"จะไม่มีการสอบเอนทรานซ์ครั้งละเป็นแสนๆ คนอีกแล้ว" ศ. นพ. เกษม วัฒนชัย ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย"

โดย เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม วรสิทธิ ใจงาม ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลอดเวลา 34 ปีที่ผ่านมา กำแพงแห่งความน่ากลัวและความเครียดที่นักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่าต่างประสบมากำลังทลายลง ในปี 2542 รูปแบบการสอบเอนทรานซ์ เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จะพลิกโฉมหน้าใหม่หมด นักเรียนกว่า 3 แสนคนในปีนั้น จะต้องพบกับระบบใหม่นี้ ผู้ปกครองจำนวนมากอาจไม่เคย และไม่เข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ ที่มาแนวคิด รูปแบบของเอนทรานซ์ใหม่เป็นเช่นไร จะลบภาพพจน์มหกรรมแห่งการสอบที่เป็นแรงกดดันมหาศาลต่อจิตใจของลูกหลานของเราได้จริงหรือไม่? ทั้งหมดเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงแค่รูปแบบ หรือข้อต่อครั้งสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาในสังคมไทย ?!

- ทางทบวงมหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ รูปแบบใหม่ที่วางไว้เป็นอย่างไร

คือรูปแบบใหม่ที่เราจะพูดถึงนี้เป็นการเปลี่ยนวิธีสอบคัดเลือก (ENTRANCE) รวมไปถึงการเปลี่ยนความคิดในเรื่องการเรียนการสอนของชั้นมัธยมปลายเกือบทั้งหมดเลยก็ว่าได้

ในระบบปัจจุบันก็เป็นระบบการสอบคัดเลือกที่ "ตรง" ที่สุด ตรงมาก ใครได้คะแนนมากก็ได้ ใครได้คะแนนน้อยก็ตก

เด็กสายวิทย์ ศิลป์-คณิตศาสตร์ หรือศิลป์ภาษา ต้องมานั่งสอบกันหลายวัน สอบเสร็จแล้วแต่ละคณะ แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะกำหนดคะแนนกันว่าจะตัดกันที่ระดับใด ส่งมาที่ทบวง ทบวงตรวจผลการสอบของเด็กแล้วก็ส่งให้แต่ละมหาวิทยาลัยได้ทราบต่อไป ว่ามีกี่คนที่ผ่านเกณฑ์จะเป็นการคัดเด็กตามความสูงต่ำของคะแนน วิธีนี้แต่ละมหาวิทยาลัยไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้นเพียงแต่แจ้งจำนวนที่รับได้เท่านั้น

แต่วิธีการใหม่ เราให้แต่ละคณะ แต่ละสาขาในแต่ละมหาวิทยาลัยมีสิทธิ์ที่จะสร้างเงื่อนไขคะแนน หลักสูตร หรือวิชาให้แก่เด็กที่จะเข้ามาเรียนได้ จะดูผลการเรียนรายวิชาในชั้นมัธยมปลาย ดูคะแนนสะสม ดูคะแนนสอบมาตรฐานประเภทความถนัดทางการเรียน (SCHOLASTIC APTITUDE TEST หรือ SAT) หรือดูอะไรก็ได้แล้วแต่ อาจใช้สูตร 50-25-25 ที่ทบวงคำนวณขึ้นแล้วเสนอเป็นตุ๊กตาให้ทุกมหาวิทยาลัยไป

สูตร 50-25-25 คือคะแนนสอบเอนทรานซ์ที่ทบวงจัดสอบ 50% คะแนน SAT จากกรมวิชาการ 25% และคะแนนสอบความถนัดหรือความสามารถเป็นรายวิชาสาขาอาชีพนั้น ๆ ซึ่งแต่ละคณะในแต่ละมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดสอบอีก 25% หรือจะสูตรอื่นก็ได้ ตัวเลข 50-25-25 ซึ่งเขาจะใช้หรือไม่ก็ได้ ตรงนี้คาดว่าแต่ละมหาวิทยาลัยคงจะให้คำตอบเราได้เร็ว ๆ นี้

- เอนทรานซ์รูปแบบใหม่จะเริ่มใช้เมื่อใด และเด็กนักเรียนชั้นไหนในปัจจุบันที่จะอยู่ในเกณฑ์การสอบวิธีใหม่

เราจะเริ่มปีการศึกษา 2542 นั่นคือ นักเรียนซึ่งอยู่มัธยม 4 ของปีการศึกษา 2539 จะต้องเข้าระบบใหม่ ส่วนเด็กมัธยม 4-6 ขณะนี้จะยังสอบวิธีเดิม ทว่านักเรียนมัธยม 5 ขณะนี้อาจจะได้สอบบ้าง และคิดว่าระหว่างปีมัธยม 6 ปีนี้ เราอาจจะเปิดโอกาสให้สอบสัก 2-3 ครั้ง เช่น ภาษาอังกฤษ อาจจะสอบ 2 ครั้ง เราก็จะดูที่คะแนนสุดท้าย หรือคะแนนที่ดีที่สุดของเขา
- อย่างไรก็ตามไม่ว่าทางมหาวิทยาลัยจะเลือกสูตรคะแนนแบบไหน ก็จะต้องมีการสอบวิชาหลักที่ทบวงมหาวิทยาลัยรับผิดชอบ ในส่วนนี้รายละเอียดและรูปแบบเป็นอย่างไร

รูปแบบการสอบวิชาหลักในอดีต เช่นเด็กที่จะสอบเข้าคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลต้องสอบวิชา 5 วิชา คือฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิชาสามัญอีก 1 วิชา คะแนนเต็มวิชาละ 100 คะแนน

สมมุติเด็กสอบได้ 320 เก็บสะสมคะแนน ใน 320 นี้ คะแนนแต่ละวิชาเช่นฟิสิกส์ เคมีชีวะ อาจจะน้อยก็ได้ อาจไปมากที่คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิชาสามัญ ซึ่งจริง ๆ แล้วหากจะให้ดีเหมาะสมกับการเรียน ในคณะวิทยาศาสตร์ในสามวิชาแรก เด็กจะต้องได้คะแนนสูง

เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าเด็กไม่ถนัดทางด้านวิทยาศาสตร์ แต่เมื่อคะแนนถึงเกณฑ์ ก็ได้เข้าเรียน เมื่อเข้าเรียนก็ทำให้เด็กเรียนไม่ถนัดเพราะอ่อนวิชาหลัก เรียน ๆ ไปลาออกกลางคันบ้างหรือสละสิทธิ์ แล้วสอบใหม่ปีหน้าบ้าง หรืออะไรก็แล้วแต่ เราไม่อยากได้เช่นนี้อีกแล้ว

ในรูปแบบใหม่ จะเป็นการสอบในลักษณะเก็บสะสมคะแนน ซึ่งทำให้นักเรียนรู้ว่า ตนเองเหมาะสมกับการเรียนในคณะใด

เช่น ถ้าจะสอบเข้าคณะสายศิลป์ อาจต้องสอบวิชาหลัก 4 วิชา นักเรียนจะสอบทีละวิชาอาจจะเริ่มให้สอบตั้งแต่มัธยม 5 เลย และแต่ละวิชาสอบได้สองครั้งในช่วง 2 ปี เลือกคะแนนที่ดีที่สุดครั้งเดียว ซึ่งเด็กจะทราบทันทีว่าแต่ละวิชาที่สอบได้คะแนนเท่าใด เด็กถนัดวิชาไหน แล้วจะนำคะแนนไปเสนอมหาวิทยาลัยเพื่อคัดเลือกตามเกณฑ์อีกที

วิธีการนี้เด็กจะไม่รู้สึกว่า แข่งขันกับคนอื่นไม่มีความกดดันมาก แต่จะกลายเป็นการแข่งขันกับตัวเอง คะแนนดีหรือน้อยอยู่กับตัวเองนี่เป็นเป้าหมายสำคัญ

ส่วนวิธีการรายละเอียดว่าจะสมัครสอบอย่างไร เมื่อไร เลือกคณะอย่างไร อยู่ที่คณะกรรมการ ซึ่งท่านรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการยังไม่มีการเลือกกรรมการเลย

- จะไม่มีการสมัครสอบและนำนักเรียนมาสอบรวมกันแบบที่ทำกันมา 34 ปี ?

จะไม่มีการสอบเอนทรานซ์ครั้งละเป็นแสน ๆ คนอีกแล้ว บรรยากาศแบบนั้นกดดันเด็กมาก ใช้เวลาเพียงวันสองวันตัดสินชะตากรรมของเด็ก ใครปวดท้อง รถติด มาไม่ทันก็ตก

แต่วิธีใหม่ สอบครั้งนี้ไม่ดี ครั้งหน้าแก้ตัวใหม่ก็ได้

- โดยสรุปแล้วที่มาของคะแนนที่กำหนดเพื่อการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมีอะไรบ้าง

1. คะแนนสะสมมัธยมปลายหรือคะแนน SAT แต่ในความคิดผมอยากให้เป็นแนวทางเดียวกันคือใช้คะแนน SAT ซึ่งกรมวิชาการจะเริ่มจัดสอบหามาตรฐานการเรียนของแต่ละโรงเรียนในปีหน้าเป็นต้นไปมาใช้เป็นคะแนนมาตรฐานกลาง ตรงนี้ 25% หรือมากกว่า-น้อยกว่าจะเป็นสิทธิของแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด หรือจะไม่เอาเลยก็ได้

2. คะแนนวิชาหลัก ซึ่งสำนักทดสอบกลางของทบวงเป็นผู้จัดสอบ เหมือนการสอบเอน-ทรานซ์เดิม แต่จะให้สอบแบบกระจายพื้นที่ใครอยู่ที่ไหน เราก็จัดสอบในพื้นที่นั้น ไม่ต้องเข้ามาแออัดในกรุงเทพฯ โดยจะเป็นการสอบหลายครั้ง และหลาย ๆ วิชาตามแต่เงื่อนไขของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มีวิชาหลัก ๆ ประมาณ 10 วิชา ตรงนี้ 50% หรือมากกว่า-น้อยกว่า ก็เป็นเรื่องของแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดเข้ามา ข้อสอบจะเป็นปรนัย หรืออัตนัยก็แล้วแต่กรรมการ

3. คะแนนวิชาความถนัดทางการเรียน โดยเราให้แต่ละมหาวิทยาลัยเป็นผู้รับผิดชอบจัดสอบเอง ซึ่งหลายคณะหลายมหาวิทยาลัยก็จัดสอบมาก่อนแล้ว เช่น คณะสถาปัตย์ ตรงนี้ 25% หรือมากกว่า-น้อยกว่าจะเป็นเรื่องของแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดเช่นกัน

4. สุดท้ายก็คือ สอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกายเหมือนเดิม

- แต่ละมหาวิทยาลัยสรุปเรื่องอัตราส่วนเปอร์เซ็นของคะแนนมายังทบวงแล้วยัง

ยัง เราเพิ่มตั้งสำนักทดสอบกลางขึ้นมารับผิดชอบ มีฝ่ายออกข้อสอบ ซึ่งเพิ่งได้ปรึกษากันคร่าว ๆ ประมาณว่าจะมี 10-15 วิชา แต่ละวิชาจะมีกรรมการออกข้อสอบวิชานั้น ๆ จะออกข้อสอบกันทั้งปี เพื่อเก็บไว้ในคลังข้อสอบ สะสมเอาไว้ จะไม่มีการขังอาจารย์รวมกันเพื่อเค้นสร้างข้อสอบเหมือนที่ผ่านมา จะออกไปเรื่อย ๆ มีอนุกรรมการดูแล

เสร็จแล้วก็จัดสอบ ซึ่งอาจจะเป็นช่วงปลายของมัธยม 5 ครั้งหนึ่ง หรือมัธยม 6 อีกครั้งหนึ่ง แต่มีสอบหลายครั้งแน่นอน เพื่อเก็บคะแนนไว้เป็นคะแนนวิชาหลัก ซึ่งเราก็คงต้องดูว่าแต่ละมหาวิทยาลัยมีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เด็กจะเข้าไปได้ต่อไป

ตรงนี้ทบวงจะทำเป็นคู่มือให้เด็กทั่วประเทศทราบก่อน เพื่อเป็นคู่มือว่าสาขาที่ตนอยากจะเข้าไปนั้น ควรจะเรียนอะไร เน้นหนักอะไร ต้องผ่านวิชาถนัดในชั้นมัธยมปลายอะไรบ้าง และควรได้คะแนนเท่าไร

เช่น แต่ละคณะ ต้องการที่วิชาของเด็กมัธยมปลาย หรือต้องการให้สอบวิชาหลักกี่วิชาแต่ละวิชาต้องผ่านเกณฑ์คะแนนเท่าไหร่ ถึงจะเข้าไปได้

- ประเทศอื่น ๆ ในโลกมีวิธีการสอบเอนทรานซ์อย่างไร และวิธีการใหม่ของเราพิจารณาจากประเทศใดเป็นหลัก

แบบที่เราใช้อยู่ปัจจุบันนี้ไม่มีใครใช้อีกแล้ว อาทิ ไต้หวันก็เปลี่ยนให้แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดข้อสอบคะแนนวิชาของตนเอง มีสำนักทดสอบกลาง เด็กก็ไปสอบที่นั่น คล้าย ๆ สอบโทเฟล แต่มีหลายวิชา

สมมติ คณะวิทยาศาสตร์กำหนดคนที่จะมาสอบเข้าได้ต้องมีคะแนนฟิสิกส์ 60% ชีววิทยา 75% ภาษาอังกฤษ 50% ใครเกินนี้ก็มาสมัครสอบได้ และในระหว่างนี้ทั้งปี สำนักทดสอบกลางก็จัดสอบกันหลาย ๆ ครั้ง เวลาสอบเด็กก็ไม่เครียด สอบจนกระทั่งครบวิชาที่เป็นเงื่อนไขสำหรับสมัครเข้าสาขานั้น ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดไม่เท่ากัน

ฉะนั้นหน้าที่ของสำนักทดสอบกลางไต้หวันก็คือ เป็นหน่วยประสานการเข้ามหาวิทยาลัยให้กับนักเรียนทั้งประเทศกับแต่ละมหาวิทยาลัยเท่านั้นเอง ซึ่งเกาหลีใต้ก็ทำคล้ายกันแต่มหาวิทยาลัยจะไปจัดสอบอีก 2-3 วิชา

ส่วนญี่ปุ่น เขาจะมีสำนักทดสอบกลางจัดสอบวิชาหลักให้ เสร็จแล้วเด็กที่เอาคะแนนไปให้แต่ละมหาวิทยาลัยที่ตนอยากเข้าดูด้วยตัวเอง ทางมหาวิทยาลัยจะจัดสอบอีกสัก 2 หรือ 3 วิชา แล้วเอาคะแนนมารวมกันระหว่างคะแนนที่มหาวิทยาลัยทำเองกับคะแนนที่เด็กให้มา

สำหรับอังกฤษ เขามีสำนักทดสอบกลางจัดสอบวิชาหลัก พอคะแนนถึงจุด ๆ หนึ่ง เขาจะให้สิทธิ์เลือก สมมุติเลือกได้ 6 แห่ง สำนักทดสอบกลางก็จะส่งรายชื่อเด็กไปยังมหาวิทยาลัยทั้ง 6 แห่ง แต่ละแห่งจะดูคะแนนกลาง ซึ่งเขาอาจจะเอาคะแนนมัธยมปลายของเด็กมาดูอีกทีก็ได้ เอาคะแนนกลางมาดูด้วยก็ได้ หรือบางสาขาก็ต้องมาสอบความถนัดในสาขาอาชีพนั้นอีก เสร็จแล้วก็สัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย แล้วเอาผลรวมทั้งหมดมาตัดสินว่าจะรับหรือไม่ แต่ละมหาวิทยาลัยก็บอกผ่านสำนักทดสอบกลาง สำนักทดสอบกลางก็บอกเด็ก เด็กก็ไปลงทะเบียนกันอีกที

บางมหาวิทยาลัยในบางประเทศก็จัดสอบใหม่ สอบซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วแต่เขาจะเลือกเพื่อเอาคะแนนมารวมกันเป็นเกณฑ์วัดมาตรฐาน

ส่วนของเราก็ดูจากสามสี่แห่งเป็นหลัก เอาจุดนั้นจุดนี้มาใช้ แต่จะคล้ายคลึงกับของอังกฤษมากที่สุด

หลายคนอาจกังวลเรื่องเด็กฝาก แต่มหาวิทยาลัยเขามีหลักเกณฑ์มีศักดิ์ศรีของเขา ปัจจุบันผมก็เชื่อว่าไม่มีเรื่องเด็กฝาก มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องสร้างเกณฑ์ สร้างกรรมการสอบและมีกรรมการดูแลที่ชัดเจน การตัดสินใจรับก็อยู่ที่มหาวิทยาลัย ไม่ใช่ทบวง ผมเชื่อว่าแต่ละมหาวิทยาลัยทำได้

- หากทบวงเชื่อในคะแนน SAT ทำไมทบวงไม่กำหนดไปเลยว่า จะให้คะแนน SAT มีสัดส่วนกี่เปอร์เซนต์ในการสอบ มิเช่นนั้นจะมีความสับสนมากเพราะแต่ละคณะแต่ละมหาวิทยาลัยมีเมนูในการสอบให้นักเรียนเลือกมากมาย

หากคุณดูการสอบปัจจุบัน ก็มีเป็นพันทางเลือกให้นักเรียนสอบอยู่แล้ว ไม่ต่างกัน

ตรงนี้เป็นนโยบายอิสระที่ทบวงให้แก่มหาวิทยาลัยทั้งหมดว่า จะเชื่อหรือไม่เชื่อหรือจะใช้กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องเป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาอีกว่า ทำอย่างไรให้คะแนนทุกโรงเรียนของชั้นมัธยมปลาย 3,000 กว่าโรงเรียนมีมาตรฐาน เมื่อน่าเชื่อถือแล้ว แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะเอาไปใช้เอง ซึ่งบางมหาวิทยาลัยอาจไม่ใช้คะแนนวิชาหลักของทบวง แต่จะใช้คะแนนมาตรฐานกลางเลยก็ได้ จะมากกว่า 25% หรือจะถึง 100% เลยก็ได้

ปัญหาคือคะแนนมาตรฐานกลาง ซึ่งได้มาจากคะแนน SAT เป็นเรื่องใหม่ ต้องอธิบายและทำความเข้าใจกันมาก และหลายฝ่ายอาจจะเกรงว่าจะสร้างความกังวลหรือตื่นตระหนกให้กับผู้ปกครองนักเรียน

เรื่องคะแนน SAT และคะแนนมาตรฐานกลางก็ไม่ใช่เรื่องที่ทบวงคิดและกำหนดให้มาใช้กับการสอบเอ็นทรานซ์ แต่เป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาธิการ เขาคิดมากและจะนำมาใช้อย่างสมบูรณ์ในปี 2542 ซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนระบบเอนทรานซ์และเหมาะสมที่จะไปด้วยกันได้

ผมเองก็ยอมรับว่าหากฟังเรื่องคะแนน SAT ในเชิงทฤษฎีคณิตศาสตร์ก็เข้าใจยาก แต่ผมสรุปให้ฟังง่าย ๆ ว่า สมมุติเด็กนักเรียนโรงเรียน ก. ซึ่งมีชื่อเสียงได้คะแนนสอบ 2.5 หน่วยกิต ขณะที่อีกโรงเรียนหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่รู้จักนักได้คะแนนสอบ 3.5 ถ้าดูแค่หน่วยกิตก็ต้องบอกว่านักเรียนโรงเรียน ข. เก่งกว่า

แต่คำถามคือ อะไรคือมาตรฐานกลางของเด็กนักเรียน 2 คนของสองโรงเรียนนี้

หน้าที่ของกรมวิชาการคือออกข้อสอบกลางหรือ SAT นี่แหละ ให้เด็กทั้งสองมาสอบคะแนนที่ได้จะต้องแปรคะแนนออกมาโดยวิธีการทางคณิตศาสตร์ ซึ่งผมเรียกว่า ค่าเค (K)

เสร็จแล้วนำค่าเคนี้ไปคูณกับคะแนนของนักเรียนแต่ละคนเพื่อถ่วงน้ำหนักก็จะได้คะแนนมาตรฐานกลาง หากเด็กโรงเรียน ก. เก่งจริงเขาก็จะได้คะแนน SAT มาก ค่าเคมาก คะแนนมาตรฐานกลางก็ย่อมจะสูงตามไปด้วย

แต่ใจผม อยากให้แต่ละมหาวิทยาลัยเอาคะแนนมัธยมหรือ SAT ไปใช้ แล้วก็มีสูตรแต่ละแห่งไปเลย เช่นนี้ความรู้ของเด็กจะได้มีค่าขึ้นมา ครูสอนก็จะได้กระตือรือร้น เด็กจะได้สนใจวิชาเรียนในทุกวิชา ไม่เช่นนั้นเด็กก็เป็นนักกวดวิชา ไม่ใช่นักเรียน ซึ่งไม่ถูกตามหลักปรัชญาการศึกษา ที่เปลี่ยนเพราะกรณีนี้ ซึ่งเป็นข้อสำคัญมาก

ทั้งนี้หากเขาเรียนวิชาครบ เรื่องพัฒนาการของเด็กมัธยมปลายซึ่งค่อนข้างเป็นวัยรุ่นก็จะสมบูรณ์ เขาจะได้พลศึกษา สังคม และอะไรต่อมิอะไรทั้งหมด ทำให้เด็กกลับไปสู่วัยศึกษาที่แท้จริง

- สมมุติว่าในระบบเอนทรานซ์ใหม่ เด็กต้องสอบ 4 วิชา ทบวงเปิดโอกาสให้สอบวิชาละ 2 ครั้ง ซึ่งเด็กทุกคนที่จะเอนทรานซ์คงต้องสอบทุกครั้งแน่ เท่ากับว่า เด็กคนหนึ่งต้องสอบถึง 8 ครั้งก่อนเข้ามหาวิทยาลัย

เป็นวัตถุประสงค์อยู่แล้วที่จะให้สอบหลายครั้ง แต่คุณอย่าลืมว่า การสอบแต่ละครั้งสอบวิชาเดียว บรรยากาศไม่เครียด และการสอบแต่สะครั้งก็ทิ้งช่วงนาน และหากเด็กเขาพอใจคะแนนในการสอบครั้งแรกแล้ว เขาก็มีสิทธิ์เลือกที่จะไม่สอบครั้งต่อไป

- ระบบการสอบหลายครั้งนี่ อาจจะทำให้โรงเรียนกวดวิชาเฟื่องฟูมากขึ้นก็ได้ ท่านเห็นอย่างไร

เรื่องเก็งหรือติวนั้น มีแน่นอน ไม่ว่าระบบไหนปฏิเสธไม่ได้หรอก อะไรมาเมืองไทยมันมักเสร็จทุกอย่างละครับ ไปห้ามกวดวิชาคงไม่ได้แต่นักเรียนจะต้องสนใจทุกวิชาและสนใจการเรียนตลอดปี แทนที่จะมานั่งกวดวิชาแค่ก่อนเอนทรานซ์ หรือกวดเป็นรายวิชาที่ต้องสอบ

- พิจารณาจากรูปแบบ นอกจากจะเป็นการสิ้นสุดยุคของเอนทรานซ์รูปแบบเก่า 34 ปีแล้ว ยังเท่ากับว่าเป็นการสิ้นสุดยุคของการรวบอำนาจทางการศึกษาที่ทุกอย่างจะต้องอยู่ที่ทบวงและกรุงเทพฯ ด้วยใช่ไหม

ถูกต้องที่สุดเลยครับ คือ ทางที่ดี ทบวงควรทำหน้าที่แค่ประสานงานเท่านั้นเอง และจริง ๆ แล้วหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ก็คือสร้างหลักสูตรขึ้นมาหาอาจารย์ หาห้องเรียน ห้องแลป เสร็จแล้วก็ทำอย่างไรจึงจะรับคนเข้ามาเรียน สอนเขาให้ดี สอบไล่เขา แล้วให้ปริญญาเขาออกไป

กระบวนการนี้เป็นกระบวนการทั้งหมดเลยทุกมหาวิทยาลัยในโลกเขาทำแบบนี้ มีบ้านเราเท่านั้นแหละที่ทำเช่นนี้ ซึ่งหลักการที่ผ่านมามันไม่ถูกโบราณมาก เราจะต้องให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีหน้าที่กำหนดคนเข้าเรียนได้

นับแต่นี้เป็นภาระของแต่ละมหาวิทยาลัยที่เขาจะต้องรับผิดชอบกันเอง



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.