|
นักค้าเงินฟันธงแนวโน้มค่าบาทแข็งทุนไม่ไหลออกเหตุธปท.ตามเฟด
ผู้จัดการรายวัน(25 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
นักบริหารเงินเชื่อระยะ 1 เดือนข้างหน้า ค่าเงินบาททรงตัวถึงแข็งค่าระดับ 37.80-38.20 บาทต่อดอลลาร์ เงินหยวนและเศรษฐกิจจีนเป็นแรงสนับสนุน ระบุยังไม่มีเงินทุนไหลออก เพราะส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐห่างแค่ 0.25% เชื่อแบงก์ชาติพร้อมขยับตามเฟดตลอดเวลา เผยปัจจัยเสี่ยงเริ่มแผ่ว ทั้งการเมืองในประเทศ สงครามตะวันออกกลางและเกาหลีเหนือยิงขีปนาวุธ ลุ้นสัปดาห์นี้ถ้าไม่มีความรุนแรงแนวโน้มบาทแข็งค่าต่อเนื่อง
นายตรรก บุนนาค ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปรับตัวของค่าเงินบาทในช่วง 1 เดือนข้างหน้าว่า ค่าเงินบาทน่าจะอยู่ในภาวะที่แข็งค่ามากกว่าการอ่อนค่า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มหยุดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ระดับดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 5.00% และ 5.25% ตามลำดับ ประกอบกับปัจจัยจากค่าเงินหยวนของประเทศจีนที่มีแรงกดดันจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมาก
โดยหากอัตราดอกเบี้ยของประเทศจีนปรับตัวสูงขึ้นก็จะทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย และด้วยนโยบายของประเทศจีนก็จะเป็นตัวทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตาม ขณะที่ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้ไม่ได้เป็นปัจจัยต่อการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนเพราะส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท.กับเฟดอยู่ที่ระดับ 0.25%
“แนวโน้มเศรษฐกิจจีนค่อนข้างดี ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียแข็งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งปัจจัยจากประเทศจีน และการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดคือ 2 ปัจจัยหลักต่อการปรับค่าเงิน ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองหากมีการส่งสัญญาณให้เห็นว่ามีความไม่สมานฉันท์เกิดขึ้น ก็จะนำไปสู่การอ่อนค่าของค่าเงินบาทได้”
สำหรับกรณีการไหลเข้าของเงินทุนในช่วงที่ผ่านมายังมีไหลเข้ามาบ้างเนื่องจากธนาคารพาณิชย์เกือบทุกแห่งได้ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ออกมาแล้วแม้จะเป็นตัวเลขผลการดำเนินงานที่ไม่หวือหวามากนัก แต่เมื่อนักลงทุนเห็นก็สามารถคาดเดาได้บ้างว่าผลการดำเนินงานน่าจะเป็นไปในทิศทางใดต่อ ขณะที่ในส่วนของภาคธุรกิจสถาบันการเงินก็มีนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุนบ้าง
ส่วนเงินทุนไหลออกนั้นหลังจากที่คาดเดาว่าธปท.และธนาคารกลางสหรัฐจะหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมองว่าเงินไหลออกไม่น่าจะมีไหลออกไปมากเนื่องจากส่วนต่างอยู่ระหว่าง 0.25% ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่สูงมาก ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐมีนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งก็จะทำให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 0.50% ก็ไม่น่าจะมีผลกระทบเช่นกัน
“ส่วนต่าง 0.25% เราก็เคยเจอมาแล้ว หรือ 0.50% ก็เคยเจอมาแล้วเช่นกัน ซึ่งหากส่วนต่างอยู่ในระหว่าง 0.50% เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อการไหลออกของเงินทุน” นายตรรกกล่าว
ชี้ค่าเงิน 37.80-38.20 บาทต่อดอลลาร์
นักค้าเงินจากธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าเงินบาทน่าจะปรับตัวอยู่ที่ระดับ 37.80-38.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 1 เดือนข้างหน้านี้ การจะปรับลดลงหรือเพิ่มขึ้นไปกว่านี้หรือไม่นั้นคงต้องจับตาดูจากปัจจัยทั้งในประเทศและนอกประเทศควบคู่ไปด้วย ทั้งปัจจัยทางการเมืองในประเทศไทยที่ต้องรอติดตามการเลือกตั้งหรือจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้เร็วแค่ไหน ขณะที่ตลาดต้องจับตาดูทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หลังจากที่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ปรับขึ้นอีก ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้น
“ก็คงต้องดูปัจจัยการเมืองบ้านเราด้วย ถ้ายังไม่ดีเงินที่จะไหลเข้ามาลงทุนหากจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าเงินที่จะไหลเข้ามาลงทุนก็อาจจะน้อยลง ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็อาจจะลดน้อยลงเช่นกัน”
สำหรับเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในระหว่างนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเนื่องจากยังไม่ได้รับรายงานจากธปท. แต่ในภาพรวมเงินทุนไหลเข้าเริ่มมีกลับเข้ามาบ้าง แต่เท่าที่สังเกตจากตลาดหุ้นก็มีไม่มากนัก เนื่องจากชาวต่างชาติมีการขายหุ้นออกมาบ้าง
อย่างไรก็ตามในส่วนของค่าเงินบาทในช่วงนี้เท่าที่มองยังไม่มีเสถียรภาพมากนัก เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบต่อความมีเสถียรภาพของค่าเงินบาทอยู่ ทั้งปัจจัยจากสงครามของประเทศอิสราเอล และประเทศเลบานอล ซึ่งหากปัจจัยดังกล่าวนี้ยุติหรือคลี่คลายลงได้เร็วค่าเงินบาทก็น่าจะมีความนิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ยังไม่มีปัจจัยกระทบต่อการไหลออกของเงินทุนในระยะ 30 วันข้างหน้า อย่างไรก็ตามเชื่อว่า หากในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐครั้งต่อไป มีการประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะต้องมีการปรับตามอีกครั้งหนึ่ง ส่วนต่างในระดับที่เป็นอยู่จึงไม่น่าจะส่งผลให้เงินทุนไหลออกไป นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าของหลายๆ บริษัทยังคงมีการทำค่อนข้างพอสมควร เนื่องจากในช่วงต้นปีนี้ค่าเงินบาทยังมีความผันผวนอยู่ ซึ่งในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนบริษัทที่ดำเนินธุรกิจส่งออกก็เริ่มมาให้ความสำคัญ ขณะที่เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจนำเข้าก็จะมาให้ความสนใจในการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า
“ในแง่นโยบายของบริษัท มีการซื้อประกันความเสี่ยงจากค่าเงินบาท เนื่องจากเขารู้ว่าต้นทุนเขาจะอยู่ที่เท่าไหร่เขาก็จะทำฟอร์เวิร์ดเลย และจะได้ไม่ต้องมากังวลเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่บางบริษัทอาจจะทำไว้ป้องกันความเสี่ยงสักครึ่งหนึ่ง”
ขณะที่นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งกล่าวว่า สัปดาห์นี้ต้องลุ้น เพราะมีผลต่อทิศทางค่าเงินบาท แต่ก็เชื่อว่าค่าเงินบาทจะยังสามารถคงอยู่ในระดับปกตินี้ต่อไปได้ หากไม่มีเหตุการณ์การประทุที่รุนแรงเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้โอกาสที่ค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้นก็เป็นไปได้เพราะค่าเงินดอลลาร์เองก็มีแนวโน้มที่แข็งค่าขึ้นต่อ
"ช่วงที่ผ่านมามีเงินทุนไหลเขาออกล็อตใหญ่มาแล้ว ซึ่งในระหว่างนี้หากไม่มีข่าวหรือเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นค่าเงินบาทก็น่าจะรักษาระดับนี้ แต่หากมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอาทิเหตุการณ์ของประเทศเกาหลีใต้ก็อาจจะส่งผลกระทบที่ทำให้ค่าเงินบาทอาจจะอ่อนค่าลงได้ ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยไม่ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการอ่อนค่าของค่าเงินบาท"
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ในสัปดาห์นี้ ค่าเงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าได้ โดยคาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 37.70-38.25 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ตลาดคงจะติดตามข่าวเกี่ยวกับค่าเงินหยวนต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญหลายตัว อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสำนัก Conference Board เดือนกรกฎาคม ยอดขายบ้านใหม่และบ้านมือสองเดือนมิถุนายน ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนมิถุนายน ตลอดจนจีดีพีไตรมาส 2/2549 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเดือนกรกฎาคม
ด้านธนาคารพาณิชย์คงจะมีการทยอยเตรียมสภาพคล่องเพื่อรองรับการเบิกถอนเงินสดของลูกค้าในช่วงสิ้นเดือน ทั้งนี้ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอาจจะทรงตัวต่อเนื่องหรือขยับขึ้นได้เล็กน้อย โดยอัตราดอกเบี้ยอินเตอร์แบงก์ประเภทข้ามคืนน่าจะปรับตัวอยู่ในช่วงประมาณ 4.95-4.97%
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่ปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น น่าจะยังคงเป็นปัจจัยบวกต่อทิศทางตลาดหุ้นในสัปดาห์นี้ ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น ทิศทางของตลาดหุ้นต่างประเทศ และสถานการณ์ในตะวันออกกลาง ซึ่งจะส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังคงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระยะสั้นคาดว่าดัชนีคงจะได้รับผลกระทบจากการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียบในไตรมาส 2/2549 โดยเฉพาะจากกลุ่มพลังงาน ซึ่งยังคงทยอยรายงานออกมา ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดว่า ดัชนีจะมีแนวรับที่ 677 และ 680 ส่วนแนวต้านคาดว่าจะอยู่ที่ 695-700 และ 722 ตามลำดับ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|