|
แบงก์ชาติตรึงดอกเบี้ย 5% หั่นจีดีพีสิ้นก.ค. - ชี้ปีหน้าน้ำมันโลก 87 เหรียญฯ
ผู้จัดการรายวัน(20 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
แบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรืออาร์/พี 14 วัน ที่ระดับ 5% เหตุปัจจัยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่สูงเกินเป้าที่ตั้งไว้ ระบุยังไม่มีการปรับเพิ่มราคาน้ำมันเฉลี่ยจากเหตุการณ์สงครามตะวันออกกลาง แต่ประเมินราคาน้ำมันจะพุ่งสูงสุดในปี 2550 ที่ระดับ 87 เหรียญต่อบาร์เรล แย้มสิ้นเดือนนี้จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจในการประชุมรายงานเงินเฟ้อ ด้าน "ทนง" เชื่อทั้งปีจีดีพีไม่หลุด 4% แม้ครึ่งปีหลังต่ำแค่ 2.5% ฝากการบ้านแบงก์ชาติหาเหตุทำลงทุนซบ
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (19 ก.ค.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน ไว้ที่ 5.00% ต่อปี เนื่องจากกนง.ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวลง เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีนี้ จากความไม่แน่นอนในหลายประการ รวมทั้งราคาน้ำมัน แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2549 ที่ส่งผ่านมายังอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังสูงขึ้นไม่มากนัก ซึ่งยังไม่เกินเป้าหมายที่ธปท.คาดไว้ที่ 3.5%
“ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง แต่ลดช้ากว่าที่ธปท.คาดการณ์ไว้ เพราะอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ส่งผลโดยตรงจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงด้วย ซึ่งยังอยู่เป้าหมายเดิมที่ธปท.คาดการณ์ไว้ระดับ 3.5% ดังนั้นด้วยเหตุผลทั้งสองอย่างกนง. จึงคงอัตราดอกเบี้ยไว้”
ทั้งนี้ ในปัจจุบันปัจจัยที่เป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นยังคงเป็นปัจจัยหลักจากราคาน้ำมัน และหากดีเซลปรับราคามาอยู่ที่ 28-30 บาทต่อลิตร กลุ่มขนส่งจะขอขึ้นอัตราค่าโดยสารรถอีก นอกจากนี้รายการสินค้าจากตะกร้าผู้บริโภค หากมีการปรับขึ้นราคาจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นหรือไม่ ซึ่งสินค้าบางชนิดที่ต้นทุนปรับสูงขึ้น แต่ยังไม่มีการปรับราคาก็ยังมีอยู่ จึงเป็นปัจจัยที่ล้วนมีผลต่อราคาน้ำมันในระยะต่อไป
ส่วนเหตุการณ์สงครามในตะวันออกกลางไม่ได้มีต่อการประเมินราคาน้ำมัน แต่กนง. จะดูว่าราคาน้ำมันดูไบปรับมาอยู่ที่ 87 เหรียญต่อบาร์เรล ไตรมาสสุดท้ายปี 2550 เศรษฐกิจจะเกิดอะไรขึ้น หากราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นในระดับนี้ ทั้งนี้ในการประชุมของกนง.ครั้งนี้ ราคาน้ำมันอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ 71 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันในครั้งก่อนจากรายงานเงินเฟ้ออยู่ที่ 62 เหรียญต่อบาร์เรล
ด้านความต้องการในการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอตัวอย่างชัดเจน ขณะที่การบริโภคชะลอตัวบ้างแต่ไม่สูงกว่าที่ต่างฝ่ายกังวลไว้ เนื่องจาก แม้ราคาน้ำมันจะดึงอำนาจซื้อของผู้บริโภคไปบ้างส่วน แต่เงินเดือนของภาคธุรกิจก็มีการปรับขึ้นไปพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็มีรายได้สูงขึ้นผลจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ในภาวะที่ปัจจัยภายในและภายนอกต่างๆ รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังคงมีความผันผวนมาก กนง.จับตาดูปัจจัยชี้วัดด้านเสถียรภาพราคาและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมต่อไป
“ในที่ประชุมกนง.ครั้งนี้มีการปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีนี้จากเดิมที่อยู่ในระดับ 4.25-5.25% รวมถึงเศรษฐกิจปีหน้าที่จะชะลอตัวลงจากความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยต่อระยะหนึ่ง แต่จะแถลงอีกครั้งในรายงานเงินเฟ้อสิ้นเดือนนี้ นอกจากนี้ยังดูความเสี่ยงทั้งเรื่องเสถียรภาพและการขยายตัวเศรษฐกิจมีมากขึ้นพร้อมกันทั้งคู่ ขณะเดียวกันแม้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงอยู่ที่ –0.4% แต่เชื่อว่าจะกลับมาเป็นบวกในช่วงเดือนสิงหาคม 2549 หากไม่มีปัจจัยใดๆ รวมทั้งราคาน้ำมันส่งผลต่อเศรษฐกิจไปมากกว่านี้แล้ว” นางอัจนา กล่าว
ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวณิช หนึ่งในกรรมการ กนง. กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมในวันนี้ที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.00% นั้นได้ดูปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ ซึ่งการประเมินในครั้งนี้ง่ายมากไม่มีปัญหาอะไรที่น่าห่วง โดยอัตราเงินเฟ้อก็ยังคงควบคุมได้ และเป็นระดับที่น่าพอใจอยู่ แม้ราคาสินค้าและค่ารถจะมีการปรับขึ้นก็ตามแต่ก็ไม่ได้มีผลกดดันให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานสูงกว่าเป้าหมายที่ธปท.คาดไว้ที่ 3.5% ขณะที่เหตุการณ์สงครามในตะวันออกกลางหลายฝ่ายกังวัลจะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นนั้น ก็เป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น
นอกจากนี้ การประชุมดังกล่าวยังนำปัจจัยเรื่องการขยายตัวเศรษฐกิจมาวิเคราะห์ด้วย ถือว่ายังอยู่ที่ระดับพอใจ โดยในช่วงไตรมาสแรกยังเติบโตได้ถึง 6% ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าไม่มีปัญหาอะไรที่กระทบต่อเศรษฐกิจมากนัก
***"ทนง"เชื่อทั้งปีจีดีพีไม่หลุด 4%
นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน จะมีผลกระทบทำให้อัตราการบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง และส่งผลถึงอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวน้อยลง คือ แทนที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะขยายตัวได้ถึง 5% ก็จะขยายตัวได้เพียง 4.5% เท่านั้น อย่างไรก็ดี ยังมั่นใจว่าจีดีพีไตรมาสที่ 2 ของปีนี้จะยังขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 5% เพราะมีแรงเหวี่ยงจากเศรษฐกิจปีที่แล้ว ซึ่งจะส่งผลให้ครึ่งปีแรกขยายตัวได้ถึง 5.5% ดังนั้น จึงไม่น่าเป็นห่วง หากจีดีพีในครึ่งปีหลังจะโตเพียง 2.5% เพราะถ้าคิดทั้งปีแล้วเศรษฐกิจจะยังโตได้ถึง 4%
"เศรษฐกิจปีนี้ มีโมเมนตัมจากปีก่อนที่ส่งผลถึงไตรมาสแรก ที่โตถึง 6% และก็ไตรมาสที่ 2 ก็ยังมีผลอยู่ ทั้งการส่งออกที่ยังดี ส่วนการลงทุนแม้จะโตน้อยลง แต่สัดส่วนเม็ดเงินมีไม่เยอะ จึงมีน้ำหนักน้อยที่จะส่งผลทำให้จีดีพีลดลง แต่หัวใจสำคัญคือการบริโภค โดยราคาน้ำมันจะกระทบการบริโภคในประเทศ ทำให้แทนที่จะโตได้ 5% ก็เหลือ 4.5% แต่ผมยังเชื่อว่าครึ่งปีแรกเศรษฐกิจจะโตได้ 5.5%" นายทนง กล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าผลกระทบจากราคาน้ำมันจะรุนแรงขึ้น แต่จุดสำคัญก็คือ ยังไม่ได้ส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวมากจนเกินไป ทำให้ผลกระทบต่อการขยายตัวของจีดีพียังมีไม่มาก โดยที่ผ่านมาภาครัฐเสียค่าใช้จ่ายในเรื่องของน้ำมันประมาณ 10% ของรายได้ภาครัฐทั้งหมด ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากค่าใช้จ่ายในส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 15-18% ก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริโภคที่จะลดลงไปตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
นายทนง กล่าวอีกว่า ในครึ่งปีหลังมีสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่น่าจะลดลง และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งสัญญาณว่าจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยอีก ก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อไม่เลวร้าย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยอีก เพราะว่าในขณะนี้สภาพคล่องในตลาดยังมีอีกมาก ทั้งนี้ที่ผ่านมา ถือได้ว่า ธปท. ดูแลอัตราเงินเฟ้อได้ดีพอสมควร ซึ่งหากเงินเฟ้อลดลง ก็จะส่งผลดีต่อความมั่นใจของนักลงทุน เพราะภาระต้นทุนจะได้ไม่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตามได้ให้ธปท. ไปดูสาเหตุที่แท้จริงที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน และทำความเข้าใจโครงสร้างการลงทุนของประเทศ เพื่อที่จะได้ใช้นโยบายแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้อง อาทิ กรณีที่พบว่าการลงทุนในอุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัวลง รัฐบาลจะได้ผลักดันโครงการเมกะโปรเจกต์ต่อไป เป็นต้น
สำหรับกรณีการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย เพราะเป็นคนละปัจจัยกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) แต่การขึ้นดอกเบี้ยของญี่ปุ่นถือว่าเป็นปัจจัยบวกมากกว่า เพราะสะท้อนว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากอยู่นิ่งๆ มาหลายปี
ส่วนการแก้ปัญหาราคาน้ำมัน จะไม่มีการใช้มาตรการทางด้านภาษีเข้ามาช่วยอีก แต่จะเน้นไปที่มาตรการระยะยาวในเรื่องการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ทั้งในด้านระบบขนส่งมวลชน และขนส่งสินค้า ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็พยายามเร่งดำเนินการอย่างเต็มที่อยู่ ในส่วนของกระทรวงการคลังก็จะรับผิดชอบสนับสนุนมาตรการที่จำเป็น แต่จะไม่ทำเกินหน้ากระทรวงที่รับผิดชอบหลัก
"โรงงานเอทานอลจะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 แห่งภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่โครงการคอนแทรคฟาร์มมิ่งกับประเทศเพื่อนบ้านก็เริ่มแล้วในหลายๆ จุด ทุกคนก็พยายามเดินหน้ากันอย่างเต็มสูบ หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ เอ็นจีวี ที่จะใช้ทั้งในเรื่องขนส่งคน และขนส่งสินค้า ซึ่งจะสามารถช่วยประหยัดได้มหาศาลในอนาคต" นายทนง กล่าว
นายวราเทพ รัตนากร รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่ให้เลื่อนการลงนามจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลที่จังหวัดอยุธยา ระหว่างกรมสรรพสามิตกับบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เนื่องจากโครงการดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนในรายละเอียดด้านต่างๆ อย่างเพียงพอ จึงไม่เหมาะสมที่จะรีบลงนาม ดังนั้น จึงได้ทางกรมสรรพสามิตไปตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการทั้งหมดอย่างรอบด้านก่อน จากนั้นให้นำผลการศึกษาที่ได้เสนอต่อคณะกรรมการองค์การสุรา และกระทรวงการคลังพิจารณาตามลำดับต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|