โสภณพนิช ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เกิดมาใหญ่แต่โตยาก

โดย อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2538)



กลับสู่หน้าหลัก

ตระกูลโสภณพนิช มีความช่ำชองเป็นพิเศษในธุรกิจการค้าเงินตราแต่การวางแผนรุก ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเวลาที่ผ่านมานับ 10 ปี ดูเหมือนว่าจะก้าวไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้า มา ณวันนี้ เมื่อมีบริษัทพัฒนาที่ดินในตลาดหลักทรัพย์หลายราย มีสภาพเหมือนคนอ่อนแอ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ที่เข้มแข็งกว่า โอกาสที่จะเข้าไปเป็นยักษ์ใหญ่ของพวกเขาดูง่ายขึ้น

แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ภาระนี้เป็นของบ " ชาลี โสภณพนิช" ซึ่งไม่ง่ายนักที่จะตอบ

สภาพของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย ตอนนี้เป็นช่วงที่เปรียบเสมือนปลาใหญ่กำลังอ้าปากรอฮุบปลาเล็กบริษัทขนาดเล็ก และกลางหลายรายทั้งในและนอกตลาดหลักทรัพย์ ที่มีสภาพอ่อนแอกำลังเสนอตัวเร่ขายให้นักล่าอาณานิคมข้ามชาติ รวมทั้งบริษัทที่มีสายป่านทางการเงินยาวไกลในประเทศด้วย

บริษัทพัฒนาที่ดินของกลุ่มตระกูลโสภณพนิช อาจจะฉวยจังหวะนี้เข้าเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ด้วยวิธีการเข้าไปเทกโอเวอร์บางบริษัทในตลาด เพื่อโอกาสที่จะก้าวไปผงาดเป็นบริษัทแถวหน้า ทางด้านพัฒนาที่ดินจะได้ง่ายขึ้น

ถึงแม้ว่าในยุคของนายห้างชิน กลุ่มโสภณพนิช จะไม่สนใจธุรกิจทางด้านที่ดินเลย นัยว่า เพราะไม่อยากทำธุรกิจแข่งกับลูกค้า ธุรกิจที่ชินถนัดคือการค้าเงินเพียงอย่างเดียว การมีเงินสดไว้ในมือให้มากที่สุด คือสิ่งที่เขาต้องการ

เมื่อมาถึงยุคสมัยของชาตรี การสร้างอาราจักรแห่งอำนาจของคนกลุ่มนี้ ถึงบทรุกรุนแรงขึ้น ธุรกิจค้าเงินอย่างเดียวไม่เพียงพอเสียแล้ว ชาตรีเริ่มขยายแขนขาไปยังธุรกิจที่ดิน มันเป็นเรื่องจำเป็นในการสร้างฐานของตระกูลโสภณพนิช ให้แข็งแกร่งเพิ่มขึ้น

ภาพของการลงมาจับธุรกิจทางด้านที่ดินของชาตรี ชัดเจนขึ้นเมื่อเขาได้ตั้งบริษัทซิตี้เรียลตี้ ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้าน เมื่อเดือนมีนาคม 2530 เขาให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยในทศวรรษ2530-2540 จะขยายตัวในอัตราสูงและรายได้ประชากร โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ จะเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดความต้องการด้านพื้นที่อาคารทุกแระเภทเพิ่มขึ้น ซิตี้เรียลตี้ จะเป็นบริษัทที่จะรองรับการขยายตัวของกิจการด้านต่าง ๆ ทั้งสำนักงาน ศุนย์การค้า โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนความต้องการทางด้านที่อยู่อาศัยที่จะเพิ่มขึ้นตามรายได้และจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ชาตรีตั้งใจที่จะให้ซิตี้เรียลตี้ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านที่ดิน ของครอบครัวดังนั้นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของบริษัท ก็คือตระกูลโสภณพนิช ถึง 68.2 % ซึ่งเป็นของชาตรีส่วนตัว 19.7 % เป็นของบริษัทชาตรีโสภณ 17.2 % ส่วนลูกชาย และลูกสาว อีก 4 คน คือชาติศิริ ชาลี โสภณพนิช สาวิตรี รมยะรูป และสุชาดา ลีสวัสดิ์ มีหุ้นอยู่ในบริษัทนี้อีกประมาณ คนละ1.7 %

ธนาคารกรุงเทพเองจะถือหุ้นของบริษัทนี้อยุ่ด้วยประมาณ 8 %ส่วนหุ้นที่เหลือจะเป็นของ มิตซุยกรุ๊ป และกลุ่มยางสยาม บริษัทสินเซียและบริษัทเอเชียเสริมกิจ

แน่นอนชาตรีเป็นผู้หาที่ดินเตรียมเอาไว้เพื่อให้ซิตี้เรียลตี้พัฒนา พันธมิตรในวงการพัฒนาที่ดินของชาตรีมีหลายกลุ่ม เช่น โยธิน บุญดีเจริญ จากยูนิเวสท์แลนด์ กลุ่มกาญจนพาสน์ ที่ชาตรีมีหุ้นอยู่ในโครงการบางกอกแลนด์ด้วย กลุ่มของดิลก มหาดำรงกุล คนเหล่านี้เป็นทั้งเพื่อนและลูกค้าของเขา การชักชวนหรือร่วมทุนกันซื้อที่ดินไม่ใช้เรื่องยาก

ในช่วงระยะแรก ๆ ของการทำธุรกิจทางด้านที่ดินที่ผ่านมา ดูราวกับว่าชาตรี จะสนใจเพียงแค่เล็กน้อย ไม่จริงจังอะไรนัก

แต่ถ้าดูถึงจำนวนที่ดิน ทำเลที่ตั้งและราคาที่ดินแต่ละแปลงจะเห็นได้ชัดเจนว่าไม่ใช่สิ่งที่ชาตรีเป็นเรื่องเล่น ๆ เสียแล้ว เขาน่าจะมีแผนการที่ลุ่มลึกกว่านั้น

ในเดือนกันยายน 2530 ชาตรีได้ส่งสุนทร อรุณานนท์ชัย มือขวาทาวด้านที่ดินคนหนึ่งในสมัยนั้น ไปขอซื้อที่ดินแปลงหนึ่งจาก วีรวัฒน์ ชลวนิช บริเวณซอยสุขุมวิท 24 โดยตกลงซื้อขายกันเรียบร้อยในราคา 212 ล้านบาท จำนวน 6 ไร่ เป็นทีดินซึ่งให้ทางบริษัทซิตี้เรียลตี้ ทำเป็นโครงการสุขุมวิททาวเวอร์ ในปัจจุบัน

หลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ส่งคนไปประมูลซื้อที่ดินแปลงประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ของตระกูลศรีวิกรมม์ จำนวน 28 ไร่ ที่ถูกกรมบังคับคดีนำมาขายทอดตลาดในมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ทุกวันนี้ที่ดินแปลงนี้มีชื่อของบริษัท ไทยโกลเด้นท์เรียลตี้ เป็น เจ้าของ ผู้ถือหุ้นก็คือตระกูลโสภณพนิช และธนาคารกรุงเทพ อีกเช่นกัน

นอกจากนั้นยังได้เข้าไปร่วมทุน กับกลุ่มฮอลิเดย์และดิลก มหาดำรงค์กุล ฮร์เบอร์วิว เพื่อตั้งบริษัทฮาร์เบอร์วิว เพื่อจะทำโครงการกรีนพาร์คบนที่ดินจำนวน 16 ไร่บนถนนวิทยุ ปัจจุบันที่ดินแปลงนี้ถูกทิ้งร้าง กลายเป็นที่เช่าให้จอดรถของบริษัทในย่านนั้นแทน

รวมทั้งที่ดินในอำเภอโป่งน้ำร้อนจังหวัดจันทบุรี ที่กำลังพัฒนาเป็นสวนเกษตรและสนามกอล์ฟขนาดใหญ่มีพื้นที่ 3,000 ไร่ ในนามของบริษัทบ้านสวนจันทบุรี

และยังมีที่ดินบนถนนสาทร ยานนาวา ในภูเก็ตพัทยา และอื่น ๆ อีกมาก ที่คงต้องใช้เวลาในการสืบเสาะค้นหา เพราะชาตรีมักจะใช้ชื่อบริษัทใหม่ ๆ เข้าไปซื้อ

ชาตรี ได้มอบหมายให้ชาลี บุตรชาย คนที่ 3 ดูแลรับผิดชอบบริษัทซิตี้เรียลตี้ ชาลีจบการศึกษาทางด้านเอ็มบีเอ ไฟแนนซ์ และวิศวะมาจากสหรัฐอเมริกา กลับมาเมืองไทยเมื่อปี 2529เริ่มทำงานครั้งแรกที่บริษัทเอเชียเสริมกิจ เขาให้เหตุผลที่ไม่ทำงานในธนาคารกรุงเทพว่า เขาไม่ชอบลักษณะขององค์กรที่ใหญ่โตและไม่ชอบงานแบงก์ ไม่ชอบระบบปล่อยกู้หรือเป็นเจ้าหนี้

งานทางด้านพัฒนาที่ดินโครงการแรกที่ถูกมอบคือการทำโครง
การรอยัลคลิฟ คอนดโดมีเนียม จำนวน 3 ตึก ประมาณ 200 ยูนิต บนหาดพัทยา และเป็นโครงการในยุคแรก ๆ ของคอนโดตากอากาศริมทะเล เมื่อสมัยนั้น สร้างเสร็จเมื่อประมาณ ปี 2534

ว่ากันว่า ดครงการนี้ แม้ชาตรีพยายามใช้คอนเน็กชั่นทุกส่วนที่เขามีอยู่เพื่อช่วยหาลูกค้าให้กับลูกชาย แต่ก็ไม่ได้สามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็วนัก อาจจะเป็นเพราะผลของสงครามอ่าวเปอร์เซีย และในช่วงเวลานั้นมีอาชีพทางด้านพัฒนาที่ดินก็ได้แห่ไปสร้างโครงการคอนโดตากอากาศริมทะเลกันหลายโครงการก็เป็นได้ แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาที่ดินรายหนึ่งวิเคราะห์ให้ " ผู้จัดการ" ฟัง

จากโครงการคอนโดตากอากาศริมทะเล ซิตี้เรียลตี้ เริ่มเข้ามายึดหัวหาด ในย่านธุรกิจในกรุงเทพฯ เริ่มจาก เอเชียเสริมกิจทาวเวอร์ และสาทรซิตี้ทาวเวอร์ ซึ่งสร้างเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว

โครงการสาทรซิตี้ทาวเวอร์ เป็นออฟฟิคสำนักงานสูง 31 ชั้น บนถนนสาทร เป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จทางด้านการขายมากที่สุด มีพื้นที่ของโครงการถึง 103,000 ตารางเมตร และมีพื้นที่ขายสุทธิถึง 55,000 ตารางเมตร แต่ก็สามารถปิดการขายเรียบร้อยนานแล้ว ทั้ง ๆ ที่ตลาดออฟฟิคกำลังอยู่ในช่วงโอเวอร์ซัพพลาย และอาคารสำนักงานบนถนนสาทรยังมีพื้นที่ว่างอีกมาก

คงไม่ใช่เป็นเรื่องแปลกนัก ถ้าการปิดการขายครั้งนี้ก็เป็นการใช้คอนเน็กชันอีกครั้งของชาตรี ที่จะดึงเอาบริษัทในเครือของแบงก์กรุงเทพ รวมทั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทมิตซุย และมิตซุย กรุ๊ปมาเช่าพื้นที่ในโครงการ

สาทรซิตี้ทาวเวอร์ เป็นตัวโครงการที่กำลังทำรายได้ให้กับบริษัทซิตีเรียลตี้ ในขณะนี้มากที่สุด จากจำนวนพื้นที่ทั้งหมด 55,000 ตารางเมตร ค่าเช่าโดยเฉลี่ย 550 บาทต่อตารางเมตร ก็จะได้ค่าเช่าประมาณ 30 ล้านบาท และค่าเช่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นตามภาวะตลาด เมื่อครบสัญญาในปีที่ 3 ในขณะที่มูลค่าการโครงสร้างนี้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ไม่เกิน 6 ปี โครงการนี้ก็คืนทุนหลังจากนั้น ซิตี้เรียลตี้ก็จะรับแต่กำไรของโครงการนี้เหนาะ ๆ ขณะนี้ในตึกนี้มีบริษัททั้งหมดที่มาเปิดทำการประมาณ 40 บริษัท มีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ4,000 คน

ถ้าย้อนกลับไปดูรายชื่อผู้ถือหุ้นบริษัทก็เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการผ่องถ่ายเงินเข้ากระเป๋าของตระกูลโสภณ นั่นเอง

จากปี 2536 ถึงปัจจุบันบริษัทพัฒนาที่ดินหลายรายเริ่มชะลอตัวในการทำธุรกิจเพราะภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เป็นใจ ในขณะเดียวกัน ก็มีการแข่งขันกันสูงมาก บริษัทซิตี้เรียลตี้ กลับประกาศตัวเดินหน้าต่อไป

ชาลีมีโครงการที่กำลังก่อสร้างในขณะที่พร้อม ๆ กัน อีก 5 โครงการ คือ 1. โครงการสุขุมวิททาวเวอร์ 2. บางกอกการ์เด้นท์ 3. รอยัลเลคอเวนิว 4. รอยัลซิตี้อเวนิว และ 5. โครงการบางกอกซิตี้ทาวเวอร์

5 โครงการนี้ใช้เม็ดเงินหว่านถมลงไปในการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท แต่ ณ วันนี้ดูราวกับว่าแต่ละโครงการของเขาลู่ทางข้างหน้าคงไม่แจ่มใสนัก

โดยเฉพาะโครงการสุขุมวิททาวเวอร์ นั้น ได้สร้างคำถามขึ้นมาในวงการพัฒนาที่ดินมากมาย ว่า ซิตี้เรียลตี้ จะนำที่ดินแปลงนี้มาพัฒนาจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงการปั่นราคาที่ดินและขายออกไปเท่านั้น สาเหตุเป็นเพราะโครงการนี้เปิดตัวตั้งแต่ปี 2533 แต่เริ่มงานก่อสร้างช้ามากในขณะที่ ผู้บริหารของบริษัทจะอ้างว่าเป็นเพราะรอแบบและเกิดจากากรก่อสร้างชั้นใต้ดินซึ่งต้องทำที่จอดรถถึง 1,800 คัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ชั้นใต้ดินสร้างเสร็จแล้วกำลังก่อสร้างในส่วนโพเดียมสูง 6 ชั้น คาดว่าจะเปิดส่วนนี้ได้ในปลายปีหน้า หลังจากนั้น หากไม่มีอะไรผิดพลาดอีก ประมาณ 1 ปี ก็จะเปิดในส่วนของออฟฟิค และโรงแรมได้เสร็จทั้งหมดประมาณ ปี 2541

ในส่วนของชอปปิ้งมอล์ ซึ่งมีการเซ้ง 25 ปี มีพื้นที่ประมาณ 2.3 แสนตารางเมตร นั้นมีพื้นที่ประมาณ2.3 แสนตารางเมตร ทางซิตี้เรียลตี้ วาดความหวังว่าโครงการนี้จะทำรายได้ให้กับบริษัทมหาศาล แต่นั้นก็หมายถึงว่าคงต้องรอเวลากันต่อไป

ในขณะที่สุขุมวิททาวเวอร์ กำลังเร่งการก่อสร้าง ชาลีก็ใจกล้าที่จะตัดสินใจเข้าไปปรับแผนฟื้นชีพดครงการ " รอยยัลซิตี้อเวนิว" ของกลุ่มชาญ อิสสระ ซึ่งอยู่บนเนื้อที่ 86 ไร่ เช่าที่ดินมาจากการรถไฟมรแนวความคิดที่จะสร้าง เป็นศูนย์การค้าที่ยางที่สุดในเมืองไทย เราะสร้างเชื่อมขึ้นมาระหว่างถนนพระราม9 และถนนเพชรบุรีตัดใหม่

โครงการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2532 แต่มีปัญหาในการทำงานมาโดยตลอดแม้เวลา ลุล่วงมาถึงปี 2537 ก็ยังมีหลายส่วนที่ไมได้เริ่มงานก่อสร้าง แม้หลายส่วนจะเปิดให้บริการแล้ว แต่ก็เกือบจะเป็นโครงการร้างในปัจจุบัน

เมื่อบริษัทซิตี้เรียลตี้ เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่33% ชาลีจำเป็นต้องรับบทบาทใหญ่ ในการวาแผนฟื้นฟู รอยัล ซิตี้อเวนิว

ชาลี เตรียมโปรเจ็คเสริมขึ้นมาอีก 3 จุด เพื่อจะดึงคนสร้างความคึกคักให้กับโครงการ คือในส่วนของออฟฟิคสำนักงานสูง 7 ชั้น มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 30,000 ตารางเมตร 15,000 ตารางเมตร คือลูกค้าของบริษัทฯ กรุงเทพประกันชีวิต ซึ่งจะย้ายสำนักงานใหญ่เข้ามา บริษัทเอเชียซิเมนต์ และชั้นล่างก็จะมีบริษัทหลักทรัพย์เอเชียที่จะมาเปิดสาขาที่นี่ ซึ่งต้นปีหน้าคงจะเสร็จเรียบร้อย

ส่วนที่ 2 คือโรงหนังจำนวน 5 โรง ของสหมงคลพิล์ม เซ้นทรัลซุปเปอร์มาร์เก็ต โรงโบลิ่ง 46 เลน ส่วนที่ 3 คือโชว์รูม บีเอ็มดับบลิว 2 ส่วนหลังคาดไว้ว่าปลายปีหน้าเสร็จ

ชาลีหวังว่า เมื่อ3 ส่วนนี้เสร็จเรียบร้อย จะมีคนเข้ามาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 6 พันคน นั่นคือ ความหวัง และหลายคนกำลังเฝ้าดูชาลีพิสูจน์ฝีมือในเรื่องนี้

ซิตี้เรียลตี้ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่ตลาดของอาคารสำนักงานเสียแล้ว แต่ได้เริ่มบุกตลาดคอนโดที่อยู่อาศัยอีกด้วย โดยเมื่อประมาณกลางปี 2537 ได้เข้าไปซื้อโครงการ บางกอกการเด้นท์ ของบริษัทสยามนำโชค ( ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นบริษัทยูนิเวสน์ แลนด์ จำกัด ( มหาชน) มาพัฒนาตัวโครงการประกอบด้วยคอนโดมีเนียม 15 หลัง มีความสูง 10,16,18 ชั้น จำนวน 1,500 ยูนิต ในพื้นที่ 23 ไร่ บนถนนาธุประดิษฐ์ ราคายูนิตละ 2.5 ล้านบาท

ซิตี้เรียลตี้ ทำโครงการนี้ในนามบริษัท ซิตี้ เรซิเด้นท์ ถือหุ้น 50 % บริษัทเอเชียสริมกิจ 20%ท ธนาคารกรุงเทพ 8% และที่เหลือเป็นการถือหุ้นของบริษัทในเครือแบงก์กรุงเทพ

นอกจากนั้น ยังได้บุกตลาดต่างประเทศอีกด้วย โดยการไปทำโรงแรมรอยัลแลค ขนาด 300 ห้อง ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศ พม่า รวมทั้งปี 2538 มีแผนการที่จะทำออฟฟิคทาวเวอร์แห่งใหม่บนนสาทร คือ " บางกอกซิตี้ ทาวเวอร์" ในพื้นที่ ๆ ติดกับโครงการสารทรซิตี้ ซึ่งเป็นที่ตั้งของเรือนไทยในปัจจุบัน ตามแผนเรือนไทยหลังนี้และในส่วนที่เป็นออฟฟิคของบริษัทซิตี้เรียลตี้ ต้องถูกรื้อย้ายมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน

มองย้อนกลับมาที่ชาตรี ในขณะที่ ชาลี พยายามใช้ ซิตี้เรียลตี้ บุกทะลวงไปข้างหน้า ชาตรีได้คอยสร้างเสริมโปรเจ็คใหม่ ๆ เพื่อเอื้อในการทำธุรกิจยิ่งขึ้น เมื่อปีที่แล้ว ชาตรีได้ เอาบริษัทเล็ก ๆ บริษัทหนึ่ง ในเครือธนาคารกรุงเทพ คือสินบัวหลวงมาปรับปรุงโครงสร้างการทำงานใหม่ เพิ่มเงินทุนจดทะเบียนถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายศูนย์ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ พร้อมสำหรับการให้บริการกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการอย่างครบวงจรไม่ว่าจะเป็นการ ฝากขาย หรือซื้อ รับเป็นที่ปรึกษาในการวางแผนการขายและการตลาด จัดการโฆษณาและประชาสัมพันธ์โครงการ รับจัดโครงการอพาร์ตเม้นท์ให้เช่า และสำนักงานให้เช่า รวมทั้งการรับเป็นที่ปรึกษาในการจัดหาแหล่งเงินทุน เพื่อสนับสนุน และพัฒนาโครงการต่าง ๆ

และเมื่อต้นปี 2538 ก็ได้ตั้งบริษัทแอ๊ฟไพรซัล จำกัดขึ้น ซึ่งธุรกิจหลักของบริษัทตี้จะมุ่งไปในเรื่องของวงการประเมินราคาที่ดิน อาคารสูง เครื่องจักร ตลอดจนโครงการก่อสร้าง หรือการประเมินราคาทรัพย์สิน

จากข้อมูลเมื่อประมาณต้นเดือนมิถุนายน จะพบว่า ผู้ถือหุ้น 5 อันดับแรก ของบริษัทชาตรีโสภณ จำกัด 25,350,000 บริษัทพี. แคปปิตอล ธนาคารกรุงเทพ บงล.สินเอเซีย และบงล. ร่วมเสริมกิจ บริษัทละ 10 ล้านหุ้นบริษัทชาตรีโสภณ ที่ถูกส่งไปถือหุ้นในเครืออยู่เสมอ ๆ นั้นจะเป็นของชาตรี 20 % ที่เหลือก็จะเป็นของโสภณพนิช คนอื่น ๆ เช่น สุมณี ชาติศิริ สาวิตรี ชาลี สุชาดา ระบิล และโชติ

ปัจจุบัน ซิตี้เรียลตี้ เพิ่มทุนจดทะเบียน เป็น 750 ล้านบาท ผลจากการบุกงานอย่างต่อเนื่อง ของซิตี้เรียลตี้ ในช่วงหลังนี้ ถูกตั้งเป็นคำถามว่าโอกาสที่โสภณพนิช จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในงานพัฒนาที่ดินของเมืองไทยนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่

ไม่มีปัญหาในเรื่องของแหล่งที่มาของเงินทุน ในเรื่องของที่ดิน ชาตรียังมีที่ดินแปลงใหญ่ในเมืองที่สามารถให้ชาลีเอาไปพัฒนาได้อีกหลายแปลงไม่ว่าที่ดินแปลงริมแม่น้ำ หรือบนถนนวิทยุ ที่มีมูลค่ามหาศาลในปัจจุบัน

"เห็นแหล้วน่าเสียดาย เพราะที่ดินแปลงนี้มีมูลค่ามหาศาล อยู่ในทะเลทอง ของกรุงเทพฯ แต่กลับมากางเต้นท์ให้รถเช่าเดือนละ 1,500 บาท ต่อคัน นี่ถ้าหากไม่ใช่ที่ดินของกลุ่มคุณชาตรี คงมีการประกาศขายไปนานแล้ว"

นักพัฒนาที่ดินรายหนึ่งกล่าวถึงที่ดินบนถนนวิทยุ

ปัญหาของชาลีน่าจะเกิดจาการบริหารและการจัดการมากว่า ประกอบกับสถานการณ์ทา งด้านเศรษฐกิจไม่เฟื่องฟูในช่วงที่ซิตี้เรียลตี้เพิ่งเกิด

ขณะนี้เขามีโครงการกำลังพัฒนาหลายโครงการ แต่ละโครงการยังต้องรอเวลาว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ๆ ว่าจะเป็น สุขุมวิทซิตี้ทางเวอร์ รอยัลซิตี้อเวนิว รอยัลเลค ในย่างกุ้ง รวมทั้งโครงการบางกอกการ์เด้นท์ที่เลื่อนการเปิดตัวโครงการมาแล้วถึง 2 ครั้ง 2 ครา ครั้งแรกเลื่อนจากวันที่ 18 พฤษภาคม 2538 ไปเป็นวันที่ 15 มิถุนายน 2538 และขณะนี้ก็ยังไม่ได้กำหนดวันเปิดตัวที่แน่นอน

" กลุ่มโสภณพนิช อาจจะถนัดในการทำธุรกิจทางด้านการค้าเงินที่มีใบอนุญาตจำกัด แต่การทำธุรกิจที่ดินนั้นเป็นการแข่งขันเสรี และปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูงมาด้วย โอกาสที่เขาจะก้าวมาเป็นหนึ่งในวงการนี้ยังเป็นเรื่องยาก" นี่คือภาพของตระกูลนี้ในสายตานักพัฒนาที่ดินด้วยกัน

ในซิตี้เรียลตี้ ชาลีมีขุนศึกซ้ายขวา ที่เปิดตัวกับสื่อมวลชน แทนตนเองอยู่ 2 คน คือมิสเตอร์ จิม แชง ดูแลทางด้านการตลาดแลพัฒนาธุรกิจ และวิวัฒน์ สุทธิพงษ์ชัย ดูแลทางด้านวางแผนและพัฒนาโครงการจิม แซง เป็นคนเก่าแก่ของชาตรี คนหนึ่งที่ทำธุรกิจทาง ด้านการพัฒนาที่ดินควบคู่มากับชาลี ตั้งแต่สมัยทำโครงการคอนโดตากอากาศที่พัทยา โครงการสอยดาวไอร์แลนด์ จันทบุรี

ส่วนวิวัฒน์ มาเริ่มงานกับกลุ่มนี้เมื่อประมาณ ปี 2532 ก่อนหน้านี้เขาผ่านงานโรงแรมมาแล้วหลายที่เช่นโรงแรมดุสิตธานี โรงแรมฮิลตัน ปาร์ค นายเลิศ

ในขณะที่ ความสามารถและประสบการณ์ของชาลี เองก็กำลังรอพิสูจน์ตัวเอง ชาลีในวันนี้หลายคนจะมีความเห็นว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่ค่อนข้างเก็บตัวเองเงียบ ๆ แต่นั่นอาจจะเป็นเพราะธุรกิจที่เขากำลังรับผิดชอบมีหลายโครงการ เขากำลังทำงานหนัก แม้จะพยายามเจียดเวลาเข้าไปสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์โดยเข้าไปเป็นกรรมการตั้งแต่ชุดที่แล้ววถึงปัจจุบัน แต่เขาไปประชุมด้วยน้อยครั้งมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้คนในวงการหลายคน ก็ยอมรับว่า หากได้พูดคุยกับชาลีก็จะพบว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีความรู้เรื่องเรียลเอสเตท ค่อนข้างดี มีแหล่งข้อมูลที่ค่อนข้างแน่นและลึก

ชาตรีคือพี่เลี้ยงที่ดีที่สุดของเขาในตอนนี้ จะเห็นได้จาการเปิดโครงการของบริษัทซิตี้เรียลตี้ แต่ละครั้ง ชาตรีจะมาร่วมงานด้วยเสมอ แม้แต่การตัดสินใจในบางเรื่องชาตรีก็ต้องชี้นำอย่างเช่นกำหนดวันเปิดตัวของดครงการบางกอกการ์เด้นท์ พนักงานของซิตี้เรียลตี้ เอง เล่าให้ฟังว่า คุณชาตรีเป็นผู้โทรศัพท์มาสั่งให้เลื่อนการเปิดตัวไปก่อนเพระาสานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้นไม่ดี

การเข้าตลาดหลักทรัพย์คือวิธีการหนึ่งที่ซิตี้เรียลตี้ ได้วางเป้าหมายไว้ ชาลีเคยให้สัมภาษณ์ว่าขณะนี้กำลังหาวิธีการที่จะเข้าไปซื้อหุ้นคืนจากบริษัทในเครือ3 บริษัทฮาร์เบอร์วิว ไทยโกลเด้นท์เรียลตี้ และบางกอกอพาร์ทเม้นท์ และหลังจากนั้น ก็จะยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทย

สำหรับข่าวนี้ทีมงานของบริษัทซิตี้เรียลตี้ กล่าวกับ " ผู้จัดการ" ว่าเป็นเพียงแนวความคิด แต่ขณะนี้ยังไม่ดำเนินการแต่อย่างใด เพราะขณะนี้ ขอบข่ายงานของซิตี้เอง ก็ยังมีอีกมากที่ต้องทำ

แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน วิธีการเรียนลัดโดยเข้าไปซื้อกิจการในตลาดหลักทรัพย์ นั้นเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับชาตรีผู้เป็นกุนซือใหญ่ และเมื่อนั้น ความตั้งใจของชินที่ว่า โสภณพนิช จะไม่ลงทุนทำธุรกิจแข่งขันกับลูกค้าก็คงต้องถุกลบทิ้งไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.