ดันแบรนด์เซ็นทรัลเวิลด์โกอินเตอร์ พิสูจน์ฝีมือจิราธิวัฒน์สู้เศรษฐกิจซบ


ผู้จัดการรายวัน(21 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

"ซีพีเอ็น" วางหมัดเด็ดงัดโครงการเซ็นทรัล เวิลด์ มูลค่า 2.6 หมื่นล. สร้างแบรนด์ต่างประเทศ ก่อน 4 ปีข้างหน้าโกอินเตอร์ผุดธุรกิจค้าปลีก 1 แห่ง ยกรูปแบบทั้งแฟล็กชิพ สโตร์ แบรนด์ "เซ็นทรัล เวิลด์" และดีพาร์ทเมนต์ แบรนด์ "เซ็นทรัล พลาซ่า" ล่าสุดเปิดตัวเซ็นทรัล เวิลด์ วันที่ 21 กรกฎาคมนี้ ชูโพซิชันนิ่ง "นำสู่วิถีชิวิตทันสมัยใหม่" แม่เหล็กดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ-คนไทย พร้อมทุ่มงบ 300 ล้านบาทลุยครึ่งปีหลัง สิ้นปีโกยรายได้ 12% จากรายได้รวม

นายกอบชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น เจ้าของโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ เปิดเผยว่า บริษัทฯได้วางแนวทางรุกธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศอีก 4 ปีข้างหน้านี้ หรือปี 2553 โดยได้วางแผนใช้โครงการเซ็นทรัล เวิลด์ ซึ่งเป็นแฟล็กชิพของซีพีเอ็นที่ใหญ่ที่สุด ในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก โดยเซ็นทรัล เวิลด์เปรียบเสมือนเป็นตัวโฆษณา ที่ทำให้นักท่องเที่ยวจะต้องเดินทางมาดูหรือชอปปิ้งที่โครงการแห่งนี้ เนื่องจากมองว่าการสร้างแบรนด์ให้ชาวต่างประเทศรู้จัก จะช่วยต่อยอดการเปิดธุรกิจค้าปลีกเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น ขณะเดียวกันความน่าเชื่อถือด้านการเงินก็มีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามหากมีการเปิดธุรกิจค้าปลีกในต่างประเทศ คงจะต้องพิจารณาถึงสถานที่เป็นหลักก่อน ทั้งนี้หากสถานที่นั้นเป็นพื้นที่มีศักยภาพจะใช้ภายใต้แบรนด์ "เซ็นทรัล เวิลด์" แต่หากสถานที่ไม่ได้อยู่ใจกลางเมืองจะใช้แบรนด์ "เซ็นทรัล พลาซ่า" โดยในเบื้องต้นบริษัทจะเปิดให้ได้ 1 แห่งก่อนในช่วง 4 ปีข้างหน้านี้

แผนสร้างแบรนด์เซ็นทรัล เวิลด์ ให้เป็นที่รู้จัก นอกจากการเป็นแฟล็กชิพที่ใหญ่แล้ว บริษัทฯได้วางภาพลักษณ์ของเซ็นทรัล เวิลด์ เป็นตัวแทนที่ทันสมัยใหม่ภายใต้โพซิชั่นนิ่ง "นำสู่วิถีชีวิตทันสมัยใหม่" เจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวในสัดส่วนถึง 40% ส่วนคนไทย 60% ในเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นประเทศจากตะวันออกกลางที่มีความนิยมเดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยมากกว่าไปยุโรป ซึ่งขณะนี้คงจะต้องรอให้สนามบินสุวรรณภูมิเปิดดำเนินการก่อน โดยได้ทุ่มงบตลาด 300 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลัง นำร่องจัดงาน แกรนด์ เซเลเบรชั่นส์ ขึ้นเดือนสิงหาคม โดยจะมีการจัดกิจกรรมการตลาดและใช้สื่อโฆษณาอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้คาดว่าจะดึงดูดลูกค้าเข้าศูนย์ 1.5 คนต่อวัน แบ่งเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 หมื่นคน ตั้งเป้าช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาจับจ่ายใช้สอย 7.3 หมื่นล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังคาดว่าจะช่วยดึงดูดคนไทยที่เดินทางไปชอปปิ้งต่างประเทศหันมาชอปปิ้งในไทยมากขึ้น

ทั้งนี้แม้ว่าเซ็นทรัล เวิลด์จะเปิดตัวในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว แต่บริษัทฯ ไม่มีความกังวลมากนัก เนื่องจากโครงการนี้เป็นแผนที่วางไว้ในระยะยาวมากกว่าแค่ในระยะสั้นๆ อีกทั้งกลุ่มเป้าหมายเจาะกลุ่มคนกรุงเทพฯ ที่มีกำลังซื้อระดับเอ-บี และนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก รวมทั้งการจัดโซนก็มีความหลากหลายรองรับไลฟ์สไตล์ในแต่ละกลุ่ม อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาเซ็นทรัลทุกสาขาไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจหรือจากการที่คนไทยมีกำลังการซื้อลดลง โดยยอดการเข้าศูนย์เพิ่มขึ้น 5% และมียอดขายเพิ่มขึ่น 10% ยกเว้นเซ็นทรัล เวิลด์ที่ลดลง เนื่องจากมีการปรับปรุง สำหรับโครงการเซ็นทรัล เวิลด์หลังจากการเปิดดำเนินการในวันที่ 21 กรกฎาคม นี้ กระทั่งสิ้นปีตั้งเป้ามีรายได้ 12% จากรายได้รวมทั้งของเซ็นทรัล

สำหรับเซ็นทรัล เวิลด์ โครงการชอปปิ้งและไลฟ์สไตล์คอมเพล็กซ์มูลค่า 2.6 หมื่นล้านบาท บนพื้นที่ 5.5 แสนตรม. นำร้านค้าชั้นนำในไทยและจากต่างประเทศกว่า 500 แห่ง ภัตตราคารและร้านอาหารกว่า 50 ร้าน และโรงภาพยนตร์ 21 โรง และศูนย์โบว์ลิ่ง โดยขณะนี้ศูนย์ปรับปรุงไปแล้ว 60% และจะทยอยปรับเดือนละ 10% เดือนกันยายน เป็น 90% ตั้งเป้าสิ้นปีเสร็จครบ 100% บนพื้นที่รีเทล 2.5 แสนตรม. เมื่อเทียบกับเซ็นทรัล ลาดพร้าวมีพื้นที่ 7.5 หมื่นตรม.มากกว่าถึง 5 เท่าตัว แบ่งออกเป็น 6 โซน ได้แก่ โซนเอ เอเทรียม เจาะกลุ่มระดับไฮเอนด์ โซนบี บีคอน เป็นร้านที่อยู่ริมถนนและเป็นแบรนด์ที่รองลงมาจากโซนเอ โซนซี เซ็นทรัล คอร์ท เป็นร้านค้ายอดนิยม และโซนดี แดซเซิล โซนอี อีเดน และโซนเอฟ ฟอรั่ม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.