|
กทช. ดันรายย่อยรุกบริการสื่อสาร
ผู้จัดการรายวัน(26 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กทช. หนุนกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่รายย่อย แบบไร้โครงข่ายของตนเองเข้าสู่บริการสื่อสาร เตรียมประกาศราชกิจจาฯ บังคับใช้ ตุลาคมนี้ แถมเปิดช่อง หากเกิดข้อพิพาทในคู่สัญญาเอาผิดกฎหมายทางแพ่งได้ โดย กทช. ไม่ต้องนั่งตีความ เอกชนหนุนเป็นเรื่องดี รายใหม่จะได้เข้ามาช่วยเสริมตลาด หวั่นใจแค่คุณภาพบริการเทียบรายใหญ่ได้หรือไม่ เหตุต้นทุนต่างกัน เกรงปัญหาสัมปทานอาจทำได้ไม่เต็มที่ ส่วนแผนเลขหมาย อีกไม่เกิน 3 สัปดาห์ ร่างประกาศฯ แล้วเสร็จก่อนเปิดเวทีถกอีกรอบ
เมื่อวานนี้ (25 ก.ค.) คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อนำไปจัดทำประกาศ กทช. เรื่อง การประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทบริการขายต่อบริการ เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองสามารถเข้าสู่ตลาดบริการโทรคมนาคมและสามารถเสนอบริการโทรคมนาคมแข่งขันกับผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่มีประสิทธิภาพ เสรีและเป็นธรรม แก่ผู้ประกอบการทั้งที่มีโครงข่ายและไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งจะทำให้ตลาดบริการมีผู้ประกอบการในทุกระดับ และกระจายบริการได้อย่างเท่าถึง
พล.อ. ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการ กทช. กล่าว การจัดรับฟังความเห็นในวันนี้ กทช. จะรวบรวมข้อมูลทั้งหมด เพื่อออกเป็นประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาต่อไป โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณไม่เกินปลายเดือนตุลาคมนี้ โดยการออกประกาศฉบับนี้จะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่รายใหญ่ จนถึงรายย่อย หรือผู้ประกอบการรายใหม่ สามารถเช่าใช้ โครงข่ายร่วมได้ โดยไม่มีปัญหาด้านการกีดกัน โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ต (ไอเอสพี) ที่ปัจจุบันได้มีผู้สนใจเข้ามายื่นขอให้บริการ และได้รับใบอนุญาตไปแล้วมีอุปสรรคด้านการใช้โครงข่าย จนทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ แต่การขายต่อบริการจะไม่ได้มีข้อจำกัดในส่วนนี้เพียงอย่างเดียว แต่จะครอบคลุมไปยัง บริการโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ อีกด้วย
"ทุกวันนี้มีผู้ประกอบการอยู่เยอะ ทั้งที่เป็น ISP แต่ก็มีส่วนมากเหมือนกันที่ต้องปิดตัวเองลงไป เนื่องจากไม่สามารถทำธุรกิจที่มีการแข่งขันกันในทุกวันนี้ได้ ดังนั้นจึงอยากให้การทำธุรกิจต่อจากนี้มีความเสรีและเป็นธรรมอย่างแท้จริง โดยระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่และรายย่อยจะต้องอยู่ด้วยกันอย่างสมดุล"
สำหรับในรายละเอียดของร่างฉบับนี้ กทช. จะต้องพิจารณาถึงอัตราค่าเช่าโครงข่ายของผู้ประกอบการรายย่อยที่จะมาใช้ ว่าหากเป็นเช่าใช้โครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอัตราเท่าไร และหากจะเช่าเพื่อขายส่งหรือขายปลีก จะคิดในอัตราเท่าไร ซึ่งจะต้องพิจารณาให้เป็นอัตราค่าบริการเดียวกัน เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด โดยก็อิงจากมาตรฐานสากลด้วย
ประธาน กทช. กล่าวเสริมอีกว่า ขณะนี้การไฟฟ้าสนใจที่จะเข้ามาเป็นผู้ให้บริการประเภทที่ 3 โดยจะเป็นลักษณะให้เช่าใช้โครงข่าย ซึ่ง การไฟฟ้าจะได้เปรียบในแง่ข่ายสายที่กระจายอยู่ทั่วพื้นประเทศ ดังนั้น หาก กทช. ประกาศเรื่องนี้ออกมาก็จะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรายเล็กนั้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ให้บริการในต่างจังหวัด หรือกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ เข้ามาสู่ตลาดมากขึ้น
"เรื่องขายต่อบริการ ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ กทช. จะต้องเร่งให้ออกประกาศบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพราะรายเล็ก รายใหม่ รายย่อย จะได้เกิดขึ้นมา โดยไม่ต้องกังวลต่อข้อจำกัด เรื่องการเช่าใช้ การมีปัญหากับเจ้าของโครงข่าย ซึ่งจะช่วยตลาดทั้งสองนั้นเกื้อหนุนกันได้"
นายสุธรรม อยู่ในธรรม หนึ่งใน กทช. กล่าวว่า ปัญหาด้านข้อขัดแย้งทางกฎหมาย หรือกรณีเกิดพิพาทระหว่างผู้เช้าใช้โครงข่ายกับเจ้าของโครงข่าย กฎหมายส่วนนี้ กทช. ได้เขียนให้เปิดช่องให้สามารถดำเนินการทางแพ่งได้ โดยไม่ต้องกังวลต่อกฎหมายในส่วนอื่น เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการนั้นเกิดความคล่องตัวและหาข้อยุติของปัญหาได้ แต่ในส่วนของปัญหาเรื่องของสัญญาร่วมการงาน ทางกลุ่มผู้ประกอบการรายเก่าจะต้องหาข้อตกลงกับทาง บริษัท ทีโอที และ บริษัท กสท ซึ่งในส่วนนี้ กทช. จะไม่เข้าไปก้าวก่ายหรือมีอำนาจเข้าไปละเมิดต่อสัญญา
ขณะที่นายเศรฐพร คูศรีพิทักษ์ กทช. กล่าวว่า นอกจาก กทช. จะส่งเสริมให้มีกลุ่มผู้ประกอบกรายย่อยแล้ว แต่กลุ่มผู้ประกอบการประเภทที่ 3 มีข้อกังวลในแง่การส่งเสริมการลงทุนหรือพัฒนาโครงข่าย เนื่องจากจะต้องเป็นผู้ลงทุน ซึ่งต่างจากกลุ่มผู้ให้บริการประเภท ที่1 และ 2 ที่จะไม่มีโครงข่ายของตนเองเป็นหลัก ซึ่ง กทช. ได้เตรียมหาแนวทางส่งเสริมรายใหญ่ ให้เกิดการลงทุนหรือพัฒนาโครงข่ายด้วยการที่จะลดค่าธรรมเนียมบางส่วน หากมีการลงทุนโครงข่ายขยายต่อในพื้นที่อื่น เพื่อให้มีโครงข่ายหลักสนับสนุนและยังช่วยให้ผู้ลงทุนนั้นไม่ต้องกังวลต่อผลกระทบในแง่การลงทุนที่เกิดขึ้น
ด้านตัวแทนของ บริษัท กสท โทรคมนาคม หรือ กสท. ได้กล่าวแสดงความเห็นต่อร่างประกาศฉบับดังกล่าวในที่ประชุมว่า กสท มีความเห็นไปในทางดียวกับร่างประกาศฯ นี้ เพราะการให้เช่าโครงข่ายแก่ผู้ประกอบการรายย่อยนั้น ถือเป็นเรื่องสมควร เนื่องจากจะช่วยลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน เพราะการทำโครงข่ายขึ้นมาเป็นของตัวเองนั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนที่สูงมาก แต่ขณะเดียวกัน กทช. ก็ต้องไม่ลืมที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการรายเดิมด้วย ซึ่งควรที่จะมีการดูแลหรือกระตุ้นให้เกิดการพัฒนามากขึ้น โดยหากผู้ประกอบการรายเดิมไม่แรงจูงใจแล้ว ก็จะส่งผลให้การแข่งขันในธุรกิจโทรคมนาคมไม่พัฒนาไปเท่าที่ควร
ตัวแทนบริษัท แอ๊ดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เนื้อหาในร่างยังมีหลายจุดที่มีความหมายขัดแย้งกันเอง หรือไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ถึงแม้ กทช. จะมุ่งสร้างให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ แต่เอไอเอสเป็นห่วงในประเด็นที่การนำบริการไปขายต่อเป็นทอดๆ อาจจะส่งผลให้กระทบกับปัญหาผู้ใช้บริการได้ โดยเฉพาะในแง่คุณภาพบริการ ที่ผู้ใช้บริการจะได้รับบริการที่คุณภาพต่ำ โดยมีผลจากต้นทุนจากการให้บริการ ซึ่งเรื่องดังกล่าว กทช. ควรที่จะต้องหาแนวทางในการเข้าไปกำกับดูแลส่วนนี้ด้วยและไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ให้เช่าใช้หรือเจ้าของบริการดังกล่าวได้
ส่วนความคืบหน้าในการจัดทำแผนเลขหมาย นายดิเรก เจริญผล ผู้เชี่ยวชาญประจำ กทช. กล่าวว่า ภายใน 2-3 สัปดาห์นี้จะจัดทำร่างประกาศฯ แผนเลขหมายแล้วเสร็จ ซึ่งขณะนี้ก็กำลังประกาศรับฟังความเห็นสาธารณะอยู่ในเว็บไซค์ โดยในร่างประกาศฯ นั้นจะทำเพื่อวางเป็นหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเลขหมายออกมา เพื่อให้ใช้เป็นระเบียบและเกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งยังรวมไปถึงการอัตราจัดเก็บค่าธรรมเนียมเลขหมาย ซึ่งในปัจจุบันค่าธรรมเนียมของโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ที่ 1 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน แต่สำหรับเลขหมายพิเศษ อาทิ เลขหมาย 3 หลัก และ 4 หลักนั้นยังไม่ได้มีการเรียกเก็บ
สำหรับผู้ประกอบการที่จะขอเลขหมายเพิ่มจาก กทช.นั้น ต้องรายงานมาก่อนว่าเลขหมายเดิมที่ขอไปใกล้จะหมด โดยจะต้องใช้เลขหมายอยู่ประมาณ 80-90% ถึงจะทำเรื่องเพื่อเลขหมายใหม่เพิ่มได้ โดยหากผู้ประกอบการขอเลขหมายไป เพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ทำโปรโมชั่น หรือนำไปกักตุนโดยไม่มีการนำเลขหมายกลับมาให้บริการใหม่นั้น จะมีโทษปรับค่าธรรมเนียมเลขหมาย 10 เท่า
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|