"โรงเรียนกวดวิชา "ติวระยะสั้นจะสำคัญน้อยลง"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

สำนักกวดวิชาส่วนใหญ่ยังไม่มีการตื่นตัวเรื่องการเอนทรานซ์ระบบใหม่ หลักสูตรสุดฮิตยังคงเป็นกวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัย ด้วยวิธีมุ่งทำคะแนนให้ได้สูงสุดตามสายวิชาที่ต้องการ ระบบการกวดวิชาที่พัฒนาไปอีกขั้นก็คือ การติวเจาะเฉพาะส่วนที่ต้องการ จะเข้าที่ไหนก็ติวเฉพาะแห่งไปเลย

เหมือนอย่างสถาบันอบาคัส ที่มีชื่อและมีระบบติวเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญธุรกิจ (เอแบค) โดยเฉพาะ ขนาดที่ว่าไม่ติดสามารถรับเงินคืนได้ แต่จากผลที่ผ่านมามีนักเรียนที่มากวดวิชาที่สถาบันอาบาคัส ไม่สามารถสอบเข้าได้เพียง 10% จากจำนวนผู้เข้ากวดวิชารุ่นละ 70-80 คนก็ถือว่าประสบความสำเร็จไปหนึ่งขั้นสำหรับการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม สำหรับเนื้อหาวิชาตามหลักสูตรวิชาการทั่วไปของโรงเรียนกวดวิชา ก็ยังคงมีเช่นเดียวกับสถาบันกวดวิชาอื่น ๆ สำหรับนักเรียนที่ต้องการเรียนเพิ่มเติม และเรียนล่วงหน้าด้วยจุดประสงค์ต่าง ๆ กันไป หรือแม้แต่การกวดวิชาระยะสั้นเพื่อมุ่งสอบเข้ามหาวิทยาลัยโดยตรง

"ของสถาบันเราถ้าเป็นเอแบคจะรับรองผล 100% แต่ถ้าเป็นเอนทรานซ์จะมีคนมาติวน้อยกว่า คิดว่าถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเอนทรานซ์ ของเราก็คงจะเหมือน ๆ เดิม เพราะเราจะมีชื่อเรื่องติวเข้าเอแบคที่ไม่ได้สอบส่วนกลางอยู่แล้ว คอร์สติวเข้าเอนทรานซ์ก็คงจะไม่เพิ่มมากไปกว่านี้ ตอนนี้ก็มีติวเอนทรานซ์ที่เดียวคือสาขาสยามสแควร์จาก 4 สาขา ที่หน้าเอแบค ลาดพร้าว และอนุสาวรีย์ชัยฯ" เจ้าหน้าที่โรงเรียนกวดวิชาอบาคัสกล่าว

ทั้งนี้ยังกล่าวด้วยว่า หรือถ้าเป็นไปตามระบบใหม่ หลักสูตรการติวระยะสั้นก็คงจะลดน้อยลงหรือหมดไป แต่หลักสูตรการเรียนล่วงหน้า และการเรียนเสริมก็คงยังอยู่ เพราะอย่างไรก็ยังมีประโยชน์สำหรับผู้เรียนที่จะมีโอกาสเรียนรู้มากกกว่าในห้องเรียน แต่ถ้าเป็นการติวข้อสอบมาตรฐานอย่างที่จะมีขึ้นตอนนี้ยังไม่มีความคิดอะไร เพราะยังไม่ทราบรายละเอียด

โรงเรียนกวดวิชาหลาย ๆ สถาบันส่วนใหญ่ยังไม่มีการตื่นตัวในเรื่องนี้ และเห็นว่าหลักสูตรของตนเองที่มีอยู่ก็เหมาะสมอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นการสอบระบบเอนทรานซ์ระบบใหม่หรือเก่า เพราะส่วนใหญ่จะเป็นการติวเพิ่มเติมหรือเรียนล่วงหน้า ซึ่งก็เกี่ยวข้องการเรียนในวิชาปกติ ถ้าจะมีผลจริง ๆ ก็คงจะเป็นหลักสูตรระยะสั้นซึ่งคงจะมีความสำคัญน้อยลงเพราะนักเรียนต้องตั้งใจเรียนตลอดทั้ง 3 ปี จะมาดูเอาตอนใกล้สอบเหมือนเดิมไม่ได้อีก

กระนั้นก็ดี เจ้าหน้าที่สถาบันกวดวิชาบางราย ก็ยังเห็นว่า หลักสูตรการติวเข้มเข้ามหาวิทยาลัยในระยะสั้น ก็ยังมีประโยชน์อยู่บ้าง อย่างน้อยก็เป็นสรุปและทบทวนและที่สำคัญคะแนนสอบกลางก็ยังมีเหลืออยู่อีก 50% หรือ 75% ในบางสาขาวิชา

แต่จุดที่ควรระวังก็คือตัวนักเรียนเอง ที่ต้องตระหนักไว้อยู่เสมอ อนาคตตัวเองไม่ได้อยู่ในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายก่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่ต้องพัฒนาการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องเพราะนับแต่ พ.ศ. 2542 หรือจะนับถอยหลังไป 3 ปี จะไม่มีใครรับรองผลการเข้ามหาวิทยาลัยให้กับคุณได้ในระยะเวลาการติวเข้มเพียงไม่กี่เดือนก่อนสอบ

สถาบันกวดวิชาหลายแห่ง ไม่มีการวัดความรู้เด็กของกำหนดชั้นเรียนเด็กเลือกชั้นไหนก็ชั้นนั้นได้ตามความต้องการ ไม่มีการบอกที่มาที่ไปหรือผลที่ได้รับ จะกล่าวถึงก็เพียงในวิชานั้นพูดถึงอะไร

แต่ก็มีหลายแห่งที่ยังมีการตระหนักในเรื่องนี้อยู่มากหนึ่งในนั้นคือสถาบันกวดวิชา PEP ซึ่งคงจะเป็นสถาบันกวดวิชาตัวอย่างได้ดี เพราะนอกเหนือจากมีความหลากหลายของระดับชั้นและเนื้อหาที่เรียนเหมือนที่อื่นๆ แล้ว เจ้าหน้าที่ของสถาบันยังเปิดเผยว่า

ธุรกิจการกวดวิชาจริงแล้วเกิดจากช่องว่างในการเรียนในชั้นเพราะเด็กในโรงเรียนทั่วไปจะมีห้องละ 40-50 คน อาจารย์ต้องสอนในเวลาที่จำกัด เด็กที่หัวไวก็รับความรู้ในเนื้อหาวิชาได้มาก เด็กที่รับไม่ทันเพราะอาจจะคิดช้ากว่าไม่ใช่เพราะเรียนไม่เก่ง เมื่อมาได้รับการอธิบายอย่างไม่เร่งรีบเกินไปก็จะเรียนได้ดีเช่นกัน

หรืออย่างคอร์สกวดวิชาเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ต้องแบ่งเด็กโดยดูจากการเรียนรู้ของเด็ก จุดมุ่งหมายของหลักสูตร เด็กที่เรียนมาสายอาชีพแล้วอยากสอบเอนทรานซ์ก็คงต้องมีการจัดการเรียนการสอนให้เฉพาะ รวมถึงเรื่องของเวลาที่จะสามารถมาเรียนได้ด้วย

การกวดวิชาแม้จะเป็นธุรกิจ บางสถาบันก็อ้างว่าจะมองเป็นธุรกิจอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะส่วนหนึ่งการกวดวิชาก็มีส่วนช่วยเสริมและเพิ่มทักษะการเรียนรู้ให้แก่เด็ก

เด็กที่เรียนเร็วอยู่แล้วก็จะได้มากขึ้น เด็กที่เรียนช้าก็จะได้เพิ่มขึ้น การพัฒนาหลักสูตรการกวดวิชา ก็มีการแบ่งระดับให้เข้ากับการเรียนรู้ของเด็ก โดยใช้หลักจิตวิทยาทางอาชีพครูเข้ามาช่วยในการจัดคอร์ส ซึ่งไม่เฉพาะการสอนวิชาอย่างเดียว การสื่อสารระหว่างครูกับเด็กก็ยังต้องใช้จิตวิทยาให้เด็กสนใจในบทเรียนด้วย จึงจะได้ผล

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เจ้าหน้าที่คนเดิมกล่าวว่า ถ้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมวิชาการ จะจัดให้มีการสอบ SAT เพื่อทดสอบการเรียนรู้ของเด็กจากที่จบชั้นมัธยมปลาย ตนก็เชื่อว่าทางสถาบันก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงหลักสูตร หรือติว SAT เพิ่มเติมเพราะตามหลักการสอนเด็กที่ผ่านการกวดวิชาตามหลักสูตรของสถาบันก็ต้องสอบ SAT ได้ดีอยู่แล้ว

"ที่นี่ไม่ใช่ผู้ปกครองพาเด็กมาแล้วจะสมัครคอร์สติวเข้มที่เนื้อหาวิชาค่อนข้างจะล่วงหน้า แต่เราทดสอบเด็กแล้วเห็นว่าควรจะเรียนคอร์สรองลงมา เพื่อให้เด็กแน่นกว่านี้แล้วเรียนอย่างสบาย เพื่อให้เด็ก ๆ ค่อย ๆ พัฒนาการเรียนรู้ไปทีละขั้น ไม่ใช่หวังจะได้เงินจากการเรียนหลาย ๆ คอร์ส ในส่วนนี้ผู้ปกครองเด็กส่วนใหญ่ก็เชื่อคำแนะนำ เพราะผลดีก็เกิดกับลูกของตนเอง

เมื่อเห็นคำแนะนำเช่นนี้แล้ว ผู้ปกครองทั้งหลายที่เร่งแต่ให้ลูกติววิชาโน้นวิชานี้อยู่ตลอดไม่มีเวลาพัก ก็ควรจะปรับระบบให้กับลูกตนเองมีระบบการเรียนรู้ที่ค่อย ๆ ซึมซับมากกว่าการเร่งอัดจนสมองของเด็กเหนื่อยล้าที่จะรับในคราเดียว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.