การเติบโตของกลุ่มเลนโซ่ทั้งแนวดิ่ง
และแนวนอนเช่นนี้ทำให้เขาต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินงานบริหารของตนเองใหม่จากพี่ๆ
น้องๆ มาเป็นมือโปร จากการเก็บตัวเงียบมาเป็นเปิดเผย จากไชนีสสไตล์มาเป็นสไตล์อินเตอร์
"บริษัทจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายสู่ธุรกิจใหม่
รวม 4 โครงการใหญ่ในปีนี้ คือ เคมีอุตสาหกรรม ธุรกิจยานยนต์ ธุรกิจผลิตวัสดุปูพื้น
และโทรคมนาคม" เจษฎา วีระพร หนุ่มวัย 40 เศษๆ ดำรงสถานะเป็นถึงประธานกลุ่มบริษัทเลนโซ่
จำกัด ซึ่งปีๆ หนึ่งมีรายได้ร่วมหมื่นล้านบาทกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมา
การลงทุนดังกล่าวจะเริ่มต้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตแทงค์เก็บสารเหลวทุกชนิด
ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทยูนิแทงค์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือของบริษัท
การเพิ่มกำลังการผลิตนี้เป็นระยะที่ 3 ซึ่งเจษฎาคาดการณ์ไว้ว่า ธุรกิจเคมีจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปีนี้
หากต้องการขายเคมีทั่วไปเหล่านี้ให้ได้มากๆ ก็จำเป็นอยู่เองที่จะต้องสร้างแทงค์เพื่อเก็บสำรองเพิ่มขึ้น
ดังนั้นแผนเพิ่มกำลังการผลิตนี้จึงเป็นการเตรียมการณ์เพื่อรองรับสถานการณ์ของตลาดไว้ล่วงหน้า
นอกจากนี้เขายังเตรียมการณ์เลยไปถึงการขยายไปสู่ธุรกิจน้ำมัน ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เจษฎาวางแผนที่จะเริ่มต้นภายในกลางปีนี้ด้วยเช่นกัน
สาเหตุที่กลุ่มเลนโซ่จะมุ่งเข้าสู่ธุรกิจน้ำมัน น่าจะเป็นเพราะว่า ธุรกิจน้ำมันถือเป็นธุรกิจเสริมของธุรกิจเคมีซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของเขาอยู่แล้วเพราะสารเคมีบางตัวที่เลนโซ่จำหน่ายอยู่
สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการกลั่นน้ำมันได้ ขณะเดียวกันก็มีแทงค์เก็บน้ำมันรองรับเช่นกัน
ประกอบกับรัฐบาลประกาศให้เปิดโรงกลั่นเสรีเกิดขึ้นในเมืองไทย ความหวังที่เข้าสู่ธุรกิจต่อเนื่องของเขาจึงเกิดขึ้น
"มันเป็นการนำเอาความพร้อมของธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้วมาสานต่อให้เกิดผลเพิ่ม
นั่นก็คือการนำการผลิตแทงค์บรรจุสารเหลว และท่าเรือมาใช้ประโยชน์ในการขยายธุรกิจใหม่"
เจษฎาตอบคำถามในประเด็นที่ว่าทำไมเขาจึงคิดเข้าสู่ธุรกิจน้ำมัน
ความหวังในการที่จะเข้าไปทำธุรกิจน้ำมันของกลุ่มเลนโซ่มีอยู่สูงมาก อันเนื่องมาจากความพร้อมที่มีอยู่สูงไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านวัตถุดิบ
ด้านแทงค์เก็บน้ำมัน ปัจจัยทางด้านตลาด และนโยบายของรัฐซึ่งเป็นปัจจัยส่งหนุนช่วยอีกแรงหนึ่ง
ว่ากันว่า ณ วันนี้เจษฎาวางแผนการดำเนินธุรกิจน้ำมันเอาไว้เรียบร้อยแล้วคือ
ในช่วงแรกจะสั่งซื้อน้ำมันมาจากต่างประเทศเพื่อบรรจุเก็บไว้ในแทงค์ และจัดส่งไปยังสถานีบริการน้ำมันอีกครั้งหนึ่งซึ่งมูลค่าการขายส่งจะตกอยู่ที่ราวๆ
10 ล้านลิตร ซึ่งน้ำมัน 10 ล้านลิตรนี้ กลุ่มเลนโซ่กำหนดกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายใหญ่ไว้ประมาณ
3-4 รายเท่านั้น อาทิ กลุ่มของวัฒนา อัศวเหม ซึ่งดำเนินงานภายใต้การค้าปลีกน้ำมันชื่อ
"คิวเอท" และกลุ่มมงคล สิมะโรจน์ ซึ่งค้าปลีกน้ำมันชื่อ "SUSCO"
เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเลนโซ่เข้าสู่ขบวนการผลิตได้ จึงเป็นเรื่องที่แน่นอนว่าการขยายตัวเข้าสู่การค้าปลีกน้ำมันย่อมไม่ทีทางหลีกเลี่ยงได้
เพราะนั่นจะหมายถึง เป็นการทำธุรกิจที่ครบวงจร ซึ่งเจษฎากล่าวว่า การค้าปลีกน้ำมันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ
เขาจะต้องซื้อไลเซนส์น้ำมันชื่อดังจากต่างประเทศเข้ามาให้ได้ก่อน เมื่อขั้นตอนนี้เป็นที่เรียบร้อยจึงจะเริ่มต้นเปิดสถานีในกทม.
แล้วจึงขยายสู่ตลาดต่างจังหวัดโดยการร่วมมือกับเจ้าของที่ดินซึ่งมีความประสงค์จะค้าปลีกน้ำมันร่วมกับกลุ่มเลนโซ่ในจังหวัดนั้นๆ
ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่าการศึกษาโครงการ
ตลาดน้ำมันในปัจจุบันมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000-60,000 ล้านบาท มีผู้ค้าน้ำมันในขณะนี้ร่วม
10 ราย มีโรงกลั่นเกิดขึ้น 4 โรง เจ้าของค่ายโรงกลั่นใหญ่ๆ ล้วนมุ่งหน้าเข้าสู่การค้าปลีกน้ำมันด้วยกันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นบางจาก
หรือไทยออยล์ก็ตาม หากเลนโซ่กรุ๊ปเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้สำเร็จ ตลาดน้ำมันที่นับวันจะมีมูลค่าเพิ่มสูงถึง
100,000 ล้านบาทได้ในอนาคตก็นับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามหาศาลของกลุ่มเลนโซ่เลยทีเดียว
นั่นคือการมองการณ์ไกลของกลุ่มเลนโซ่
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซค์
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการขยายกำลังการผลิตโซนีล ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทวัสดุปูพื้น
รวมทั้งธุรกิจโทรคมนาคม
ธุรกิจที่เจษฎากล่าวถึงเหล่านี้ ล้วนเป็นการขยายตัวของกลุ่มเลนโซ่ทั้งในแนวดิ่ง
(DOWN STREAM) และแนวนอน (UP STREAM) ให้กลายเป็นธุรกิจใหญ่ที่ครบวงจร และสามารถทำให้รายได้ของเลนโซ่กรุ๊ปจากบริษัทในเครือทั้งหมดที่ทำรายได้ในปัจจุบัน
8,000 ล้านบาทขยับเกินกว่า 10,000 ล้านบาทได้ในอนาคตอันใกล้นี้
"ไม่ว่าจะเป็นการขยายเข้าสู่ธุรกิจใดก็ตามเราจะคำนึงถึงความพร้อมขององค์กรก่อนว่า
เรามีความพร้อมอยู่หรือไม่ และโดยส่วนใหญ่การตัดสินใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ
นั้น ต้องมีปัจจัยหลักมากจากธุรกิจดั้งเดิมเป็นหลัก เช่น โรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซค์
แม้จะเป็นธุรกิจใหม่แต่ก็สามารถทำได้ เพราะมีโรงงานประกอบเสื้อสูบซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเครื่องยนต์รถมอเตอร์ไซด์อยู่ก่อนแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการผลิตก็ใช้เทคโนโลยีของเอนไกซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน"
ขณะเดียวกันการเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น จะว่าไปแล้วย่อมมีความพร้อมมากกว่าโครงการอื่นใด
ทั้งนี้ เพราะกลุ่มเลนโซ่ ได้เริ่มสะสมที่ดินมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี ณ วันนี้เขาสามารถจะนำที่ดินในกรรมสิทธิออกมาพัฒนาสร้างโครงการหามูลค่าเพิ่มต่อได้อีกมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นบนถนนสายบางนา-ตราดหรือบนถนนสายศรีนครินทร์
อย่างไรก็ตามหากสังเกตวิธีการขยายธุรกิจของกลุ่มเลนโซ่แล้วจะเห็นว่า โครงการที่เป็นเป้าหมายในการขยายทั้งหมดนี้
ล้วนใช้วิธีการขยายกิจการเลียนแบบการเกิดธุรกิจต้นกำเนิดของตนเอง
นั่นคือ เลนโซ่เริ่มต้นตั้งเป้าหมายขยายธุรกิจเข้าสู่การค้าน้ำมัน โดยการเริ่มจากมีแนวความคิดการเป็นตัวแทนนำเข้า
และจำหน่ายน้ำมันในประเทศก่อน แล้วค่อยๆ แปลงสภาพตัวแทนนำเข้าน้ำมันมาเป็นการสร้างโรงกลั่นและค้าปลีกน้ำมันในที่สุด
โรงงานประกอบรถมอเตอร์ไซด์ก็ใช้ฐานเดิมที่มีอยู่เป็นหลักในการเข้าสู่ธุรกิจใหม่
หรือการพัฒนาที่ดินก็นำความพร้อมโดยการมีแลนด์แบงค์เป็นของตนเองอยู่แล้ว
ทั้งหมดนี้ล้วนเหมือนเช่นธุรกิจแรกเริ่มของกลุ่มเลนโซ่นั่นคือการเป็นตัวแทนการขายยางรถยนต์
ล้อแม็ก แล้วเริ่มขยับขยายเข้าสู่การสร้างโรงงานเพิ่มสถานะเป็นผู้ผลิตในภายหลัง
ย้อนภาพไปในอดีตเมื่อ 22 ปีก่อน ตระกูลนี้เริ่มต้นทำธุรกิจจากการเป็นดีลเลอร์ขายอะไหล่รถยนต์
ล้อแม็กและยางซึ่งเป็นกิจการของ "บี้ แซ่ลี้" ผู้เป็นพ่อ กิจการนี้ทำในนามของ
หจก. LEE&SON ตั้งอยู่บนถนนพระราม 4
เมื่อลูกๆ จบการศึกษามาจากต่างประเทศ และต่างคนต่างกลับเมืองไทยเพื่อมาช่วยทำธุรกิจของพ่อ
หรือบ้างก็ไปเป็นลูกจ้างของบริษัทอื่นเพื่อเรียนรู้ความแตกต่างและหาประสบการณ์
ผู้นำตระกูลจึงได้ตัดสินใจขยายธุรกิจดั้งเดิมเพื่อให้ลูกๆ แต่ละคนได้มีที่ทำมาหากิน
ไม่ต้องแย่งกันบริหารในหจก. LEE&SON ซึ่งเป็นกงสีของตระกูลเพียงธุรกิจเดียวเท่านั้น
ขณะเดียวกันความปรารถนาของผู้เป็นพ่อก็คือ ไม่ต้องการให้ลูกไปเป็นลูกจ้างใคร
ด้วยเหตุผลนี้ทำให้พิเชษฐ์พี่ชายคนโต และเจษฎาน้องคนรอง จึงได้ขอเงินพ่อออกมาตั้งบริษัทใหม่
แยกออกมาเป็นอิสระจากธุรกิจของพ่อ เมื่อปี 2520 เงินก้อนแรกที่พ่อให้มา 2
คนพี่น้องได้นำมาซื้อตึกแถว 3 ชั้น ตั้งอยู่ที่ปากซอยสุขุมวิท 65 เป็นที่ทำการของบริษัทใหม่
พิเชษฐ์ทำธุรกิจขายยาง และล้อแม็กเหมือนพ่อ ในขณะที่เจษฎากลับไปค้าเคมี
โดยอาศัยตึกเดียวกันกับพี่ชายพร้อมกับตั้งชื่อบริษัทใหม่ของเขาทั้ง 2 คนว่า
"เลนโซ่" ซึ่งชื่อของเลนโซ่นี้เล่ากันว่าได้ใช้รากฐานที่มาจาก
หจก. LEE&SON โดยการนำตัว N ของคำว่า SON มาต่อท้ายคำว่า LEE กลายเป็นชื่อบริษัท
LEEN SO ใช้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้
แม้พิเชษฐ์และเจษฎาจะแยกตัวออกมาแล้ว โดยมีน้องๆ อีก 3-4 คนช่วยงานอยู่ด้วยคือ
มานะ ประสบ มุกดาและนพพร อย่างไรก็ตามบริษัทใหม่ของพิเชษฐ์ ก็ยังคงดำเนินกิจการเช่นเดียวกับพ่อคือเป็นดีลเลอร์ขายอุปกรณ์รถยนต์
อาทิ ยาง ล้อแม็ก จนกระทั่งเลนโซ่ก็ได้กลายมาเป็นผู้นำเข้าจากต่างประเทศแต่ผู้เดียวในประเทศไทย
ประสบการณ์จากการเป็นผู้นำเข้าและเป็นตัวแทนการขายยาง RIKKEN และล้อแม็กเอนไกมานานปี
ทำให้พิเชษฐ์มีแนวความคิดที่จะพัฒนาธุรกิจของตนเองให้ขยายออกไปโดยเริ่มจากธุรกิจเดิมของตนเองเป็นหลัก
ลำดับขั้นตอนในความคิดของพิเชษฐ์ในตอนนั้นคือขั้นแรกเขามีความต้องการที่จะยกฐานะจากการเป็นตัวแทนขาย
ให้กลายเป็นบริษัทใหญ่ที่มีสิทธิมากกว่าเพียงแค่การเป็นตัวแทนขายและจำหน่ายในประเทศเท่านั้น
ขั้นตอนที่สองคือการทำบริษัทให้ครบวงจรเป็นเป้าหมายสำคัญ และในเมื่อเขาขายเอนไกของญี่ปุ่นอยู่แล้ว
พิเชษฐ์จึงได้ชักชวนเอนไกญี่ปุ่นเข้ามาร่วมทุนกันเพื่อเปิดบริษัทใหม่ในเมืองไทย
หากการเจรจาร่วมทุนเป็นผลสำเร็จ เลนโซ่ซึ่งเป็นตัวแทนขายล้อแม็กเอนไกก็จะได้ยกสถานะเป็นบริษัทสาขาไปในทันที
และสามารถพัฒนาไปจนกระทั่งถึงขั้นสร้างโรงงานผลิตล้อแม็กในประเทศได้
ว่ากันว่าการเจรจาต่อรองกับเอนไกเพื่อดึงให้เข้ามาร่วมทุนเปิดบริษัทสาขา
และสร้างโรงงานผลิตล้อแม็กในเมืองไทยที่สำเร็จลุล่วงและก่อร่างสร้างฐานเอาเมื่อปี
2530 เป็นต้นมาได้นั้น ก็เพราะพิเชษฐ์ให้เหตุผลที่จูงใจเอนไกญี่ปุ่นอยู่
2 ประการซึ่งเป็นเหตุผลที่นับว่าได้สร้างความพอใจให้กับเอนไกญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก
คือ การสร้างโรงงานในเมืองไทยจะเป็นการลดต้นทุนให้ต่ำลงแทนที่จะนำเข้า ซึ่งการนำเข้าล้อแม็กเอนไกจะต้องเสียภาษีที่สูงทำให้ราคาขายต้องสูงตามไปด้วย
ประกอบกับปริมาณการเติบโตของยอดขายรถยนต์ในเมืองไทย ในอนาคตจะกลายเป็นหนทางที่ทำให้การสร้างโรงงานผลิตในประเทศถึงจุดคุ้มทุนได้อย่างรวดเร็ว
บริษัทเอนไกไทยจึงก่อตัวขึ้นในปีต่อมา โดยมียักษ์ใหญ่ด้านล้อแม็กคือ บริษัท
เอนบิชิ อลูมินั่ม วีลส์ ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า และเทคโนโลยีการผลิตล้อแม็ก
"เอนไก" เป็นผู้ถือหุ้นสำคัญและได้จัดส่งกรรมการผู้จัดการชาวญี่ปุ่น
"ทาดาชิ โอโมริ" เข้ามาวางรากฐานการบริหารโรงงานเอนไกไทย ส่วนตระกูลวีระพรก็มี
3 คนพี่น้องช่วยกันดูแลคือ พิเชษฐ์เป็นประธานกรรมการ ส่วนประสบ และนพพรดูแลด้านการตลาด
การเข้าร่วมทุนกับเอนไกญี่ปุ่นในครั้งนั้นทำให้เลนโซ่ได้ทำหน้าที่บริหารเครือข่ายการตลาดที่กว้างขึ้น
ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วนคือ
ส่วนแรกคือส่วน OEM หรือโรงงานประกอบรถยนต์ที่ล้อมแม็กเอนไกสามารถสร้างการยอมรับของตลาดได้
จนกระทั่งเอนไกได้เข้าไปในส่วนของโรงงานประกอบรถยนต์ของค่ายญี่ปุ่นได้ทุกยี่ห้อ
ไม่ว่าจะเป็น โตโยต้า นิสสัน ฮอนด้า หรือมิตซูบิชิ
ส่วนที่สองคือ AFTER MARKET ซึ่งเป็นตลาดการขายเอนไกให้กับผู้ใช้รถทั่วไป
โดยใช้ช่องทางกระจายสินค้าล้อแม็กผ่านไปยังเอเยนต์ไม่ต่างๆ ต่ำกว่า 400 แห่งไปยังลูกค้าทั่วประเทศ
ส่วนสุดท้ายคือ ตลาดส่งออกซึ่งมีประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดเป้าหมายส่งออกที่สำคัญ
(อ่านรายละเอียดเรื่องการตลาดล้อแม็กเอนไกได้จากผู้จัดการรายเดือนฉบับที่
113 ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2536)
การตัดสินใจในครั้งนั้นของพิเชษฐ์ จึงนับได้ว่าเป็นการเริ่มต้นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของตระกูลวีระพรเลยทีเดียวก็ว่าได้
ส่วนเจษฎาซึ่งหันไปดำเนินกิจการค้าด้านเคมีอย่างจริงจัง หลังจากที่สั่งสมประสบการณ์มาจากการไปเป็นพนักงานขายของยูนิคาไบน์เมื่อจบการศึกษามาใหม่ๆ
ทำให้เขาได้เรียนรู้งานด้านเคมีมาอย่างเต็มที่ เพราะบริษัทยูนิคาไบน์เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านค้าเคมีของเมืองไทยในขณะนั้น
เจษฎาได้อาศัยชายคาเดียวกันกับพี่ชายที่ตึกแถว 3 ชั้นนั้นเปิดบริษัทเคมีเป็นตัวแทนขายเคมีทั่วไป
เขาทำอย่างจริงจังจนกระทั่งธุรกิจเคมีเริ่มขยายตัวเติบโตได้ไม่แพ้กิจการของพี่ชาย
เมื่อธุรกิจของสองพี่น้องเริ่มเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เจษฎาจึงมีแนวความคิดที่จะแยกตัวธุรกิจของพี่ชาย
และตนเองออกจากกัน โดยแตกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ "เคมีภัณฑ์"
และอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของ "ล้อแม็ก" เจษฎาให้เหตุผลว่า "เพื่อความสะดวกในเชิงขยายธุรกิจที่ประสานต่อเนื่องกัน"
ในส่วนของการขายล้อแม็กจึงกลายเป็น "เอนไกไทย" เมื่อร่วมทุนกับเอนไกญี่ปุ่น
ซึ่งปัจจุบันเอนไกไทย ได้ขยายกิจการเข้าไปเป็นตัวแทนขายรถยนต์ฮอนด้าแล้ว
โดยเปิดสาขาทั้งหมด 3 สาขา คือ บางนา-ตราด ศรีนครินทร์ และรามอินทราเป็นสาขาล่าสุด
โดยมีพิเชษฐ์ ประสบ และนพพร พี่น้องในตระกูลวีระพรช่วยกันดูแลกิจการ
ในส่วนของการค้าเคมี ซึ่งมีเจษฎาและมานะพี่น้องในตระกูลช่วยกันบริหารนั้น
ก็กลายเป็น "เลนโซ่เคมีคอล"
เลนโซ่ เคมีคอลโตวันโตคืนจากการขายเคมีให้กับโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศ
การเติบโตอย่างรวดเร็วของเลนโซ่ เคมีคอลในช่วงนั้นเป็นเพราะช่วงโอกาสเหมาะ
ความต้องการภายในประเทศมีสูง ประกอบกับมีบริษัทขายสินค้าประเภทนี้อยู่น้อยราย
การแข่งขันจึงไม่สูงมากนัก ทั้งนี้เพราะการขายเคมีต้องอาศัยประสบการณ์ ความชำนาญอย่างสูงและรู้ล่วงหน้าถึงความต้องการของตลาดในอนาคตว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางใด
เมื่อขั้นแรกของการเป็นธุรกิจเทรดดิ้งประสบความสำเร็จ จึงได้มีการแตกหน่อออกไปมากมายหลายสาขา
แต่ละสาขาแต่ละแผนก ล้วนมีรากฐานของการเกิดมาจากพื้นฐานเดียวกันทั้งสิ้น
นั่นคือการยืนพื้นในแนวความคิดที่จำนำพาองค์กรให้ขยายออกไปทั้งในแนวดิ่งและแนวนอนโดยใช้รากเดิม
การขยายธุรกิจออกไปของเจษฎาที่ยึดรูปแบบเดียวกันกับพี่ชายก็คือ การเริ่มต้นจากการเป็นเพียงเทรดดิ้งของเลนโซ่
เคมีคอลเพียงอย่างเดียวในขั้นต้นและขยายไปสู่ธุรกิจเสริมหรือธุรกิจที่สนับสนุนกันได้นั่นคือการมีท่าเรือเป็นของตนเอง
เพราะการขนส่งสารเคมีจำเป็นต้องใช้ท่าเรือ นอกจากนี้คลังสินค้าเพื่อเก็บสารเคมีก็เป็นส่วนจำเป็นอย่างยิ่ง
จึงแตกหน่อแตกกอใหม่เป็นยูนิแทงค์ โดยร่วมทุนกับอิโตชู (ITOSHU) จากประเทศญี่ปุ่น
ดำเนินกิจการให้เช่าแทงค์น้ำมันตั้งอยู่ที่ ต. ท้ายบ้าน จังหวัดสมุทรปราการในปัจจุบันนี้
บริษัทในเครือของเลนโซ่ในส่วนภายใต้การบริหารงานของเจษฎา ยังได้ขยายตัวออกไปอีกในเรื่องของการสร้างโรงงานผลิตพลาสติก
ทำพรมพีวีซี ทำหนังเทียมเฟอร์นิเจอร์ ผลิตพลาสติกสี ปกพลาสติก ดำเนินงานภายใต้ชื่อบริษัทเลนโซ่
ไวนิล (ชื่อเดิมคือ บริษัทโซนิล) โรงงานตั้งอยู่ที่ฉะเชิงเทรา บนเนื้อที่
75 ไร่
และจากเครือข่ายเหล่านี้ก็ยังได้มีการแตกแขนงออกไปทำโรงงานผลิต WALLPAPER
ภายใต้ชื่อบริษัท เลนโซ่ วอลเท็กซ์ จำกัด (ชื่อเดิมคือบริษัทวอลเท็กซ์) โรงงานตั้งอยู่ที่ปากน้ำ
จ. สมุทรปราการ ขายวัสดุเก็บเสียงและกันความร้อน
ทั้งไวนิล และวอลเท็กซ์ ซื้อโนว์ฮาวจากยุโรป มาเป็นเทคนิคในการผลิต
"ในส่วนของเลนโซ่ ไวนิล และเลนโซ่ วอลเท็กซ์นั้น เกิดขึ้นมาได้จากการเข้าไปร่วมหุ้นกับเจ้าของดั้งเดิมที่ทำธุรกิจนี้อยู่
แต่ปัจจุบันเลนโซ่ถือหุ้นในไวนิลและวอลเท็กซ์ 100% แล้ว" สุชาติ วัฒกานนท์
กรรมการผู้จัดการเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของการแตกสาขาบริษัทใหม่ทั้ง 2 นี้
การเกิดโรงงานทั้ง 2 นี้แสดงให้เห็นว่า เลนโซ่จะไม่เริ่มต้นขยายธุรกิจใหม่ที่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์แต่จะเป็นการเริ่มนับจากหนึ่งไปแล้ว
"ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจน้ำมัน เคมี หรือพลาสติกก็ตาม ธุรกิจทั้งหมดล้วนมาจากสายงานเดียวกันกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งมีสารตัวเดียวกันกับปิโตรเลียม
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการผลิตน้ำมันหรือก๊าซ ทั้ง 2 สายนี้สามารถแยกสารออกมาจากตัวเดียวกันได้"
เป็นทรรศนะของผู้ที่อยู่ในวงการเดียวกันกับเลนโซ่ ชี้ให้เห็นการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจเลนโซ่ที่ย่อมหนีไม่พ้นในสายงานการผลิตดังกล่าวนี้ไปได้
และเป็นหนทางเดียวที่เลนโซ่น่าจะทำได้
นั่นย่อมหมายความว่าแนวความคิดในการขยายสายงานหรือธุรกิจใดก็ตาม ตระกูลวีระพรจะใช้รากฐานเดิมเป็นตัวตั้ง
ตามด้วยส่วนเกี่ยวเนื่องเป็นตัวต่อ และผลผลิตในทิศทางเดียวกันเป็นตัวตาม
เพราะเหตุนี้เองผลแห่งความสำเร็จของเขาแม้จะเป็นไปอย่างเงียบๆ แต่ก็ล้วนเป็นการหยิบชิ้นปลามันทั้งนั้น
เพราะเครือข่ายทั้งหมดทำให้เลนโซ่กรุ๊ปมีรายได้ถึง 8,000 ล้านบาทต่อปี (ตัวเลขบรรลุตามเป้าหมายของปี
2536) จากจำนวนยอดรายได้นี้ กว่า 80% มาจากสายเคมีภัณฑ์ ที่เหลือได้มาจากสายโทรคมนาคมซึ่งเป็นธุรกิจใหม่
อย่างไรก็ตามแม้เลนโซ่กรุ๊ปจะประสบความสำเร็จเพียงใดก็ตาม แต่ก็มีน้อยคนนักที่รู้จักผู้นำของเลนโซ่
คนในวงการกล่าวว่า กลุ่มนี้ไม่ชอบเป็นข่าว ชอบทำธุรกิจแบบรุกเงียบ ซึ่งจะทำให้เป็นการก้าวไปสู่ความสำเร็จได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายไม่ยุ่งยาก
เพราะไม่ต้องตกเป็นเป้าสายตาของคู่แข่ง
"คุณเจษฎาเป็นคนที่ไม่ชอบทำให้เลนโซ่กรุ๊ปเป็นข่าวบ่อยครั้งนัก แม้กระทั่งตัวเขาเองก็ไม่ชอบเป็นข่าวเช่นกัน"
พนักงานคนเก่าคนแก่ของเลนโซ่กรุ๊ปอธิบายให้ฟังถึงพฤติกรรมของนายใหญ่กลุ่มเลนโซ่
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้ต่างเป็นที่เข้าใจกันดีของพนักงานในเครือว่า เจษฎายึดถือระบบเดียวกับพ่อของเขาคือ
CHINESE STYLE คือไม่ชอบเปิดเผยตัว รวมทั้งการบริหารที่เขาไม่ทิ้งระบบครอบครัว
ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เมื่อทศวรรษก่อนมาแล้ว เดี๋ยวนี้ก็ยังคงเหลือระบบครอบครัวให้เห็นอยู่
แต่ตอนนี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงด้านผู้บริหารบ้างแล้ว โดยการยอมรับผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหารงานมากขึ้น
ซึ่งเธียร ปฏิเวชวงศ์ ถือว่าเป็นมืออาชีพคนแรกของบริษัทในเครือกลุ่มเลนโซ่ที่ได้เข้ามาบริหารงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
ในสายโทรคมนาคม
ส่วนนี้จึงเป็นส่วนที่เห็นได้อย่างชัดเจนต่อการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารจากครอบครัวมาเป็นมืออาชีพ
นอกจานี้ยังเป็นสายงานที่แปลกแยกออกจากรากฐานเดิมของตนเอง ซึ่งแม้จะผิดแผกจากนโยบายการขยายธุรกิจเพิ่มของเลนโซ่
แต่ก็ยังคงยึดถือปัจจัยเดิมเป็นหลักในการตัดสินใจที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจใหม่นี้
นั่นคือความพร้อม ทั้งเรื่องบุคลากร ศักยภาพทางการตลาด และสายงานที่สามารถต่อเนื่องทางธุรกิจเพื่อขยายออกไปทั้งในแนวนอนและแนวดิ่งได้
สายงานโทรคมนาคมเริ่มต้นจากการขายวิทยุติดตามตัว อีซี่คอล เจ้าของสัมปทานคือ
การสื่อสารแห่งประเทศไทย ทำในนามของ บริษัท อีซี่คอล (ประเทศไทย) จำกัด (ชื่อเดิมก่อนเปลี่ยนแปลงคือ
แมทริกซ์ (ประเทศไทย) จำกัด) ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นบริษัทเลนโซ่ เพจจิ้ง
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงชื่อเสียงของบริษัทในครั้งหลังสุดนี้ กล่าวกันว่าเพื่อภาพพจน์และความสะดวกในการประชาสัมพันธ์ขององค์กรที่ง่ายขึ้น
การเริ่มต้นในการเป็นผู้ขายวิทยุติดตามตัวเมื่อ 3 ปีก่อน สืบเนื่องมาจากธุรกิจเดิมอีกเช่นกันคือ
ก่อนหน้านี้เลนโซ่เปิดบริษัท ไลเน็ตต์ จำหน่ายโทรสาร และระบบโทรศัพท์สำนักงานมาก่อน
ในขณะที่บริษัท เซลคอมม์ จำหน่ายระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และตู้ชุมสาย เมื่อมีผู้เสนอโครงการขายวิทยุติดตามตัวนี้มาให้
ทางเลนโซ่เห็นว่าตัวเองขายสินค้าเครือข่ายเหล่านี้อยู่แล้ว จึงได้ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นจากคนไทยกลุ่มนั้นเพื่อร่วมกับแมทริกซ์ขายอีซี่คอลทันที
เจษฎากล่าวว่า "เราเริ่มธุรกิจโทรคมนาคมมานานแล้ว ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์สำนักงานประเภทต่างๆ
จนกระทั่งได้รับสัมปทานเพจเจอร์อีซี่คอลมาจนถึงสัมปทานโทรศัพท์สาธารณะซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการขยายไปสู่ธุรกิจต่อเนื่อง"
นั่นคือการเปิดฉากแนวรบใหม่ของเลนโซ่ ว่ากันตามจริงแล้ว การเข้าไปสู่ธุรกิจนี้ได้ก็เพราะเจษฎามองเห็นว่า
ธุรกิจโทรคมนาคมในอนาคตจะขยายไปได้อีกมาก จากการได้เป็นเจ้าของสัมปทานขายอีซี่คอลในวันนี้
จะทำให้เลนโซ่สามารถขยายไปยังจุดต่างๆ หรือเป็นตัวเชื่อมต่อไปยังธุรกิจอื่นๆ
ในสายโทรคมนาคมได้อีกมากมาย อาทิ โฟนการ์ด สมาร์ตการ์ด ถึงขั้นตั้งโรงงานผลิตบัตรสมาร์ตการ์ด
ซึ่งจะผลิตบัตรโทรศัพท์ และบัตรที่มีไมรโครชิพขนาดเล็กฝังอยู่ เพื่อบรรจุข้อมูลประเภทต่างๆ
อาทิ ข้อมูลส่วนตัว โรงงานนี้จะเริ่มทำการผลิตได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี
2537 นี้
เจษฎาคาดว่าการสร้างโรงงานสมาร์ตการ์ดขึ้นนี้จะสามารถขยายธุรกิจต่อเนื่องจากธุรกิจที่มีอยู่เดิมให้ครบวงจรได้อีก
โดยการสานต่อจากธุรกิจให้บริการโทรศัพท์สาธารณะระหว่างประเทศแบบใช้บัตรได้
การก้าวเดินในทางสายโทรคมนาคมไม่ได้หยุดอยู่เพียงเท่านี้ เธียร ปฏิเวชวงศ์
กรรมการผู้จัดการบริษัทเลนโซ่กรุ๊ปกล่าวว่า เลนโซ่ได้เตรียมการณ์ถึงขั้นร่วมทุนกับอังกฤษ
และฝรั่งเศส เพื่อทำโครงการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ
15,000 ล้านบาท มีระยะเวลาในการดำเนินงาน 5 ปี
ความก้าวหน้าในสายโทรคมนาคมยังมีหนทางให้สานต่อเนื่องไปได้อีกมาก แม้ที่ผ่านมาสายงานนี้จะไม่สามารถสร้างความโดดเด่นในเรื่องของรายได้ที่ไหลกลับเข้าองค์กรได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก
เหมือนสายเคมีและพลาสติกก็ตาม ซึ่งปีที่ผ่านมาสายโทรคมนาคมทำรายได้ให้เลนโซ่ไม่ถึง
1,000 ล้านบาท แต่ในสายตาของเจษฎาแล้วเขาคิดว่าอีกไม่นานเกินรอ สายงานนี้จะสามารถสร้างรายได้ไหลคืนกลับเลนโซ่กรุ๊ปกว่า
50% ของรายได้ทั้งหมดรวมกันเลยทีเดียว ทั้งนี้เพราะอนาคตของธุรกิจโทรคมนาคมที่นอกจากนับวันจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
แล้วรายได้ยังหมุนเวียนกลับมาเป็นกอบเป็นกำและรวดเร็วกว่าสายอื่นๆ
เธียรเล่าว่า หากแผนทุกแผนที่ประธานกลุ่มเลนโซ่วางไว้เป็นไปตามเป้าหมาย
ซึ่งรวมไปถึงการนำพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จคาดว่าอย่างช้าภายในปี
38 นี้แล้ว หลังจากนั้นก็จะมีการแตกแขนงธุรกิจใหม่ซึ่งเป็นธุรกิจเสริมและต่อเนื่องเกิดขึ้นอีกแน่นอน
อาทิ ไฟแนนซ์ และประกันภัย
อย่างไรก็ตามการกระจัดกระจายสายพันธุ์ การเติบโตที่เริ่มโดดเด่นมากขึ้นทุกวัน
ไม่อาจทำให้เจษฎาที่ยึดถือระบบการบริหารแบบไชนีสสไตล์คือเก็บตัวเงียบได้อย่างเดิมอีกต่อไป
เขาจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างใหม่ พร้อมการนำระบบบริหารสากลโดยจ้างมืออาชีพเข้ามาใช้ในส่วนต่างๆ
ที่เกิดขึ้นและเปิดตัวให้ชื่อเสียงของบริษัทเป็นที่รู้จักมากกว่าเดิม ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะหวังผลในการเข้าตลาดฯ
เพียงอย่างเดียว ทว่าเพื่อผลในอนาคตอันจะเกี่ยวเนื่องมาจากธุรกิจใหม่ๆ ที่กำลังคิดจะสร้างต่างหาก
กลุ่มเลนโซ่นับจากนี้ต่อไปนับว่าเป็นกลุ่มที่น่าจับตามองการเกิด และเติบโตที่นับวันจะแตกสายพันธุ์ไปหลายสาขาในลักษณะแบบรุกเงียบอย่างเสือหวังตะครุบเหยื่อเลยทีเดียว