แนวโน้มดบ.ครึ่งปีหลังยังไม่นิ่งหวั่นวิกฤติน้ำมันกระทบเงินเฟ้อ


ผู้จัดการรายวัน(18 กรกฎาคม 2549)



กลับสู่หน้าหลัก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการประชุมกนง.ในวันที่ 17 ก.ค.นี้มีความเป็นไปได้สูงที่จะคงดอกเบี้ยอาร์พี 14 วันไว้ที่ 5.00% แต่ก็ยังมีโอกาสจะต้องหยิบนโยบายดอกเบี้ยมาใช้อีกหากเจอวิกฤติจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นรอบใหม่หลังเกิดเหตุการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง แนะจับตาแถลงการณ์หลังประชุมกนง.เพื่อดูจุดยืน/สัญญาณจากธปท.อย่างใกล้ชิด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันที่ 19 กรกฏาคมที่จะถึงนี้ ว่า ธปท.มีความโน้มเอียงที่จะให้คงอัตราดอกเบี้ยตลาดวื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันไว้ที่ระดับ 5%ตามเดิม หลังจากธปท.ประเมินว่าหากไม่มีเหตุการณ์ที่นอกเหนือไปจากความคาดหมาย โดยเฉพาะการเร่งตัวอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อมูลอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับตัวลงมาแล้วในเดือนมิถุนายน และมีแนวโน้มว่าจะขยับลงต่ออีกในเดือนกรกฎาคม ประกอบกับ เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังคงขยายตัวได้ดีแม้จะต้องเผชิญกับปัจจัยลบนานับประการ อัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วันที่ 5.00% น่าจะเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอันจะเอื้อต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม ธปท.ก็คงจะรอดูสถานการณ์ความคืบหน้าของเหตุการณ์ในตะวันออกกลางต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน ภายหลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮิชบอลลาห์ในเลบานอนเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนสูงว่าเหตุการณ์จะบานปลายหรือลุกลามไปถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคดังกล่าวโดยเฉพาะอิหร่านที่กำลังอยู่ระหว่างการต่อรองกรณีโครงการอาวุธนิวเคลียร์กับสหรัฐฯ ด้วยหรือไม่ และจะลงเอยได้เมื่อใด ทำให้คาดว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจึงอาจมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนต่อไป ซึ่งก็คงจะมีผลกระทบตามมาที่ราคาสินค้าทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะที่ตลาดก็คงจะจับตาแถลงการณ์ที่อาจจะแสดงถึงจุดยืนหรือสัญญาณใหม่จากธปท.เกี่ยวกับประเด็นหลักๆ 2 ประการ ได้แก่ กรณีหากราคาน้ำมันยังคงยืนระดับสูงต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อประมาณการอัตราเงินเฟ้อ โดยทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ไม่ลดต่ำลงมากอย่างที่ธปท.เคยคาดไว้แล้ว ธปท.จะเห็นว่าภาวะเงินเฟ้อดังกล่าวยังคงเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจหรือไม่ และกรณีธปท.จะยังคงดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยโดยให้น้ำหนักกับการรักษาเสถียรภาพทางด้านเงินเฟ้อเป็นหลักดังเช่นที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เศรษฐกิจกำลังประสบกับภาวะชะลอตัวลง

ทั้งนี้ จุดยืนของธปท.เกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ คาดว่าจะมีนัยสำคัญสำหรับตลาดในการคาดการณ์ถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยในระยะข้างหน้าอย่างแน่นอน

สำหรับปัจจัยแวดล้อมประกอบการคาดการณ์การคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิมของธปท.ในการประชุมวันที่ 19 กรกฎาคม นั้นมาจาก ความคาดหมายว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยได้ผ่านระดับสูงสุด (peak) มาแล้ว หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปได้ขยับลดลงจาก 6.2% ในเดือนพฤษภาคม มาที่ 5.9% ในเดือนมิถุนายน ทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงอย่างชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 โดยภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยทั้งปีไม่เกิน 70 ดอลลาร์ฯ/บาร์เรล อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจมีค่าเฉลี่ยที่ 4.0% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 5.9% ในช่วงครึ่งปีแรก อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอาจยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องในปี 2550 มามีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 2.8-3.3% อันเป็นผลจากการขยายตัวของราคาน้ำมันในปี 2550 ที่คาดว่าจะมีอัตราที่ลดน้อยถอยลงเมื่อเทียบกับปี 2549

กระนั้นก็ดี ธปท.คงจะมีการติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศซึ่งจะมีผลต่อราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิด โดยหากราคาน้ำมันตลาดโลกยืนอยู่ที่ระดับสูงต่อเนื่องจนมีผลกระทบตามมาที่ราคาน้ำมันในประเทศและการเพิ่มขึ้นรอบสองของราคาสินค้าทั่วไป ตลอดจนประมาณการอัตราเงินเฟ้อของธปท.แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่ธปท.อาจจะกลับมาทบทวนปรับใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเข้มงวดได้อีกครั้งในระยะข้างหน้าเช่นกัน

รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 ต่อเนื่องถึงช่วงครึ่งแรกของปี 2550 จากการลงทุนที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด และบรรยากาศกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งยังคงถูกปกคลุมด้วยปัจจัยลบนานับประการ และแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจจะขยายตัวในอัตราที่ถดถอยลงมาที่ประมาณ 3.0-3.5% ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 และ 3.0-4.0% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 เทียบกับที่คาดว่าจะขยายตัว 5.0-5.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2549

นอกจากนี้ เชื่อว่าผลกระทบที่น่าจะมีจำกัดหากธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก แม้ค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยที่อาจจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการที่ธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นเพิ่งจะเริ่มวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และความคาดหวังว่าจีนจะมีการปรับเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสกัดความร้อนแรงของเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาโครงสร้างพื้นฐานจากการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจำนวนมากของสหรัฐฯ น่าจะเป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนให้สกุลเงินในภูมิภาคมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้น และทำให้มีความเป็นไปได้น้อยลงที่เงินทุนสุทธิจะเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศอย่างฉับพลัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.