รักษ์ สักทอง สมบัติที่เหลืออยู่ พงศกร ญานเบญจวงศ์

โดย ปิยาณี รุ่งรัตน์ธวัชชัย
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

เสียงปืนที่ดังขึ้นในคาราโอเกะ โรงแรมมณเฑียร นับเป็นบาดแผลสำคัญสำหรับ " พงศกร ญานเบญจวงศ์" ที่ทำให้เขาต้องหลบลี้หนีหายไปจากสังคม แต่ถึงกระนั้น วันนี้เขาก็ยังมีภารกิจรับผิดชอบโครงการที่เหลือโครงการสุดท้าย แต่อย่าถามว่าเขาจะกลับมาสู่วงการธุรกิจได้หรือไม่ เพราะบาดแผลนั้นสังคมยังไม่ลืม

ขับรถไปตามเส้นทางถนนเพชรเกษม ไปจนถึง จังหวัดเพชรบุรี แยกไปอำเภอหนองหญ้าปล้อง ขับรถไปอีกสักพักก็จะเห็นไร่ปลูกสักทองกว้างใหญ่ไพศาล

ณ ที่นี้ก็คือ โครงการที่ยังดำเนินการอยู่ของบริษัทปลาทองกะรัต หรือสมบัติที่เหลืออยู่ของพงศกร ญานเบญจวงศ์

เมื่อเอ่ยชื่อ พงศกร ญานเบญจวงศ์ หลายคนคงนึกได้ถึงหลายสิ่งหลายอย่างที่เขาได้เคยทำมาในวงการอสังหาริมทรัพย์ แต่ภายหลังจากเหตุการณ์ที่ทำให้เขาตกเป็นผู้ต้องหาบงการฆ่าสถาปนิกรายหนึ่ง เหตุ เพราะแย่งไมค์ร้องเพลงในคาราโอเกะ เมื่อคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2537 ชื่อของเขาหายไป พร้อมๆ กับคำถามที่ว่า เขาจะทำอย่างไรกับโครงการที่เหลืออยู่

เหตุการณ์เป็นไปตามคาดการณ์ งานเปิดตัวเพื่อปิดการขายให้ได้อีกครั้ง ของแฟลตปลาทองในวันที่ 5 มีนาคม 2537 ซึ่งพงศกร กำหนดไว้ก่อนวันเกิดเหตุยังคงมีขึ้นตามกำหนด แต่บรรยากาศเงียบเหงา กลุ่มผู้สนใจส่วนมาก จากจำนวน 25 คน เป็นนักข่าวที่มาสังเกตการณ์มากกว่าครึ่ง และที่ร้ายก็คือลูกค้าเก่ามาหาลูกค้าแข่งกับโครงการในงานด้วย

ต่อมาพงศกรก็ประกาศขายทรัพย์สิน และโครงการที่มีในครอบครองออกมาเป็นรายการยาวเหยียดรวมทั้งโครงการแฟลตปลาทองที่ขายให้กับซัมมิทแลนด์ ของโกศล จึงรุ่งเรืองกิจ

วันนี้ของพงศกร ยังคงปฏิบัติภารกิจในฐานะเจ้าของบริษัทปลาทองกะรัต จำกัด กับโครงการที่เหลือการดำเนินงานอยู่เพียงชิ้นเดียว คือโครงการรักษ์สักทอง สวนสักจัดสรรที่อำเภอ หนองหญ้าปล้อง จ. เพชรบุรี จำนวนกว่า 1,400 ไร่

ที่ดินแปลงนี้ พงศกรได้มาจาการแนะนำของเพื่อพันเอก พล เริงประเสริฐวิทย์ ซึ่งซื้อไว้ติดกัน ในราคาไม่กี่พันบาท และเข้าครอบครองตั้งแต่เอกสารสิทธิ์ยังเป็นเพียงใบภาษีที่ดิน ตั้งแต่เมือกว่า 10 ปี ที่แล้ว ก่อนที่พงศกรจะเข้ามามีชื่อเสียงในวงการอสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งมีการประกาศเขตป่าสงวน จึงได้มีการกั้นพื้นที่ที่มีคนครอบครองอยู่ก่อน แล้วออกเป็น น.ส.3 ก ออกมา รวมถึงที่ดินผืนนี้จำนวนกว่า 1,400 ไร่ของพงศกรด้วย

ที่ดินผืนนี้นับได้ว่ามีโอกาสได้ช่วยชีวิตพงศกรในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาหลายครั้ง ด้วยการนำไปจำนองกับธนาคาร เพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนในการบริหารโครงการต่าง ๆ และจนถึงวันนี้ รายได้หลักที่มีอยู่ของบริษัทปลาทองกะรัต ก็มาจากเงินผ่อนของโครงการรักษ์สักทองเพียงแห่งเดียว โดยไม่นับรวมรายได้จากการขายโครงการแฟลตปลาทอง ปลาทอง

สแปนิชเพลส ที่พัทยา หรือการขายที่ดินดิบอื่น ๆ กว่า10รายการ

ก่อนหน้านี้ พงศกร เองเคยมีความคิดที่จะใช้ที่ดินผืนนี้เป็นสนามกอล์ฟ แต่โอกาสกลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยในทันใดจากที่เคยเป็นธุรกิจที่เฟื่องฟูมากภายหลังเกิดเหตุการณ์ รสช. ที่ทำให้ธุรกิจที่กำลังเติบโตทุกอย่างหยุดชะงักเมื่อ 2533 แต่แล้วพงศกร ก็สบช่องโอกาส เมื่อมีการปรับปรุงพระราชบัญญัติสวนป่าเมื่อ 1 มีนาคม 2535 ให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกและเป็นเจ้าของต้นสักได้

พงศกรจึงได้เริ่มศึกษาที่จะนำที่ดินแปลงนี้มาจัดสรรขายด้วยการปลูกสักเพื่อเสริมรายได้ให้กับบริษัท เช่นเดียวกับผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ อีกหลายรายที่รื้อที่ดินที่ว่างมาปัดฝุ่นหารายได้ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่รู้ว่าจะเอาที่ดินที่มีอยู่นี้ไปทำอะไรขายได้

" คุณพงศกร พอมีความคิดที่จะทำโครงการสวนสักทอง แกก็ยอมรับว่าตัวแกเองไม่ได้มีความรู้ทางด้านนี้เลย จึงพยายามหาคนที่รู้ทาง แล้วก็เที่ยวถามคนในกรมป่าไม้ว่า พอมีใครที่มีความรู้ในด้านนี้บ้าง คนในกรมป่าไม้ก็เลยแนะนำมาที่ผม" ดร.ธงชัย เวชสัสถ์ นักวิชาการประจำกรมป่าไม้ เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ได้มาเป็นผู้ดูแลต้นสักในโครงการรักษ์สีทอง

ก่อนจะมีการตกลงเพื่อรับนักวิชาการผู้ดูแลประจำโครงการ ดร.ธงชัย เล่าว่า เริ่มกันตั้งแต่ไปตรวจสุขภาพพื้นที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ เพราะจังหวัดเพชรบุรีไม่ใช่พื้นที่ที่เป็นต้นกำเนิดของต้นสักมาก่อน แต่จาการตรวจสภาพดินพบว่าเหมาะสม เพราะมีความลาดชันของพื้นที่ มีหน้าดินที่มีความหนาพอเหมาะ และแม้จะอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี แต่ก็เป็นเขตที่อยู่ห่างจากทะเล จึงได้ตกลงรับเป็นผู้ดูแลร่วมกับอาจารย์อวบ สารถ้อย นักกีฏวิทยา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่จะมาดูแลเรื่องแมลงโดยเฉพาะอีกคนหนึ่ง

โครงการรักษ์สักทอง เปิดตัวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2536 อย่างครึกครื้นที่ อาคารปลาทองกะรัต ท่ามกลางสักท่อนโต ที่ตัดมาเป็นตัวอย่างให้ลูกค้าชม พร้อมกับยอดขายที่พุ่งไปแล้วกว่ า 50% ในคืนวันเปิดตัว จากจำนวนทั้งหมด 700 กว่าแปลง ๆ ละ 2 ไร่ ราคาเริ่มต้น ที่ 3.4-3.8 แสนต่อแปลง และเริ่มดำเนินงานปลูกสักแปลงแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537

ภายใน 2 สัปดาห์ โครงการรักษ์สักทองก็มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 70% ซึ่งถือว่า อยู่ตัวแล้วกับการดำเนินงาน แต่ในส่วนของลูกค้าที่ซื้อกับไม่นอนใจเมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้ภาพพจน์ของผู้ดำเนินงานเสียไป

ตอนที่เกิดเหตุการณ์มีลูกค้าหลายรายกลัวโครงการล้ม ถึงกับหยุดผ่อนก็มี แต่เราก็ยังทำงานของเราต่อไปไม่หยุด จนลูกค้ามาพิสูจน์และเห็นด้วยตาว่า เรายังคงทำงานจริง จึงได้ผ่อนต่อ โดยไม่ได้พูดอะไร เพราะเขาเห็นในสิ่งที่เราทำ โดยส่วนตัวผมเอง ก็ต้องรักษาชื่อเสียงของตัวเองด้วย และผมเชื่อว่าเจ้าของโครงการก็ต้องทำเพราะให้สัญญากับลูกค้าได้อย่างไร ก็ควรต้องทำตามนั้น" ดร. ธงชัย เล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระว่างที่พงศกรต้องคดี ซึ่งโดยส่วนตัวดร. ธงชัย ก็กล่าวว่า ไม่ได้เชื่อในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะไม่คิดว่าใครจะโง่ถึงขนาดสั่งฆ่าคนกันต่อหน้า

อีกสิ่งหนึ่งที่ดร.ธงชัย ย้ำอยู่เสมอ คือ ต้นสักเจริญเติบโตได้แน่นอนหากมีพื้นที่และการดูแลจัดการที่เหมาะสม เรื่องแมลงที่ปรากฏและเป็นห่วงกันก็เป็นเพียงหนอน ผีเสื้อ ซึ่งจะมาเป็นฤดู แมลงเหล่านี้จะกัดกินเฉพาะใบเท่านั้น เมื่อหมดฤดูก็จะไปกันหมด สาเหตุที่ต้นสักล้ม เนื่องจากลมพัดซึ่งมีจำนวนน้อย การเริ่มต้นที่สำคัญคือ การไถแปลงก่อนปลูกสัก จะต้องยกร่องในสวนที่จะลงต้นสักให้สูง ผิดกับการปลูกพืชไร่ทั่วไป เพราะต้นสักไม่ต้องการน้ำท่วมขัง และเพื่อให้มีการระบายน้ำที่ดี

ส่วนต้นสักที่ปลูก ดร.ธงชัย กล่าวว่า แน่นอนไม่ใช่ว่าทุกต้นจะสมบูรณ์ มีบางต้นจะถูกกำจัดออก ซึ่งมีด้วยกันหลายสาเหตุ ได้แก่ สักที่มีการแบ่งลำต้นมากเกินไปและมองไม่เห็นลำต้นที่จะให้เนื้อไม้หลักที่สวยงาม ต้นล้ม แห้งตาย เพราะชนฤดูแล้ง

อย่างไรก็ดี การซ่อมต้นสักที่ลำต้นไม่สวย ต้นล้มจะมีการซ่อมแซมพร้อมกันในขั้นต่อไป เมื่อไถพื้นที่ที่เหลืออยู่อีกประมาณ 400 ไร่ หมดแล้วและปลูกสักครบทุกแปลง ซึ่งพื้นที่ของโครงการรักษ์สักทองจำนวน 1,400 ไร่ จะถูกตัดพื้นที่ทำถนนเพื่อแปลงจำนวน 100 ไร่ต้นสักที่อยู่ในบริเวณถนนก็จะถูกย้ายมาปลูกซ่อมแทนต้นในแปลงที่เสียหายไป จะทำให้ได้ต้นสักที่มีอายุเท่าเทยมกันมากมในแต่ละแปลง

เรียกได้ว่า ปัจจุบันงานหลักที่พงศกรทำ ก็คือ ให้ความสำคัญกับโครงการที่เหลืออยู่เป็นอย่างมาก จากเดิม ที่ปล่อยให้ผู้เกี่ยวข้องดูแล ก็เริ่มหันมาดูแลด้วยตัวเองบ้างหลังจากพ้นคดีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2537 ด้วยการดินทางไปตรวจดูโครงการเดือนละ 1-2 ครั้ง พร้อมกับคอยติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับโครงการสวนสักทองที่เกิดขึ้นในตลาด

"ตอนมีข่าวเกี่ยวกับวิกฤตเกี่ยวกับสวนสักทอง ที่มีปัญหาทั้งเรื่องของผลจากการปลูกสักที่ไม่ได้เนื้อไม้ตามที่หวัง เพราะผิดพลาดจากการปลูก และการประกันราคา คุณพงศกรก็เรียกผมไปแล้วชี้ข่าวให้ดูกลัวว่าการปลูกต้นสักของเราจะมีปัญหาเหมือนที่เป็นข่าว แต่ผมก็ยืนยันว่าเรามีการดูแลที่ถูกต้อง ในขณะที่ โครงการที่มีปัญหาเท่าที่ผมดูเกิดจากการดุแลที่ไม่ถูกวิธี เพราะคนดำเนินงานไม่เข้าใจธรรมชาติของต้นสัก เช่น การใช้ระบบน้ำหยดและการดูแลต้นสัก ที่ดีเกินไป ทำให้ผิดธรรมชาติของสัก เนื้อไม้อาจเปื่อยยุ่ย ทำให้ต้นสักล้ม ซึ่งในความเป็นจริงควรมีช่วงเวลาที่ปล่อยให้สักโตตามธรรมชาติ เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับสัก เหมือนมนุษย์ที่ต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกัน" ดร. ธงชัย เล่าความวิตกของพงศกร และสาเหตุของความล้มเหลวของโครงการสวนสักทองที่เกิดขึ้นบางส่วน

ปัญหาที่พงศกรเป็นกังวล กลับไม่ใช่ปัญหาทีนักวิชาการอย่าง ดร. ธงชัย เป็นห่วง แต่ในทางกลับกัน สิ่งที่ดร.ธงชัย เป็นห่วงและมีความวิตก ก็คือ ราคาประกันต้นสักระยะแรกในช่วงอายุ 6-8 ปี ในราคาต้นละ 1,800 บาท เป็นราคาที่สูงเกินความเป็นจริงอยู่มาก

"ผมเคยติงไปแล้วว่า เราจะมีปัญหาสำหรับต้นสักระยะแรกที่ตั้งราคาสูงเกินไป แต่คุณพงศกรเขามั่นใจว่า ถ้ามีต้นสักจริง เขาก็ทำได้ ผมไม่รู้ว่าเขามีวิธีทางการตลาดอย่างไร เพราะผมไม่รู้เรื่อง ที่ดีที่สุดก็คือผมทำงานในสิ่งที่ผมถนัดและรับผิดชอบให้ดีที่สุด และก็หวังว่าเมื่อถึงเวลาคุณพงศกรคงมีวิธีแก้ปัญหาในสิ่งที่เขาให้สัญญากับลูกค้าไว้ได้" ดร. ธงชัย กล่าว

นั่นคือ ภารกิจที่ยังท้าทายอยู่สำหรับตัวพงศกร โดยเฉพาะคำมั่นสัญญาที่เขาให้ลูกค้าและผู้ลงทุนทั้งหลาย

น่าเสียดายที่ " ผู้จัดการ" ไม่มีโอกาสพบตัวพงศกรโดยตรง เพราะพงศกรเองก็ยังไม่ต้องการพบปะผู้คน อีกทั้งต้องการเวลาเพื่อเยียวยาบาดแผลแห่งความผิดพลาดที่ยังคงอยู่

แต่ " รักษ์สักทอง" ยังต้องเดินหน้าต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.