ก.ล.ต.ไฟเขียวบลจ.ตั้ง SUKUK


ผู้จัดการรายวัน(26 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

สำนักงาน ก.ล.ต. หนุนตลาดหลักทรัพย์ฯ คลอดดัชนีอิสลาม อินเด็กซ์ พร้อมไฟเขียว บลจ. ตั้งกองทุน SUKUK ดึงเงินลงทุนชาติตะวันออกกลาง ขณะเดียวกัน เปิดทางให้ บลจ. ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและ structured note ได้ผ่านกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ นอกจากนี้-ยังอนุญาตให้บลจ. ลงทุนในสินทรัพย์ทุกประเภท เพิ่มรายได้อีกช่องทาง

นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.พร้อมให้การสนับสนุนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดทำอิสลาม อินเด็กซ์ เพื่อดึงเม็ดเงินจากนักลงทุนแถบตะวันออกกลางซึ่งมีเม็ดเงินการลงทุนสูงจากธุรกิจน้ำมัน โดยล่าสุดทางสำนักงาน ก.ล.ต.ได้ทำสัญญาข้อตกลงเบื้องต้นกับรัฐบาลดูไบเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เป็นผู้กำกับดูแลของแต่ละประเทศ

สำหรับรูปแบบของการลงทุนกับประเทศในตะวันออกกลาง ในเบื้องต้นแนวทางที่เหมาะสมที่สุด คงจะเป็นไปในรูปแบบของกองทุนรวม เช่น การจัดตั้งกองทุน SUKUK ซึ่งเป็นกองทุนประเภทกึ่งตราสารหนี้กึ่งทุน ที่มีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม รวมถึงการลงทุนผ่านอสังหาริมทรัพย์ที่สามารถทำได้ โดยในขณะนี้ สำนักงานก.ล.ต. มีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในการจัดตั้งกองทุนประเภทดังกล่าวแล้ว หากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนใดต้องการระดมทุนผ่านกองทุน SUKUK สำนักงานก.ล.ต. ก็พร้อมดำเนินการให้อย่างเต็มที่

"การลงทุนในประเทศแถบตะวันออกกลาง ในช่วงเริ่มต้นเราคงเข้าถึงได้เฉพาะผู้ออมในประเทศเท่านั้น ซึ่งแนวทางที่สามารถทำได้ตอนนี้คือ การตั้งกองทุน SUKUK ซึ่งขณะนี้เราพร้อมสนับสนุนเต็มที่สำหรับบริษัทจัดการกองทุนที่สนใจจัดตั้งกองทุน SUKUK" นายประเวชกล่าว

ขณะเดียวกัน เร็วๆ นี้สำนักงานก.ล.ต. จะเดินทางไปร่วมลงนามความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันกับประเทศจีนอีก 1 ราย เพื่อพัฒนาการลงทุนในประเทศ หลังจากก่อนหน้านี้ สำนักงานก.ล.ต. ได้ลงนามความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ไปแล้ว ในเรื่องของการแลกเปลี่ยนข้อมูลรวมทั้งการแลกเปลี่ยนในระดับเจ้าหน้าที่ระหว่างกันด้วย

นายประเวชกล่าวต่อถึงการที่ผู้ประกอบการสนใจเข้ามารุกธุรกิจกองทุนรวมมากขึ้นว่า สำนักงานก.ล.ต. พร้อมสนับสนุนให้บริษัทประกันภัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) รวมทั้งบริษัทเงินทุน ทำธุรกิจจัดการลงทุนมากขึ้น โดยจำนวนบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) ที่มีอยู่จำนวน 18 รายในขณะนี้ ถือว่ายังไม่มากเกินไปและสามารถเพิ่มได้อีกหลายบริษัท อีกทั้งการที่พ.ร.บ.ประกันเงินฝากกำลังจะเกิดขึ้น ก็เชื่อว่าระบบกองทุนรวมจะสามารถรองรับเม็ดเงินจากธนาคารที่จะไหลเข้ามามากขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา สำนักงาน ก.ล.ต.ได้อนุมัติให้ บล.ฟิลลิป และบล.ซีมิโก้ สามารถประกอบธุรกิจดังกล่าวได้แล้ว และในขณะนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาผู้ประกอบการรายอื่นเพิ่มด้วย

ด้านนางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจจัดการลงทุน สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้แก้ไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการลงทุนของกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้สามารถลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าและ structured note ได้ เพื่อเปิดทางให้มีช่องทางการลงทุนที่กว้างขึ้น และปรับเปลี่ยนอัตราส่วนการลงทุนของกองทุนเพื่อเพิ่มโอกาสในการแสวงหารายได้และผลตอบแทนสู่ผู้ลงทุน พร้อมกับรักษาระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมกับกองทุนแต่ละประเภท

นอกจากนี้ ยังอนุญาตให้กองทุนส่วนบุคคลจะสามารถทำธุรกรรมขายชอร์ตและการยืมหลักทรัพย์ได้ ส่วนกองทุนรวมก็สามารถลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ได้เช่นเดียวกับกองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในขณะที่กองทุนที่เน้นลงทุนในต่างประเทศ จะสามารถลงทุนในประเทศได้เฉพาะตราสารระยะสั้นเพื่อการบริหารสภาพคล่อง โดยประกาศดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 สิงหาคมนี้

ขณะเดียวกัน สำนักงานก.ล.ต.ยังได้แก้ไขหลักเกณฑ์การลงทุนเพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานให้บริษัทจัดการลงทุน (บลจ.) สามารถดำเนินธุรกิจในการจัดการกองทุนของตนเองด้วยความโปร่งใสและคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุน โดยเปิดโอกาสให้บลจ.สามารถลงทุนในหุ้นและหุ้นกู้ได้ จากเดิมที่อนุญาตให้ลงเฉพาะตราสารหนี้และเงินฝาก ทั้งนี้ บลจ.ที่ลงทุนในหุ้นหรือหุ้นกู้จะต้องถือหลักทรัพย์ไว้มากกว่า 1 ปี เพื่อสร้างรายได้ให้กับ บลจ. อีกช่องทางหนึ่ง หลังจากที่ผ่านมา บลจ.มีกำไรสะสมและกระแสเงินสดหมุนเวียนอยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ สำนักงานก.ล.ต.จะออกประกาศเรื่อง การกระทำที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ในการจัดการกองทุนและหลักเกณฑ์ในการป้องกัน โดยจะมีผลบังคับใช้ 16 ส.ค.49 ซึ่งในประกาศจะระบุชัดเจนว่า กรณีที่บลจ.จัดการบริหารพอร์ตการลงทุนเอง ด้องจัดให้มีระบบงานเพื่อบริหารพอร์ตให้มีประสิทธิภาพ โดยจะต้องแยกส่วนงานออกจากพอร์ตการลงทุนของกองทุนรวม เช่น สายงานบังคับบัญชา หน่วยงานบริหารการลงทุน เพื่อความโปร่งใสในการทำงาน

ส่วนเรื่องของการรับผลประโยชน์ตอบแทน เนื่องจากพอร์ตการลงทุนของบลจ.ไปใช้บริการบุคคลอื่น เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการกองทุนจะรับผลประโยชน์ได้เฉพาะผลประโยชน์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และประโยชน์ต่อกองทุน เช่น บทวิเคราะห์ รวมทั้งต้องดูแลให้พนักงานในบริษัทมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานตามแนวปฏิบัติที่สมาคมกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานในบริษัทจัดการนั้นด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.