ภายในห้องทำงานของโฆษกแบงก์ชาติคนใหม่ ที่หอมกรุ่นด้วยกระเช้าดอกไม้หลายหลากสี
ความสวยเรียบ ๆ ของ ดร. เกลียวทอง เหตระกูลหรือที่คนแบงก์ชาติเรียก "พี่เกี๊ยว"
เป็นอีกภาพพจน์ที่ดูงามตา
ดร. เกลียวทองเป็นนักเรียนทุนรุ่นเดียวกับ ดร. ชัยวัฒน์ พิบูลย์สวัสดิ์
ผู้ช่วยผู้ว่าการอาวุโส ความเป็นอาวุโสที่ต่อท้ายตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการของ
ดร. เกลียวทองเช่นกัน ได้บ่งบอกความเป็นลูกหม้อเก่า ดร. เกลียวทองทำงานกับฝ่ายวิชาการของแบงก์ชาติมานาน
ตั้งแต่ครั้งหัวหน้าคนแรกเป็น ดร.โอฬาร ไชยประวัติ นอกจากนี้เคยทำงานร่วมกับผู้ว่าการแบงก์ชาติคนปัจจุบัน
วิจิตร สุพินิจ ขณะที่ตนเองเป็นหัวหน้าหน่วยการเงินระหว่างประเทศ และก้าวขึ้นเป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการในปี
2533
ต่อมา ดร. เกลียวทองได้เป็นกรรมการบริหารสำรองที่ไอเอ็มเอฟอยู่สองปีระหว่างปี
2535-2537 ก่อนกลับมาแบงก์ชาติเพื่อรับตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินอยู่
10 เดือน จึงได้รับมอบหมายงานโฆษกแบงก์ชาติหรือผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักผู้ว่าการแทน
นพมาศ มโนลีหกุล ซึ่งต้องย้ายไปเป็นผู้อำนวยการสาขาภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่
ถึงแม้ว่าโฆษกแบงก์ชาติคนใหม่นี้จะได้สมรสกับคุณหมอปรีดี เหตระกูลซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกันกับเจ้าของหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
โดยเปลี่ยนนามสกุลเดิม "บัวเพ็ชร์" เป็น "เหตระกูล"
แต่เธอยืนยันอย่างหนักแน่นว่า
"ที่ได้รับเลือกมาเป็นผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการนี้ ไม่ใช่เพราะความเป็นเหตระกูล
นามสกุลก็คือนามสกุล ส่วนตัวเองก็คืนตัวเอง โดยปกติจะเป็นคนทำงาน เพื่องาน
ซึ่งท่านผู้ว่าก็ให้หลักไว้ 3 ประการคือ หนึ่ง-ต้องรู้เศรษฐศาสตร์ สอง-ต้องรู้ด้านต่างประเทศ
และสาม-ต้องทำงานร่วมมือกับคนอื่นได้ ท่านพูดทำนองนี้ ก็คิดว่าพอจะสู้ได้ก็ลองดู"
ด้วยบุคลิกกุลสตรีเรียบร้อยที่ได้รับอบรมจากโรงเรียนผู้ดีเก่าอย่างวัฒนา
เคยผ่านรั้วจามจุรีในฐานะน้องใหม่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เพียง
8 เดือน ระหว่างนั้นก็สอบเป็นนักเรียนทุนแบงก์ชาติได้เรียนปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ที่
MC. GILL UNIVERSITY จนกระทั่งจบปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโอไฮโอ
หลังจากจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล
ดร. เกลียวทองในฐานะผู้อำนวยการสำนักอาวุโสต้องทำงานที่ติดต่อกับสาธารณชนมาก
ไม่ว่าจะเป็นแขกต่างประเทศที่มีสัมพันธภาพร่วมกัน หรือการติดต่อโต้ตอบจดหมายของผู้ว่าการ
และเป็นโฆษกแบงก์ชาติจัดแถลงข่าว
"ตำแหน่งนี้ถือว่าเป็นตัวแทนของธนาคารออกไปสู่คนข้างนอก สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวัง
เวลาจะทำอะไรหรือพูดอะไรต้องใช้ความเห็นของสถาบันมากกว่าความเห็นของตัวเอง
แต่บางครั้งความเห็นของคนเราอาจจะต่างกับสถาบันได้บ้างบางจุด แต่ว่าต้องให้เข้าใจวัตถุประสงค์ของสถาบัน"
โฆษกแบงก์ชาติคนใหม่เล่าให้ฟัง
ช่างเป็นงานที่ผิดกับงานเก่าที่จากมา ที่เคยทำงานอยู่เบื้องหลังเงียบ ๆ
ในฐานะผู้จัดการฝ่ายจัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่มีทีมงานต้องสะสางปัญหาโครงการทรัสต์
4 เมษา ซึ่งเป็นงานละเอียดจุกจิกในการดูแลทรัพย์สินที่หลากหลาย ประเภทเป็นปู่โสมเฝ้าที่ดินที่รอการขายเคลียร์หนี้สินก็มีผู้จัดการกองทุนฯ
คนปัจจุบันคือสว่างจิต จัยวัฒน์
"ล่าสุดกองทุนฯ เพิ่งขายบริษัทเงินทุนทรัพย์ทวีทรัสต์ไปในราคา 168
บาทต่อหุ้น และบริษัทแสงเอ็นเตอร์ไพรส์คือผู้ที่ประมูลได้ไป อันนี้เป็นบริษัทที่โยงกับเดลินิวส์
แต่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง เราก็ตอบคำถามเหมือนคนอื่น ๆ ยิ่งนามสกุลเดียวกัน
ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ พอมีอะไรต้องเรียนเจ้านายอยู่เสมอ" ดร. เกลียวทองเล่าให้ฟังถึงความบริสุทธิ์ใจท่ามกลางผลประโยชน์ที่ขัดแย้ง
อย่างไรก็ตาม ดร. เกลียวทองก็ได้ทำงานชิ้นสุดท้ายในโครงการทรัสต์ 4 เมษาคือ
บริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์ ที่ดำเนินมาถึงขั้นเปิดประมูลอีกรอบ หลังจากที่เปิดประมูลแยกขายที่ดินสองแปลง
122 ไร่ไปแล้ว ก็ทำให้ฐานะของบริษัทมีความน่าสนใจเชิงธุรกิจดึงดูดใจนักลงทุนใหม่
7 ราย โดยบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล โปรดักส์เสนอราคาซื้อสูงสุด 389 บาทต่อหุ้น
รองลงมาคือบริษัทดาราเหนือเสนอที่ราคา 295 บาทต่อหุ้นและวัฎจักรเสนอ 256
บาท
ทั้งนี้บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล โปรดักส์ และบริษัทดาราเหนือ ต่างก็มีเจ้าของคนเดียวกันชื่อ
ประภาส อดิสยเทพกุล
"เท่าที่เราตกลงในหลักการ เราจะดูทั้งราคาและแผนการฟื้นฟู เขาจะต้องทำแผนผูกพันเหมือนเป็นคำมั่นว่าจะทำแบบนี้
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราต้องดู คราวนี้มีผู้ประมูลเอราวัณทรัสต์น้อยกว่าเพราะจำนวนหุ้นมากกว่าทรัพย์ทวีทรัสต์ถึง
4 เท่า ทำให้ต้องใช้เม็ดเงินประมูลมากกว่า ส่วนฐานะของเอราวัณทรัสต์หลังจากขายที่ดินไปแล้วเกือบไม่ขาดทุนแต่ต้องเสียภาษีเงินได้อีก
ก็จะทำให้มูลค่ากิจการติดลบเล็กน้อย" อดีตผู้จัดการกองทุนฯ เล่าให้ฟัง
ภารกิจที่เสร็จสิ้นในกองทุนฟื้นฟูฯ ก้าวสู่จุดเริ่มต้นงานผู้อำนวยการสำนักงานอาวุโสคนใหม่
นับว่าเป็นงานใหม่ที่ท้าทายที่ไม่ธรรมดา แต่ด้วยความศรัทธาในพระเจ้าตามแบบฉบับคริสเตียนที่ปฏิบัติบูชาด้วยใจตามพระคัมภีร์
ดร. เกลียวทองกล่าวด้วยน้ำเสียงปิติและเชื่อมั่นว่า
"ขอบคุณพระเจ้าที่ดูแลและให้แนวทางกับพี่ พี่รู้สึกว่าตั้งแต่เด็กจนถึงเดี๋ยวนี้ได้รับพระพรจากพระองค์มาก
ๆ พี่จะทำทุกอย่างเต็มความรับผิดชอบที่ดีที่สุดทั้งงานและครอบครัว พี่จะเป็นคนรักลูก
สามีและแม่มาก แต่จะหวัง A กับทุกอย่างไม่ได้ แต่ก็พยายามทำให้ชีวิตนี้สมดุล
และนั่นคือความสุข"
แต่ความสุขหรือทุกข์ในชีวิตส่วนตัวของ ดร. เกลียวทองคนนี้ ใครอย่าเข้าไปคะยั้นคะยอให้เล่าเรื่องราวยาวเป็นสิบหน้าเชียวเพราะคำตอบที่จะได้รับคือ
"พี่ทนไม่ได้ เพราะเป็นคนไม่ชอบดังขอเป็นคนสบาย ๆ เงียบ ๆ ไม่อยากเป็นใครที่พิเศษ
อยู่อย่างเอนจอยกับคนอื่นได้ เรียกว่าไปไหนขอไปด้วยคนดีกว่า"
ไม่ว่าส่วนตัวจะเป็นเช่นไร แต่เรื่องที่น่าจับตาคือว่า บทบาทโฆษกแบงก์ชาติคนใหม่จะรับมือกับสถานการณ์ที่ส่อเค้ามรสุมเศรษฐกิจในปีหน้าได้อย่างไร
ขณะที่โฆษกรุ่นพี่อย่างนพมาศ มโนลีหกุลได้ผ่านบทพิสูจน์มาแล้วในวิกฤตข่าวลือลดค่าเงินบาท
!!