"ไมโครเนติค-เอ็มไอเอส พันธมิตรพลิกโฉมอินฟอร์เมชั่นออนไลน์"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อปีที่แล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เลือกบริษัทไมโครเนติค จำกัด ให้เป็นผู้วางระบบซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการปิดฉากการซื้อขายด้วยวิธีเคาะกระดานสู่จออิเล็กทรอนิกส์ และด้วยการเป็นผู้วางรากฐานให้กับระบบดังกล่าวนี่เอง ทำให้ไมโครเนติคกลายเป็นผู้วางระบบซื้อขายหลักทรัพย์ให้กับบริษัทค้าหลักทรัพย์อีกเป็นจำนวนมาก

ตรงนี้เองที่เป็นข้อต่อสำคัญของการเป็นพันธมิตรกันระหว่างไมโครเนติคและบริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการจำกัด หรือเอ็มไอเอสในปัจจุบัน

ล่าสุดไมโครเนติคมีฐานลูกค้าที่เป็นโบรกเกอร์ค้าหลักทรัพย์ ที่บริษัทเป็นผู้วางระบบคอมพิวเตอร์สำหรับซื้อขายหลักทรัพย์ให้จำนวน 35 รายจากที่มีอยู่ทั้งหมด 56 ราย

ขณะที่ไมโครเนติคเป็นผู้วางระบบ เอ็มไอเอสเป็นเจ้าของข้อมูลมหาศาล การร่วมมือกันจึงเกิดขึ้น

การเซ็นสัญญาระหว่าง 2 บริษัทเมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้อมูล "ไฟแนนเชียลเดย์ออนไลน์" นับเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่ง

วิรัตน์ แสงทองคำ กรรมการผู้จัดการเอ็มไอเอสอธิบายว่า ยุทธวิธีของเอ็มไอเอสครั้งนี้เหมือน "มุดมุ้ง" เข้าหาลูกค้าโดยตรงเลย

กล่าวง่าย ๆ ก็คือ ข้อมูล "ไฟแนนเชียลเดย์ ออนไลน์" ของเอ็มไอเอสจะเข้าไปปรากฎบนจอของโบรกเกอร์ที่ไมโครเนติควางระบบไว้ให้ก่อนหน้านั้นแล้ว

โบรกเกอร์ที่ใช้บริการของไมโครเนติคอยู่แล้ว ไม่ต้องซื้อจอคอมพิวเตอร์เพิ่มไม่ต้องติดตั้งวางระบบใหม่เอ็มไอเอสก็เข้าทางลัด ไม่ต้องสร้างทีมการตลาด ไม่ต้องสร้างทีมซ่อมบำรุง เพราะไมโครเนติคมีทีมรับผิดชอบอยู่แล้ว

ลูกค้าเพียงจ่ายเงินเพิ่มหากต้องการข้อมูล "ไฟแนนเชียลเดย์ ออนไลน์" เท่านั้น

ทางลัดที่วิรัตน์เรียกว่า "มุดมุ้ง" นี้เองเป็นยุทธวิธีการตลาดที่รวดเร็วและทำให้ "ไฟแนนเชียลเดย์ ออนไลน์" เกิดในตลาดนี้แน่นอน

เพราะที่ผ่านมา โบรกเกอร์หรือลูกค้าทั่วไปจะต้องมีจอคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งสำหรับสั่งซื้อสั่งขาย มีอีกจอหนึ่งสำหรับดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มีอีกจอสำหรับดูข่าวเรียลไทม์ และมีอีกหลายจอเพื่อดูข่าวและข้อมูลอื่น ๆ ตามบริการใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เรียกว่ามีจอคอมพิวเตอร์รอบตัวไปหมด หากต้องการข่าวข้อมูลหลาย ๆ ด้าน

"ต่อไปนี้ คุณมีคอมพิวเตอร์เพียงจอเดียว ก็ได้ทุกอย่าง" วิรัตน์ยืนยัน

วิธีที่เอ็มไอเอสนำมาใช้เพื่อรองรับกับวิธีการดังกล่าวคือ การพัฒนาซอฟต์แวร์ข้อมูลบนระบบปฏิบัติการวินโดว์ ซึ่งเป็นโปรแกรมระบบที่จะทำให้ผู้ใช้ได้รับความสะดวกในการเรียกดูข้อมูลประเภทต่าง ๆ ได้ในเวลาเดียวกัน

ขณะที่เอ็มไอเอสจะได้แจ้งเกิดในตลาดข้อมูลออนไลน์ ไมโครเนติคก็จะเข้าสู่ยุคการขยายตัวอีกครั้ง โดยเครื่องมือทางการตลาดใหม่ในการหาลูกค้า นั่นคือ วางระบบคอมพิวเตอร์พร้อมบริการข้อมูลไปด้วย

เรียกว่า ขายเครื่องพ่วงข้อมูลออนไลน์เสร็จสรรพ

สำหรับข้อมูล "ไฟแนนเชียลเดย์ ออนไลน์" ที่จะขายผ่านจอนั้น วิรัตน์อธิบายว่าในช่วงต้นอาจจะมีประมาณ 7 รายการ เช่น ข่าวและข้อมูลเรียลไทม์ ซึ่งสามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ การวิเคราะห์เกี่ยวกับบริษัท และอุตสาหกรรมสาขาต่าง ๆ เป็นการวิเคราะห์จากเอ็มไอเอสและสถาบันวิจัย ข้อมูลสถิติทางเศรษฐกิจ ข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้อมูลการสำรวจทางธุรกิจการจัดผลการลงทุน

ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาจากคลังข้อมูลของเอ็มไอเอสที่สะสมไว้ ส่วนหนึ่งมาจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลเดย์ รวมทั้งบริษัทไมโครเนติค ซึ่งมีฐานข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้ว อาทิ งบการเงินของ ข้อมูลสถิติ ที่เอ็มไอเอส ได้นำมาจัดให้เป็นระบบมาตรฐาน

ที่สำคัญคือ บริการของไฟแนนเชียลเดย์ ออนไลน์จะเป็นระบบอินเตอร์แอคทีฟ ซึ่งผู้ใช้สามารถเรียกดูข้อมูลได้ตามที่ต้องการ ในขณะที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ จะให้บริการส่งข้อมูลได้ทางเดียว หรือบางรายสามารถให้บริการแบบอินเตอร์แอคทีฟได้บ้าง แต่ข้อมูลไม่ลึกพอ

ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คือ การจะต้องมีฐานข้อมูลที่ลึกมากที่สุด วิรัตน์ยืนยันว่า ข้อมูลของไฟแนนเชียลเดย์ ออนไลน์จะดูย้อนหลังไปได้ถึง 5 ปี

"ขณะที่คุณดูราคาหุ้นในหน้าต่างแรก อีกหน้าหนึ่งในจอเดียวกันนั่นเอง คุณก็สามารถคีย์ดูข่าวหรือดูข้อมูลบริษัทย้อนหลังไปพร้อม ๆ กัน" วิรัตน์อธิบาย

ในแง่ของลูกค้านั้นที่วิรัตน์มองไว้จะมาจากโบรกเกอร์ 29 ราย ซึ่งใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของไมโครเนติคอยู่แล้ว โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะมีคอมพิวเตอร์ใช้งาน 2,000-3,000 เครื่อง ซึ่งจะสามารถใช้บริการไฟแนนเชียลเดย์ออนไลน์ได้ทันที โดยไม่ต้องตั้งระบบคอมพิวเตอร์ใหม่

ส่วนค่าบริการนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งจะมีทั้งเก็บเป็นนาที (แอร์ไทม์) และเก็บเหมาเป็นรายเดือนโดยค่าบริการที่ได้จะนำมาแบ่งกันระหว่าง เอ็มไอเอส และไมโครเนติค

อย่างไรก็ตามวิรัตน์ยืนยันว่า จะไม่ผูกติดกับไมโครเนติคเพียงรายเดียว แต่จะร่วมมือกับพันธมิตรอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน เพราะลูกค้าเป้าหมายของบริการนี้ จะเป็นองค์กร หรือสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ยังมีตลาดอีกมาก

สำหรับซอฟต์แวร์ของบริการไฟแนนเชียลเดย์ออนไลน์ ที่เป็นต้นแบบ (PROTOTYPE) กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเสร็จทันให้บริการได้ภายในช่วงต้นเดือนมกราคม และเมื่อไฟแนนเชียลเดย์ ออนไลน์ เผยโฉมออกมา เขาก็คาดว่าจะขึ้นเป็นอันดับ 1 ของผู้ให้บริการออนไลน์ ได้ในเวลา 6 เดือนที่เปิดให้บริการ

ซึ่งเวลาเท่านั้น จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ไฟแนนเชียลเดย์ ออนไลน์ และบริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการ รวมทั้งไมโครเนติคจะแจ้งเกิดในตลาดออนไลน์ข้อมูลได้หรือไม่ !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.