|
เผยผลสำรวจดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคปัจจัยการเมืองกดดัชนีไทยต่ำสุดรอบปี40
ผู้จัดการรายวัน(18 กรกฎาคม 2549)
กลับสู่หน้าหลัก
มาสเตอร์การ์ด อินเด็กซ์ เผยผลสำรวจดัชนีความมั่นใจผู้บริโภคในตลาดเอเชียแปซิฟิก พบไทยและไต้หวันได้คะแนนต่ำสุดจากผลสำรวจ ขณะที่ฮ่องกง และญี่ปุ่นความมั่นใจของผู้บริโภคยังพุ่งขึ้นสูงต่อเนื่อง เผยสถานการณ์ในเอเซียขณะนี้อยู่ในช่วงเวลาท้าทาย ประเทศส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจในภาพรวมเศรษฐกิจ จากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ความไม่สงบในตะวันออกกลาง และการลดลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในจีนเป็นปัจจัยสำคัญ
นายยุวะ เฮ็นดริค หว่อง ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มาสเตอร์การ์ด เวิลด์ วายด์ กล่าวว่าจากการที่บริษัทได้ทำการสำรวจดัชนีวัดความมั่นใจผู้บริโภคในตลาดเอเชียแปซิฟิกซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2549 ใน 13 ประเทศ ว่าผู้บริโภคในเอเชีย-แปซิฟิก พบว่า ตลาดเอเซียแปซิฟิกอยู่ในภาวะที่ต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ท้าทาย เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ขาดความมั่นใจด้านภาพรวมเศรษฐกิจ
โดยผลสำรวจดังกล่าวเป็นการแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงมองตลาดในแง่บวกในระดับที่คะแนน 57.4 แม้ว่าคะแนนจะลดลงจาก 61.4 ในปีก่อน และต่ำกว่าระดับเฉลี่ยที่ 59.7 เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างระดับความมั่นใจของผู้บริโภค กับอัตราดอกเบี้ยให้สินเชื่อ และการบริโภคของครัวเรือน ทำให้การบริโภคในประเทศจึงมีอัตราลดลงต่ำลง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้นในหลายตลาดเอเซียแปซิฟิก ประกอบกับปัจจัยการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบ ความไม่สงบในตะวันออกกลาง การลดลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในจีน การประเมินค่าใหม่ของค่าเงินริงกิตในมาเลเซีย การเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศ
“ปัจจัยดังกล่าวที่ได้กล่าวมา รวมไปถึงความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อการทำงานของรัฐบาลในบางประเทศ ล้วนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งสิ้น”
ทั้งนี้ จากการสำรวจยังพบว่าตลาดหุ้นโลกที่มีความผันผวน มีความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินลอยตัวและราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้นได้กระทบความมั่นใจในปัจจุบันของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความกังวลบางอย่างในแต่ละประเทศด้วย โดยความมั่นใจของญี่ปุ่นเป็นที่โดดเด่นมากจากการสำรวจในรอบนี้ ขณะที่ความไม่มั่นใจของผู้บริโภคไทย และไต้หวัน มีผลคะแนนต่ำสุดในการสำรวจครั้งนี้
สำหรับผลสำรวจในประเทศไทยนั้นพบว่าความมั่นใจของผู้บริโภคลดต่ำสุดในรอบประวัติศาสตร์ของการทำผลสำรวจผู้บริโภคในไทยอยู่ที่ 28.6 นับตั้งแต่วิกฤติการณ์ในเอเชียช่วงปี 2540-2541 ซึ่งครั้งนี้นับเป็นคะแนนต่ำสุดเป็นอันดับสี่ ในรอบการสำรวจ 22 ครั้ง และเป็นคะแนนลดลงมากอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบจาก 47.9 ของครั้งก่อน และ 60.4 ของปีก่อน ซึ่งยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของการทำผลสำรวจของไทยที่ 57.4
“ผู้บริโภคไทยไม่มั่นใจด้านการจ้างงานเพราะคะแนนแตะที่เพียง 22.7 ด้านสภาพเศรษฐกิจต่ำกว่ามากที่ 18.4 ส่วนสภาพตลาดหุ้นลดเหลือ 21.9 และคุณภาพชีวิตเหลือเพียง 20.3 ขณะที่ผู้บริโภคมีความมั่นใจด้านรายได้ซึงวัดได้ที่ 59.6”
นายยุวะ เฮ็นดริค หว่อง ยังกล่าวอีกว่าในส่วนของประเทศไทยจากการที่ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงนั้นปัจจัยหลักน่าจะเป็นในเรื่องของความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวนี้ส่งผลกระทบต่อภาคนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนย่อมส่งผลกระทบต่อความไม่มั่นใจของประชาชนในประเทศด้วย ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเช่นกัน ซึ่งหากราคาน้ำมันมีการปรับตัวสูงขึ้นก็จะมีผลกระทบโดยผ่านอัตราดอกเบี้ย ที่จะส่งผลทำให้อัตราของเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยต้องปรับตัวสูงเช่นกัน
“ถ้าไม่มีมุมมองที่เกิดขึ้น นโยบายทางเศรษฐกิจ รัฐบาลประชาชนก็จะไม่รู้ว่าเศรษฐกิจจะเจริญไปทางไหนเติบโตไปทางไหน แต่สิ่งนี้ก็สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ในวันพรุ่งนี้ถ้าเรามีรัฐบาลที่มั่นคงมี ประเด็นและมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือได้ความเชื่อมั่นตรงนี้ก็จะกลับคืนมาอย่างรวดเร็ว ถ้านโยบายเศรษฐกิจที่น่าเชื่อถือได้นโยบายเศรษฐกิจ การเมืองถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามารัฐบาลใหม่จะมาเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาลเก่าอย่างสิ้นเชิงเลยหรอ อันนั้นคือความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นอยู่ตอนนี้”
นอกจากนี้ในการสำรวจยังพบว่าในฮ่องกง และญี่ปุ่นมีอัตราความมั่นใจของผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 88.5 ทั้งจาก 6 เดือนก่อนและ 1 ปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคภายในประเทศสูงขึ้น ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นความมั่นใจของผู้บริโภคมาจากการจ้างงาน สภาพเศรษฐกิจ และสภาพตลาดหุ้น
ด้านนางไอลีน วี ผู้จัดการประจำประเทศไทย มาสเตอร์ การ์ด กล่าวถึงการใช้จ่ายบัตรเครดิตครึ่งปีแรกว่าไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ แต่ยอมรับว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้บัตรเติบโตน้อยกว่าปีที่แล้ว โดยการใช้จ่ายบัตรเครดิตในชีวิตประจำวันมีสูงขึ้น แต่มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ซึ่งปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายกังวล แต่มาสเตอร์ การ์ด มั่นใจว่าธนาคารคู่ค้าจะดูแลเรื่องนี้เป็นอย่างดี
“การใช้จ่ายผ่านบัตรมาสเตอร์การ์ดในปีนี้ก็พบในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะในภาคค้าปลีกและซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ โดยหากเปรียบเทียบกับปีที่แล้วค่อนข้างต่ำกว่าแต่ยังไงมันก็ยังเจริญยังเติบโตอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าใช้จ่ายเกี่ยวกับกิจวัติประจำวันทำให้การใช้การ์ดของเรายังอยู่ในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับการ์ดอื่นๆ”
ทั้งนี้ จากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช่จ่ายของลูกค้าเนื่องจากการใช้จ่ายผ่านบัตรไม่จำเป็นต้องใช้จ่ายในเรื่องบัตรเครดิตเท่านั้น โดยลูกค้ายังสามารถเลือกใช้บัตรได้ไม่ว่าจะเป็นการใช้บัตรเดบิต บัตรพรีเพด ซึ่งถือเป็นทางเลือกหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคอีกทางหนึ่งได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|