"KPN VISION 2000 งานประกาศอิสรภาพของ เกษม ณรงค์เดช"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

การจัดงานเมื่อค่ำคืนที่ 5 ตุลาคม ณ โรงแรมดุสิตธานี โดยกลุ่มเคพีเอ็น มีเพียงวัตถุประสงค์เดียว

เพื่อการเปิดภาพของอาณาจักรเคพีเอ็นออกสู่สายตาของสังคมรอบข้าง

ประหนึ่งว่าพร้อมแล้วที่จะเปิดเผยตัวตน ว่ายิ่งใหญ่เพียงไร

จากวันนี้ ตราบจนอนาคตอันยาวไกล กลุ่มเคพีเอ็นพร้อมที่จะยืนหยัดด้วยความมาดมั่น ด้วยลำแข้งของตนเอง มิใช่ใต้เงา "พรประภา" ดังเช่นอดีตที่ใคร ๆ ต่างก็มองเป็นเช่นนั้น

การแถลงข่าวถึงโครงสร้างใหม่ขององค์กร จึงเป็นเพียงองค์ประกอบที่มีสาระให้นักข่าวจับต้องได ้เพื่อที่งานจะได้ดำเนินไปอย่างมีอรรถรสเท่านั้น เพราะต่างก็รู้กันอยู่ ด้วยโครงสร้างใหม่มีการพูดมาหลายคราวในหลายสถานที่ เพียงแต่ยังไม่มีการนำมาประติดประต่อเท่านั้น

บรรยากาศงานค่ำคืนนั้น เน้นการมุ่งไปข้างหน้า ไปยังอนาคตแค่เอื้อมสมกับชื่องาน "KPN VISION 2000" จะมีเพียงภาพอดีตที่คัดมาบางช่วงตอนเพื่อการต้องการลืมเลือนบางสิ่งบางอย่างที่ปวดร้าว

"ภายใน ค.ศ. 2000 เคพีเอ็นจะต้องเติบโตเท่าตัว"

เกษม ณรงค์เดช ประธานกลุ่มเคพีเอ็น กล่าวถึงความหมายของงาน

จากปัจจุบันกลุ่มเคพีเอ็นมียอดการจำหน่ายทั้งสิ้นราว 20,000 ล้านบาทต่อปี นั่นหมายความว่าภายใน 5 ปีนับจากนี้ การเติบโตจะมีไม่ต่ำกว่าปีละ 20% ซึ่งเกษมกล่าวว่า เป็นไปได้

แต่ความหมายสำคัญกลับไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเติบโตปีละเท่าไร

เกษมกล่าวชัดเจนว่า ในช่วงระยะเวลา 5 ปีจากนี้ กลุ่มเคพีเอ็น จะพยายามปรับเปลี่ยนสัดส่วนรายได้จากธุรกิจต่าง ๆ ในกลุ่ม ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็คือโครงสร้างการดำเนินธุรกิจจะเปลี่ยนไป สิ่งที่ดำเนินการอย่างเข้มข้นในวันนี้ อาจเป็นเพียงธุรกิจเสริมในวันข้างหน้า

"ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะธุรกิจมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไป ใครที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ มัวแต่ชื่นชมกับความสำเร็จของธุรกิจในอดีตหรือเพียงปัจจุบัน ย่อมอันตรายสำหรับอนาคต" คำกล่าวที่บ่งบอกวิสัยทัศน์ของเกษม

จากยอดการจำหน่ายราว 20,000 ล้านบาทต่อปีในปัจจุบัน จะเป็นยอดจากการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าถึงประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือได้ว่าสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่ามีมากเกินไป ซึ่งตรงนี้ทางกลุ่มพยายามจะปรับเปลี่ยน ให้สัดส่วนลดลง แต่มิใช่ว่าจะลดการเติบโตของยอดจำหน่ายจักรยานยนต์ยามาฮ่า

สิ่งที่ทางกลุ่มพยายามจะทำก็คือ การเน้นการลงทุน และขยายช่องทางการตลาดสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ที่บริษัทดำเนินการอยู่ โดยนับจากนี้ไปภายใน 5 ปี อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จะกลายเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มเคพีเอ็นทดแทนยอดการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า

"เราขายของเพียงอย่างเดียว และมัวแต่ชื่นชมกับยอดขายที่มีมากในแต่ละปี คงไม่ได้ ถ้าเราทำอย่างนั้น เราก็เพียงแค่ได้ขายของเรื่อย ๆ ไปเท่านั้น สิ่งที่ทางกลุ่มเคพีเอ็นพยายามจะทำก็คือ การเติบโตในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ ในลักษณะที่เป็นทั้งผู้ผลิต พัฒนาและวิจัยเพื่อผลิตสินค้าด้วยตนเอง ไม่ใช่การรับออร์เดอร์และวิธีการผลิตเพื่อมาผลิตป้อนให้เท่านั้น ถ้าเช่นนั้นเราไม่มีวันโตไปกว่านี้ได้ และอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศก็ไม่มีวันที่พึ่งพาตัวเองได้ เราจึงต้องคิดหาหนทางให้กลุ่มเคพีเอ็นก้าวไปถึงขั้นนั้นให้ได้" เกษมกล่าว

เกษมกล่าวด้วยว่า การตั้งเป้าหมายภายใน 5 ปี หรือการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจเสียใหม่ ก็เพื่อนโยบายหลักอันนั้น ทำให้การบริหารงานคล่องตัวขึ้น ไม่อืดอาดเหมือนที่ผ่านมา และแน่นอนว่า ความชัดเจนจะมีมากขึ้น จะรู้ว่าธุรกิจใดจะก้าวไปทางไหน ควรจะขยายงานอย่างไร

"อย่างขณะนี้นอกจากเราวางเป้าหมายว่า อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะเป็นหัวใจหลักของเราแล้ว เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องจากพลาสติกและการผลิตสินค้าด้านอุปโภค-บริโภคเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นไลน์ที่เราพยายามแตกออกไป"

ในอนาคตเคพีเอ็นจะเน้นการร่วมมือทางธุรกิจให้มากขึ้นเพราะการร่วมทุนกับผู้ที่มีโนว์ฮาวด้านต่าง ๆ ยังมีความจำเป็นอยู่

แม้ว่าเกษมจะย้ำว่าทิศทางการเติบโตต่อจากนี้ ด้วยนโยบายพันธมิตรทางธุรกิจ แต่ก็ต้องยอมรับว่า มาถึงขณะนี้กลุ่มเคพีเอ็นได้สูญเสียพันธมิตรที่นับว่าเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญที่อาจกล่าวได้ว่า เกื้อหนุนให้กลุ่มเคพีเอ็นได้มีวันนี้ไปเสียแล้ว อย่างถาวร !

เพราะถ้าไม่นับรวมคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช และบุตรชายอีก 3 คนแล้ว ในงานค่ำคืนนั้น ไม่มีทายาทของตระกูลพรประภาทางสายเลือดคนใดมาร่วมงาน แม้เพียงคนเดียวก็ไม่มี

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม งานเปิดตัวอาณาจักรเคพีเอ็นอันยิ่งใหญ่ ณ ค่ำคืนนั้น ได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่า อาณาจักรณรงค์เดช มิได้อยู่ใต้เงาพรประภาอีกต่อไป

ในเชิงธุรกิจ ถึงขณะนี้การติดต่อค้าขายระหว่างสยามกลการกับกลุ่มเคพีเอ็น เหลือน้อยเต็มที

เกษมกล่าวว่า ประมาณหนึ่งปีมาแล้วที่ทางสยามกลการยกเลิกการซื้อสินค้าจากลุ่มเคพีเอ็นทุกรายการ ขณะที่ทางกลุ่มเคพีเอ็นยังคงมีซื้อสินค้าจากลุ่มสยาม อยู่บ้าง เช่น แบตเตอรี่ โช้กอัพ และหัวเทียน มูลค่าซื้อขายปีหนึ่ง ๆ ก็หลายร้อยล้านบาท

"เหตุผลที่ทางเขายกเลิกการซื้อสินค้าจากเรา ก็คือ สินค้าไม่ตรงสเปกกัน ก็เท่านั้น ส่วนทางเราก็ยังซื้อจากทางเขาก็เพราะเห็นว่าตัวสินค้ายังใช้ได้อยู่ แต่ถึงวันนี้ เราจะยกเลิกการซื้อสินค้าจากทางกลุ่มสยามเมื่อไรก็ได้ เพราะสินค้าที่เรายังมีการซื้ออยู่นั้นก็เพียงไม่กี่อย่าง และจะหาซื้อจากผู้ผลิตอื่นทดแทนก็ไม่ใช่เรื่องยาก"

ณ ค่ำคืนนั้น กลุ่มเคพีเอ็นประกาศชัดเจนถึงความมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องจักรกล โลหะการ อุตสาหกรรมชิ้นส่วน เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายที่จะยกระดับความสามารถในการผลิตและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน

พวกเขาประกาศชัดเจนถึงความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้กลุ่มเป็นฐานทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งในประเทศ และภูมิภาคอาเซียนรวมทั้งจะเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจของกลุ่มประเทศในเอเชียแปซิฟิก

และมิใยที่กลุ่มเคพีเอ็นจะประกาศออกมาอย่างชัดเจนแต่ ณ ค่ำคืนนั้น ค่ำคืนที่ถือเป็นงานเปิดตัวกลุ่มเคพีเอ็นอย่างเป็นทางการครั้งแรก

ดูจะกลายเป็นงานประกาศอิสรภาพของกลุ่มเคพีเอ็น ที่ผงาดพ้นเงากลุ่มสยาม อย่างไม่อาจจะเข้าใจเป็นอื่นได้



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.