"ดิ๊กสัน มาร์เก็ตติ้ง ยอมเจ็บตัวเพื่ออนาคต"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ดิ๊กสัน มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัท ดิ๊กสัน คอนเซ็ปต์ ฮ่องกง ซึ่งมีสาขาอยู่ทั่วโลก และกลุ่มห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ภายใต้การนำของสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ เริ่มเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เมื่อปี 2532 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท

สินค้าที่ดิ๊กสัน มาร์เก็ตติ้ง(ประเทศไทย) เริ่มนำเข้ามาจำหน่ายในช่วงแรก เป็นเสื้อผ้าสำหรับสุภาพบุรุษชั้นนำที่ทั่วโลกรู้จักดี 3 ยี่ห้อ คือ โปโล ราฟท์ ลอเรน, ปิแอร์ บัลแมง (ปัจจุบันเลิกทำตลาดไปแล้ว) และชาร์ล จูดองส์

โดยในส่วนของโปโลนั้นเน้นกลุ่มนักธุรกิจที่มีรายได้สูงขณะที่ปิแอร์ บัลแมง และชาร์ล จูดองส์นั้นจับกลุ่มนักธุรกิจระดับรองลงมา

คียูมาร์ส เชอร์เดล กรรมการผู้จัดการ บริษัทดิ๊กสัน มาร์เก็ตติ้ง (ประเทศไทย) กล่าวถึงสาเหตุที่ดิ๊กสันเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยช่วงนั้นว่า เพราะไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่ดิ๊กสันฯ ยังไม่ได้เข้ามาตั้งสาขา

ส่วนสาเหตุที่เลือกร่วมธุรกิจกับเซ็นทรัลก็เพราะเป็นกลุ่มที่มีอำนาจในธุรกิจค้าปลีก และเป็นรายใหญ่ในวงการนี้ ประกอบกับมีความชำนาญด้านเสื้อผ้าอยู่แล้ว

สำหรับคียูมาร์ส เชอร์เดลนั้น เขาเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย เมื่อประมาณปี 2525 ก่อนการเกิดของดิ๊กสัน ประเทศไทย 7 ปี เริ่มจากการบริหารธุรกิจเครื่องประดับ "อิสซาเบลล่า" ของบริษัท ไอบีแอล (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นธุรกิจร่วมทุนระหว่างเซ็นทรัล ดีพาทเมนท์สโตร์ นักลงทุนท้องถิ่น และบริษัท อิสซาเบลล่า จำกัด ประเทศอังกฤษ

การเป็นผู้บริหารอิสซาเบลล่านี่เองที่ทำให้เขารู้จักกับกลุ่มเซ็นทรัล และมีความสนิทสนมกับสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์เป็นพิเศษ จนมีโอกาสได้ใช้ประสบการณ์ในการทำตลาดเครื่องประดับมาทำตลาดเสื้อผ้าสุภาพบุรุษทั้ง ๆ ที่กลุ่มเป้าหมายจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ดิ๊กสัน มาร์เก็ตติ้ง ใช้เวลาในการลงหลักปักฐานสินค้า 3 ตัวแรกอยู่ 3 ปี จึงขยายกิจการต่อด้วยการเป็นผู้แทนจำหน่ายเสื้อผ้าชายสไตล์แองโกลอเมริกัน ยี่ห้อ "HENRY COTTON'S" จากอิตาลี โดยตั้งบริษัท โมเดิร์น เทรดดิชั่นส์ จำกัด ขึ้นมารับผิดชอบ

หลังจากนั้นไม่นานดิ๊กสันก็แตกไลน์ออกไปสู่ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนตัว โดยซื้อแฟรนไชส์ "The Body Shop" ของอังกฤษเข้ามาทำตลาด ภายใต้การบริหารงานของบริษัท เอิร์ธ แคร์ คอมปานี จำกัด

นอกจากนี้ยังนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องประดับ "The Bead Shop" จากอังกฤษ ซึ่งมีคอนเซ็ปต์เด่นอยู่ที่ลูกค้าแต่ละคนสามารถเลือกลูกปัดที่ต้องการมาออกแบบเป็นสายสร้อย กำไร ต่างหู แบบต่าง ๆ ได้ด้วยไอเดียของตัวเอง โดยมีดีไซเนอร์ของบริษัทช่วยให้คำแนะนำเรื่องความเหมาะสมและสวยงาม

เดือนกรกฎาคม 2538 ที่ผ่าน โมเดิร์น เทรดดิชั่นส์ ก็ได้นำเสื้อผ้าสุภาพบุรุษ และสตรียี่ห้อ "G 2000" ซึ่งเป็นสินค้าของบริษัท จี 2000 (แอพพาเรล) ประเทศฮ่องกง ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วเกือบทั่วเอเชียเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย โดยมีการเปิดจุดขายแรกในห้างสรรพสินค้าเซนก่อนที่จะเปิดร้านแรกที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา ลาดพร้าวเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ภายใต้การบริหารงานของบริษัท โมเดิร์น เทรดดิชั่น

การเป็นผู้แทนจำหน่ายเสื้อผ้า G 2000 ของโมเดิร์น เทรดดิชั่นครั้งนี้ นับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของดิ๊กสัน มาร์เก็ตติ้ง เพราะแม้ว่าจะเป็นบริษัทลูกผสมไทย-ฮ่องกง แต่ที่ผ่านมาบริษัทเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าจากยุโรป และอเมริกาทั้งสิ้น เพิ่งมี G 2000 เป็นตัวแรกที่มาจากฮ่องกง ก่อนที่นำสินค้าตัวอื่นๆ เข้ามาทำตลาดอีกหลายตัว

โดยล่าสุดในกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ก็เพิ่งมีการเปิดตัวเสื้อผ้าสตรี "Theme" ของบริษัท ธีม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จากประเทศฮ่องกง เช่นกัน และวางแผนที่จะเปิดตัวเสื้อผ้ายี่ห้อ U 2 ซึ่งเป็นของบริษัทเดียวกับ G 2000 อีกด้วย

คียูมาร์กล่าวถึงสาเหตุที่ดิ๊กสันหันมาให้ความสนใจนำเสื้อผ้าจากฮ่องกงเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยว่า เพราะถ้ามองในแง่ของการเป็นผู้นำแฟชั่นเสื้อผ้าประเภทสะดวกสบายในการสวมใส่แล้ว ฮ่องกงถือว่ามีความก้าวหน้าเท่าทันสหรัฐอเมริกามาก จนเรียกได้ว่าเป็นสหรัฐอเมริกาเล็ก ๆ ทีเดียว

ที่สำคัญการนำเสื้อผ้าจากฮ่องกงเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย ยังเป็นการก้าวเข้าไปจับกลุ่มเป้าหมายใหม่ของดิ๊กสันด้วย เพราะที่ผ่านมาเสื้อผ้าที่บริษัทจัดจำหน่ายจับกลุ่มบีขึ้นไป ขณะที่เสื้อผ้าของฮ่องกงจะจับกลุ่มบีลงมา โดยเน้นกลุ่มคนหนุ่มสาวที่อยู่ในวัยเริ่มต้นทำงาน ที่ต้องการบริโภคเสื้อผ้าแฟชั่นจากต่างประเทศในราคาที่สามารถจ่ายได้ เพราะถ้าเทียบแล้วเสื้อผ้านำเข้าจากฮ่องกงจะขายได้ในราคาถูกกว่านำเข้าจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปถึงครึ่งต่อครึ่ง

ดังนั้นถ้าจัดหมวดหมู่ของสินค้าแล้ว จะพบว่ากลุ่มดิ๊กสันมาร์เก็ตติ้งเป็นผู้แทนจำหน่ายสินค้าจาก 3 แหล่ง คือ เริ่มจากสินค้าจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้มีเพียงโปโล แต่ผู้บริหารดิ๊กสันแย้มพรายให้ฟังว่าในอนาคตจะมีเสื้อผ้าสไตล์ลำลองชื่อดังเข้ามาจำหน่าย ซึ่งหลายคนพากันคาดหมายว่าอาจจะเป็น GAP หรือ BANANA REPUBLIC

แหล่งที่สอง คือ สินค้าจากยุโรป ซึ่งมีอยู่มากมายหลายตัวและเป็นกลุ่มที่ทำรายได้หลักให้บริษัทอยู่ในปัจจุบัน โดยในเร็ว ๆ นี้จะนำเสื้อผ้าสตรีระดับสูงยี่ห้อ "FACONNABLE" จากฝรั่งเศสเข้ามาทำตลาดเพิ่มอีก 1 ยี่ห้อ

แหล่งล่าสุด สินค้าจากเอเชีย ซึ่งประเดิมด้วยสินค้าจากฮ่องกง

นอกจากเสื้อผ้า เครื่องประดับและของใช้ส่วนตัวแล้ว บริษัทยังสนใจที่จะนำเฟอร์นิเจอร์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดอีกด้วย

คียูมาร์สกล่าวว่า การที่ดิ๊กสันกรุ๊ปทำตลาดสินค้าหลากหลายประเภท จะทำให้บริษัทมีประสบการณ์ทางการตลาดมากขึ้น

"โดยสิ่งที่เรามั่นใจมากที่สุดก็คือ ประสบการณ์ในการทำตลาดเสื้อผ้า แม้ว่าตอนนี้บริษัทอาจจะต้องทนทุกข์กับอัตราภาษีนำเข้าสูงถึง 45% แต่ในอีก 2 ปีข้างหน้าภาษีจะลดลงมาเหลือ 25% และเหลือเพียง 5% ในอีก 2 ปีถัดจากนั้น ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นจะมีคนนำเสื้อผ้าจากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดมากมาย เพราะสามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าในประเทศได้ แต่เราไม่ห่วง เพราะตอนนั้นเราก็คงสามารถยึดตลาดไว้ได้มากแล้ว"

ด้วยเหตุนี้ดิ๊กสันจึงมีจุดยืนที่แน่ชัดที่จะทำเป็นผู้นำเข้าเสื้อผ้าแบรนด์อินเตอร์ต่อไป โดยไม่สนใจที่จะทำตลาดเสื้อผ้าโลคัลแบรนด์ เพราะนอกจากจะเพื่อซื้ออนาคตแล้ว บริษัทยังได้เรียนรู้โนว์ฮาวด้านการทำตลาด การผลิต การออกแบบที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องการส่งออกรูปแบบการตกแต่งร้าน ที่ต้องทำตลาดสเป็กของเมือนอกทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงอยู่บ้างก็ตาม

"แต่เพื่อหลีกเลี่ยงการลงทุนแล้วสูญเปล่า หากเจ้าของสินค้าเปลี่ยนใจดึงสินค้ากลับไปทำเอง เราจึงคิดถึงเรื่องการดึงเจ้าของสินค้าเข้ามาร่วมทุนกับเราด้วยในอนาคต อย่างจี 2000 นี่เป็นที่แน่นอนแล้วว่าอีก 2 ปีข้างหน้าเขาจะเข้ามาร่วมลงทุนกับเรา เพื่อเขาจะได้ให้ความร่วมมือกับเรามากขึ้น ส่วนบริษัทอื่น ๆ ก็มีการเจรจาในแนวนี้ต่อไป" จักรพงษ์ เฉลิมชัย ผู้จัดการทั่วไปของดิ๊กสัน มาร์เก็ตติ้ง และโมเดิร์น เทรดดิชั่นส์ ซึ่งเป็นผู้ช่วยมือหนึ่งของคียูมาร์สเล่าถึงแนวทางป้องกันให้ฟังทิ้งท้าย



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.