"ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ขนมขบเคี้ยวก็ต้องรับมืออาฟต้า"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) เจ้าของผลิตภัณฑ์ดัง ๆ อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า ขนมปังกรอบและเวเฟอร์ตรานิชชิน ตราฟาร์มเฮ้าส์และคริสทอป ได้เปิดตัวแนะนำขนมขบเคี้ยวประเภทขนมปังยี่ห้อใหม่ภายใต้ชื่อ "บัตเตอร์เวิร์ท"

เพราะปัจจุบันตลาดผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวประเภทขนมปังกรอบในระดับกลางและระดับบน มีมูลค่าเพียง 2,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 3 หมวด คือขนมปังกรอบประเภทเวเฟอร์ มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด 1,000 ล้านบาท หรือ 50% รองลงมา คือ บิสกิต มีส่วนแบ่งตลาด 30% หรือ 600 ล้านบาท อีก 400 ล้านบาทหรือ 20% ที่เหลือเป็นของคุ๊กกี้ นับว่ายังเป็นตลาดที่มีมูลค่าการขายต่ำมาก เมื่อเทียบกับไต้หวัน ซึ่งมีบริษัทที่ขายสินค้าประเภทนี้อย่างน้อย 4 แห่งที่ทำยอดขายได้ปีละ 3,000 ล้านบาท

อีกประการที่ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ยังมีความน่าสนใจอยู่มาก ก็คือเป็นตลาดที่ยังไม่อิ่มตัว มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 10-15% ขณะเดียวกันอัตราการบริโภคขนมปังกรอบของคนไทยยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเฉลี่ยเพียง 130 บาท/คน/ปี สืบเนื่องมาจากผู้บริโภคเห็นว่าขนมขบเคี้ยวประเภทนี้เหมาะสำหรับเทศกาลเท่านั้น อีกทั้งสินค้าที่วางตลาดในปัจจุบันยังมีขนาดบรรจุภัณฑ์ที่ใหญ่ ไม่เหมาะต่อการบริโภคในรูปแบบของขนมขบเคี้ยวยามว่าง

"นอกจากนี้จากการวิจัยผู้บริโภคยังพบว่า ผู้บริโภคไม่เพียงต้องการขนมขบเคี้ยวที่มีรสชาติอร่อยและกรอบใหม่เท่านั้น แต่ยังต้องการขนมที่สามารถให้คุณค่าทางโภชนาการและคุณประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับตลาดไต้หวันที่บิสกิต เวเฟอร์หรือคุ๊กกี้ที่มีไฟเบอร์ธรรมชาติเป็นตลาดที่เติบโตเร็วมาก เราจึงคิดว่าน่าจะถึงเวลาของประเทศไทยเช่นกัน" เราจึงออก "บัตเตอร์เวิร์ท" มาตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป้าหมาย ซึ่งคาดว่ามีจำนวนสูงถึง 15 ล้านคนทั่วประเทศ" พิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์กล่าว

คุณค่าทางโภชนาการและคุณประโยชน์ต่อร่างกายที่บัตเตอร์เวิร์ทมีให้ผู้บริโภคก็คือ การใช้เนื้อผลไม้และเส้นใยธรรมชาติจากธัญพืชหลากชนิดเป็นส่วนผสม

อย่างไรก็ดีพิพัฒยืนยันว่า บัตเตอร์เวิร์ทไม่ใช่ตัวตายตัวแทนของ "นิชชิน" ซึ่งเป็นสินค้าที่ค่อนข้างล่อแหลมของบริษัท เพราะหมดสัญญากับบริษัทแม่ไปแล้ว แม้ว่านิชชินญี่ปุ่นจะอนุญาตให้ใช้ตราต่อไปได้ก็ตาม อีกทั้งยังไม่ใช่คู่แข่งโดยตรงของฟาร์มเฮ้าส์และคริสทอป แม้ว่าจะเป็นสินค้าคล้าย ๆ กัน คือเป็นขนมปังกรอบ เวเฟอร์และคุ๊กกี้ แต่ก็เป็นสินค้าคนละแนว และมีวัตถุประสงค์ในการทำตลาดที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ประการแรก ตำแหน่งสินค้ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ นิชชินเป็นบิสกิตและเวเฟอร์ ขณะที่ฟาร์มเฮ้าส์เป็นซอฟต์ บิสกิตส่วนคริสทอปเป็นขนมปังกรอบ แต่ "บัตเตอร์เวิร์ท" วางตำแหน่งตัวเองว่าเป็นขนมขบเคี้ยวยามว่าง

"บัตเตอร์เวิร์ทเป็นสินค้าที่มีวาไรตี้มาก คือ มีทั้งขนมปังกรอบ เวเฟอร์และคุ๊กกี้รวมแล้ว 5 ซีรีส์ 11 รสชาติ อย่างเวเฟอร์ประเภทบลิงกี้จะเป็นรสแฟชั่น ซึ่งเรามั่นใจว่าจะเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้ดี แต่ขณะเดียวกันเราก็จะไม่ทอดทิ้งนิชชินและฟาร์มเฮ้าส์ เพราะอีกไม่นานก็จะมีการรีลอนช์และนำสินค้าใหม่ ๆ ออกมาทำตลาดเพิ่ม" พิพัฒยืนยัน

ความแตกต่างประการที่สอง ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากก็คือ ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ต้องการใช้บัตเตอร์เวิร์ทเป็นตัวต่อสู้กับขนมขบเคี้ยวจากต่างประเทศ ที่จะแห่เข้ามาในอนาคต เมื่อตลาดการค้าโลกไร้พรมแดนจากผลของข้อตกลงแกตต์และเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า)

"นิชชิน ฟาร์มเฮ้าส์ คริสทอปสู้กับคู่แข่งได้ยากเพราะไม่มีอะไรแปลกใหม่ เราจึงต้องออกบัตเตอร์เวิร์ท ซึ่งมีภาพลักษณ์อินเตอร์มากกว่า มารองรับแกตต์ อาฟต้าที่จะมาถึง โดยเร็ว ๆ นี้จะมีการจดทะเบียนยี่ห้อบัตเตอร์เวิร์ททั่วภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นตลาดที่บริษัทวางแผนว่าจะเข้าไปทำในอีก 2-3 ปีข้างหน้า" พิพัฒกล่าว

พิพัฒกล่าวถึงแผนการนำบัตเตอร์เวิร์ทรุกสู่ตลาดภูมิภาคเอเชียให้ฟังว่า จะต่างจากการส่งมาม่าออกไปทำตลาดเพราะมาม่าเป็นสินค้าที่สนองความต้องการของตลาดที่มีอยู่แล้ว เช่น การส่งเข้าไปขายให้ผู้อพยพหรือคนไทยในสหรัฐอเมริกา ขณะที่บัตเตอร์เวิร์ทเป็นแบรนด์ใหม่ ซึ่งมีคอนเซ็ปต์สินค้าใหม่ ดังนั้นเวลาเข้าไปทำตลาดในประเทศใดจะต้องเข้าไปครีเอทตลาดในประเทศนั้นด้วย จึงต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายที่มีความแตกต่างกัน

ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ใช้เวลาเตรียมการวางตลาดบัตเตอร์เวิร์ทมานาน 2 ปีแล้ว เริ่มจากการจ้างคนทำขนมปัง (Baker) ชาวต่างประเทศมาช่วยค้นคิดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ทำเช่นนี้โดยพิพัฒยอมรับว่า เพราะประเทศไทยยังมีความล้าหลังในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตสินค้าประเภทนี้

เพราะที่ผ่านมาไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์เติบโตมาจากการใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศในการพัฒนาสินค้าของตัวเองมาโดยตลอด อย่างมาม่าในช่วงเริ่มต้นก็ได้เทคโนโลยีมาจากไต้หวัน ต่อมาเมื่อมีการร่วมมือกับเมียวโจ้ ญี่ปุ่น ก็ได้นำเทคโนโลยีของเมียวโจ้มาพัฒนามาม่าอีกต่อหนึ่งด้วยด้านขนมปังก็เริ่มมาจากเทคโนโลยีของนิชชินมาสร้างสินค้าตัวอื่น ๆ อย่าง ฟาร์มเฮ้าส์ คริสทอป ขณะที่คุ๊กกี้ก็ได้ใช้เทคโนโลยีของเคลด์เซนส์จากเดนมาร์ก

"ในอดีตมีความเป็นไปได้มากที่เราอาจจะมีหุ้นส่วนเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่จากสหรัฐ หรือออสเตรเลียมาช่วยเพราะต่อไปนี้การหาพรรคพวกที่มีความแข็งแกร่ง จะดีกว่ารอรัฐบาลมาออกกฏหมายขึ้นภาษีกีดกันสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งไม่สามารถทำได้แล้ว เราจึงตัองเตรียมรับมือตรงนี้เองมากกว่า"

การเตรียมตัวอีกอย่างคือ การหาผู้แทนจำหน่ายรายใหม่ ซึ่งในที่สุดก็ตกลงใจให้ "ซีพีคอนซูเมอร์ โพรดักส์" เป็นผู้แทนจำหน่ายให้ เพราะเห็นว่าเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ที่น่าสนใจ

"ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ไม่มีทีมขายของเราเอง และเราก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอยู่กับสหพัฒน์ แต่บังเอิญสหพัฒน์ฯ ขายนิชชินอยู่ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความใกล้เคียงกันเราจึงต้องหาผู้แทนจำหน่ายใหม่" พิพัฒชี้แจง

ส่วนของเป้าหมายการทำตลาดนั้นคาดว่า ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2538 บัตเตอร์เวิร์ทจะทำยอดขายได้ 40 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท ในปี 2539 ซึ่งถือว่ามาแรงไม่น้อย เพราะถ้าเทียบกับนิชชินที่ทำตลาดมานาน ในปีนี้ยังมียอดขายประมาณ 190 ล้านบาทเท่านั้น



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.