นักการเงินแนะสูตรฝ่าวิกฤติ"ของแพง ค่าแรงคงที่" ปรับพฤติกรรมใช้ชีวิต ประหยัด-อย่าก่อหนี้เพิ่ม


ผู้จัดการรายสัปดาห์(24 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

นักการเงินแนะนำวิธีการฝ่าวิกฤติค่าครองชีพยุคนี้ ต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุด เปลี่ยนวิถีชีวิต ลดฟุ่มเฟือย สำรวจตัวเอง-ค่าใช้จ่ายว่ารับมือไหวหรือไม่ ถือครองเงินสดให้มากขึ้น หาบัตรส่วนลดสินค้ามาเป็นตัวช่วย แต่ต้องชำระตรงเวลา เตือนคนฝากเงินหวังดอกเบี้ยสูงหากไถ่ถอนก่อนกำหนดดอกเบี้ยเหลือ 0.75%

สถานการณ์ระหว่างอิสราเอลกับเลบานอนที่ประทุอยู่ ส่งผลให้ราคาน้ำมันทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวขึ้นตาม พร้อมด้วยการทำนายของผู้คนในวงการน้ำมันว่า น้ำมันดีเซลอาจสูงเกิน 30 บาทต่อลิตร เบนซินอาจได้เห็นที่ 35 บาทต่อลิตร สิ่งที่ตามมาคือการขอปรับขึ้นค่าโดยสารและราคาสินค้าที่เดินหน้าขอปรับขึ้น

โดยกรมการขนส่งทางบกอนุมัติปรับขึ้นค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางต่างจังหวัดของบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) และรถร่วมบริการ กิโลเมตรละ 3 สตางค์ ส่วนรถโดยสาร ขสมก. กรณีรถปรับอากาศเพิ่มขึ้น 1 บาทตามระยะทาง จากเริ่มต้น 12 บาท เป็น 13 บาท ขณะที่รถโดยสารธรรมดาเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ เนื่องจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นขณะนี้กระทบต้นทุนรถโดยสารธรรมดา 50 สตางค์ ทำให้รถของ ขสมก. เพิ่มจาก 7 บาท เป็น 7.50 บาท รถร่วมเอกชนจาก 8 บาท เป็น 8.50 บาท รถมินิบัสจาก 6.50 บาท เป็น 7 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้

อีกไม่ช้าขึ้นราคา

ขณะที่มีสินค้าอีกหลายรายการที่ขอปรับราคาขึ้นต่อกระทรวงพาณิชย์ แต่ทางกระทรวงพยายามยืดระยะเวลาการขึ้นราคาออกไป เช่นเดียวกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ระยะนี้ที่ผู้ค้าน้ำมันในประเทศ ประกาศปรับราคาลงมา ท่ามกลางความตรึงเครียดระหว่างอิสราเอลกับเลบานอน เชื่อว่าท้ายที่สุดคงปรับขึ้นในอีกไม่ช้า

หรือแม้แต่การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงินที่พิจารณาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนจะปรับดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรหรือไม่ คงไม่ใช่สาระสำคัญ หากธนาคารแห่งประเทศไทยยังมุ่งเน้นที่การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการยึดแนวทางควบคุมเงินเฟ้อด้วยกลไกดอกเบี้ย แน่นอนว่าทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในประเทศอาจจะยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด

เห็นได้จากการคุมเข้มการใช้จ่ายภาคประชาชน ที่ยังคงยึดถือเกณฑ์การผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต(ลูกค้าเก่า) 10% ที่จะเริ่มใช้ในเดือนเมษายน 2550 ตามเดิม

เมื่อราคาน้ำมันยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ค่าโดยสารปรับเพิ่มขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคเตรียมปรับขึ้น รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้อีกนั้น ย่อมกระทบต่อกระเป๋าสตางค์ของคนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยที่รายรับยังคงเท่าเดิมส่งผลต่อกำลังซื้อย่อมลดลง รวมถึงความสามารถในการชำระหนี้

ถือเงินสดมากขึ้น

นักบริหารเงินแนะนำว่า ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้นทุกคนใช้สินค้าเท่าเดิม แต่ต้องจ่ายมากขึ้น แถมค่าครองชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่รายรับยังเท่าเดิม ดังนั้นประชาชนควรปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตด้วยการใช้จ่ายให้น้อยกว่าเดิม ลดรายการสินค้าที่ฟุ่มเฟือย

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องแก้ปัญหาที่ตัวเราเอง เพราะเวลานี้ไม่มีใครช่วยเราได้ ต้องประคองตัวภายใต้สถานการณ์นี้ไปก่อน การลดรายจ่ายถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด หลีกเลี่ยงการก่อหนี้เพิ่ม ถือครองเงินสดให้มากขึ้นไว้รองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

คุณต้องไม่ลืมว่าค่าไฟฟ้าปรับขึ้นมาแล้ว คุณใช้ไฟเท่าเดิมแต่ต้องจ่ายมากกว่าเดิม ค่าก๊าซหุงต้มที่เตรียมรองตัวอีก ค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นทั้งของตัวเราเองและคนในครอบครัว หรือแม้กระทั่งภาระดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้าน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น ดังนั้นการถือครองเงินสดไว้จำนวนหนึ่งน่าจะช่วยแก้ปัญหาได้

ที่ผ่านมาสถาบันการเงินหลายแห่งเร่งระดมเงินฝากกันมาก โดยเสนออัตราดอกเบี้ยที่สูงจูงใจ ทำให้คนหันมาฝากเงินเพื่อรับดอกเบี้ยที่สูงมากขึ้น เห็นได้จากตัวเลขเงินสดในระบบช่วง 5 เดือนแรกของปี 2549 ที่ลดลงจากสิ้นปี 2548 ถึง 42,212 ล้านบาทคิดเป็น 6.69% ขณะที่เงินฝากทั้งออมทรัพย์และฝากประจำเพิ่มขึ้นกว่า 4.3 แสนล้านบาท

นั่นคือผลของการระดมเงินฝาก ที่ทำให้การถือครองเงินสดของภาคประชาชนและภาคธุรกิจลดลง เพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงที่สุดบนความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด

แต่สถานการณ์ในวันนี้การถือครองเงินสดในมือให้มากขึ้นกว่าเดิมถือเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะเราต้องจ่ายเพื่อให้ได้สินค้าและบริการเหมือนเดิมในราคาที่สูงขึ้น

รักษาสิทธิก่อนเสียสิทธิ

สำหรับคนที่ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่เสนอดอกเบี้ยฝากในอัตราที่สูงก็ต้องทราบไว้ด้วยว่า เงินฝากประจำ 6-7-9 เดือนถึงจะได้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าปกติ หากท่านไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ดอกเบี้ยที่เคยระบุไว้ที่ 5% ก็จะลดลงเหลือแค่ดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ 0.75% เท่านั้น

คนที่ฝากเงินไปแล้ว ทางที่ดีก็ควรรอให้ครบกำหนดเพื่อให้ได้สิทธิจากอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว แต่เม็ดเงินใหม่ที่หามาได้เวลานี้ต้องสำรองไว้เพื่อเหตุการณ์ในอนาคตไว้บ้าง ไม่เช่นนั้นปัญหาจะลามเป็นลูกโซ่

ผู้ที่มีภาระต้องผ่อนชำระบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล หรือผ่อนบ้าน รถยนต์ ต้องสำรวจตัวเองก่อนว่าพร้อมรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้หรือไม่ หากประเมินแล้วอาจรับมือไม่ไหวควรต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต เพื่อประคองให้รายรับที่มีอยู่เพียงพอต่อภาระที่ต้องจ่าย โดยเฉพาะบรรดาบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล พยายามชำระให้ตรงกำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ หากค่าใช้จ่ายยังสูงกว่าก็ต้องหารายได้เพิ่มเพื่อชดเชยค่าใช้จ่าย ทางเลือกสุดท้ายหากไม่ไหวจริง ๆ อาจต้องพึ่งพาบริการสินเชื่อต่าง ๆ ควรเลือกดูรายที่คิดดอกเบี้ยต่ำที่สุด หรือเสนอโปรโมชั่นที่จะช่วยเราได้มากที่สุด

อีกวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในบ้านได้คือการใช้บัตรเครดิตที่ให้ส่วนลดในการซื้อสินค้า เช่น บัตรของห้างสรรพสินค้า หรือดิสเคานต์สโตร์ต่าง ๆ บางแห่งให้ส่วนลดน้ำมันด้วย แม้ส่วนลดนั้นอาจจะไม่มาก แต่หากเราซื้อสินค้าเหล่านั้นบ่อยก็จะช่วยทำให้เราประหยัดค่าใช้จ่ายได้ระดับหนึ่ง

ถ้าสามารถควบคุมการใช้จ่ายทุกทางแล้ว น่าจะช่วยให้เรามีเงินสดเหลือมากขึ้นกว่าเดิม ส่วนจะพอต่อการรับมือกับภาวะการณ์เช่นนี้หรือไม่ ผู้ใช้จ่ายเท่านั้นที่จะให้คำตอบได้ดี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.