หุ้นไทยเริ่มฟื้นทะยาน 8 จุด เหตุเฟดหยุดขึ้นดบ.


ผู้จัดการรายวัน(21 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ตลาดหุ้นฟื้นปิดบวก 8.85 จุดหลังนักลงทุนคลายกังวลเฟดจ่อหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ย บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) เชื่อดัชนีมีโอกาสแตะ 700 จุดใน 2 สัปดาห์นี้โดย "พลังงาน-แบงก์" ยังนำตลาด ด้านบล.บีฟิท เชื่อหุ้นรีบาวน์แค่ช่วงสั้นๆ เหตุปัจจัยลบการเมืองในประเทศยังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นทั่วเอเชียทะยานสูงหลังประธานเฟดระบุภาวะเงินเฟ้อในไตรมาสต่อๆ ไป มีแนวโน้มปรับตัวลดลง พร้อมๆ กับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ

ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (20 ก.ค.) ดัชนีเปิดปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดหลังประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดส่งสัญญาณว่าอาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไป โดยดัชนีปิดที่ 668.96 จุด เพิ่มขึ้น 8.85 จุด หรือ 1.34% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 672.76 จุดและจุดต่ำสุดอยู่ที่ 667.90 จุด มูลค่าการซื้อขาย 13,708.94 ล้านบาท

การซื้อขายของนักลงทุนรายกลุ่มปรากฏว่า นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 861.56 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 387.27 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 474.29 ล้านบาท

นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าตลาดหุ้นปรับขึ้นภายหลังจากที่เฟดส่งสัญญาณว่า จะไม่ขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก ขณะที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร ระยะ 14 วันไว้ที่ 5%

นอกจากนี้กรณีที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 0% เป็น 0.25% ก็ทำให้เกิดสัญญาณการไหลของเงินจากตะวันตกสู่ตะวันออกมากขึ้นในระยะ 12 เดือนหลังจากนี้

สำหรับปัจจัยระยะสั้น ปัญหาการเมืองในประเทศยังคงเป็นปัจจัยที่มีผลต่อตลาดหุ้นไทย แต่จะมีผลเฉพาะนักลงทุนไทย ขณะที่นักลงทุนต่างชาติซึ่งเน้นการลงทุนระยะปานกลางและระยะยาว ยังมีมุมมองว่าสุดท้ายปัญหาการเมืองก็จะคลี่คลายลงและมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไปได้

อย่างไรก็ตามจากปัจจัยดังกล่าว คาดว่าแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยในระยะปานกลางถึงยาวอยู่ในช่วงที่ดีมาก โดยคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ดัชนีอาจจะปรับตัวขึ้นทะลุ 700 จุดในช่วง 2 สัปดาห์นี้

ขณะที่หลักทรัพย์กลุ่มที่น่าจะเป็นกลุ่มนำตลาดยังคงเป็นกลุ่มมาร์เกตแคปใหญ่ คือกลุ่มพลังงาน เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่กำลังประกาศผลประกอบการ ซึ่งมีแนวโน้มที่ดี ก็น่าจะเป็นแรงช่วยฉุดดึงดัชนีตลาดหุ้นได้

นายอนุพนธ์ ศรีอาจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ บีฟิท จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นวานนี้ว่า เป็นการปรับตัวตามตลาดหุ้นภูมิภาค รวมถึงการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดสหรัฐโดยดัชนีดาวน์โจนปรับตัวสูงขึ้นถึง 212.19 จุด หลังจากที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานของเฟด ส่งสัญญานว่าอาจจะชะลอการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งต่อไป

ทั้งนี้มองว่าการปรับตัวขึ้นในครั้งนี้อาจจะเป็นเพียงการปรับตัวขึ้นในระยะสั้นๆเท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศยังไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะเรื่องของการยุบพรรคการเมือง 5 พรรคซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นอย่างไร โดยในเรื่องดังกล่าวมีการเกี่ยวโยงไปถึงการกำหนดการเลือกตั้งในครั้งต่อไปว่าจะเกิดขึ้นได้เมื่อไหร่

"ตลาดหุ้นรีบาวน์ขึ้นคงเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เท่านั้น เพราะยังมีประเด็นทางการเมืองในประเทศ ที่เป็นปัจจัยหลักที่กดดันซึ่งยังไม่ชัดเจนโดยนักลงทุนอาจจะต้องรอดูความชัดเจนก่อน เพราะตอนนี้ยังไม่มีการเลือกตั้งมีเพียงแต่รัฐบาลรักษาการไม่มีอำนาจในการตัดสินใจในโครงการต่างๆ ซึ่งอาจจะทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจด้อยลง" นายอนุพนธ์กล่าว

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้คาดว่ามีโอกาสที่ดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากยังไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามา ขณะที่ปัจจัยลบที่ปกคลุมอยู่นักลงทุนและตลาดก็รับรู้แล้ว โดยประเมินแนวรับที่ 660 จุด และแนวต้านที่ 680 จุด

นางสาวอรุณรัตน์ จิวางกูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ทีเอสอีซี จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยนอกประเทศนอกเหนือจากเรื่องสัญญาณการหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดแล้วสิ่งที่นักลงทุนจะต้องให้ความสนใจเป็นเรื่องการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมถึงการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนว่าจะเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ แนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้คาดว่าดัชนีจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เพราะนักลงทุนบางส่วนจะชะลอการลงทุน เนื่องจากเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยประเมินแนวรับที่ 660 จุด และแนวต้านที่ 671-672 จุด

***หุ้นสหรัฐ-เอเซียพุ่งขานรับเฟด

ดัชนีดาวโจนส์ในสหรัฐฯ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19) ถีบตัวสูงขึ้น 212.19 จุดหรือ 1.96% ปิดตลาดที่ระดับ 11,011.42 ส่วนดัชนีแนสแนคกระโจนขึ้น 37.49 จุดหรือ 1.83 % ปิดที่ 2,080.71 จุด ขานรับถ้อยแถลงของประธานเฟด เพราะคาดกันว่าอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดกำลังเตรียมพร้อมที่จะยุติวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ย และจะไม่ปรับดอกเบี้ยสูงมากเกินไป จนส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์เอเชียวานนี้ (20) ก็พากันพุ่งแรงตามเป็นแถว โดยดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 446.58 จุดหรือ 3.08% สำหรับตลาดโซลของเกาหลีใต้ทะยานขึ้น 3.21% ส่วนตลาดหุ้นในฮ่องกงปิดตลาดสูงขึ้น 2.33% ด้านสิงคโปร์และกัวลาลัมเปอร์เพิ่มขึ้น 1.78% และ 0.51% ตามลำดับ

เบอร์นานกีไปแถลงรายงานรอบครึ่งปีในเรื่องนโยบายการเงิน ต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภาสหรัฐฯว่า ในภาวะปัจจุบันที่ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นจนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เฟดจะยังคงเฝ้าระวังเรื่องของภาวะเงินเฟ้อต่อไป

เบอร์นานกีชี้แจงว่า หลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯได้มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมาเป็นเวลานานหลายปี และเติบโตขึ้นถึง 5.6% ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ในที่สุดเศรษฐกิจสหรัฐฯก็กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงเวลาแห่ง “การเปลี่ยนผ่าน” ไปสู่การเติบโตในระดับพอประมาณ

“หากเศรษฐกิจมีการชะลอตัวลงในระดับสมควรตามที่คาด ก็น่าจะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาในอนาคตลงได้”

ทว่าในขณะเดียวกัน เฟดเชื่อมั่นว่า ความเสี่ยงที่เกิดจากระดับภาวะเงินเฟ้อบางประการนั้นยังคงดำรงอยู่ สืบเนื่องมาจากระดับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทะยานสูงขึ้น พร้อมๆกับการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐฯที่เริ่มจะถึงขีดจำกัดสูงสุด

กล่าวคือ เมื่อระดับราคามีการขยับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นกระสวนอันยืดเยื้อยาวนาน ก็อาจส่งผลทำให้สาธารณชนเกิดความเชื่อฝังแน่นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของระดับเงินเฟ้อในอนาคตต่อๆไป อีกทั้งยังมีผลต่อพฤติกรรมการกำหนดราคาสินค้าต่างๆ

“ระดับภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจะส่งผลบั่นทอนต่อศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งการที่จะแก้ไขให้ภาวะเงินเฟ้อกลับเข้าสู่ภาวะปกตินั้น เป็นเรื่องที่ต้องทุมเทกำลังความสามารถเป็นอย่างมาก ฉะนั้น เฟดจึงยังจำเป็นต้องคำนึงถึงความเสี่ยงเหล่านี้ก่อนที่จะมีการดำเนินการตัดสินใจใดๆด้านนโยบาย” เบอร์นานกีกล่าว

ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯเสริมอีกว่า เฟดยังจำเป็นต้องคำนึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจทุกประการ ที่อาจเกิดจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 17 ครั้งที่ผ่านมาด้วย ซึ่งยังคงส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

ที่ผ่านมาเฟดได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟดฟันด์เรตมาแล้วถึง 17 ครั้ง จนมาอยู่ที่ระดับ 5.25% บรรดานักวิเคราะห์ในวอลสตรีทต่างพากันคาดการณ์ไปต่างๆนานาถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปของเฟดที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 สิงหาคมนี้

ในภาวะปัจจุบันที่ราคาน้ำมันทะยานทำสถิติใหม่เหนือระดับ 78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหลายครั้งหลายครา ทำให้นักวิชาการบางส่วนมองว่า เฟดจะยังคงดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมระดับภาวะเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ

ขณะนักวิเคราะห์อื่นๆ แย้งว่า เมื่อพิจารณาถึงสัญญาณหลายๆประการที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงทางเศรษฐกิจแล้ว เฟดน่าจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะดูเป็นการกระทำที่สมเหตุผลมากกว่าในขณะนี้

เบอร์นานกียังได้คาดการณ์ต่อด้วยว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณ 3.25-3.5% ในปีนี้ และอยู่ที่ราว 3.0-3.25% ในปีถัดไป อันสะท้อนให้เห็นถึงสภาพการชะลอตัวลงของตลาดที่อยู่อาศัย และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ลดต่ำลง

ในด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งวัดจากระดับการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดยไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เฟดคาดว่าน่าจะอยู่ระหว่าง 2.25-2.5% ในปีนี้ ก่อนจะปรับตัวลดลงอยู่ที่ 2.0-2.25% ในปี 2007

ประธานเฟดทิ้งท้ายไว้ว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามคาด “เศรษฐกิจสหรัฐฯน่าจะยังอยู่บนเส้นทางการขยายตัวที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานก็จะค่อยๆ ลดระดับลงในอีกไม่กี่ไตรมาสข้างหน้า"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.