|

กระดาษศรีสยามแต่งตัวเข้าตลท.
ผู้จัดการรายวัน(20 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
กระดาษศรีสยาม เตรียมขายหุ้น 127 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายธุรกิจ จ่ายดอกเบี้ย ชำระดอกเบี้ย และเงินกู้ธนาคารทหารไทย เอบีเอ็นแอมโร พร้อมคาดการณ์ ปี 49 ขาดทุน 1.8 พันล้าน และปี 51 กลับมีกำไรสุทธิ 56 ล้านบาท
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แจ้งว่า บริษัท กระดาษศรีสยาม จำกัด (มหาชน) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นแต่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 127.50 ล้านหุ้นหรือคิดเป็น 23.83% ของหุ้นที่เรียกชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้ มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 5 บาท ซึ่งภายหลังการเสนอขายหุ้นครั้งนี้จะทำให้มีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วเป็น 2,675 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 535 ล้านหุ้น โดยจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งมีบริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
ทั้งนี้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้บริษัทจะนำไปลงทุนเพิ่มในการติดตั้ง Off Machine Coater และลงทุนใน Back Up Boiler ซึ่งสำรองไว้สำหรับโรงไฟฟ้าอีก 200 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้จากธนาคารกรุงไทยจำนวน 137 ล้านบาท ที่เหลือจากเงินระดมทุน และนำไปชำระดอกเบี้ยและเงินต้นของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และชำระคือหนี้ของ ABN Amro Bank N.V. 12.45 ล้านเหรียญสหรัฐตามเงื่อนไขเงินกู้ยืม
สำหรับผลการดำเนินงานบริษัทปี 2547 บริษัทมีรายได้จากการขายกระดาษจำนวน 522.96 ล้านบาท ปริมาณการซื้อขาย 18,740 ตัน ซึ่งในปี 2548 บริษัทมีรายได้จากการขายกระดาษลดลงเหลือ 246.58 ล้านบาท เนื่องจากปริมาณการขายที่ลดลง เพราะบริษัทขาดเงินทุนหมุนเวียนในการผลิตประกอบกับบริษัทได้ระดมทรัพยากรที่บริษัทมีอยู่เพื่อดำเนการให้เครื่องจักร PM#A-ONE สามารถดำเนินการผลิตได้
ทั้งนี้บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,433.70 ล้านบาทในปี 2547 เพราะบริษัทมีการรับรู้กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 3,574.04 ล้านบาท
หากหักกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ออก จะทำให้บริษัทขาดทุนก่อนรายการพิเศษจำนวน 140.33 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยซึ่งไม่สามารถบันทึกเป็นต้นทุนของเครื่องจักรใหม่จำนวน 157.02 ล้านบาท และบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยและรายการพิเศษจำนวน 16.68 ล้านบาท ในปี 2548 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,097 ล้านบาท จากการโอนกลับค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์ 3,529.58 ล้านบาท หากหักรายการดังกล่าว บริษัทขาดทุนสิทธิก่อนรายการพิเศษ 431.87 ล้านบาท เพราะบริษัทขาดเงินทุนหมุนเวียนทำให้บริษัทต้องหยุดการดำเนินงานทำให้ยอดผลิตลดลงเหลือ 6,153 ตันต่อปีจากปี 2547 ที่อยู่ในระดับ 18,740 ตันต่อปี
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของบริษัทไม่สะท้อนผลการดำเนินงานในอนาคต เนื่องจากเครื่องจักร PM#A-ONE เริ่มดำเนินการผลิตทำให้บริษัทมีสินค้าใหม่ๆ เพิ่มขึ้น บริษัทจึงได้จัดทำงบประมาณทางการเงินคาดว่าในปี 2549-2551 เป็น 2 กรณี คือ BASE Case ปี 2549 จะขาดทุน 1,795.64 ล้านบาท ปี 2550 ขาดทุน 65.69 ล้านบาท ปี 2551 กำไรสุทธิ 181.86 ล้านบาท และ กรณี Worst Case ปี 2549 ขาดทุน 1,853.21 ล้านบาท ปี 2550 ขาดทุน 151.45 ล้านบาท ปี 2551 กำไรสุทธิ 56.58 ล้านบาท
ณ 31 มีนาคม 2549 บริษัทมีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 8,425.21 ล้านบาท หนี้สินรวม 5,069.50 ล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นเท่ากับ 3,355.71 ล้านบาท ซึ่ง 31 ธันวาคม 2548 บริษัทมียอดเงินกู้ยืมจากธนาคารและสถาบันการเงินรวม 4,679.25 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ระยะยาวจากธนาคารกรุงไทย 3,971.90 ล้านบาท กู้จากธนาคารต่างประเทศ 493 ล้านบาท และเงินเบิกเกินบัญชีและตั๋วสัญญาให้เงิน 214.35 ล้านบาท โดยตั้งแต่ ตุลาคม 2549 บริษัทต้องชำระหนี้ระยะยาวธนาคารกรุงไทย เดือนละ 27.50 ล้านบาท ส่วนปี 2550 ชำระคืนรวม 330 ล้านบาท
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|