ดร. ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศ
(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวให้ความเห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า "เพราะระบบเดิมมันเป็นตัวทำลายระบบการศึกษามัธยมปลายของเรากว่า
80% แต่ผมว่าต่อไปแทนที่พ่อแม่ผู้ปกครองจะต้องขับรถส่งลูกเพื่อไปติวเข้าสอบเอนทรานซ์
ก็ต้องขับไปส่งติว SAT เหมือนกัน มันมีการติวได้แน่นอน เพราะเราไม่ใช้วิธีการสอบเขียนเรียงความ
แต่เป็นช้อยส์เลือกเหมือนระบบเดิม ๆ ฉะนั้นแล้วมันก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร"
โดยที่ผ่านมา ทางสหรัฐอเมริกาเริ่มวิเคราะห์ผลเสียของ SAT เพราะโดยเห็นข้อสอบ
SAT ก็ยังเน้นเฉพาะการจำเพื่อไปสอบ ซึ่งเด็กไม่ค่อยมีโอกาสที่จะเขียน ทำให้เด็กไม่มีพัฒนาการทางด้านเรียงความ
ในความคิดเห็นของ ดร. ฉลองภพมองว่า ระบบใหม่นี้สามารถทดสอบเด็กในเรื่องเรียงความได้
เพราะมีเวลา และก็ไม่บีบเด็กเกินไป เพราะไม่ได้สอบรวดเดียวทุกวิชา กรมวิชาการก็มีเวลาตรวจข้อสอบ
หรือจะเป็นทบวงก็แล้วแต่ เพียงแต่จะให้มีข้อสอบแบบเรียงความนี้กันมากน้อยแค่ไหน
แต่อย่างไรก็ตาม ดร. ฉลองภพยอมรับการตรวจข้อสอบแบบปรนัยยังอาจจะยากลำบากอยู่
"แล้วเรื่องจะให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งสามารถกำหนดวิชาที่จะให้เด็กสอบได้เอง
ผมเห็นว่ามันจะทำให้เราเสียทรัพยากรไปโดยใช่เหตุ เนื่องจากมหาวิทยาลัยเรามักทำอะไรไม่ค่อยสอดคล้องกันอยู่แล้ว"
ดร. ฉลองภพให้ความเห็น พร้อมกับให้ตัวอย่างว่า เด็กที่จะเข้าไปเรียนแพทย์ในขั้นที่อยู่มัธยมปลาย
เด็กจะต้องรู้ว่าต้องมีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ พวกนี้เท่าไร
ฉะนั้นวิชาต่าง ๆ ที่เด็กสอบก็ไม่จำเป็นต้องสอบเหมือนกันทุกคน
ดร. ฉลองภพให้ความเห็นอีกว่า ทบวงกับกระทรวงศึกษาต้องร่วมกัน เพราะไม่ร่วมกันแล้วคนที่รับเคราะห์คือเด็ก
ซึ่งในการพัฒนาคุณภาพคน "ไม่ใช่จะเอาเรื่องสอบเรื่องเดียวมาดู ยิ่งต่างคนต่างออกนโยบาย
เด็กก็ยิ่งสับสน สุดท้ายคือว่าทุกอย่างต้องไปติว เพื่อสอบให้ได้ ตรงนั้นเด็กเราก็ไม่สามารถพัฒนาได้"