ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ชีวิตหลังเกษียณกับงานเพื่อการศึกษา


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครจะคิดว่าคนที่จบด้านนิวเคลียร์ฟิสิกส์ ที่ยาก และมีผู้เรียนเพียงไม่กี่คนจะหันมาทุ่มเทให้งานด้านการศึกษาอย่างหาตัวจับได้ยาก

หากแต่ ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ผู้ที่จบโดยตรงทางด้านกลับพูดถึงผลของสิ่งที่ได้เรียนมาว่า การเรียนนิวเคลียร์ฟิสิกส์เป็นผลให้รู้วิธีการเรียนรู้ ซึ่งผู้เรียนสามารถหาความรู้จากไหนก็ได้ และจากสิ่งที่ได้เรียนรู้มาทั้งหมด ทำให้ ดร. สิปนนท์ สรุปได้ว่า การจัดการที่ยากไปถึงยากที่สุดคือ การบริหารงาน เงิน คน และเวลา นั่นเอง

ที่สำคัญ หากไร้ซึ่งการศึกษาด้วยแล้ว การบริหารสิ่งเหล่านี้ ก็คงจะเป็นเรื่องที่เป็นไปใหม่ได้เลย

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ดร.สิปปนนท์ เริ่มสนใจและทำงานด้านการศึกษามาตั้งแต่ พ.ศ.2517 โดยเคยเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่วางรากฐานเพื่อคุณภาพการศึกษาของประเทศ ที่เน้นเรื่องความเสมอภาคในโอกาสและคุณภาพทางการศึกษาเป็นหลัก

แต่นับจนบัดนี้ ดร. สิปปนนท์ เอง ก็ยอมรับว่าสิ่งที่เคยทำมานั้น ไม่สำเร็จตามแผน ที่วางไว้ ซึ่งดร.สิปปนนท์ ก็ไม่ได้วางมือและยังคงทุมเท ให้การศึกษาอยู่เสมอจนปรากฏภาพลักษณ์ในสายตาคนทั่วไป ว่า เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาคนหนึ่งของเมืองไทย ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญแต่เพียงการศึกษาในระบบ

" สิ่งที่ผมปฏิบัติอยู่เสมอเวลามีโอกาสเกินทางไปยังที่ต่าง ๆ คือ การหาโอกาสไปพบปะกับสิ่งรอบด้าน ทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน บุคคล และองค์การต่าง ๆ เพื่อดูงานและหาประสบการณ์ไม่เฉพาะด้านการศึกษา แต่รวมถึงเรื่องของศิลปะวัฒนธรรม โดยจะใช้เวลามากว่าครึ่งของเวลาที่ว่างจากภารกิจที่ต้องปฏิบัติ" ดร. สิปนนท์ จะกล่าวเปิดตัวในลักษณะนี้ทุกครั้งเมื่อมีโอกาสแวะไปเยี่ยมชมหน่วยงานใด ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้ไม่เคยหยุดชีวิตที่มีให้การศึกษา

กระทั่งเมื่อปลายปี 2537 ธนาคารกสิกรไทย โดยบัณฑูร ลำซำ ประธานกรรมการได้จัดกิจกิจกรรมในชื่อ " การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัฒน์" ขึ้น เพื่อฉลองที่ธนาคารกสิกรไทยมีอายุครบ 50 ปี โดยเลือกกิจกรรมด้านการศึกษาเป็นหนึ่งในกิจกรรมอีกหลายด้าน เพราะเชื่อว่า การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญต่อความมั่นคงและความเจริญก้าวหน้าของประเทศ อีกทั้งที่ผ่านมานโยบายการศึกษาจึงไม่ค่อยทำกับแบบจริงจัง เพราะถือว่า เป็นสิ่งที่มีอยู่ จึงทำกันแบบเรื่อย ๆ ไม่เสริมสร้างเพื่อการแข่งขันกับโลก ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถด้านการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพชีวิตและการค้าของโลก

บัณฑูร ล่ำซำ นำเรื่องเข้าปรึกษาอดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ และอดีตปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ดร. วิจิตร ศรีสอ้าน ซึ่งทั้งสองได้แนะนำ ดร.สิปนนท์ ว่าเป็นผู้ที่สนใจด้านการศึกษาอย่างมาก พร้อมทั้งแนะนำให้เชิญมาเป็นประธานคณะศึกษาการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัฒน์

ดร.สิปปนนท์ เองมีความตั้งใจอยู่แล้ว ที่จะปลุกจิตใต้สำนึกในใจทุกคนว่า " การศึกษา คือหน้าที่ทุกคน เพราะโลกในอนาคตเปลี่ยนแปลงเร็ว ประเทศไทย จำเป็นต้องหาแนวทางการศึกษาว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพื่อรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

เมื่อได้รับการทางทามจึงตอบนับและยินดี พร้อมกับรวบรวมคนที่มีความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์และผลงาน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 20 คน ตั้งเป็นคณะศึกษาในรูปแบบการรวมตัวกันเองโดยไม่มีสถานภาพอย่างเป็นทางการ เพื่อ ระดมความคิดเห็นด้านการศึกษาก่อนจะนำเสนอเป็นยุทธ์ศาสตร์ในการพัฒนาบรรจุ ไว้ในนโยบายของประเทศ ให้มีนโยบายการศึกษาที่สามารถสร้างคนให้มีความเท่าเทียมกัน ด้านการศึกษาและได้ระดับมาตรฐานสากล สำหรับคงวามพร้อมที่จะดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ได้อย่างไม่ด้อยกว่าชาติอื่น

" กระแสโลกาภิวัฒน์ อาจนำพาบางสิ่งบางอย่างมาสู่สังคมไทย ทั้งทางด้านบวกและด้านลบ การเตรียมความพร้อมในทุกด้านจึงเป้เรื่องสำคัญยิ่ง โดยเฉพาะความพร้อมทางด้านศักยภาพของคนและกำลังคนถือว่า เป็นรากฐานสำคัญที่สุด ผมหวังว่า กระแสการรับรู้สำนึกในความสำคัญของปัญหาทางการศึกษา และสิ่งที่คณะทำงานจะทำขึ้นมา เมื่อกระจายออกไปแล้วจะเกิดความสำนึกโดยกว้าง ของคนไทยให้เห็นถึงความจำเป็นของการศึกษาและเมื่อมหาชนรับรู้ การศึกษาเป็นตัวก่อให้เกิดจิตสำนึกรวมถึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่าง ๆ ในประทศต่อไป"

นับจากวันนั้น ชีวิตหลังเกษียณของ ดร.สิปนนท์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อยู่แล้วนับ 10 แห่ง อาทิ ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานของธนาคารซากุระ ประธานธนาคารซูมิโตโม ฯลฯ ก็ได้มีงานเพื่อสังคมเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งชิ้น ซึ่งดร. สิปนนท์ ยืนยันว่า แม้จะเกษียณแล้วก็ยังมีความตั้งใจที่จะทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมชาติบ้านเมือง ไม่เน้นว่าเป็นเรื่องไหนถ้าทำได้ดีก็พร้อมจะทำ

" งานการศึกษา ถ้ามีโอกาสผมจะทำ อย่างงานที่อยู่ในกองทุนสนับสนุนสภาการวิจัย ถ้ามีโอกาสผมจะพยายามหาทุนจากหน่วยงานต่าง ๆ เพราะคนไทยยังมีวกฤตทางปัญญาที่ชัดเจน เรายังทุมเทให้กับการเรียนรู้น้อย เกินไป ทั้งการเรียนรู้ของเก่าและใหม่ งานวิจัยและการพัฒนาก็ยังมีน้อย แบงก์ที่ผมเป็นประธาน อยู่ก็จะพยายามแนะนำผู้บริหารให้ทุนแก่นักเรียนยากจน"

อย่างไรก็ดี ในส่วนของงานคณะศึกษาฯ ดร. สิปปนนท์ ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าหลังสิ้นสุดโครงการแล้ว คณะศึกษาฯ จะยังคงสภาพอยู่หรือไม่ เพราะปัจจุบันคณะศึกษาจะพบกันเดือนละ 1-2 ครั้ง นอกเหนือจากการสัมมนาในภูมิภาคต่าง ๆ สิ้นสุดแล้ว เหลือเพียงรอการสรุปผล และการสัมมนาครั้งสุดท้ายในส่วนของภาคกลางที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิตต์ ในวันที่ 18 ตุลาคม 2538 นี้

ก่อนหน้านี้ โครงการนี้เริ่มมีมาตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2537 เริ่มสัมมนาในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลการศึกษาจากทุกระดับในทุกภูมิภาคว่าเป็นอย่างไร โดยคณะศึกษาตั้งเป้าหมายในสิ่งที่ต้องการไว้ 3 ประการ คือการศึกษาที่ปรารถนาและเหมาะสม 2. ในการปฏิบัติมีเงื่อนไขแนวทางและมาตรการอย่างไร และ 3. โครงการหรือกิจกรรมที่เริ่มใน 1 ปีข้างหน้า เป็นอย่างไร ทั้งในส่วนภูมิภาคปฏิบัติได้เอง และในส่วนที่จะร่วมมือกับภาครัฐ

" การจะหาความพอดีระหว่างความร่วมมือทางการศึกษาเพื่อพัฒนาตนเองและการแข่งขัน ให้ก้าวทันโลก สำหรับสังคมไทย ไม่ใช่เรื่องลำบาก เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่ค่อนข้างอะลุ่มอล่วย มีการเริ่มต้นการเรียนรู้ อานออกเขียนได้ คิดเลขเป็น ทำเลขเป็น เมื่อถึงขั้นหนึ่งก็เรียนรู้ภาษาและงานต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็มีการเรียนรู้งานเรื่องท้องถิ่นด้วย " ดร. สิปนนท์ กล่าวพร้อมยกตัวอย่างให้ฟังถึงการหาความพอดีในการศึกษาที่เหมาะสมโดยยกตัวอย่างสถาบันราชฏัฏว่า

สภาบันราชภัฏ เป็นแหล่งที่ผลิตและอบรมครูเพื่อไปผลิตเด็ก ที่มีคุณภาพ นอกจากจะมีวิชาที่สอนให้รู้เรื่องโลกภายนอกแล้ว ก็ต้องเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อถ่ายทอดและอนุรักษ์ไว้ เป็นการเรียนที่ผสมผสานให้ครูมีความรู้และมีความภูมิใจ ชาวบ้านใกล้เคียงมีกิจกรรมที่พึงตนเองได้ การเรียนรู้ของสถาบันราชภัฎ ถ้าได้เชื่อมกับโรงเรียนการสอนก้าวหน้าไปอีกมาก เรียกว่าได้เรียนรู้ทั้งการรู้ตัวเอง ท้องถิ่น และโลกภายนอก แต่การพัฒนาก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนเริ่มพึ่งตนเอง เกิดความภูมิใจ มีศักดิ์ศรี

สำหรับการสัมมนาของคณะศึกษาฯ ในหัวข้อ " การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัฒน์ สู่ความก้าวหน้าและความมั่นคงของชาติในศตวรรษหน้า" ครั้งแรกมีที่ภาคตะวันออกเฉพียงเหนือ จ.ขอนแก่น ในเดือนมีนาคม ภาคเหนือที่ จ. ลำปาง และภาคใต้ ที่จ. สงขลา เมื่อเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา

ในการสัมมนาครั้งสุดท้าย คณะศึกษาจะได้ผลซึ่งคาดว่า จะประมวลได้เสร็จสิ้นประมาณ ปลายปี 2538 ต้นปี 2539 อันเป็นผลจะแสดงว่าแนวทางการศึกษาของสังคมไทยควรจะเป็นเช่นไร โดยจะมีการตรวจสอบจากผู้เสนออีกครั้งว่าใช่แผนวานที่เคยเสนอมาหรือไม่ จะแก้ไขตรงไหน แต่ถ้าผู้เสนอเพิกเฉย ก็แสดงว่า เปล่าประโยชน์ที่จะปลูกจิตสำนึกซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานนี้

เมื่อได้ผลประมวลทั้งหมด คณะศึกษาโดยดร.สิปนนท์ จะเป็นผู้นำผลงานนี้เสนอไปยังหน่วยงานรัฐ ในรูปของรายงานที่ระบุชัดเจนถึงหน้าที่ของรัฐ ประชาชน และพ่อแม่ ในเรื่องการศึกษา และเชื่อว่าเมื่อเสนอผลลานนี้ไปแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงหรือเปลี่ยนผู้มีอำนาจคุมกระทรวงหรือทบวงอย่างไร ทุกคนจะยอมรับ และปฏิบัติตามสิ่งที่เสนอ เพราะเป็นแผนจากคนส่วนมาก และมาจากทุกระดับทุกภาค ซึ่งต่างจากแผนการศึกษาเดิม ๆ ที่เสนอโดยกลุ่มนักวิชาการและจะกลายเป็นแผนที่ใช้ได้ยั่งยืนต่อไป

ความสมหวังของดร.สิปนนท์ ในด้านการศึกษา คงไม่ได้จบลงที่ผลงานชิ่นนี้ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาแห่งชาติเท่านั้น หากแต่จะจบลงด้วยการได้เห็นดอกไม้ทุกดอกเบ่งบานได้ทัดเทียมกัน นั่นก็คือ การที่ทุกคนสามารถพึ่งตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นได้ รวมถึงการรู้จักตัวเอง วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.