"เมื่อหม่อมคึกฤทธิ์อสัญกรรม "ตันติพัฒน์พงศ์" จะฮุบแบงก์ ?"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

มูลค่าซื้อขายหุ้นแบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การ ที่การติดอันดับสูงสุดสามวันต่อเนื่องกัน ภายหลังการอสัญกรรมของ พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงขบวนการสร้างราคาที่อาศัยความอ่อนไหวจากกระแสข่าว เฉกเช่นเคยเป็นมาในอดีต เช่น ราคาหุ้นพุ่งชนซิลลิ่งเพื่อขานรับข่าวศาลอุทธรณ์ยกฟ้องเสี่ยสองในข้อหาปั่นหุ้น

ขณะที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยมุ่งหวังการเก็งกำไรระยะสั้น ๆ ยังมีมหาเศรษฐีสัญชาติไทยเชื้อชาติจีนไต้หวันจากตระกูล "ตันติพิพัฒน์พงศ์" ที่เข้ามา "ลงทุน" ทยอยซื้อหุ้นบีบีซีเงียบ ๆ ช่วงตลาดซบเซาหลังสงครามอ่าวเปอร์เซียจนกระทั่งปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแบงก์กรุงเทพฯ พาณิชย์การอันดับหนึ่ง ขณะที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ของแบงก์ชาติเป็นอันดับสอง

เรื่องเซอร์ไพร์สของตระกูลนี้ กับการถือหุ้นใหญ่แบงก์กรุงเทพเคยเกิดขึ้นในอดีต เมื่อพิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ หรือ CHAN TAK SHUI มหาเศรษฐีที่สร้างตัวจากโรงงานอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง ได้รับเชิญจากบอร์ดแบงก์กรุงเทพให้เป็นกรรมการตั้งแต่ปี 2527 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

ล่าสุด ทายาทหนุ่มคนกลางวัย 28 ปีชื่อ เติมพงษ์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ ก็ได้สร้างเซอร์ไพร์สซ้ำสองเมื่อรายงานต่อ ก.ล.ต. ว่ากลุ่มตันติพิพัฒน์พงศ์ถือหุ้นบีบีซีเกินกว่า 5% โดยลักษณะกระจายถือหุ้นในนาม 5 บริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัทอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทยถือ 3.62% หรือ 29 ล้านหุ้น บริษัทพรภัทร์ถือ 0.81% หรือ 6.5 ล้านหุ้น บริษัทวังเพชรกับบริษัทพิพัฒน์ศักดิ์ (เดิมชื่อพิพัฒน์ธนกิจ) ถือหุ้นแห่งละ 0.55% หรือ 4.4 ล้านหุ้น และบริษัทพรพัฒนาถือหุ้น จำนวน 4.7% รวมปริมาณหุ้นทั้งหมด 10.24% ของทุนจดทะเบียน 8 พันล้านบาท โดยคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,822.6 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 22.25 บาท

"เรื่องการส่งตัวแทนเข้าเป็นกรรมการในแบงก์บีบีซีนั้น ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นและคณะกรรมการของแบงก์ด้วยว่าจะยอมหรือไม่ ที่สำคัญก็คือคุณเกริกเกียรติ ในฐานะเจ้าของแบงก์จะมีคำเชิญและยินดีหรือไม่ เพราะถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จนถึงขณะนี้ เรายังรู้สึกว่าเป็นเพียงนักลงทุนคนหนึ่งเท่านั้น" คำกล่าวของเติมพงษ์ต่อ "กรุงเทพธุรกิจ"

ขณะที่เกริกเกียรติมีทีท่าแบ่งรับแบ่งสู้ อ้างว่าสุดแท้แต่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นที่จะมีขึ้นในเดือน เมษายนปีหน้านี้

"เป็นเรื่องธรรมดามาก ถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องการจะส่งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการ โดยที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี หรือกลุ่มของคุณสอง วัชรศรีโรจน์ ผมก็พร้อมที่จะเปิดโอกาสตลอดและพร้อมที่จะเข้าไปนั่งคุยด้วยเสมอ" เกริกเกียรติแถลง

ปัจจุบันบอร์ดของแบงก์บีบีซีมีกรรมการอยู่ 12 คนหลังสิ้นบารมี พล.ต. ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็เหมือนสิ้นยุคธุรกิจครอบครัว เพราะบอร์ดใหม่มีประยูร กาญจนดุล รักษาการประธานกรรมการ พชร อิศรเสนา ณ อยุธยา เป็นประธานคณะกรรมการบริหารแทนอินทิรา ชาลีจันทร์ เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์ บริหารแบงก์ภายใต้การกำกับของบอร์ดที่มีคนของทางการเข้ามาร่วมด้วยได้แก่ ปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ แทน ม.ร.ว. อรพินทร์ ดิศกุล และวิเชียร นิติธรรม ผู้ช่วยผู้อำนวยการแบงก์ออมสิน

"หากนายเติมพงษ์ซึ่งถือหุ้น 7.79% แล้วจะมานั่งเป็นกรรมการด้วย เชื่อว่าบอร์ดธนาคารคงไม่ขัด เนื่องจากไม่ถือเป็นการผิดระเบียบปฏิบัติแต่อย่างใด" คำกล่าวของปกรณ์

จึงเป็นที่แน่ชัดว่าชื่อของเติมพงษ์ ตันติพิพัฒน์จะได้รับเป็นกรรมการแบงก์บีบีซีโดยสิทธิ์ในฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่จะต้องสละเก้าอี้กรรมการในบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเชียก่อน

ความสัมพันธ์รุ่นคุณแม่ระหว่างคุณหญิงสุภัทรา ตันติพิพัฒน์พงศ์ มารดาของเติมพงษ์กับอินทิรา ชาลีจันทร์ในแวดวงสังคมสงเคราะห์ ดังนั้นเติมพงษ์จึงเกรงใจอินทรา ต้องรายงานการซื้อหุ้นให้ทราบบ้างเป็นระยะ ๆ

"ครอบครัวตันติพิพัฒน์พงศ์และชาลีจันทร์ เราก็รู้จักและสนิทสนมกันดีโดยก่อนที่คุณเติมพงษ์จะตัดสินใจเข้าไปซื้อหุ้น ก็ได้เข้าไปพบคุณแม่ของผม เพื่อที่จะบอกว่าสนใจที่จะลงทุนในบีบีซี เพราะประเมินแล้วว่า ในระยะยาวจะได้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งระหว่างผมและคุณเติมพงษ์ ก็ได้มีการพูดคุยกันมาตั้งแต่ช่วงก่อนซื้อหุ้นด้วยซ้ำ โดยคุณเติมพงษ์บอกว่า ถึงแม้จะเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับหนึ่งของเรา แต่ผมก็ไม่ได้รู้สึกวิตกกังวล และน่าจะยินดีด้วยซ้ำที่หุ้นของแบงก์ได้รับความสนใจ" เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการแบงก์บีบีซี กล่าว

ขณะที่ปากปราศรัย แต่ภายในใจนั้นเกริกเกียรติยังมีภารกิจหนักอึ้งเกี่ยวกับปัญหาหนี้เสีย ที่ต้องเร่งให้เห็นผลภายในปี 2539 นี้ เวลามีเหลืออยู่ไม่มากนัก ขณะที่แรงกดดันจากกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มีมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะจากทางแบงก์ชาติที่กดดันให้เพิ่มทุนเป็น 1 หมื่นล้าน เปลี่ยนกรรมการบริหารชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหาร ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ทำธุรกิจบีไอบีเอฟทั้งในและนอกประเทศได้ รวมทั้งอนุญาตรับประกันจัดจำหน่ายตราสารหนี้ได้ด้วย

อนาคตของแบงก์บีบีซีจึงยังให้ความมั่นใจกับกลุ่มตันติพิพัฒน์พงศ์อีกมาก เฉกเช่นเดียวกับเส้นทางเดินของเจริญ สิริวัฒนภักดีในกรณีแบงก์มหานคร เพียงแต่รอจังหวะโอกาสเท่านั้นระหว่างรอก็ทะยอยซื้อหุ้นแบงก์บีบีซีเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีสัดส่วนถือครองหุ้นมากที่สุด โดยเฉพาะรอเมื่อมีการเพิ่มทุนอีกในปีหน้า การเปลี่ยนแปลงใหญ่อาจเกิดขึ้น ถึงเวลานั้นจะเรียกฉายาว่า "แบงก์คึกฤทธิ์" อีกไม่ได้แล้วต่อไป !!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.