"เอสอาร์ทีบีเอ็น ช่องทางข่าวสารใหม่ของไอเอ็นเอ็น"


นิตยสารผู้จัดการ( เมษายน 2537)



กลับสู่หน้าหลัก

สงครามด้านข่าวสารรุนแรงขึ้นเพียงใด นั่นย่อมหมายถึงว่าพัฒนาการด้านสื่อ (MEDIA) ที่จะนำพาข่าวไปสู่สาธารณชนจะต้องรุนแรงขึ้นตามนั้นด้วย ดังนั้นวิวัฒนาการด้านสื่อจากวิทยุ โทรทัศน์ วิทยุติดตามตัว โทรสาร โทรพิมพ์ ที่จะส่งข่าวสารไปแก่ผู้อยากรู้ข้อมูลนั้น ก็มาถึงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ที่จะอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ในการส่งผ่านข้อมูลไปถึงผู้รับ

เช่นเดียวกับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น (INDEPENDENCE NEWS NETWORK) หนึ่งในบริษัทสหศินีมา เครือข่ายของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งหลังจากค้นหารูปแบบที่เหมาะของตัวเองอยู่นานพอสมควร โดยการก้าวมาจากการเสนอข่าวด่วนพล. 1 ในปี 2531 ต้องประสบปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูงกว่ารายรับที่ได้เข้ามาอย่างมากมาย แม้ว่าในปี 2532-33 จะได้เปลี่ยนสถานีไปจัดที่ทอ. 102.5 แล้วกล้าที่จะใช้ชื่อว่า "ข่าวด่วนสหศินีมา" โดยเอาชื่อขององค์กรหลักมาเป็นจุดขายก็ตาม แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

มาเริ่มสบช่องเหมาะเอาเมื่อกลางปี 2535 เมื่อไอเอ็นเอ็นได้จับมือร่วมกับมีเดียพลัส ที่จะรังสรรค์ให้สถานีวิทยุพล. 1 ซึ่งตนเองเคยเข้ามาทำครั้งหนึ่งแล้วให้ไปถึงเป้าหมายที่ได้วางไว้ให้จงได้ แม้ว่าจะมีรายได้ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังก็ตามแต่ก็ถือว่าเป็นก้าวย่างสำคัญที่ทำให้ไอเอ็นเอ็นได้ประสานสัมพันธ์กับพันธมิตรใหม่ ซึ่งเป็นแรงผลักดันในการเข้าไปประมูลเวลาสถานีวิทยุของกองทัพยกอีกถึง 5 สถานีในช่วงต่อมา และได้มีการจัดให้คลื่น 94.5 เมกกะเฮิร์ตซ์ เป็นสถานีวิทยุด้านข่าวแห่งแรกๆ ซึ่งต่อมาก็มีการเปิดสถานีวิทยุด้านข่าวโดยเฉพาะอีกหลายแห่ง

จากความร่วมมือของมีเดียพลัส ก็ได้นำพาไปจับมือกับกลุ่มไทยสกายทีวีในเวลาต่อมา ที่จะส่งข่าวของไอเอ็นเอ็นผ่านทางไทยสกาย แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงในนโยบายของสยามบรอดคาสติ้ง บริษัทแม่ของไทยสกาย จึงทำให้โครงการนี้ต้องล้มไป ประจวบเหมาะกับกลุ่มสหศินีมาก็กำลังคิดจะตั้งบริษัทด้านข่าวเพื่อดำเนินการขยายสื่อด้านอื่นอยู่ด้วย จึงได้เกิดบริษัท ออนไลน์ นิวส์ ขึ้นเพื่อการนี้ และด้วยสรรพกำลังที่ลงไปส่วนหนึ่ง กับงานร่วมมือกับไทยสกาย ทำให้ไอเอ็นเอ็นมองว่า สื่อที่จะไปถึงมือผู้รับอย่างเช่น จอมอนิเตอร์ของคอมพิวเตอร์ ก็น่าจะเป็นหนทางทำตลาดได้ไม่แพ้จอโทรทัศน์แต่อย่างใด

"เราจึงได้จับมือร่วมกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ที่มีชื่อเสียงของโลกในการตั้งบริษัทใหม่ที่ให้ชื่อว่า สยามเรียลไทม์ บิสสิเนส นิวส์ หรือเอสอาร์ทีบีเอ็น เพื่อส่งข่าวสารออนไลน์ไปยังลูกค้าคอมพิวเตอร์ของผู้ขายหลายรายซึ่งกำลังติดต่อกันอยู่ในขณะนี้" นิสิต ปาลิโพธิ กรรมการผู้จัดการของสยามเรียลไทม์บิสสิเนส นิวส์ กล่าวและเปิดเผยถึงสาเหตุที่จำเป็นต้องเลือกสำนักข่าวรอยเตอร์เข้ามาเป็นพันธมิตรในการก่อตั้งบริษัทนี้ว่า เนื่องจากเนื้อหาของข่าวที่จะนำเสนอผ่านเอสอาร์ทีบีเอ็นนี้จะไม่ได้เน้นเฉพาะข่าวเศรษฐกิจ การเมืองภายในประเทศเท่านั้น แต่จะรวมถึงข่าวเศรษฐกิจและเหตุการณ์ปัจจุบันของโลกด้วย และหลังจากใช้เวลาในการดูใจ และดูความเอาจริงเอาจังของแต่ละฝ่ายอยู่ปีกว่าจึงได้เริ่มก่อตั้งบริษัทขึ้น

วิธีการส่งข่าวผ่านจอคอมพิวเตอร์ของเอสอาร์ทีบีเอ็นนี้ ในขั้นต้นได้มีการติดต่อผ่านไปยังบริษัทผู้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์หลายรายและรายแรกที่ตอบตกลงจะให้บิรการร่วมกันคือยูนิเท็คซ์ ซึ่งจะมีลูกค้าใช้บริการในช่วงแรกประมาณ 100-150 ราย และหาสามารถติดต่อบริษัทผู้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ประมาณ 3-4 รายในช่วง 2 ปีก่อนจะถึงจุดคุ้มทุนแล้ว ก็จะทำให้มีลูกค้าไม่น้อยกว่า 500 รายในช่วงแรกของการดำเนินการนี้

และจาก 500 รายในขั้นเริ่มต้นนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นอันจะนำมาซึ่งลูกค้าผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์อีกนับจำนวนแสนในท้องตลาด ที่ใฝ่หาข่าวและข้อมูลทางการเมืองและธุรกิจที่ถูกต้อง ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเอาจริงเอาจังของไอเอ็นเอ็นในฐานะผู้บุกเบิกสื่อทางด้านนี้ว่าจะสามารถอาศัยความได้เปรียบในจุดนี้ เจาะเข้าไปในช่องว่าตลาดอันนี้ได้มากน้อยเพียงใด

"แต่แม้ว่ากำไรจากผลประกอบการจะเป็นเรื่องใหญ่แต่ก็ยังเป็นรองเรื่องความถูกต้องและฉับไวของข่าว ที่เราสามารถทำเช่นนี้ได้ และมีจุดคุ้มทุนได้เร็วนั้น เป็นเพราะต้นทุนดำเนินการขั้นต้นของเราค่อนข้างต่ำมากเพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น ทำให้เราสามารถจัดเก็บค่าบริการจากสมาชิกได้ปีละ 20,000-30,000 บาท หรือประมาณเดือนละ 2,300-2,500 บาทเท่านั้น ไม่แตกต่างมากนักจากสื่อประเภทอื่นที่จัดเก็บอยู่"

และเพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับงานใหม่ทางด้านข่าวของสหศินีมานี้ ทางกลุ่มสหศินีมาโฮลดิ้ง ซึ่งประกอบด้วยบริษัทศินีมา ที่รับงานด้านประชาสัมพันธ์ และบริษัทในเครือไอเอ็นเอ็น ก็ได้เตรียมการจะขยับขยายองค์กรของตัวเองไปอยู่ ณ สำนักงานใหญ่แห่งใหม่ที่อาคารหรินธรภายในปีนี้ พร้อมกันนั้นทางด้านบุคลากร ทางไอเอ็นเอ็นก็ยังคงพนักงานทางด้านข่าวของตนไว้ในอัตรา 150 คนเท่าเดิม ไม่มีการลดหรือเพิ่มแต่อย่างใดเพราะตระหนักดีว่าปัญหาที่ผ่านมาในการดำเนินการข่าวตามสถานีวิทยุต่างๆ นั้น เป็นเพราะไม่ได้เน้นทางด้านคุณภาพเพื่อให้ได้สัดส่วนกับปริมาณพนักงานที่มีเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการขยายเครือข่ายออกมาทางด้านข่าวสารเพื่อรองรับลูกค้าที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ แต่งานหลักที่เคยทำให้อดีตคืองานด้านวิทยุนั้น ทางไอเอ็นเอ็นก็ยังไม่ได้ละทิ้งแต่ประการใด การร่วมมือกับมีเดียพลัสเพื่อส่งข่าวป้อนให้กับสถานีวิทยุในทุกช่วงของแต่ละวันโดยเฉพาะทางคลื่น 102.5 เม็กกะเฮิร์ตซ์นั้น ยังถือว่าเป็นหน้าเป็นตาอย่างหนึ่งของไอเอ็นเอ็นวันนี้

"เรายังต่อยอมรับอยู่ว่ารายได้จากเอสอาร์ทีบีเอ็นนั้น จะคุ้มทุนและสร้างผลประกอบการอันมหาศาลในระยะยาวให้กับเรา แต่ในวันนี้เรายังต้องการรายได้จากทางวิทยุมาช่วยเจือจานการดำเนินการที่ยังขาดทุนในช่วงแรกของธุรกิจตัวใหม่นี้อยู่บ้างพอสมควร ซึ่งในอนาคตเราก็มีโครงการเช่นกันที่จะเข้าไปลงทุนในการทำรายการข่าวทางสถานีวิทยุให้มากกว่าปัจจุบันที่เป็นอยู่ คือป้อนโฆษณาเข้ามาให้รายการอยู่ได้ ไม่ใช่ผลิตข่าวเพียงอย่างเดียวอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่ในส่วนของเอสอาร์ทีบีเอ็นนี้ ทางสหศินีมาได้มีนโยบายออกมาแล้วว่าจะทุ่มตัวอย่างเต็มที่โดยจะให้ผมเข้ามาดูแลในส่วนนี้อย่างเต็มตัว ไม่ต้องจับงานอื่นเพื่อจะได้สร้างสรรค์ให้เป็นรายได้หลักส่วนหนึ่งของสหศินีมาในอนาคตให้จงได้"

ดังนั้น ณ วันนี้ ที่สงครามข่าวได้ก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะพยายามขยายของเขตของสื่อออกไปด้วยเครื่องมือไฮเทคทุกอย่างเท่าที่มีอยู่ และไอเอ็นเอ็นได้ฝากความหวังไว้กับเอสอาร์ทีบีเอ็น ข่าวสารผ่านจอคอมพิวเตอร์ไว้ค่อนข้างสูง ก็เป็นเดิมพันสำคัญว่าก้าวย่างสำคัญอันนี้จะพลาดไม่ได้อีกแล้ว



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.