทะเบียนแต่งตั้งกรรมการทีพีไอใหม่อย่างแน่นอน”

พร้อมกันนี้ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลและความคุมให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีธรรมาภิบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด กลับปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

“เรื่องนี้นายทนง พิทยะ รักษาการรมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการก.ล.ต. จะต้องรับผิดชอบเช่นเดียวกับนายสมคิด รักษาการรมว.พาณิชย์ ที่อาจจะถูกฟ้องร้องในข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามบัญญัติในกฎหมายอาญามาตรา 157”

**เอ็มอีใหม่ยันไม่ผิด กม.

ด้านนายปิติ ยิ้มประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ ทีพีไอ กล่าวว่า การแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่ไม่ถือเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และอัยการ แม้ว่ากรรมการบางคนดำรงตำแหน่งข้าราชการระดับสูง เนื่องจากข้อกฎหมายห้ามข้าราชการเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการ แต่ไม่ได้มีบทห้ามเป็นคณะกรรมการบริษัทฯ

ที่ผ่านมา มีข้าราชการระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ มาเป็นกรรมการบริษัทฯ ดังนั้นจึงมั่นใจว่าการแต่งตั้งกรรมการชุดใหม่นี้ไม่ผิดกฎหมาย และไม่มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงกรรมการดังกล่าวด้วย ส่วนตำแหน่งกรรมการของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ที่ถูกปลดไปนั้น จะไม่มีการแต่งตั้งกรรมการใหม่เข้ามาเพิ่ม ทำให้คณะกรรมการบริษัททีพีไอมีจำนวน 24 คน

ส่วนความคืบหน้าการจดทะเบียนตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ของ 5 บริษัทย่อยทีพีไอ นายปิติ กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังไม่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการชุดใหม่ทั้ง 5 บริษัท เนื่องจากนายประชัย ได้ยื่นคำคัดค้านการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยอาศัยช่องว่างกฎหมาย อ้างความชอบธรรมในฐานะผู้บริหารบริษัทย่อย ทั้งๆ ที่ทีพีไอถือหุ้นใหญ่ 100% ในบริษัทย่อยทั้ง 5 บริษัท

“ผมเชื่อความถูกต้อง ยุติธรรม ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์คงรับจดเปลี่ยนแปลงกรรมการ 2บริษัทย่อย เนื่องจากทีพีไอเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ไม่มีโอกาสเข้าไปบริหารจัดการ ที่ผ่านมาผมพยายามทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด เนื่องจากบริษัทย่อยเหล่านี้ถือเป็นบริษัทลูกทีพีไอ แต่หากเหตุการณ์ดังกล่าวยืดเยื้อนานไป ทีพีไอคงจะดำเนินการหยุดส่งวัตถุดิบป้อนให้บริษัทลูกดังกล่าว เพื่อยุติความยืดเยื้อดังกล่าว”

**5 กรรมการเข้าข่ายกระทำผิด

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าราชการระดับสูงที่เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายรวมทั้งสิ้น 5 คน ประกอบด้วย นายเสงี่ยม สันทัด ที่ปรึกษากระทรวงการคลัง และนางไพฑูรย์ พงษ์เกษตร รองอธิบดีกรมสรรพากร กระทำผิดพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ตามมาตรา 96 ที่ระบุว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญต้องไม่ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ หรือผู้จัดการ หรือตำแหน่งอื่นใด ที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หากฝ่าฝืนข้าราชการผู้นั้นจะต้องได้รับโทษทางวินัยขั้นร้ายแรง

พล.อ.พรชัน กรานเลิศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กระทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ ตามมาตรา 72 ที่กำหนดให้ทหารมีหน้าที่พิทักษ์รักษาเอกราช ความมั่นคงของรัฐ สถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์ของชาติ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้นการเข้ามารับตำแหน่งกรรมการในทีพีไอจึงถือเป็นการฝ่าฝืนและขัดต่อบัญญัติของกฎหมาย

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส จเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทำผิดพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 มาตรา 78 รวมทั้งนายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด และนายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อัยการ กระทำผิดพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2521 มาตรา 46 ที่พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับกำหนดไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้เข้าไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ หรือจัดการ หรือดำรงตำแหน่งอื่นใดที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกันในห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือบริษัทจำกัด

**ย้อนแผนบุกยึดทีพีไอ

สำหรับกระบวนการเข้ายึดอำนาจการบริหารทีพีไอนั้น ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ศาลแต่งตั้งให้กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ แทนบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส โดยกระทรวงการคลังได้ตั้งตัวแทนผู้บริหารแผนฯนำทีมโดยพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ แต่ได้มีความขัดแย้งกับนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ผู้บริหารลูกหนี้ เนื่องจากเห็นความไม่ชอบมาพากลในการเข้ามาบริหารงานของคลังในสมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

ขณะที่การเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูทีพีไอนั้น ได้กำหนดเงื่อนไขการขายหุ้นเพิ่มทุนทีพีไอให้นักลงทุนใหม่ และขายหุ้นทีพีไอโพลีนที่ทีพีไอถืออยู่ด้วย โดยให้หน่วยงานที่คลังดูแลอยู่ทั้งปตท. กบข. ออมสิน กองทุนวายุภักดิ์เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวในราคาเพียงหุ้นละ 3.30 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับการขอซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่นายประชัยได้เสนอไว้ รวมทั้งพยายามกีดกันการสรรหาผู้ร่วมทุนต่างชาติที่นายประชัยเจรจามาร่วมทุนด้วย

ทั้งนี้ หลังจากกระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฯ ยืนยันการขายหุ้นดังกล่าวให้พันธมิตร ส่งผลให้ปตท.กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 30% กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ธนาคารออมสิน กองทุนรวมวายุภักษ์ ถือหุ้นรายละ 10 %

หลังจากนั้นศาลฯ ได้มีคำสั่งให้ทีพีไอออกจากการฟื้นฟูกิจการเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2548 โดยคลังได้จัดประชุมผู้ถือหุ้นทีพีไอในวันรุ่งขึ้นทันที โดยมีวาระแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมอีก 15 คนรวมเป็น 25 คน และล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ทีพีไอได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อปลดนายประชัย ออกจากการเป็นกรรมการบริษัทฯ โดยให้เหตุผลว่า นายประชัยถูกกล่าวโทษโดยสำนักงาน ก.ล.ต. เกี่ยวกับการปั่นหุ้นทีพีไอโพลีน หากไม่ดำเนินการปลด อาจเป็นเหตุให้ทีพีไอถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนได้ และไม่สามารถดำเนินการออกหลักทรัพย์ให้พนักงาน (ESOP) ได้ตามแผนฟื้นฟูกิจการด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.