อะไหล่แพง..กลายเป็นสภาวะจำยอมของคนใช้รถเข้าศูนย์บริการไปแล้ว ขณะที่อยากจะใช้อะไหล่ถูกก็ต้องไปบริการอู่ซ่อมข้างถนน
พร้อมกับความหวั่นวิตกที่ว่าอู่เหล่านี้ใช้ "อะไหล่ปลอม" ทำไมอะไหล่รถต้องแพง
อะไหล่ปลอม ทำถึงได้ชื่อว่าปลอม ทั้งที่คุณภาพอาจจะไม่แตกต่างกัน ศูนย์บริการฟันกำไรมหาศาลจากค่าอะไหล่จริงหรือ
อู่ซ่อมทั่วไปจะยกมาตรฐานขึ้นมาแข่งขันเพื่อทำให้อะไหล่รถถูกลงได้หรือไม่
?
รัฐตามไม่ทัน บริษัทมัดมือชก
หลังจากตลาดรถยนต์เมืองไทยกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง นับจากปี 2535 การแข่งขัน
เพื่อดึงลูกค้าจึงรุนแรงขึ้น การประกาศลดราคาจำหน่ายรถยนต์ หรือเงื่อนไขต่าง
ๆ ถูกงัดออกมาใช้ ซึ่งก็ล้วนได้ผลดังคาด จนทำให้เข้าใจกันว่า ณ วันนี้ ตลาดรถยนต์เมืองไทยกลายเป็นของผู้ซื้อ
ด้วยอำนาจต่อรองที่มีอยู่มากมายจากการแข่งขันที่รุนแรง
สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนั้น ยิ่งทำให้คนภาครัฐมั่นใจอย่างเต็มที่ว่า
การปล่อยให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีเป็นแนวทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะตลาดเป็นตัวบีบไม่ให้ผู้ค้าเอาเปรียบผู้บริโภค
แต่พ่อค้าก็ยังเป็นพ่อค้าอยู่วันยังค่ำ ยากที่คนภาครัฐจะตามได้ทัน !
ทุกวันนี้อาจกล่าวได้ว่า สงครามหน้าฉากไม่มีใครกล้าที่จะล่วงล้ำ เพื่อจำหน่ายรถยนต์ในราคาที่แพง
ถึงแม้ว่าราคาที่จำหน่ายกันอยู่จะไม่ใช่ราคาถูกก็ตาม แต่ก็ยังไม่สูงลิบลิ่วเช่นอดีต
เมื่อหนทางที่จะทำกำไรอย่างมหาศาลจากการจำหน่ายรถยนต์ เป็นเรื่องที่ยากลำบากขึ้น
จึงต้องหาหนทางอื่น
งานศูนย์บริการเป็นทางออกหนึ่งที่จะสามารถทำกำไรได้ ในลักษณะมัดมือชกเสียด้วย
เพราะโดยทั่วไปรถยนต์ในช่วง 50,000 กิโลเมตรแรก หรือช่วง 2 ปีแรก เกือบทั้งร้อย
จะต้องนำเข้าตรวจเช็กในศูนย์บริการของบริษัทหรือดีลเลอร์ ยี่ห้อนั้น ๆ เพื่อการรับประกันที่จะไม่มีปัญหาภายหลังตามเงื่อนไขรับประกัน
50,000 กิโลเมตรหรือ 2 ปีแรก
ลองนับกันอย่างคร่าว ๆ ถ้ารถยนต์คันหนึ่งตรวจเช็กตามระยะปกติ ซึ่งก็คือการนำรถยนต์เข้าตรวจเช็ก
เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และอุปกรณ์ ชิ้นส่วนหลักตามอายุการใช้งาน จะได้ว่า
ต้องตรวจเช็คตามระยะ 1,000 กิโลเมตรแรก, 5000 กิโลเมตร, 10,000 กิโลเมตร,15,000
กิโลเมตร,20,000 กิโลเมตร, 25,000 กิโลเมตร, 30,000 กิโลเมตร, 35,000 กิโลเมตร,
40,000 กิโลเมตร, 45,000 กิโลเมตร, 50,000 กิโลเมตร รวมเป็น 11 ครั้งในรอบ
2 ปี คำนวณค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยครั้งละ 2,000 บาท เท่ากับว่าเราเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
22,000 บาท
ยังไม่นับรวมถึงผู้ใช้รถยนต์ที่ถนอมมากกว่าปกติคือการตรวจเช็ก และเปลี่ยนถ่านน้ำมันเครื่องทุกระยะ
3,000 กิโลเมตร และรวมถึงอะไหล่ที่จะต้องเปลี่ยนในช่วง 2 ปีแรกนอกเหนือจากการตรวจเช็กตามระยะปกติแล้ว
หรือผู้ที่นิยมนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการ แม้จะผ่านระยะรับประกันหรือ 50,000
กิโลเมตรไปแล้วก็ตาม ซึ่งจะเห็นว่าค่าใช้จ่ายที่จะต้องเสียให้กับศูนย์บริการนั้นมากมายทีเดียว
มากมายถึงขนาดที่ว่า บริษัทรถยนต์ยอมลดกำไรในงานขายเพื่อนำรายได้ส่วนศูนย์บริการมาสมทบ
ก็น่าจะดำเนินธุรกิจไปได้อย่างไม่ลำบาก
การดำเนินนโยบายด้านศูนย์บริการเช่นนี้ อาจกล่าวได้หลายค่ายรถยนต์กำลังกระทำอยู่
ในลักษณะที่ผู้ซื้อ และผู้ใช้รถยนต์ไม่อาจจะไหวตัวทัน หรือถ้ารับรู้ ก็เปล่าประโยชน์
เพราะไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร
ถึงวันนี้แนวนโยบายด้านศูนย์บริการของบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ ได้ผิดเพี้ยนไปเสียแล้ว
!
สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่อาจกล่าวได้ว่ามีอำนาจควบคุม และขอบข่ายบทบาทครอบคลุมมาถึงธุรกิจศูนย์บริการ
เพื่อไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคนั้น ก็คือกระทรวงพาณิชย์ผ่านทางกรมการค้าภายใน
กรมการค้าภายใน "ทำไม่ไหว"
แต่จากการสอบถามของ "ผู้จัดการ" ไปยังกรมการค้าภายใน กลับได้คำตอบที่ผู้ใช้รถยนต์ได้ยินแล้วสะท้อนใจเป็นอย่างยิ่ง
"ทำไม่ไหว" คำตอบของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมการค้าภายในที่ดูแลสินค้าซึ่งเข้าข่ายอยู่ในส่วนนี้
เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าวถึงการดูแลกิจการศูนย์บริการเพื่อไม่ให้เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคเกินไปนั้นว่า
เป็นเรื่องของคณะกรรมการกลางกำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะกำหนดแนวทางว่าสินค้าส่วนใดที่กรมการค้าภายในจะต้องเข้าไปดูแล
และที่ผ่านมายังไม่เคยมีการเสนอให้กรมฯ เข้าไปดูแลในส่วนกิจการศูนย์บริการหรือสินค้าอะไหล่รถยนต์
ทั้งนี้น่าจะมาจากสาเหตุที่ว่า สินค้าอะไหล่รถยนต์และงานศูนย์บริการ ทางภาครัฐยังมองว่าเป็นสินค้าที่ยังไม่เข้าข่ายจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน
หรืออีกนัยหนึ่งถ้ามองอย่างย้อนยุคก็คือ รถยนต์ยังเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอยู่
"สินค้าอะไหล่รถยนต์ไม่มีการควบคุมราคามาตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว เพราะอะไหล่รถยนต์มีมากรายการเกินไป
จึงไม่สามารถทำได้เนื่องจากอะไหล่มีมากจริง ๆ ที่สำคัญยังมีสินค้าที่จำเป็น
ที่ทางกรมจะต้องตรวจสอบอีกมาก ลำพังสินค้าจำเป็นที่มีอยู่ก็ทำไม่ไหวอยู่แล้ว
เจ้าหน้าที่ของเราไม่เพียงพอถ้าจะให้เข้าไปตรวจสอบสินค้าอะไหล่รถยนต์ด้วย"
เจ้าหน้าที่ของกรมการค้าภายใน กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
ทุกวันนี้แม้ทางกรมการค้าภายในจะยังไม่เข้าไปตรวจสอบกิจการค้าอะไหล่ และศูนย์บริการ
แต่ก็ยังรับเรื่องร้องเรียน โดยการตั้งศูนย์ร้องเรียน เพื่อที่ผู้บริโภคยื่นเรื่องในคราวที่ถูกเอาเปรียบเกินไป
แต่นับจากเริ่มตั้งศูนย์ร้องเรียนมาหลายปี มีการร้องเรียนผ่านศูนย์แห่งนี้
ในกรณีอะไหล่แพงหรือศูนย์บริการคิดค่าบริการแพงเกินไปเพียงไม่กี่ครั้ง และแต่ละครั้งก็ไม่ชัดเจนนักโดยเฉพาะระยะ
2-3 ปีมานี้ การร้องเรียนจากกรณีดังกล่าวแทบไม่มีให้เห็นเลย
"อย่างกรณีที่มีการร้องเรียนกันมานั้น ทางกรมก็เข้าไปตรวจสอบทางผู้ค้าก็ปรับปรุง
ซึ่งจะเป็นลักษณะการตักเตือนและขอความร่วมมือกัน เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายเป็นบทลงโทษอย่างชัดเจน"
เจ้าหน้าที่กรมการค้าภายในกล่าว
สำหรับอนาคต การที่กรมการค้าภายในจะเข้ามาดูแลในส่วนของราคาอะไหล่และงานศูนย์บริการรถยนต์
ยิ่งเป็นเรื่องยากลำบากมากขึ้น เพราะนโยบายหลักออกมาแล้วว่า จะปล่อยให้เป็นเรื่องของการค้าเสรีมากขึ้น
ทางด้านบริษัทค้ารถยนต์ ต่างปฏิเสธเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่ได้หวังกำไรกับงานศูนย์บริการและอะไหล่
"ยังยึดนโยบาย ทำศูนย์บริการเพื่อเกื้อหนุนลูกค้า ไม่ได้หวังกำไรมุ่งเน้นให้ราคาสมเหตุสมผล
แต่ที่ว่ามันแพงขึ้นคงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ" แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ค้ารถยนต์รายใหญ่ของไทยกล่าว
เช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ บริษัท ที่ต่างไม่ยอมรับความจริงที่ว่าค่าอะไหล่รถยนต์
และค่าแรงในศูนย์บริการ ณ ขณะนี้ได้แพงลิบลิ่ว
ทำไมอะไหล่ต้องแพง ?
ในกรณีค่าใช้จ่ายของรถยนต์ที่เข้าศูนย์บริการสูงมากนั้น มีการอธิบายว่าเหตุที่งานบริการที่ศูนย์บริการมีค่าใช้จ่ายสูงกว่านั้นมาจาก
3 สาเหตุหลัก คือ 1. ค่าแรง 2. ค่าอะไหล่ และ 3. สุดท้าย วิธีของงานซ่อมบำรุงที่แตกต่างกัน
ประการแรก ค่าแรงที่แพงสูงนั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจกันดีเพราะศูนย์บริการเป็นรูปแบบที่มีค่าใช้จ่ายจากการจัดการเยอะมาก
นับแต่ค่าที่ดิน ที่จอดรถ อาคารพื้นที่ต้อนรับ การอำนวยความสะดวกต่าง ๆ
ประการที่สอง ค่าอะไหล่ที่ว่าแพงกว่านั้น ทั้ง ๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้วทางศูนย์บริการน่าที่จะจำหน่ายอะไหล่ได้ในราคาที่ถูกกว่าด้วยซ้ำ
ในปัจจุบันอะไหล่แท้นั้น ทางบริษัทรถยนต์ต่าง ๆ จะว่าจ้างโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ทำการผลิต
โดยส่งมายังโรงงานประกอบรถยนต์ส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งบริษัทรถยนต์จะรับไว้เพื่อจำหน่ายไปเป็นอะไหล่อีกทอดหนึ่ง
"มีสองช่องทางในการจำหน่ายอะไหล่รถยนต์โดยบริษัทรถยนต์ คือจำหน่ายไปยังดีลเลอร์
เพื่อทำการสต๊อกไว้บริการลูกค้า และจำหน่ายไปยังตัวกลางผู้จำหน่ายอะไหล่
ซึ่งอยู่แถวบรรทัดทอง โดยตัวกลางนี้จะทำการกระจายสินค้าไปยังร้านค้าอะไหล่รายย่อยอีกทอดหนึ่ง"
ผู้บริหารของบริษัทรถยนต์รายหนึ่งกล่าว
ทั้งนี้รูปของการกระจายอะไหล่จากสองช่องทางนั้นจะแตกต่างกันอยู่บ้างในเรื่องการกำหนดราคา
การจำหน่ายไปยังดีลเลอร์นั้นบริษัทรถยนต์จะจำหน่ายด้วยการตั้งราคาจำหน่ายปลีกไว้มาตรฐาน
ซึ่งดีลเลอร์จะต้องจำหน่ายแก่ลูกค้าตามนั้น ส่วนต่างที่ทำให้ดีลเลอร์ได้กำไรนั้น
ก็คือการลดเปอร์เซ็นต์จากราคาขายปลีกนั้น ซึ่งบางที่อาจได้รับส่วนลดสูงถึง
40% แต่บางทีอาจไม่ถึงแล้วแต่กรณีไป ตรงนี้มีรายละเอียดมากมายว่าจะพิจารณาให้ดีลเลอร์รายใดเท่าไร
ในด้านของตัวกลางก็เช่นกันจะมีราคาขายปลีกตั้งไว้เท่ากับที่ดีลเลอร์ได้รับแต่จะเป็นการขายให้ตัวกลางในราคาขายส่ง
ซึ่งส่วนต่างราคาส่งกับปลีกจะอยู่ที่ 30-40% ส่วนกรณีศูนย์บริการที่เป็นสาขาก็จะใช้วิธีส่งสินค้าไปสต๊อกไว้
แต่ราคาจำหน่ายปลีกจะเท่ากับที่ดีลเลอร์จำหน่าย ซึ่งตรงนี้ศูนย์บริการที่เป็นสาขาน่าจะมีกำไรต่อหน่วยมากกว่าเมื่อเทียบกับดีลเลอร์
เพราะถือเป็นผู้รับช่วงรายแรกมาจากโรงงานผลิตชิ้นส่วน
ที่ผ่านมาทุกยี่ห้อจะมีวิธีจำหน่ายสินค้าเป็นสองทางเช่นนี้ไม่แตกต่างกันมากนัก
คือส่วนหนึ่งเข้าศูนย์บริการอีกส่วนหนึ่งเข้าไปยังตลาดร้านค้าปลีก
"แต่ยังมีบริษัทรถยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ที่ไม่ยอมกระจายสินค้าเข้าสู่ตลาดร้านค้าปลีกตรงนี้
ทำให้บริษัทได้เงินเป็นกอบเป็นกำจากงานนี้เพราะลูกค้าไม่มีทางเลือก ต้องพึ่งพาศูนย์บริการเป็นหลักใหญ่
เพราะลูกค้าหาอะไหล่ไม่ได้ แต่ตรงนี้ทำให้พวกเขากระจายตลาดออกไปยากลำบากเช่นกัน
เพราะอะไหล่หายากขณะที่ค่ายอื่นผู้ใช้สามารถเลือกหาอะไหล่ได้ง่ายกว่า"
ผู้บริหารของบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของเมืองไทยและของโลกกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ซื้ออะไหล่จากร้านค้าปลีกถูกกว่าซื้อที่ศูนย์บริการ
ขั้นตอนการเดินทางของอะไหล่รถยนต์จากบริษัทผู้ผลิตโดยตรง ซึ่งป้อนไปยังบริษัทรถยนต์
จากบริษัทรถยนต์ส่งต่อมายังศูนย์บริการ ก่อนถึงมือผู้ใช้ ขณะที่อีกฟากหนึ่งจากบริษัทรถยนต์มายังตัวกลางจำหน่าย
จากตัวกลางมายังร้านค้าปลีกหรืออู่บริการทั่วไป ก่อนถึงมือผู้ใช้ จะเห็นว่าการเดินทางไปยังศูนย์บริการของอะไหล่รถยนต์นั้นสั้นกว่าการเดินทางไปยังร้านค้าปลีก
แต่เหตุใดราคาจำหน่ายอะไหล่จากศูนย์บริการจึงแพงกว่า
อันที่จริงถ้าตามราคาขายปลีกที่ตั้งไว้จะเท่ากัน แต่การซื้ออะไหล่หรือทุกอย่างจากศูนย์บริการจะถูกคิดราคาเต็มหรือลดเปอร์เซ็นต์เต็มที่ก็แค่
10% แต่ต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% ขณะที่การซื้ออะไหล่จากร้านค้าปลีกทั่วไปจะได้รับการลดราคา
20% บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ตรงนี้จะเห็นชัดเจนว่าการซื้อจากร้านค้าปลีกถูกกว่าราว
10%
และที่กล่าวถึงนั้น เป็นการกล่าวถึงเฉพาะอะไหล่แท้ต่ออะไหล่แท้ด้วยกัน ยังไม่รวมถึงอะไหล่เทียมหรือเลียนแบบ
ที่ซึ่งภาพพจน์ของการโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทรถยนต์สร้างไว้ ดูน่ากลัวยิ่ง
"แท้ เทียม เลียนแบบ" คุณภาพไม่ต่าง ต่างกันที่ราคา
แต่จากข้อมูลที่ "ผู้จัดการ" ได้สืบค้นพบว่า คำว่าอะไหล่แท้ อะไหล่เทียม
หรืออะไหล่เลียนแบบ ดูจะไม่มีความหมายอะไรเลย เพราะทั้งหมดแทบไม่มีความแตกต่างในด้านคุณภาพ
จะมีที่ต่างชัดเจนก็คือราคาเท่านั้น
"แผ่นคลัชของแท้ที่ตีตรายี่ห้อรถจะราคาตั้งแต่หนึ่งพันหน้าร้อยบาทถึงหนึ่งพันแปดร้อยบาท
แต่ถ้าเป็นของแท้เช่นกันแต่ไม่มีการตีตรา จะด้วยวิธีใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นของไม่ผ่านคิวซีโรงงานประกอบรถยนต์หรือหลบเลี่ยงออกมา
จะมีราคาราวหนึ่งพันสามร้อยบาทถึงหนึ่งพันสี่ร้อยบาท และถ้าเป็นของเทียมที่ทำเลียนแบบราคาจะอยู่ที่สามร้อยบาทถึงสี่ร้อยบาทเท่านั้น
ซึ่งเรื่องคุณภาพหรือความปลอดภัยไม่มีปัญหา ไม่แตกต่างกัน จะต่างก็ตรงที่อายุการใช้งานเท่านั้น
แต่ก็ไม่เสมอไปบางอย่างสินค้าที่ทำเลียนแบบขึ้นมาอาจจะมีอายุการใช้งานยาวนานกว่าก็ได้"
เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ทั่วไป ซึ่งคร่ำหวอดกับการเรื่องอะไหล่รถยนต์ เพราะต้องผ่านมือทุกวันได้กล่าวกับ
"ผู้จัดการ"
เจ้าของกิจการอู่ขนาดกลางอีกรายหนึ่งได้ยืนยันถึงความไม่แตกต่างระหว่างอะไหล่แท้และไม่แท้เพิ่มเติม
"อย่างกรณีแผ่นคลัช ถ้าจำไม่ผิด ยี่ห้อแอสโก้ ได้ผลิตส่งให้กับบริษัทรถยนต์สองสามราย
จากนั้นบริษัทรถยนต์ตีตราของตนเองทั้งใช้ในโรงงานประกอบรถยนต์และจำหน่ายสู่ตลาดอะไหล่
ซึ่งการจำหน่ายสู่ตลาดอะไหล่นั้นตั้งราคาไว้ที่หนึ่งพันห้าร้อยบาทต่อหน่วย
ขณะที่แอสโก้เองผลิตและตีตราแอสโก้จำหน่ายในตลาดอะไหล่ราคาจะอยู่ที่เก้าร้อยถึงหนึ่งพันบาทเท่านั้น"
อะไหล่มีชื่อก็ยังถือว่า "ไม่แท้" ?
หรืออย่างกรณีผ้าเบรกยี่ห้อที่โรงงานประกอบรถยนต์และบริษัทรถยนต์ถือว่าเป็นของแท้จะมีราคามากกว่า
2,000 บาททุกรุ่น ส่วนผ้าเบรกเฟอโรโด ซึ่ง ณ วันนี้บริษัทรถยนต์จะถือรวมเป็นของไม่แท้เพราะไม่ได้ส่งโรงงานประกอบหรือบริษัทรถยนต์รับรอง
จะมีราคา 1,500-1,700 บาท แล้วแต่จะเป็นรุ่นใด ซึ่งผ้าเบรกเฟอโรโดนั้นอู่ทั่วไปนิยมใช้มากกว่าผ้าเบรกที่บริษัทรถยนต์ต่าง
ๆ ตีตราว่าเป็นของแท้เสียอีกและไม่ใช่ว่าเพราะราคาถูกกว่า แต่เป็นเพราะมั่นใจในเรื่องคุณภาพและอายุการใช้งานที่ดีกว่า
สำหรับผ้าเบรกเฟอโรโดนั้นจัดจำหน่ายโดยบริษัท บุญผ่อง จำกัด และเมื่อไม่นานมานี้ผู้บริหารของบริษัทได้ประกาศแผนการลงทุนอย่างชัดเจนว่าจะขยายการผลิตที่มีอยู่
1 แสนชุดต่อปีเป็น 3 แสนชุดต่อปี และเพิ่มเป็น 5 แสนชุดภายใน 3 ปี ด้วยเงินลงทุนเพิ่มเป็น
5 แสนชุดภายใน 3 ปี ด้วยเงินลงทุนเพิ่มอีก 80 ล้านบาทและเป็นการลงทุนขยายงานโดยอาศัยเทคโนโลยีของบริษัทแม่จากประเทศอังกฤษ
ประการสำคัญในปี 2539 บริษัทมีแผนที่จะเสนอสินค้าเข้าสู่ตลาดโออีเอ็ม (โรงงานประกอบรถยนต์)
ซึ่งจะทำให้ผ้าเบรกเฟอโรโด ขยับจากสินค้าเทียมหรือไม่แท้ในการกล่าวรวมของบริษัทรถยนต์มาเป็นสินค้าหรืออะไหล่แท้ของตลาดอีกยี่ห้อหนึ่ง
ผ้าเบรกเฟอโรโด ปัจจุบันจำหน่ายเฉพาะตลาดทดแทนหรือตลาดอะไหล่เท่านั้นโดยเจาะตลาดไปยังร้านจำหน่ายและอู่บริการโดยตรง
ซึ่งตรงนี้ทำให้ผ้าเบรกเฟอโรโด สร้างส่วนแบ่งตลาดได้มากพอสมควร ด้วยยอดขาย
70 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาและปีนี้คาดว่ายอดจำหน่ายจะมีราว 85 ล้านบาท
เส้นทางของผ้าเบรกเฟอโรโด นับเป็นตัวอย่างชัดเจนว่าชิ้นส่วนหรืออะไหล่ที่บริษัทรถยนต์ขนานนามว่า
อะไหล่เทียมไม่มีความแตกต่างในเรื่องคุณภาพของสินค้าและยังมีอะไหล่เทียมในลักษณะนี้อีกมาก
ออกข่าวอะไหล่ปลอม เพื่อตีอู่ซ่อม
มีการออกข่าวทั้งจากบริษัทรถยนต์โดยตรง และในนามของชมรมอะไหล่แท้ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวของบริษัทผู้ผลิต
และค้ารถยนต์ในประเทศไทย แน่นอนว่าข่าวที่ออกมาก็เพื่อโจมตีธุรกิจอะไหล่เทียมและอะไหล่ปลอม
การปล่อยข่าวมีความแยบยลอยู่มากเพราะมิได้โจมตีการดำเนินธุรกิจหรือผู้ผลิตแม้แต่น้อย
แต่กลับกล่าวถึงความเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา จากการใช้อะไหล่ที่ไม่ใช่ของแท้
สร้างภาพความหวาดกลัวให้เกิด
การโจมตีอะไหล่ที่ไม่แท้ในเรื่องคุณภาพนั้น นอกจากสร้างความไม่มั่นใจให้กับผู้ใช้รถแล้ว
ยังได้ภาพที่ว่าของแท้จำเป็นต้องมีราคาแพงกว่าเพราะว่าคุณภาพดีกว่า มั่นใจได้
ประการสำคัญ มีการระบุว่าที่ศูนย์บริการจะมีแต่ของแท้เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าอะไหล่ไม่แท้จะพบได้ที่อู่ซ่อมทั่วไป
ทั้งยังชี้ชัดว่าอู่ซ่อมทั่วไปมักใส่ของปลอมให้ลูกค้าโดยไม่บอกกล่าว ตรงนี้ทำให้ผู้ใช้ไม่มั่นใจอู่ซ่อมทั่วไป
หรืออาจติดเป็นภาพลบจนไม่กล้านำรถยนต์เข้าอู่ซ่อมทั่วไปอย่างเด็ดขาดเลยก็มี
จนที่สุดเมื่อไม่มีใครกล้าใช้บริการอู่ซ่อมทั่วไป หรืออย่างน้อยผู้ใช้รถยนต์รายใหม่
ๆ ที่ไม่เคยสัมผัสกับอู่ซ่อมทั่วไปเลยก็จะไม่กล้าเข้าไปใช้บริการ ตรงนี้บริษัทรถยนต์ก็จะเป็นผู้กำหนดชะตากรรมได้อย่างเด็ดขาดจากงานศูนย์บริการ
ราคาบวกหลายชั้น
"ผมมีญาติทำธุรกิจปั๊มชิ้นส่วนพลาสติกส่งให้กับโรงงานประกอบรถยนต์ซึ่งเขาเล่าให้ฟังว่า
ยกตัวอย่างชิ้นส่วนอันหนึ่งที่ใช้กับรถยนต์นั่ง ราคาที่เขาขายส่งให้กับโรงงานประกอบหรือบริษัทรถยนต์นั้นจะอยู่ที่หนึ่งพันบาทต่อชิ้น
แต่ชิ้นส่วนอันนั้นพอมาจำหน่ายเป็นอะไหล่รถยนต์กลับมีราคาจำหน่ายสูงถึงสามพันบาทต่อชิ้น
ตรงนี้ไม่ทราบว่าราคามันพุ่งขึ้นไปสูงขนาดนั้นได้อย่างไร" เจ้าของอู่ซ่อมรถยนต์ที่ถือว่าอยู่ในขั้นรับรถยนต์ได้ราว
10 คันต่อวันกล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในธุรกิจค้าอะไหล่รถยนต์
"หรืออย่างลูกปืนมีการตั้งราคาบวกไว้สูงมาก สูงกว่าต้นทุนเป็นเท่าตัวทีเดียว
นี่เท่าที่ทราบ ซึ่งอะไหล่รถยนต์นั้นยังมีอีกมากที่เราไม่ทราบว่าต้นทุนจริง
ๆ ของเขาเป็นเท่าไร และไม่มีใครเข้าไปพิสูจน์หรือตรวจสอบว่าการตั้งราคานั้นยุติธรรมหรือไม่
และถ้ายิ่งมองถึงการตั้งบนฐานของคุณภาพด้วยแล้ว สินค้าอะไหล่แท้จะเป็นเรื่องของการค้ากำไรอย่างมหาศาลทีเดียว"
เหตุผลที่ทำให้อะไหล่แพง โดยเฉพาะอะไหล่แท้นั้น น่าจะมาจากมูลเหตุแห่งการค้ากำไรของบริษัทรถยนต์ที่คิดราคาเต็ม
หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการชาร์จราคา และจากการผ่านตัวกลางหลายทอดก็ว่าได้
เหตุผลสุดท้ายที่ทำให้ค่าใช้จ่ายในการนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการสูงมากนั้น
ทางศูนย์บริการจะเน้นการเปลี่ยนชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ ทั้งชุดมากกว่าการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนเพียงบางชิ้น
"ศูนย์บริการเอะอะอะไร ก็เปลี่ยนใหม่ทั้งชุดโดยอ้างถึงอายุการใช้งานของรถยนต์เป็นหลัก
ดึงความกลัวซึ่งเป็นสัญชาตญาณของคนออกมา ที่สุดผู้ใช้รถก็คิดว่าศูนย์บริการทำดีกว่า
ซึ่งที่จริงไม่ใช่อย่างนั้นเพราะบางครั้งระบบมีปัญหาแต่เปลี่ยนแค่บางชิ้นส่วนก็สามารถทำงานต่อไปได้
ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งชุดเสมอไป" เจ้าของอู่บริการแห่งหนึ่งกล่าว
ผู้ใช้รถไม่มีทางออก ?
ถ้าหากไม่อยากไปใช้อะไหล่ราคาแพงในศูนย์บริการ ผู้ใช้รถก็มีสองทางเลือก
หนึ่ง - ไปใช้บริการของอู่ซ่อมทั่วไป
สอง - ใช้อะไหล่เก่าจากเชียงกง
แต่คำถามคือ อู่ซ่อมทั่วไปจะเป็นความหวังของผู้ใช้รถได้จริงๆ หรือ ?
ประการแรก - ราคาถูกกว่า
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อู่ซ่อมรถราคาถูก (ซึ่งรวมทั้งอะไหล่-ค่าแรง และอื่น
ๆ) เพราะอู่ซ่อมรถส่วนใหญ่ไม่ต้องลงทุนสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ ไม่ต้องลงทุนสร้างลานจอดรถเพราะบางทีใช้ฟุตบาธหน้าร้าน
ประการที่สอง-ค่าแรงถูก เพราะใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของเจ้าของอู่เป็นหลัก
ขณะที่ลูกมือใช้แรงงานราคาถูกและเรียนรู้ประสบการณ์จากการทำงาน
แต่ถึงกระนั้นอู่ทั่วไปก็ต้องเผชิญกับปัญหาเทคโนโลยีของรถยนต์ที่ก้าวไปเร็วมากถ้างานที่เทคนิคมาก
ๆ ก็ไม่สามารถทำได้และการเรียนรู้หรือพัฒนาฝีมือช่างในส่วนนี้ก็เป็นเรื่องที่มีขีดจำกัด
บางอย่างจึงต้องเข้าศูนย์บริการเพียงอย่างเดียว อู่ซ่อมทั่วไปทำไม่ได้
ประการที่สาม - การบริการ อู่ซ่อมทั่วไปไม่ต้องคิดถึงการลงทุนด้านบริการสร้างภาพจน์สวยหรู
แต่เน้นความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นหลัก
ประการที่สี่ - อะไหล่ มีทางเลือกมากมายทั้งคุณภาพ ราคา ปลอม-ไม่ปลอม เลียนแบบหรือไม่เลียนแบบ
"งานบริการของเราก็ต้องมีการรับประกันเช่นกัน ที่นี่รับประกันการซ่อมบำรุงและชิ้นส่วนหรืออะไหล่ที่เปลี่ยนให้ในระยะหนึ่งหมื่นกิโลเมตร
ดังนั้นอะไหล่ที่เราเปลี่ยนให้ลูกค้า เราจึงต้องเลือกที่ดีที่สุดทั้งด้านคุณภาพและราคา
ส่วนกรณีอะไหล่เทียมนั้น เราจะบอกลูกค้า ถึงข้อดีข้อเสีย ให้ลูกค้าตัดสินใจเอง
ซึ่งส่วนใหญ่ถ้ารถยนต์เก่าก็มักนิยมอะไหล่เทียมเป็นหลักเพราะราคาถูกกว่ามาก"
เจ้าของอู่ขนาดกลางรายหนึ่งกล่าว ซึ่งอย่างน้อยอีกสามรายก็กล่าวในลักษณะเดียวกันนี้
อู่ซ่อมทั่วไปนั้นจึงเหมาะกับผู้ใช้รถที่รู้แหล่ง รู้จักอู่ที่มีคุณภาพและซื่อสัตย์และซ่อมกันเป็นขาประจำกันเลย
อย่างไรก็ตามนั่นก็ไม่ใช่ทางออกที่เป็นไปได้ตลอดไป โดยเฉพาะผู้ใช้รถทั่วไปที่ไม่รู้จักที่ทางของอู่ที่มีคุณภาพ
"ผมถามหน่อย มีคนจะมาซ่อมรถให้คุณ คนหนึ่งแต่งตัวมอมแมม บอกว่าจะซ่อมให้
คิดถูก ๆ กับอีกคนหนึ่งแต่งตัวสวย พูดจาดี อธิบายอะไรเป็นหลักเป็นเกณฑ์ แต่บอกว่าต้องซ่อมแพงเพราะคุณภาพอะไหล่แพง
แต่มียี่ห้อรถรับประกันคุณจะเลือกใคร คนที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลยซึ่งก็คือผู้ใช้รถส่วนใหญ่นั่นแหละก็ต้องเลือกอย่างหลัง"
ผู้เชี่ยวชาญในวงการรถยนต์รายหนึ่งให้ความเห็น
สิ่งที่น่าจะเป็นทางออกคือ เมื่อศูนย์บริการมีจุดอ่อนในเรื่องอะไหล่แพงอู่ทั่วไปก็ต้องใช้ช่องโหว่ตรงนี้กับคุณภาพในการซ่อมเป็นจุดขาย
ขณะเดียวกันก็ถึงเวลาที่อู่ซ่อมทั่วไปจะต้องยกมาตรฐานของอู่ให้ทัดเทียมกับศูนย์บริการ
อย่างน้อยอู่ทั่วไปก็ต้องยกระดับมาตรฐานของตนเองขึ้นมาทั้งสถานที่บริการและรวมไปถึงภาพพจน์
เพื่อให้เกิดการแข่งขันและทางเลือกที่ "ไว้ใจได้" ของบรรดาผู้ใช้รถ
แต่นั่นหมายถึงการลงทุนที่บรรดาอู่ซ่อมรถอาจจะลังเลใจ
นั่นหมายความว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ผู้ใช้รถก็แทบจะไม่มีทางเลือก
ร้องหารัฐ รัฐบอกทำไม่ไหว
หันมองบริษัทรถยนต์ กลับพบรอยยิ้มที่มีแต่คมมีดซุกซ่อนไว้ในสไตล์พ่อค้า
แล้วชะตากรรมคนใช้รถจะเป็นอย่างไรต่อไป
ไม่อยากจะคิด !